JJNY : เศรษฐกิจ‘พฤษภาฯ’เข้าโค้งเลือกตั้ง│ส.ทนายความจี้ส.ว.ต้องเคารพ│กรณีไข่ต้ม หมอเดวชี้พอเพียง│ลูกชายโฆษกรบ.รัสเซียไปรบ

เศรษฐกิจ ‘พฤษภาฯ’ เข้าโค้งเลือกตั้ง ร้อนพีค-ค่าไฟโหด ป่วนใช้จ่าย-ท่องเที่ยวเหงา
https://www.matichon.co.th/economy/eco-report/news_3939912
 
 
เศรษฐกิจ‘พฤษภาฯ’เข้าโค้งเลือกตั้ง ร้อนพีค-ค่าไฟโหด ป่วนใช้จ่าย-ท่องเที่ยวเหงา
 
ใช้ชีวิตเดินทางเข้าสู่ไตรมาส 2 ของปี 2566 อย่างรวดเร็ว ย้อนดูสถานการณ์ไตรมาสแรก หลายปัจจัยเสี่ยงยังไม่คลายตัว กลับต้องเผชิญที่เข้ามาเพิ่มเติม บางปัจจัยหวั่นกลับมาสร้างความกังวลซ้ำอีกครั้ง โดยเฉพาะเริ่มเห็นตัวเลขการระบาดของเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังเพิ่งผ่านเทศกาลฉลองสงกรานต์และหยุดยาวไม่กี่วัน ประกอบกับประเทศไทยอยู่ในช่วงบรรยากาศการเมืองระอุ เข้าโค้งก่อนเลือกตั้งในอีก 19 วันจะได้เลือกตั้ง และยังลุ้นต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งระหว่างทางหากเกิดเหตุการณ์อะไรที่ต้องผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะทำอย่างไร ล้วนกดดันการใช้ชีวิตและเศรษฐกิจไทย 
 
ต่างมีคำถามว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง เมื่อพ้นเดือนเมษายน เข้าสู่เดือนพฤษภาคม!!
 
⦁ ปัจจัยเสี่ยงรอเพียบ
 
สุจิต ชัยวิชญชาติ ผู้บริหารฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า วิจัยกรุงศรีประเมินว่าแม้เศรษฐกิจโลกในระยะนี้จะได้แรงสนับสนุนจากการเปิดประเทศของจีน และการขยายตัวของภาคบริการในหลายประเทศ แต่เศรษฐกิจและการค้าโลกในภาพรวมมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีนี้ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์การการค้าโลก (WTO) โดยสัญญาณเชิงลบ ล่าสุดมาจากตัวเลขกิจกรรมภาคการผลิตของหลายประเทศที่อ่อนแอในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นความเสี่ยงที่ยังรออยู่อีกมากมาย
 
เศรษฐกิจไตรมาสแรกได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 6.46 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศ 2.56 แสนล้านบาท จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 56.8% ด้านนักท่องเที่ยวยุโรปมีสัดส่วน 26.5% และที่เหลืออื่นๆ (อาทิ อินเดีย สหรัฐ ออสเตรเลีย อิสราเอล แคนาดา และซาอุดีอาระเบีย) สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยสูงสุด 5 อันดับแรกในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ได้แก่ มาเลเซีย รัสเซีย จีน เกาหลีใต้ และอินเดีย
 
⦁ ปั่นท่องเที่ยวแรงหนุน
 
สุจิตระบุต่อว่า กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลายลง และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสแรกปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 11 เท่าเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลรายสัปดาห์ล่าสุด (27 มีนาคม-2 เมษายน) รายงานนักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง อยู่ที่ 68,177 คน แต่เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกมีแนวโน้มเติบโตต่ำ (น้อยกว่า 3%) ปัจจัยลบจากภาคส่งออกที่มีแนวโน้มหดตัวในไตรมาส 1-2/2566 ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป ซึ่งล่าสุดดัชนีภาคการผลิตของทั้งสหรัฐและยูโรโซนเข้าสู่ภาวะหดตัวต่อเนื่อง
 
วิจัยกรุงศรีประเมินมีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อชะลอลงและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้เร็วกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาด 3-4 เดือน ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่า 2% สะท้อนว่าเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยทั้งปีอาจจะต่ำกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ที่ 2.4% นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิตล่าสุดเดือนมีนาคม หดตัวที่ 1.7% ชี้ถึงแรงกดด้านต้นทุนที่ปรับลดลงอีก
 
⦁ ฟันธงศก.ปี’66โตจิ๊บๆ
 
กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ข้อมูลเสริมว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 จะเติบโตดีกว่าปี 2565 เล็กน้อย โดยปีก่อน
ทีดีอาร์ไอประมาณการเศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.2% ปี 2566 ประมาณการว่าจะขยายตัวได้ 3.5% มากกว่าปีก่อนเล็กน้อย โดยตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ คือ การลงทุน มีทั้งการลงทุนจากคนไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะการย้ายฐานการผลิต เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ เพราะการถูกกีดกันทางการค้า มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยด้วย
 
ความเสี่ยงในตอนนี้ เป็นเรื่องราคาไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลกระทบต่อราคาต้นทุนของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมไทยปรับขึ้นสูงมากตั้งแต่ต้นปี 2564 แต่รายได้ผู้บริโภคมีสัดส่วนขึ้นไม่ได้เท่า ทำให้ผู้ผลิตต้องอั้นการปรับขึ้นราคาสินค้า ไม่กล้าขึ้นราคาแม้ว่าต้นทุนสูงขึ้น ทิศทางราคาสินค้าไทยคงไม่ลดได้มากจากนี้ ด้วยปัจจัยหลายอย่าง รวมถึงค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้นแล้วเดือนตุลาคม 2565 จะทำให้ระดับราคาสินค้าปีนี้อาจสูงกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 2.5-3%” กิริฎากล่าว
 
⦁ Q2ความผันผวนพรึบ
 
ในภาพของการลงทุนนั้น เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2/66 ยังคงมีความผันผวน เพราะติดอยู่กับความกังวลของทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ปัญหาระบบสถาบันการเงิน และความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ในประเทศยังมีปัจจัยเลือกตั้งเข้ามาสนับสนุน ทั้งช่วงก่อนการเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง คาดว่าหลังจากเลือกตั้งเสร็จสิ้นในช่วง 1 สัปดาห์ ตามสถิติดัชนีตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นได้ประมาณ 3.81% โดยให้กรอบไตรมาส 2 ไว้ที่ 1,544-1,630 จุด
 
และหลังจากจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ยังคงต้องจับตาการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลว่าจะออกมาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมแจกเงินให้จับจ่ายใช้สอยจะสามารถกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในระยะยาวกลาง-ยาวได้หรือไม่ เพราะสิ่งที่กังวลมากที่สุด คือ การใส่เงินเข้าไปแล้ว หากไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้จริง และไม่เกิดเงินหมุนเวียนที่แท้จริงในเศรษฐกิจ จะเป็นการใช้งบประมาณภาครัฐที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และกลายเป็นภาระทางการคลังต่อไปอีก
 
⦁ ท่องเที่ยวเจอ2เด้ง‘หน้าโลว์’
 
ภาคการท่องเที่ยวไทยเป็นอย่างไร มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ระบุว่า ในเดือนพฤษภาคมนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ของตลาดไทยเที่ยวไทยแล้ว เนื่องจากเป็นช่วงเด็กนักเรียนปิดเทอม และใกล้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน ซึ่งตามธรรมชาติคนไทยมักไม่นิยมเดินทางท่องเที่ยวในช่วงที่มีฝน ทำให้ภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทยจะชะลอตัวลง โดยมองว่าส่วนราชการและรัฐวิสากิจต้องจัดกิจกรรมประชุมสัมมนา เพื่อกระตุ้นเกิดการเดินทางมากขึ้น เพื่อให้มีเงินสะพัดช่วยหมุนเวียนเศรษฐกิจเพิ่มเติม

 “อุปสรรคของภาคการท่องเที่ยว ตอนนี้อยากให้มีการเพิ่มเที่ยวบินมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาตั๋วเครื่องบินมีราคาแพงด้วย เนื่องจากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะตลาดระยะไกล ต้นทุนสำคัญจะอยู่ที่ราคาตั๋วเครื่องบินเป็นหลัก เมื่อตั๋วแพงการเดินทางเที่ยวแบบระยะไกลก็จะไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควรมาริสากล่าว
 
ขณะที่ นพกาญจน์ เหลืองอมรเลิศ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามพาร์คบางกอก จำกัด บริหารสวนน้ำสวนสนุกสยามอะเมซิ่งพาร์ค (สวนสยามเดิม) กล่าวเสริมว่า ท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปเพิ่งกลับมา ตอนนี้ฮ่องกงและไต้หวัน ที่เคยเป็นฐานลูกค้าหลักของเรา ก็เริ่มติดต่อเข้ามาแล้ว พร้อมกับกิจกรรมจัดเลี้ยงขององค์กรขนาดใหญ่ฟื้นตัวอีกครั้ง ปลายเดือนนี้เราได้รับจองจัดเลี้ยงใหญ่ 6-7 พันคน
 
จากความเห็นต่างๆ ข้างต้น ประเทศไทยถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง ท่ามกลางสารพัดปัจจัยเสี่ยง แต่ยังต้องฝากความคาดหวังไว้กับการท่องเที่ยวและการค้า ตัวหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยก่อนรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ


  
สมาคมทนายความ จี้ ส.ว. ต้องเคารพฉันทามติประชาชน โหวตนายกฯ จากพรรคได้ ส.ส.มากสุด
https://www.khaosod.co.th/election-2023/news_7627030

สมาคมทนายความออกเเถลง ส.ว. ต้องเคารพฉันทามติประชาชนโหวตนายกฯ จากพรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุด เปิดทริค รธน. หากยังตั้งไม่ได้ “ประยุทธ์” นั่งรักษาการณ์ยาว
 
24 เม.ย. 66 – นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ความว่า
 
ประเทศไทยยังคงสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติทางการเมืองอีกครั้ง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกออกแบบโดยเผด็จการที่มีเจตนาต้องการสืบทอดอำนาจ ได้เขียนกำหนดไว้ในมาตรา 272 ให้ ส.ว. มีสิทธิออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งผลการลงมติของ ส.ว. จะนำไปสู่วิกฤติได้ ดังนี้
 
(1) กรณี ส.ว. งดออกเสียงให้กับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองเสียงข้างมาก แต่รวบรวมเสียงได้ไม่ถึง 376 เสียง ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อได้รับเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้ง 2 สภา จึงเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนไม่ได้ ผลที่จะเกิดขึ้นคือรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จะเป็นรัฐบาลรักษาการต่อไป
 
(2) กรณี ส.ว. ออกเสียงให้กับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองเสียงข้างน้อย ซึ่งแม้จะทำให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่อาจจะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะพรรคเสียงข้างมากไม่เอาด้วย ผลที่จะเกิดขึ้นคือ รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จะเป็นรัฐบาลรักษาการต่อไปโดยไม่มีที่สิ้นสุดเพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลไว้
 
ผลลัพธ์จากการลงมติของ ส.ว. ทั้งสองกรณีข้างต้น จะนำวิกฤติการเมืองมาสู่ประเทศชาติ
 
สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย จึงขอเรียกร้องให้ ส.ว. ได้เคารพในเจตนารมย์และฉันทามติของประชาชน ด้วยการออกเสียงลงมติให้กับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี จากพรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงข้างมากจาก ส.ส.
 
โดยในการลงมติรัฐสภาควรยกเว้นข้อบังคับที่การออกเสียง จะต้องขานชื่อตามลำดับตัวอักษรผสมกันทั้ง ส.ว. และ ส.ส. โดยขอให้ขานชื่อจาก ส.ส. ให้ครบ 500 ชื่อก่อน เพื่อให้ทราบว่า ผู้นั้นได้รับการเสนอชื่อด้วยเสียงข้างมาก
 
จากนั้นจึงค่อยให้ ส.ว. ลงมติ ต่อจาก ส. ส. ประชาชนจะได้รู้เห็นตัวตนที่แท้จริงว่า ในการออกเสียงของบรรดา ส.ว. เหล่านั้น ได้เคารพเจตนารมย์ของประชาชนที่จ่ายเงินเดือนให้ ส.ว. หรือเพียงแค่เคารพกลุ่มผู้มีอำนาจเก่า ที่แต่งตั้งตนให้เป็น ส.ว. เท่านั้น
 
https://www.facebook.com/lawyerassn/posts/pfbid02gZXuqa6CkcMNczPfkwN6nxSMQ5H9hBTQ6yMdUBoTPFDthePtgx3VnehTaoXkHUa4l
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่