บทความจาก Vogue Thailand "จาก 'The Glory' ถึง 'โอม-ภวัต' เมื่อนักบูลลี่โดนนักขุดประจานและบาดแผลเหยื่อที่ไม่เคยลืมเลือน"

กลายเป็นประเด็นร้อนท่ามกลางโลกทวิตเตอร์ในช่วงที่ผ่านมา สำหรับแฮชแท็ก #โอมภวัตออกมาพูดเถอะ 
ที่มีบัญชีทวิตเตอร์ออกมาแฉถึงเรื่องราวการกลั่นแกล้งและบูลลี่เพื่อนในสมัยมัธยมของนักแสดงหนุ่ม
สังกัด GMM Grammy อย่าง ‘โอม-ภวัต จิตต์สว่างดี’ ซึ่งทั้งหมดเริ่มต้นจากกระแสความนิยม
ของซีรี่ส์ The Glory บนแพลตฟอร์ม Netflix ที่เข้ามามีอิทธิพลในชีวิตจริงของคนบนโลกโซเชียลมีเดีย 
และกลายเป็นชนวนให้เหล่านักขุดขุดวีรกรรมของคนดังในอดีตขึ้นมาประจานอีกครั้ง

     แม้ว่าโอมจะออกมาขอโทษทันทีภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากมีกระแสของแฮชแท็กแล้วก็ตาม 
ทว่ากระแสวิพากษ์วิจารณ์จากเหล่าแฟนคลับและโลกทวิตเตอร์กลับยิ่งโหมกระพือขึ้นเท่าตัว 
พร้อมคำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งเด็กออทิสติก ไปจนถึงการบูลลี่เพื่อนในอดีตของโอม 
และหลายๆ คน ที่อาจกลายเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ...
     
การถกเถียงของเหล่าแฟนคลับในโลกทวิตเตอร์ขยายเป็นวงกว้าง 
เริ่มต้นจากแถลงการณ์ขอโทษฉบับนั้นของโอม ที่ชาวทวิตเตอร์ส่วนใหญ่มองว่าใช้คำไม่เหมาะสม 
เพียงแต่ยกเอาวลี “ความแสบซน” ในวัยเยาว์ มาใช้เป็นปราการรับความผิดในอดีตแทน 
หรือกระทั่งคำถามที่ว่า “ทำไมต้องขุดเรื่องในอดีตเป็น 10 ปีขึ้นมาพูดในวันที่ใครคนนั้นโด่งดัง 
นี่ถือเป็นการหาแสงหรือไม่”...

สำหรับผู้เขียนแล้วมองว่า นี่ช่างเป็นเรื่องปกติเสียเหลือเกินของ Public Figure 
หรือบุคคลสาธารณะท่ามกลางสปอตไลต์ ที่จะต้องพบเจอเรื่องเช่นนี้ การขุดเรื่องราวในอดีต
ของคนจำพวกนี้ขึ้นมาวิจารณ์ทั่วทุกสารทิศไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร และไม่ใช่การหาแสง
อย่างที่ชาวทวิตเตอร์บางส่วนกล่าวหา ตราบใดที่บุคคลสาธารณะเสียงดังกว่าคนอื่น 
มีพื้นที่ที่คนสังเกตเห็นได้ชัดมากกว่าคนอื่น หรือกระทั่งมีจำนวนคนติดตามโซเชียลมีเดียมากกว่าคนอื่นๆ 
คุณก็แค่ใช้อภิสิทธิ์บนพื้นที่ของคุณในการแก้ต่างแก้ตัว และอธิบายความจริงไปก็เท่านั้น 

การกล่าวหาเหยื่อว่า “หาแสง” จากการออกมาแบ่งปันประสบการณ์อันเลวร้ายที่ตัวเองเจอมา 
ก็ไม่ต่างอะไรกับการกระทำ Victim Blaming หรือการโทษเหยื่อในกรณีคดีข่มขืนที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายครั้ง

     “แล้วคิดว่าถ้าโอมหรือครอบครัวของโอมมาอ่านแล้วจะไม่เสียใจหรือ”...
จริงอยู่ที่ใครก็ตามบนโลกใบนี้มาอ่านคอมเมนต์ที่พูดถึงตัวเองในด้านลบก็จะต้องเสียใจเป็นธรรมดา 
แต่ถ้าเป็นความจริงก็ควรจะต้องยอมรับให้ได้ และหากเมื่อพิจารณากันจริงๆ แล้วคนที่เสียใจจากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ 
ไม่ใช่นักบูลลี่ แต่คือเหยื่อของนักบูลลี่ต่างหาก ที่ต้องทนอยู่กับบาดแผลทางจิตใจที่ไม่มีวันหาย 

และยิ่งในกรณีนี้ที่เป็นเด็กออทิสติกแล้วด้วย การอ้างว่าทุกคนล้วนแล้วแต่เคยแกล้งเพื่อนหรือเคยทำผิดพลาดกันทั้งนั้น 
ก็ยิ่งเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะคงไม่ใช่เรื่องปกติสักเท่าไหร่ที่เราจะเดินเข้าไปแกล้งเด็กออทิสติก 
และถึงแม้ว่าทุกคนจะเคยทำผิดพลาดในชีวิตมาทั้งนั้น แต่สำหรับบุคคลสาธารณะแล้ว ราคาที่ต้องจ่ายมันต่างกันกับคนทั่วไปอยู่แล้ว
    
 ไม่เพียงเท่านั้น อีกหนึ่งประเด็นถกเถียงที่น่าสนใจก็คือ 
“ทำไมถึงไม่ไปเรียนโรงเรียนพิเศษ หรือที่ที่ถูกจัดเอาไว้ให้เด็กออทิสติกโดยเฉพาะ” คำถามนี้ช่างน่าเศร้า 
เพราะมันสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของคนที่ทวีตข้อความนี้ว่าช่างโลกแคบเสียเหลือเกิน ในประเทศที่กำลังพัฒนา 
กับความเสมอภาคด้านการศึกษาที่ไม่เคยเป็นจริง และระบบการศึกษาสามัญยังไม่เคยเข้ารูปเข้ารอยเช่นนี้

 รู้หรือไม่ว่า โรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษหลายแห่งนั้นมีราคาที่สูงลิบลิ่ว 
ในขณะที่บางครอบครัวต้องหาเช้ากินค่ำ มีเรตค่าตัวเป็นค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น และในบางกรณี
เด็กพิเศษก็สามารถเรียนร่วมกับนักเรียนปกติได้ ดังนั้นการไล่พวกเขาออกไปให้กลายเป็นคนนอกแบบนี้ เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วหรือ...
      
เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไม่ใช่หน้าที่ของแฟนคลับที่จะออกมารับคำขอโทษของโอม 
หน้าที่นั้นเป็นหน้าที่ของเหยื่อ คนดูและแฟนคลับมีหน้าที่แค่ตัดสินใจว่าเราควรให้อภัย 
หรือสนับสนุนนักแสดงหรือศิลปินคนนี้ต่อไปหรือไม่ และแม้ว่าจะมีใครก็ตามยืนยันเสียงแข็ง
ว่าจะไม่ให้อภัย นั่นก็เป็นสิทธิ์ของเขาเช่นกัน
     
เรื่องยังไม่จบ...เพียงแต่ตอนนี้ทางค่ายและตัวของศิลปินในสังกัดยังไม่มีการเคลื่อนไหว 
อย่างไรก็ตามเราก็คงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ทางต้นสังกัดจะจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างไร 
และหลังจากนี้จะมีการออกแถลงการณ์ขอโทษหรือแถลงการณ์อื่นๆ จากตัวนักแสดงเพิ่มเติมอีกหรือไม่ 

และวงการนี้ยังจะมีที่หยัดยืนให้กับอดีตนักบูลลี่หรือไม่...

โดย Peeranat Chansakoolnee
12 มกราคม 2566

https://www.vogue.co.th/lifestyle/article/the-glory-ohm-pawat-bullying-issue
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่