เส้นแบ่งบาง ๆ ระหว่างหุ้น Value-Growth-Corner ดร.นิเวศน์

กระทู้คำถาม
https://www.bangkokbiznews.com/blogs/finance/stock/1063367

VI เป็น Concept หรือแนวทางการลงทุนแบบใหม่ที่เกิดขึ้นและนำโดย “นักลงทุนรุ่นใหม่” ที่มักมีการศึกษาสูงและศึกษาทฤษฎีการลงทุนใหม่ที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะจาก วอเร็น บัฟเฟตต์  สิ่งที่พวกเขาทำก็คือ  การลงทุนในหุ้นนั้นจะต้องมีการ “วิเคราะห์” ธุรกิจของบริษัทอย่างลึกซึ้ง  ตั้งแต่ด้านของการตลาด  การผลิต  คุณสมบัติของผู้บริหาร  และสุดท้ายด้านการเงินและผลประกอบการที่จะบอกถึงคุณภาพและอนาคตของการเติบโตของธุรกิจ  นอกจากนั้น  ยังต้องวิเคราะห์ถึงการแข่งขันในอุตสาหกรรมด้วยว่าสามารถต่อสู้กับคู่แข่งได้ดีแค่ไหน  พูดง่าย ๆ  ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับธุรกิจเลยก็ยากที่จะเป็น  VI
 ก่อนที่จะเข้าลงทุน  VI ยังต้องวิเคราะห์ว่า  “ราคาหุ้น” นั้นจะต้องถูกพอที่จะทำให้มี  “Margin of Safety”  หรือ “ส่วนเผื่อความปลอดภัย” เพียงพอหรือไม่?  นั่นก็คือ  มันถูกกว่ามูลค่าของบริษัทที่คิดจากความแข็งแกร่งและผลประกอบการของบริษัทในปีนั้นและปีต่อ ๆ ไปอีกยาวนาน  มากน้อยแค่ไหน  เพื่อที่จะได้เกิดความปลอดภัยในกรณีที่อาจจะวิเคราะห์ตัวบริษัทผิดพลาดหรือมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเข้ามากระทบกิจการของบริษัทรุนแรง
 หลักการของ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น  เพิ่มเติมขึ้นมาจาก VI ดั้งเดิมแบบของ เบน เกรแฮม ตรงที่มักจะเลือกเฉพาะกิจการที่แข็งแกร่งและมีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืน  และ  “เติบโต” เร็วด้วย  ดังนั้น  นักลงทุนไทยที่เป็น  VI ตั้งแต่เริ่มแรก  จึงเน้นว่า  หุ้น VI คือหุ้นของกิจการที่ “ดี” และ “โตเร็ว” ด้วย  โดยที่คำว่าดีก็คือเป็นกิจการที่มีกำไรดี  และคำว่าโตก็คือ  กำไรเพิ่มขึ้นเร็ว—จากตัวเลขที่เห็นในขณะนั้น  และจากการวิเคราะห์ไปข้างหน้า

Concept หรือแนวคิดของหุ้น“Growth” นั้น  เน้นว่าจะต้องเป็นหุ้นที่ธุรกิจ “โตเร็ว” หรือโตเร็วมาก ที่นำเสนอโดย ฟิลิป ฟิสเชอร์ ซึ่งก็มักจะเกิดขึ้นจากบริษัทที่ขายสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือบริษัทที่มีรูปแบบหรือการจัดโครงสร้างใหม่ในการทำธุรกิจที่เหนือกว่าแบบเดิมในอุตสาหกรรม  หุ้นลักษณะนี้จะเติบโตเร็วมาก  ถ้าซื้อไว้ราคาหุ้นก็จะวิ่งขึ้นไปเร็วและสูงมาก  ดังนั้น  เรื่องของราคาหุ้นว่าถูกหรือแพงก็ไม่ใช่ประเด็น  เพราะวันหนึ่งกำไรของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้นมากจนคุ้มค่ากับราคาที่เราจ่าย
มองจากประเด็นของตัวธุรกิจที่จะต้องวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งและต้องเป็นธุรกิจที่  “ดี” ก็จะพบว่าหุ้น Growth นั้นแทบจะเหมือนกับหุ้น VI แนว วอเร็น บัฟเฟตต์  จะแตกต่างก็อยู่ที่ว่าราคาของหุ้นนั้น  ในกรณีหุ้น Growth เราจะไม่ค่อยสนใจว่าจะแพงหรือถูก  เหตุผลก็คือ ส่วนใหญ่แล้วมูลค่าของหุ้น  Growth นั้น  ประเมินได้ยากมาก  เพราะมันขึ้นอยู่กับการเติบโตของกำไรในอนาคตอันยาวไกลว่าจะมากน้อยแค่ไหน
และถ้าตั้งสมมุติฐานผิดแม้เพียงเล็กน้อย  มูลค่าที่คำนวณได้จะต่างไปมากมหาศาล  ดังนั้น  พวกเล่นหุ้น Growth จึงไม่ค่อยจะสนใจหาว่าราคาหุ้นที่เหมาะสมจะเข้าซื้อเป็นเท่าไร  พวกเขาจะสนใจแต่ว่า  ถ้าราคาหุ้นยังวิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ  ก็ซื้อไป  ไม่ต้องดูราคาว่าถูกหรือแพง  อาจจะเรียกว่าดู  “โมเมนตัม” และถ้าหุ้นเริ่มลงก็อาจจะขาย

ในตลาดหุ้นไทยในช่วงเร็ว ๆ  นี้  ยังมีหุ้นอีกกลุ่มหนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะเป็นที่นิยมและเป็นหุ้นที่  “ดีสุดยอด”  เพราะราคาหุ้นขึ้นไปเร็วและสูงมาก  บางทีภายในเวลาไม่กี่เดือนหรือแค่ 2-3 ปีราคาหรือมูลค่าหุ้นขึ้นไปหลายเท่าตัว  นอกจากนั้น  ธุรกิจก็ “ดี”  มีกำไรเติบโตแบบ “ก้าวกระโดด” บริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่  “มีอนาคต” ที่สำคัญผู้บริหารมี “วิสัยทัศน์” ที่ก้าวไกลและพยายามนำบริษัทให้เติบโตในระดับ  “แสนล้านบาท” 
 แต่สิ่งหนึ่งที่คนอาจจะไม่รู้ก็คือ  หุ้นของบริษัทที่หมุนเวียนซื้อ-ขายในตลาดมักจะมีน้อยเมื่อเทียบกับขนาดโดยรวมของบริษัท  และผู้บริหารหรือนักลงทุนรายใหญ่บางรายก็อาจจะเข้าไปกวาดซื้อหุ้นของบริษัทจำนวนมาก ซึ่งทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปเร็วและสูงกว่าหุ้น Growth คือภายในเวลาไม่กี่เดือนหรือภายใน 1-2 ปี  ราคาหุ้นอาจจะขึ้นไปเป็น 10 เท่า  ซึ่งหุ้นเหล่านี้ผมเรียกว่าเป็น หุ้นCorner หรือหุ้นที่ถูก Corner คือถูกซื้อจนหมดซึ่งทำให้ราคาสูงขึ้นไปอย่างแทบจะเป็นไปไม่ได้
แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่แยกได้ยากจากหุ้น Growth  เพราะมันมักจะมีกำไรที่เติบโตแรงช่วงเร็ว ๆ  นี้  อยู่ในอุตสาหกรรมที่อาจจะเป็น “อนาคตของโลก”  ผู้บริหารหรือนักลงทุนรายใหญ่เข้าไปกวาดซื้อและให้ความเห็นต่อสาธารณชน  อาจจะรวมถึงการที่บริษัทจะโตเป็น  “แสนล้านบาท”แม้ว่าขณะนั้นบริษัทยังเล็กมาก  เช่นเดียวกับในส่วนของราคาว่าอะไรคือราคาหุ้นที่เหมาะสมที่มักไม่มีใครสนใจ  ดังนั้น  ตราบใดที่ราคาหุ้นในตลาดยังขึ้นอยู่  นั่นก็คือราคาที่เหมาะสม

ข้อสรุปของผมก็คือ เส้นแบ่งว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้น Value ที่เน้นแนว Growth หรือซุปเปอร์สต็อก กับหุ้น Growth ในนิยามแบบวิชาการที่นำเสนอโดยฟิลิป ฟิสเชอร์  และหุ้นที่ถูก Corner ในตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้นั้น  “บางมาก”  นั่นก็คือ  มันยากที่จะบอก  เวลาที่ผ่านไปเท่านั้นที่จะบอกได้ชัดเจนว่าหุ้นตัวไหนที่จริงแล้วเป็นหุ้นอะไร 
เพราะเมื่อถึงเวลานั้น หุ้นที่เป็น Value ก็มักจะ “อยู่ทน”คือขึ้นไปเรื่อยๆ  อาจจะช้าๆ  ส่วนหุ้น Growth เองนั้น  เวลาที่ธุรกิจหรือตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวย  ราคาก็อาจจะทยอยถอยลงไปเรื่อย ๆ  แล้วก็หยุดลงในจุดที่เหมาะสม  และหุ้น Corner เองนั้น  มีโอกาสสูงว่า  ราคาจะลงไปในระดับ “หายนะ”

ลูกเต่าน้อยเม่าขายหมูห่านทองคำ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่