เริ่มแล้ว เทศกาลดนตรีแห่งปี “MOC MU FES 2023” Summer Hit Songs


เริ่มแล้ว เทศกาลดนตรีแห่งปี “MOC MU FES 2023” Summer Hit Songs 
เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 
ประเดิมวันแรก ศิลปินแห่งชาติพร้อมนักร้องชื่อดังขึ้นเวทีขับขาน “๑๐๐ ปี เพลงไทยสากลยอดนิยม”
สร้างความสุขให้แฟนเพลงได้ชมกันฟรี ๆ ณ ลานวัฒนธรรมสร้างสุข กระทรวงวัฒนธรรม


กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดงานเทศกาลดนตรี Ministry of Culture Music Festival : Summer Hit Songs (MOC MU FES) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ๒ เมษายน ๒๕๖๖ ประกอบด้วยการแสดง ๔ รายการใหญ่ ได้แก่ การแสดงดนตรีไทยสากล “๑๐๐ ปี เพลงไทยสากลยอดนิยม” การแสดงดนตรี ลีลาศสุนทราภรณ์  มหกรรมดนตรีไทย และการแสดงดนตรี ๘๔ ปี สุนทราภรณ์ ณ ลานวัฒนธรรมสร้างสุข กระทรวงวัฒนธรรม และที่ Thailand soft power space ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ให้ประชาชนชนได้ชมฟรี ตลอดงาน  
 
วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๖ ประเดิมงานเทศกาลดนตรีแห่งปี ๒๕๖๖ ด้วย การแสดงดนตรีไทยสากล ๑๐๐ ปี เพลงไทยสากลยอดนิยม เริ่มด้วย งานเสวนา หัวข้อ “๑๐๐ ปี เพลงไทยยอดนิยม” เวลา ๑๔.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย  อาจารย์นคร ถนอมทรัพย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ประพันธ์และขับร้อง) นายสุทิน ดวงเดือน นักไวโอลิน และ สุทธิพงษ์ วัฒนะจัง (ชมพู ฟรุ๊ตตี้) ดำเนินการเสวนาโดย นายนิเวศน์ กันไทยราษฎร์ ต่อด้วย การแสดงวงดุริยางค์เครื่องลมเยาวชนไทย Thai Youth Wind (TYW) การแสดงดนตรีไทยโดยวงดนตรีรุ่งอรุณวิศิษฏ์ ในเวลา ๑๗.๐๐ น. – ๑๘.๐๐ น. ณ ลานวัฒนธรรมสร้างสุข หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
  
โดยในเวลา ๑๘.๐๐ น. - ๒๑.๐๐ น. จึงเข้าสู่ช่วงการแสดงคอนเสิร์ต “๑๐๐ ปี เพลงไทยสากลยอดนิยม” (100 Years Thai Popular Songs) ณ ลานวัฒนธรรมสร้างสุข เริ่มด้วย การแสดงบทเพลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประกอบด้วย เพลงพระราชาเป็นประมุขของประชาชน ขับร้องโดย พันธนนท์ วังกะหาด วราภรณ์ วังพรม , เพลงปิตุเรศมารดร นายสิริ ไขยกุล (แม็ค) นางสาวเกตน์สิริ มีศิลป์ (แพงจัง) , เพลงรัก ดร.อนุชิต นันทขว้าง , เพลงพลบค่ำ สุทธิพงษ์ วัฒนจัง , เพลงเพ็ญจันทร์ นนทิยา จิวบางป่า (ครูเจี๊ยบ) , เพลงเมนูไข่  ดญ.พิชชานันท์ พิศิษฎ์เมธี (น้องน่านฟ้า) ดญ.เบญญาภา วงษ์ชื่น(พลอยลี่) , เพลงส้มตำ ดญ.สิริกร นกพัฒน์ (นิ้ง) ดญ.ภัทรวดี ศรีวัฒนกูล (เฌอเบลล์) , เพลงรักเอย พรหมเทพ เทพรัตน์ และ เพลงวอลซ์ปลื้มจิตต์ ขับร้องโดย สมศรี ม่วงศรเขียว


จากนั้น จึงเป็นการแสดงเพลงไทยสากลยอดนิยม จำนวน ๖ ชุดการแสดง ขับร้องโดยศิลปะนักร้องชื่อดัง ของประเทศ ดังนี้ ชุดที่ ๑ ชุดเปิดงาน 100 ปี เพลงไทยสากลยอดนิยม ประกอบด้วยเพลงไพเราะยอดนิยมตลอดกาล ได้แก่ เอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ศิลปินแห่งชาติ , เพลงสุดท้าย สุดา ชื่นบาน ศิลปินแห่งชาติ , รักกันไว้เถิด ครูนคร ถนอมทรัพย์ ศิลปินแห่งชาติ  ชุดที่ ๒ เพลงดีไม่มีวันลืม โดย ดร.วินัย พันธุรักษ์  ศิลปินแห่งชาติ เพลงแม่ยอดรัก , วงจันทร์ ไพโรจน์ กุหลาบเวียงพิงค์ , นันทวรรณ สุวรรณปิยะสิริ ขวัญของเรียมชุดที่ ๓ ไทยป๊อปยุค ๘๐ โดยศรวณี  โพธิเทศ เพลงตะแลงแกงแทงใจ , ชรัส เฟื่องอารมณ์ ทั้งรู้ก็รัก , นัดดา วิยกาญจน์ เพลงมายาชีวิต ชุดที่ ๔ ยุค ๘๐ มาแรง โดยทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล เพลงสุดเหงา , วิภา จันทรกูล  ก็เพราะรัก และ วารุณี  สุนทรีสวัสดิ์ เพลงกอดฉัน ชุดที่ ๕ ความหมายของความรัก โดยจิตติมา เจือใจ เพลง ถ้าหัวใจฉันมีปีก , ชูใจ เพชรา สายัณห์รัญจวน , คณิตตา จิตรเจริญ เจ็บพอแล้ว , เฉลิมศักดิ์ อังศุพันธุ์ เพลงความรัก และปิดท้ายด้วยพบเพลง ชุดที่ ๖ เพลงที่ยังเหลืออยู่ โดย อุษา แก้วมณี เพลงสาวเจียงฮาย , อุมาพร บัวพึ่ง หนึ่งหญิงสองชาย ,ชรัมภ์ เทพชัย ฐานันดรรัก , สุเทพจูเนียร์ (อุมาพร-ชรัมภ์-ฎากร-พรเทพ) ร่วมกันขับร้องเพลงเพื่อนที่ยังเหลืออยู่ ทุกบทเพลงที่นำมาแสดงในครั้งนี้ ล้วนเป็นเพลงดังในอดีตที่ไม่ว่าจะผ่านกาลเวลามานานเท่าใด ยังคงสร้างความสุข สร้างความประทับใจให้แฟนเพลงได้ไม่มิรู้ลืม

ส่วนเทศกาลดนตรีรายการ ๒ (วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๖) จะเป็น การแสดงดนตรี ลีลาศสุนทราภรณ์ โดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ ณ ลานวัฒนธรรมสร้างสุข กระทรวงวัฒนธรรม เริ่มด้วย การแสดงคณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทย Thai Youth Choir (TYC) ต่อด้วยการแสดงวงดุริยางค์เยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์ Thai Youth Orchestra (TYO) เวลา ๑๖.๕๐ - ๑๘.๐๐ น. จากนั้นเป็น การแสดงดนตรี ลีลาศ สุนทราภรณ์ เวลา ๑๘.๐๐ – ๒๑.๐๐ น. ณ ลานวัฒนธรรมสร้างสุข ซึ่งมีนักเต้นลีลาศ จำนวนมากถึง ๑ พันคู่ จากชมรมสมาคมนักเต้นลีลาศ-สมาพันธ์สตรี และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมสนุกสนาน เพลิดเพลินเริงลีลาศ ตลอด ๓ ชั่วโมง เต็มอิ่มทุกจังหวะ เช่น รำวง-รำวงชวนรำ  คิวบัน-รักเพียงใจ  บีกิน-สุริยาลับฟ้า   ช่าช่าช่า-สุขกันเถอะเรา  รุมบ้า-คนเหมือนกัน  กัวราช่า-นกเขาไพร  ตลุง-ตลุงสากล  วอลซ์-ขอพบในฝัน  แทงโก้-ดำเนินทราย  ควิกวอลซ์-นางฟ้าจำแลง  เป็นต้น
 
จากนั้นในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๖ เป็น การแสดงมหกรรมดนตรีไทย ระหว่างเวลา ๐๙.๓๐ - ๒๐.๓๐ น. ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  ประกอบด้วย ๕ รายการแสดง ได้แก่ การแสดงมหาดุริยางค์ไทย เวลา ๐๙.๓๐-๑๐.๓๐ น. ณ หอประชุมใหญ่ การเสวนา “สุนทรีย์ดนตรีไทย จากรากเหง้า สู่อิทธิพลสมัยใหม่” เวลา ๑๐.๓๐-๑๒.๐๐ น. ณ หอประชุมเล็ก  การแสดงดนตรีไทยโดยโรงเรียนดนตรีไทย ๑๐๐% จำนวน ๘ แห่ง (๖ โรงเรียน ๒ มหาวิทยาลัย) เวลา ๑๓.๐๐ น. – ๑๖.๐๐ น. ณ อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย การแสดงปีพาทย์ประชันวง โดยวงบ้านบัวหลวง กับวงทับพรวาทิต เวลา ๑๖.๐๐-๑๘.๐๐ น. ณ หอประชุมใหญ่ และการแสดงดนตรีไทยร่วมสมัย  แสดงโดย วงดนตรีเพชรจรัสแสง กับ วงดนตรีสมทรง ระหว่างเวลา ๑๘.๓๐-๒๐.๓๐ น. ณ ลานหน้าศาลาไทย ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย


ปิดท้ายเทศกาลดนตรีแห่งปีด้วย การแสดงดนตรี ๘๔ ปี สุนทราภรณ์ ในวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๖ ประกอบด้วย การเสวนา “เส้นทางสู่ ๘๔ ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์” เวลา ๑๐.๓๐ – ๑๒.๓๐ น. ณ หอประชุมเล็ก และ การแสดงคอนเสิร์ต “๘๔ ปี สุนทราภรณ์” เวลา ๑๔.๐๐ – ๑๖.๓๐ น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 
 
ทั้งนี้ ภายในงานเทศกาลดนตรียังมีตลาดวัฒนธรรมสร้างสุข ที่ออกร้านโดยหน่วยงานในสังกัดและเครือข่ายวัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรม มาออกร้านซุ้มอาหารคาวหวานและเครื่องดื่มให้ผู้ที่มาร่วมงานได้อิ่มหนำสำราญ เพลิดเพลินและสุขใจในระหว่างร่วมงานเทศกาลดนตรีในครั้งนี้อย่างถ้วนหน้า และสามารถติดตามข่าวสารทางวัฒนธรรมได้ทาง www.culture.go.th/ แฟนเพจเฟสบุ๊คกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และรายการแสดงต่าง ๆ ของศูนย์วัฒนธรรมที่ www.tccbooking.net/activity

พาพันเคลิ้มพาพันรักสัตว์พาพันไฟท์ติ้ง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่