เช็กลิสต์เตรียมตัวลาออก เมื่อยังไม่มีงานใหม่รองรับ

จากกระทู้ก่อนเราพูดถึงเรื่องผลกระทบของการลาออกโดยที่ยังไม่มีงานใหม่รองรับไป เมื่อเราชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสียของการลาออกโดยยังไม่มีงานใหม่รองรับแล้ว และได้ผลสรุปว่าต้องการลาออกจริง ๆ JobThai Tips กระทู้นี้เอาแนวทางการเตรียมตัวก่อนลาออกมาฝากดังนี้ 
  
เช็กเงินสำรองและวางแผนด้านการเงิน 
สิ่งสำคัญที่สุดในการเตรียมตัวก่อนลาออกคือการวางแผนด้านการเงินให้ดี ลองคำนวณดูว่าในแต่ละเดือนเรามีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และถ้าเราจะลาออก เราจะหยุดพักนานเท่าไหร่ เงินสำรองที่มีตอนนี้มากพอหรือยัง พอดีกับจำนวนเดือนที่เราตั้งใจจะหยุดทำงานไหม อย่าลืมเผื่อเงินเอาไว้ในกรณีฉุกเฉินสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่ทำให้เราต้องใช้เงินเพิ่มด้วย เช่น อุบัติเหตุ ป่วยกะทันหัน ต้องผ่าตัดเร่งด่วน รวมถึงในกรณีที่เราใช้เวลาในการหางานใหม่นานเกินกว่าที่เราคาดคิดเอาไว้ 
  
ปรึกษาและพูดคุยกับคนรอบข้างให้เรียบร้อย 
เงื่อนไขและภาระของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนยังต้องพึ่งพาอาศัยเงินจากพ่อแม่อยู่ หรือบางคนก็ต้องเก็บเงินไว้เลี้ยงดูครอบครัว ดังนั้นก่อนลาออก อย่าลืมเปิดอกพูดคุยกับคนใกล้ชิดให้เข้าใจกัน ว่าทำไมถึงตัดสินใจลาออก จะหยุดพักนานแค่ไหน และจะมีผลกระทบอะไรตามมาบ้าง เช่น รายได้ที่ลดลงของเราจะส่งผลยังไงกับพวกเขา และเรามีแผนจัดการกับสิ่งนี้ยังไงบ้าง พยายามอธิบายและหารือกันให้เรียบร้อย ทุกคนจะได้สบายใจและไม่เกิดปัญหาตามมาทีหลัง 
  
ลงทะเบียนว่างงานเพื่อขอรับเงินชดเชย 
ในกรณีที่เราจ่ายเงินค่าประกันสังคม 6 เดือนขึ้นไป (ภายใน 15 เดือนก่อนว่างงาน) เราสามารถลงทะเบียนว่างงานเพื่อขอรับเงินชดเชยกับกรมจัดหางานได้ โดยเราต้องลงทะเบียนภายใน 30 วันหลังจากลาออก และรายงานตัวออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมจัดหางานทุก 30 วัน ไม่เว้นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ 
ส่วนจำนวนเงินชดเชยที่จะได้รับจากการว่างงานในกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างจะอยู่ที่ 30% ของเงินเดือนล่าสุด โดยคำนวณจากฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ถ้าได้เงินเดือนมากกว่านี้ก็จะได้รับเงินชดเชยจำนวน 4,500 บาทเท่านั้น (30% ของ 15,000 บาท) และจะได้รับไม่เกินปีละ 90 วันหรือ 3 เดือน  (ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม) 
 
แจ้งลาออกและอธิบายเหตุผลให้บริษัทเข้าใจ 
หลังจากจัดการทุกอย่างเรียบร้อยก็ถึงคราวแจ้งลาออก ซึ่งในการชี้แจงเหตุผล เราควรอธิบายอย่างจริงใจและตรงไปตรงมา รวมถึงพยายามรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อบริษัทเอาไว้ เช่น ถ้าหากเราตัดสินใจลาออกเพราะหมดไฟ ต้องการหยุดพัก ก็ควรชี้ให้เห็นว่าถ้าเรายังฝืนทำงานต่อไป นอกจากจะไม่เป็นผลดีกับตัวเราเองแล้ว ยังส่งผลเสียต่อบริษัทอีกด้วย เนื่องจากประสิทธิภาพในการทำงานของเราลดลง คุณภาพงานเองก็แย่ตาม Performance ของบริษัทก็ย่อมไม่ดีด้วยเช่นกัน 

หรือถ้าหากเราต้องลาออกด้วยเหตุสุดวิสัยจริง ๆ  เช่น ปัญหาด้านสุขภาพ ก็ชี้แจงไปตามความเป็นจริง ไม่จำเป็นต้องปิดบัง บริษัทย่อมเข้าใจเหตุผล และถ้าเรากับทางบริษัทมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ไม่แน่ว่าทางบริษัทอาจยื่นมือให้ความช่วยเหลือ หรือเราอาจได้ Offer ให้กลับมาทำงานที่บริษัทเดิมอีกครั้งเมื่อพร้อมทำงานก็ได้ 
 
การตัดสินใจว่าจะลาออกดีไหมถ้ายังไม่มีงานใหม่รองรับนั้นไม่มีคำตอบตายตัว เพราะเงื่อนไขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน  ดังนั้นเราควรพิจารณาโดยอิงจากสถานการณ์ของตัวเองเป็นหลัก ถ้าสามารถรับความเสี่ยงได้ มีเงินเก็บสำรองเพียงพอ และพูดคุยกับคนใกล้ชิดจนเข้าใจกันดีแล้ว การลาออกก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่