รีวิว วรรณกรรมญี่ปุ่นสำหรับทาสแมว -- แมวกับนายโชโซและผู้หญิงสองคน

แมวพิมพ์โอปป้า
 
วันนี้ ดูเหมือนเป็นวันแมวในญี่ปุ่น เลยต้องแจ้นมารีวิวเล่มนี้สักหน่อย



 
 
แมวกับนายโชโซและผู้หญิงสองคน โดย จุนอิจิโร ทานิซากิ  นักเขียนวรรณกรรมสมัยใหม่ชาวญี่ปุ่นที่เฉียดจะได้โนเบลในทศวรรษที่ 70 เขียนหนังสือเล่มหนึ่งที่ว่ากันว่า นิสิตนักศึกษาสถาปัตยกรรมต้องรู้จักกันดี นั่นคือ ความเรียงว่าด้วยสุนทรียะของแสงและเงา ที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า In Praise of Shadows หรือในเวอร์ชั่นภาษาไทยเป็นหนังสือเล่มที่ชื่อ “เยิรเงาสลัว” แม้ว่าหนังสือเล่มนี้ จะพิมพ์ออกมาในปี ค.ศ. 1933 แต่ยังคงถือได้ว่าเป็นของคลาสสิคในวงการสถาปัตยกรรมและแวดวงของผู้ที่สนใจเรื่องความงามแนวตะวันออก ซึ่งเห็นความธรรมดาอันสงบงามจากธรรมชาติของแสงและเงาที่ทาบทอ
 
 

แต่ช้าก่อนค่า
แม้ว่า ทานิซากิ จะเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่และมีผลงานรวมถึงเกียรติคุณที่ดูน่าครั่นคร้ามปานใด
แต่ก็มีเขียนเรื่องเบา ๆ น่ารัก ๆ ออกมาซึ่งแสดงความเป็น“ทาส”แมวอย่างถึงแก่นกระดูกของเขาออกมาในชื่อว่า Neko to Shōzō to futari no onna ซึ่งในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษแปลออกมาได้ว่า A Cat, A Man and Two Women และในภาษาไทยของเรา ได้คุณอรรถ บุนนาค แปลจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นและให้ชื่อภาษาไทยว่า  แมวกับนายโชโซและผู้หญิงสองคน
 
 
เล่มนี้ตีพิมพ์ในปี 1936 ค่ะ ก็เกือบ ๆ ร้อยปีแล้วนะคะ
 
 
 
บอกตามตรงว่าอ่านตอนแรก ดิฉันก็แปลกใจนะคะ
เพราะคิดว่า คนเอเชียอย่างพวกเรา เมื่อสมัยหลายสิบปีก่อน เราไม่ได้เลี้ยงหมา เลี้ยงแมว โอ๋แบบเป็นลูกเป็นหลานอย่างสมัยนี้  คือ ถ้าอ่านตอนนี้ เรารู้สึกว่ามันเข้าสมัย ตอนนี้ ใคร ๆ ก็จูบจอมถนอมเกล้าแมวแบบนี้กันทั้งนั้น  แต่สมัยโน้นนี่ แมวอยู่ส่วนแมว คนอยู่ส่วนคน (อย่างน้อยก็ในสังคมส่วนใหญ่ที่ดิฉันเห็นนะคะ)
 

 
เรื่องนี้เป็นเรื่องของแมวตัวหนึ่งที่ชื่อลีลี่ เป็นแมวของนายโชโซ ผู้ชายที่ทิ้งเมียเก่ามาแต่งเมียใหม่ตามคำยุของแม่ และความไม่ได้ความของตัวเอง
เมียเก่าเขียนจดหมายมาตื๊อไม่ได้เพื่อขอคืนดีโดยตรง แต่เพื่อมาขอแมว
ส่วนเมียใหม่ก็หึงนายโชโซกับแมว นายโชโซก็สองจิตสองใจว่าจะให้หรือไม่ให้ดี
และเช่นเคย คำถามคลาสสิคที่ป๊อปขึ้นมาในบทสนทนาที่ทาสแมวทั่วโลกมักจะเจอคือ
“รักชั้นมากกว่า หรือรัก (นัง)แมวนี่มากกว่า ?”
อย่าเยอะ 

หนังสือบรรยายความรัก ความผูกพันกับแมวได้เรียบง่ายและลึกซึ้งมาก
พร้อมทั้งบรรยายความ “แมว” ได้เห็นภาพด้วย  ถ้าคุณเลี้ยงแมว คุณจะนึกภาพออก สามารถรู้สึกถึงอารมณ์ร่วมและหัวเราะหรือบางฉากอาจจะเศร้าไปกับตัวละครได้เลย
 
ส่วนหนึ่งที่ดิฉันสังเกตุคือ วรรณกรรมญี่ปุ่น บางทีจะเขียนอะไรที่เจือความหยึย ๆ หรือ grotesque นิดหน่อย 
เช่น เคยอ่านหนังสือเด็กเตรียมอนุบาลของญี่ปุ่น มันจะมีหนังสือที่ว่าด้วยเรื่อง อึ หรือ เรื่อง ตด 

จิกหมอน
แต่ด้วยความญี่ปุ่น มันก็จะเขียนได้ตรงไปตรงมาแบบซื่อ ๆ ภาพประกอบก็น่ารัก ... หรือ เรื่องดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเร่ ก็มีเรื่องเล่น “อุนจิ” 

 
มาเรื่องนี้ ดิฉันขำตอนฉากบรรยายถึงความผูกพันและสนิทสนมของนายโชโซกับแมว ว่า “เราถึงขนาดดมตดกันและกันมาแล้วนะ”
 
โอ๊ยยยยยยย... มันต้องเขียนถึงขนาดนี้ด้วยรึพ่อ ???
 
แต่สนุก น่ารักค่ะ คุณอรรถ ก็แปลได้ดีมาก ๆ ด้วย

เลยแวะมาแนะนำวรรณกรรมแมวๆ ทิ้งไว้สำหรับคนรักแมวในวันแมวญี่ปุ่นนะคะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่