ขอเวลาอีกไม่นาน… ซีอีโอ Sony เผย สมาร์ทโฟนจะถ่ายรูปดีกว่ากล้อง DSLR ภายในปี 2024

จริงๆ มีคนส่งเรื่องแบบนี้มาให้อ่าน แต่เอาตรงๆนะครับ ความที่ผมก็ไม่ได้เชี่ยวชาญกล้องมาก อ่านแค่หัวข้อนี่ก่อนอ่านเรื่องราวบทความทำให้ผม
แอบอมยิ้มไม่หายและนึกในใจว่าเอาแค่ กล้องเซ็นเซอร์ Micro Four Third จริงๆที่คนถ่ายออกมาจากกล้อง Mirrorless Olympus เช่น EPL 7 หรือ OMD EM-10 ต่อให้กล้องถ่ายรูปสองรุ่นที่เอ่ยมาเป็นรุ่นเก่าหน่อยคุณภาพรูปภาพมันก็กิน หรือเหนือกว่ากล้องมือถือสมัยนี้มากแล้วนะครับ บางคนเคยพูดกับผมว่าอย่าไปเชื่อแอ๊พบ้าบอทำหน้าชัดหลังเบลอ Bokeh โดยใช้มือถือถ่ายออกมาเลย Fake สุดๆ ดูหยาบๆก็รู้กันแล้ว 

รบกวนพี่ๆที่อ่านกระทู้นี่ที่มีประสบการณ์การใช้กล้องช่วยเข้ามา comment แลกเปลี่ยนดูกันหน่อยครับ
ที่มา https://droidsans.com/sony-smartphone-exceed-dslr-camera-2024/
....................................................................................................................................................

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Sony ได้จัดเซสชันบรรยายทางธุรกิจในประเทศญี่ปุ่น ในหัวข้อเกี่ยวกับเซนเซอร์กล้องและการถ่ายภาพมีประเด็นน่าสนใจคือ เทรูชิ ชิมิซุ ซีอีโอของ Sony Semiconductor Solutions หรือ SSS ได้เปิดเผยมุมมองว่า คุณภาพของ “ภาพนิ่ง” ที่ถ่ายจากกล้องมือถือจะแซงหน้ากล้อง DSLR ภายในปี 2567 โดย Sony จะแสดงให้ดูเองว่าทำยังไง
 
กล้องมือถือจะสู้ DSLR ได้ด้วยวิธีไหน

เทรนด์มือถือในกลุ่มไฮเอนด์จะมีการอัปเกรดกล้องโดยขยายขนาดเซนเซอร์ให้ใหญ่ขึ้นในแต่ละปี ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการไล่ตามกล้อง DSLR เพราะเมื่อเซนเซอร์มีขนาดใหญ่ขึ้น พิกเซลย่อยก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นตาม นั่นหมายถึงการรับแสงที่ดีกว่าเดิม และสัญญาณรบกวนที่ลดลง
แม้ตอนนี้สมาร์ทโฟนที่มาพร้อมเซนเซอร์กล้อง 1 นิ้ว ยังมีจำนวนเพียงแค่หยิบมือในตลาด เช่น AQUOS R7 ของ SHARP กับ Leitz Phone 1 ของ Leica แต่ Sony บอกว่า มันจะได้รับความนิยมและใช้งานกันแพร่หลายมากขึ้นภายในปี 2573 หรืออีก 8 ปีถัดจากนี้
แค่เซนเซอร์ใหญ่อย่างเดียวคงไม่พอ

เราต่างทราบกันดีว่า ลำพังเฉพาะแค่ขยายขนาดเซนเซอร์เพียงอย่างเดียว คงไม่พอที่จะทำให้กล้องมือถือไล่ตามกล้อง DSLR ทัน เหตุผลหลัก ๆ คือ กล้อง DSLR ไม่ติดข้อจำกัดเรื่องขนาด ทำให้สามารถประกบเข้ากับเลนส์ขนาดมโหฬารยังไงก็ได้ คุณภาพดีกว่ากันเป็นคนละเรื่อง

แต่ Sony ก็ได้ชื่อเป็นเป็นผู้ผลิตกล้องระดับแนวหน้าและเป็นผู้ผลิตเซนเซอร์อันดับ 1 ของโลก แถมยังมีสิทธิบัตร องค์ความรู้ และเทคโนโลยีการถ่ายภาพอยู่ในมืออีกเพียบ กับบริษัทระดับนี้คงไม่พูดอะไรพล่อย ๆ โดยไม่มีเหตุผลมารองรับ (แหงอยู่แล้ว) โดยนอกเหนือจากการขยายขนาดเซนเซอร์แล้ว Sony ยังได้นำเสนอปัจจัยอื่นที่จะเข้ามายกระดับกล้องมือถือในอนาคตตามที่แผนไว้ ดังนี้

รูรับแสงขนาดใหญ่ : เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้าง ย่อมรับแสงได้มากขึ้นตาม
โครงสร้างเซนเซอร์แบบใหม่ : ถ้าใครติดตามข่าววงการกล้อง อาจได้ยินมาบ้างว่า Sony พัฒนาสถาปัตยกรรมเซนเซอร์ที่มีทรานซิสเตอร์ซ้อนกันสองชั้นมาตั้งแต่ปี 2564 เป็นอย่างน้อย ซึ่งโครงสร้างแบบใหม่นี้ช่วยให้ไดนามิกเรนจ์กว้างขึ้น ประสิทธิภาพควอนตัมดีขึ้น (เกี่ยวกับการแปลงโฟตอนเป็นอิเล็กตรอน) และนอยส์น้อยลง

หน่วยประมวลผลภาพคุณภาพสูง : อาจฝังมากับตัวชิปเซตหรือแยกออกมาเป็นชิปเดี่ยว เหมือนอย่าง MariSilicon X ของ OPPO เพื่อยกระดับกระบวนการมัลติเฟรม เบื้องหน้าถ่ายรูปแชะเดียว แต่เบื้องหลังได้รูปหลายใบ นำทั้งหมดมารวมกันแล้วประมวลผลเป็น 1 ภาพ
ปัญญาประดิษฐ์และอัลกอริทึมที่ล้ำหน้า : เกี่ยวข้องกับการทำมัลติเฟรมเช่นกัน

ในความเป็นจริงจะทำได้ไหม ในเมื่อ DSLR ยังไม่หยุดพัฒนา
อันที่จริงก็ต้องบอกว่า ส่วนใหญ่ที่ Sony หยิบยกมานำเสนอไม่ใช่ของใหม่แต่อย่างใด หลาย ๆ อย่างที่เหมือนหรือใกล้เคียงก็มีให้เห็นอยู่แล้วในสมาร์ทโฟนปัจจุบัน Samsung ก็มี… Google ก็ทำ… รวมถึงเจ้าอื่น ๆ อีก แต่แน่นอนแหละ เทคโนโลยีมันพัฒนาไปทุกวัน อะไร ๆ ในอนาคตก็ย่อมดีกว่าเดิม
แต่ประเด็นที่ไม่สามารถมองข้ามได้เลยคือ ถ้ากล้องมือถือพัฒนาขึ้น กล้อง DSLR ก็ย่อมต้องพัฒนาขึ้นตาม ทั้งคู่ตั้งอยู่บนเทคโนโลยีการถ่ายภาพดิจิทัลแบบเดียวกัน เว้นเสียแต่ว่า…มันเกิดกรณีที่กล้อง DSLR จะถึงจุดจบ ไม่มีเจ้าไหนเลือกทำต่อ แบบนี้ก็ดูจะเป็นไปได้ที่สมาร์ทโฟนจะก้าวข้าม ซึ่งก็มีแนวโน้ม

ด้วย เพราะกล้อง MILC หรือมีร์เรอร์เลสมีอนาคตมากกว่า Sony ก็ทำแต่กล้องประเภทนี้มาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว ทาง Canon กับ Nikon อีกสองค่ายยักษ์ใหญ่ก็ไม่เอา DSLR แล้วเหมือนกัน
ดังนั้น สุดท้ายแล้ว Sony จะทำได้จริงตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ คงต้องติดตามดูกันต่อไป ถึงตอนนั้นสมาร์ทโฟนเรือธงของ Sony ก็จะเป็น Xperia 1 VI นั่นเอง (ถ้าไม่เปลี่ยนชื่อหรือเลิกทำไปซะก่อนนะ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่