ย้อนอดีตของเครื่อง V12 ของ Lamborghini

กระทู้ข่าว

เครื่องยนต์ V12 แบบไร้ระบบอัดอากาศ ถือเป็นหัวใจสำคัญของลัมโบร์กินีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1963 ซึ่งในความเป็นจริงนั้น จวบจนปัจจุบันมีการผลิตเครื่องยนต์ V12 เพียงแค่ 2 รุ่นที่ถูกวางอยู่ในรถซูเปอร์สปอร์ตคาร์ โดยรุ่นแรกเป็นเครื่องยนต์พื้นฐานสำหรับรถแข่งที่ “ถูกปรับแต่ง” สำหรับใช้วิ่งบนท้องถนนซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของจิอ็อตโต้ บิซซารินี (Giotto Bizzarrini) และเปิดตัวครั้งแรกในรถยนต์ลัมโบร์กินีรุ่นแรกอย่าง 350 GT ส่วนเครื่องรุ่นที่สองถูกออกแบบใหม่ทั้งหมดแต่ยังคงยึดแนวคิดเชิงเทคนิคแบบเดิม ติดตั้งครั้งแรกในรถยนต์ตระกูล Aventador และเปิดตัวในปี ค.ศ. 2011 ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีครั้งสำคัญของบริษัท ตลอดจนการสร้างมาตรฐานใหม่ทั้งในด้านกำลังเครื่องและประสิทธิภาพที่มั่นใจได้


เครื่องยนต์รุ่นแรกได้ผ่านการปรับแต่งและการพัฒนาต่อยอดประสิทธิภาพมาโดยตลอด เพื่อเพิ่มกำลังเครื่องยนต์ให้สูงขึ้น และต่อมายังคำนึงถึงเรื่องการประหยัดเชื้อเพลิงและลดการปล่อยไอเสียร่วมด้วย ซึ่งช่วงเวลาระหว่างปี ค.ศ. 1963-2010 เครื่องยนต์รุ่นนี้ถูกวางในหลายตำแหน่งของตัวรถยนต์ โดยในครั้งแรกถูกวางบริเวณด้านหน้าของรถยนต์ในรุ่น 350 GT, 400 GT และ Espada โดยได้รับการพัฒนาให้ใช้วัสดุอะลูมิเนียมในส่วนฝาสูบ ข้อเหวี่ยง และลูกสูบ เพื่อลดน้ำหนักให้เหลือเพียง 232 กก. ต่อมาถูกวางหลังคนขับบริเวณกลางตัวรถโดยหมุนแกน 90 องศาตามแนวขวางในรถยนต์ตระกูล Miura และต่อมาถูกหมุนอีก 90 องศา โดยวางกลางตัวถังส่วนท้ายตามแนวยาว โดยเริ่มใช้ในรถยนต์ตระกูล Countach เพื่อเพิ่มสมดุลของการกระจายน้ำหนักให้ดียิ่งขึ้น


เมื่อเครื่องยนต์ถูกพัฒนาให้มีความจุมากขึ้นจาก 3.5 ลิตรในรุ่น 350 GT เป็น 6.5 ลิตรในรุ่น Murciélago จึงยิ่งจำเป็นต้องลดน้ำหนักลง ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงริเริ่มใช้วัสดุและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อลดน้ำหนักของเครื่องยนต์บนโครงแชสซี จวบจนในวันนี้ เครื่องยนต์ V12 ยังคงเป็นหัวใจสำคัญทั้งในรถยนต์ Aventador, Sián และ Countach LPI 800-4 ของลัมโบร์กินี รวมถึง Essenza SCV12 รถสปอร์ตเจ้าสนามที่ให้กำลังเครื่องสูงถึง 830 แรงม้า

จุดกำเนิดของขุมพลังอันล้ำค่า
นับตั้งแต่เริ่มต้น เครื่องยนต์ V12 ถูกยกย่องให้เป็นขุมพลังที่มีความประณีตและยอดเยี่ยมที่สุด ซึ่งได้รับกระแสตอบรับมากยิ่งขึ้นเมื่อนำมาวางในรถยนต์รุ่นต่าง ๆ ของลัมโบร์กินี โดยบิซซารินีรังสรรค์เครื่องยนต์ V12 เพียงเพื่อสร้างโอกาสให้บริษัทสามารถก้าวเข้าสู่โลกของการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ต ทว่า เฟอร์รุชโช ลัมโบร์กินี (Ferruccio Lamborghini) กลับนำมาทำเป็นเครื่องยนต์สำหรับการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ จนกลายเป็นเรื่องราวแห่งยนตรกรรมอันน่าหลงใหลที่สืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

“เรื่องราวของลัมโบร์กินีเริ่มต้นขึ้นจากเครื่องยนต์ V12 นี่เอง” เมาริซิโอ เรจจิอานี (Maurizio Reggiani) อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค ลัมโบร์กินี กล่าว “เห็นได้ชัดว่าในช่วงทศวรรษ 1960 เครื่องยนต์ V12 ถือเป็นตัวแทนแห่งสุดยอดด้านเทคโนโลยี ความหรูหรา และคุณลักษณะของรถยนต์สปอร์ตที่แท้จริง”

หลังจากใช้ในรถยนต์ 350 GT และรุ่นต่อยอดอื่น ๆ เครื่องยนต์ V12 จึงได้ถูกนำมาวางไว้ในรถยนต์ Miura ในปี 1966 


และ Countach ในปี 1971 


รวมถึง Diablo ในปี 1990 ก่อนที่จะถูกใช้ในรถยนต์รุ่นสุดท้ายคือ Murciélago เครื่องยนต์รุ่นนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงสมรรถนะรอบด้านอย่างเด่นชัด 


เมื่อทีมวิศวกรได้ออกแบบเครื่องยนต์ในเวอร์ชันความจุ 5.2 ลิตรสำหรับใช้ในซูเปอร์เอสยูวีรุ่นแรกของลัมโบร์กินีอย่าง LM 002 ในปี 1986 และต่อมามีการผลิต LM 002 เวอร์ชั่นพิเศษซึ่งเป็นเครื่องยนต์ V12 ขนาด 7.2 ลิตร ที่ให้กำลังเครื่องถึง 700 แรงม้า ซึ่งโดยปกติจะใช้ใน   เรือยนต์สำหรับการแข่งขันนอกชายฝั่งเท่านั้น 


การเปลี่ยนแปลงแนวคิดครั้งสำคัญ
ด้วยการคิดค้นเพลาลูกเบี้ยวคู่ ซึ่งเป็นการออกแบบเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์เป็นครั้งแรก ช่วยเพิ่มมุมองศารูปตัว “V” ของเครื่องและทำให้ได้จุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำลง โดยเลือกติดตั้งเครื่องยนต์แนวขวางบริเวณกลางส่วนท้ายของรถยนต์ Miura เพื่อให้มีการกระจายน้ำหนักที่ดีขึ้นและทำให้ระยะช่วงล้อสั้นลง โครงของกระปุกเกียร์และเฟืองท้ายยังถูกผสานเป็นหนึ่งเดียวกับระบบส่งกำลัง เพื่อช่วยให้การประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ โดยรวมของซูเปอร์สปอร์ตคาร์ระดับตำนานนี้มีความกะทัดรัดและมั่นคงยิ่งขึ้น

การกระจายน้ำหนักคือหัวใจสำคัญ
ด้วยความมุ่งมั่นยกระดับประสิทธิภาพการกระจายน้ำหนักในรถยนต์รุ่น Countach ทำให้ทีมนักออกแบบเลือกใช้เครื่องยนต์แบบเดิมแต่เปลี่ยนตำแหน่งติดตั้งมาเป็นบริเวณกลางท้ายตัวถังและหมุนมุมเพิ่มอีก 90 องศา ซึ่งถือว่าเป็นการปรับมุมจากครั้งแรกในรุ่น 350 GT ไปถึง 180 องศาเลยทีเดียว โดยพวกเขาได้ติดตั้งกระปุกเกียร์ที่ด้านหน้าเครื่องยนต์ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือ “อยู่ในห้องโดยสาร” นั่นเอง โดยในเวอร์ชั่นสุดท้าย เครื่องยนต์ของ Countach สามารถเพิ่มความจุได้ถึง 5.2 ลิตร และต่อมาเครื่องยนต์ V12 ใน Countach รุ่นปี 1986 ก็ได้รับการอนุมัติให้จำหน่ายในตลาดสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์ครั้งสำคัญนี้สำเร็จได้ด้วยการใช้ระบบหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนำมาทดแทนการใช้คาร์บูเรเตอร์เพื่อให้สอดคล้องตามข้อกำหนดเรื่องการลดมลพิษที่เข้มงวดมากกว่าของตลาดแห่งนี้

“ด้วยความจุที่เพิ่มขึ้น ทำให้เครื่องยนต์ยาวขึ้น ซึ่งหมายความว่าเราต้องย้ายจุดศูนย์ถ่วงไปที่ส่วนท้ายของตัวรถ” เรจจิอานี กล่าว “การทำเช่นนี้ทำให้เกิดความลำบากในการขับขี่และคุณต้องประสบกับอาการท้ายปัดมากขึ้น เราจึงต้องปรับรูปแบบการวางตำแหน่งเครื่องยนต์ใหม่ทั้งหมด โดยใช้เครื่องยนต์เป็นตัวเปลี่ยนจุดศูนย์ถ่วงของรถและทำให้เครื่องยนต์ V12 ใน Countach ยังคงอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่