ถอยหลังลงคลอง! 'บัวผันฟันยับ' หนังที่กำลังทำให้ 'วัฒนธรรมข่มขืน' กลายเป็นเรื่องปกติอย่างน่าเศร้า

เราจะต้องรณรงค์และพูดซ้ำเรื่อง Rape Culture กันไปอีกนานเท่าไหร่ ในเมื่อคนที่เกี่ยวข้องยังมีส่วนสานต่อ 'ตรรกะบิดเบี้ยว' ไม่รู้จบ!

            ย้อนกลับไปเมื่อกว่าทศวรรษก่อน หรือเมื่อปี 2551 ถนนกรุงเทพมหานครเคยโล่งราวกับไม่เคยมีรถยนต์มาก่อน ในวันที่ละครเรื่อง ‘สวรรค์เบี่ยง’ ถึงตอนอวสาน นั่นคือปรากฏการณ์สำคัญที่ปักหมุดหมายความสำเร็จครั้งใหม่ให้กับวงการละครโทรทัศน์ยุครุ่งเรืองตอนปลาย ก่อนที่อินเตอร์เน็ตจะมารุ่งเรืองแทนที่ และฟรีทีวีกลายเป็นสิ่งที่คนในสังคมไม่ค่อยจะยี่หระสักเท่าไหร่ ทว่าเมื่อมองย้อนกลับไปถึงตอนนั้นด้วยเลนส์ของตรรกะสังคมตื่นรู้ตอนนี้ เราต่างตระหนักกันเป็นอย่างดีว่า ‘เราทุกคนคือเหยื่อ’ จากละครที่สร้างปรากฏการณ์ดังกล่าวในตอนนี้ ที่สานต่อแนวคิด Rape Culture หรือ วัฒนธรรมข่มขืน อย่างโจ่งแจ้ง กับพล็อตละครพระเอกคาแร็กเตอร์ร้ายที่ข่มขืนนางเอกไม่มีทางสู้ในตอนต้นเรื่อง ก่อนที่คนเขียนบทจะบิดเรื่องราวฉาวโฉ่ที่บ้านริมทะเลให้กลายเป็นเรื่องโรแมนติกที่หลายคนในสังคมไทยใฝ่ฝันอยากจะเป็นเหมือนในละคร ด้วยหน้าพระเอกหล่อๆ และความโรแมนติกในการตามง้อนางเอกจนได้ลงเอยกันด้วยความรักและแต่งงานตามสูตรสำเร็จละครไทย ซึ่งมันช่างเป็นเรื่องที่น่าอดสูไม่น้อยในความคิดของผู้เขียน เมื่อมองย้อนกลับไป
           แต่ก็เอาล่ะ...เรื่องทั้งหมดผ่านไปแล้ว และเราก็แก้ไขอะไรไม่ได้นอกจากจำเอาไว้เป็นบทเรียน เป็นตัวอย่างและเป็นกรณีศึกษาให้กับสังคมต่อไป
          แต่ดูเหมือนว่า 11 ปีที่ผ่านมา บทเรียนดังกล่าวจะไม่ใช่บทเรียนสำหรับทุกคนเสมอไป เมื่อยังมีกลุ่มคนที่คอยผลิตซ้ำสื่อบันเทิง ยัดเยียดเรื่องราวและแนวคิดแบบ Rape Culture เข้าไปในเนื้อหาโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ล่าสุดกับภาพยนตร์เรื่อง ‘บัวผันฟันยับ’ ภาพยนตร์แนวคอมเมดี้โดยผู้กำกับ พฤกษ์ เอมะรุจิ นำแสดงโดย แอน ทองประสม และ กลัฟ-คณาวุฒิ ไตรพิพัฒนพงษ์ คู่พระนางที่สร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับเหล่าแฟนคลับไม่น้อยเมื่อแรกเปิดตัว กระนั้นความคาดหวังที่อยากจะให้คู่พระนางสร้างเรตติ้งสูงให้กับภาพยนตร์ก็เห็นจะเป็นไปได้ยากอีกแล้ว เมื่อล่าสุดบนโลกโซเชียลมีเดียมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมของฉากภาพยนตร์ที่พระนางได้เสียกันในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว
             โดยฉากเจ้าปัญหาในภาพยนตร์เรื่องนี้คือฉากที่ พระเอกและนางเอกกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม ทว่าในบทภาพยนตร์ตัวละครนางเอกมีการปฏิเสธแล้วทั้งคำพูดว่า “ไม่” “อย่า” หรือ “หยุด” แต่บทพูดทั้งหมดดูเหมือนจะไร้ประโยชน์ หรือเพียงแค่เขียนใส่มาให้หน้ากระดาษเต็มแค่นั้น เพราะทุกครั้งที่บทพูดังกล่าวหลุดออกมาจากปากของนางเอก จะตามมาด้วยการแสดงเล้าโลม หรือจูบให้เคลิ้มโดยตัวพระเอกทั้งสิ้น อีกทั้งยังถูกนำเสนอออกมาให้กลายเป็นเรื่องแสนตลก(ที่คนเขียนขำไม่ออก) ราวกับไม่จริงจังอะไร จนลืมตระหนักไปว่าสื่อบันเทิงนั้นส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างเป็นวงกว้าง และช่างไร้ความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างถึงที่สุด
             แม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว Rape Culture ในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวและสื่อบันเทิงอีกหลายเรื่องในประเทศนี้จะคลี่คลายด้วยความตลกโรแมนติก และไม่จริงจังอะไรก็ตาม แต่จงรู้ไว้เถิดว่าเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ที่หลายคนมองข้ามหลายครั้งและไม่สนใจเช่นนี้ ที่ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องด้วยการผลิตซ้ำเช่นนี้ เพียงแค่พริบตาเดียว มันก็อาจขยายพันธุ์เจริญเติบโตและฝังรากลึกลงในสังคมไทยได้ไม่ยาก และตอนนั้นก็คงจะสายเกินไปแล้วจริงๆ เพราะเมื่อถึงวันนั้นการข่มขืนอันเป็นปกติในสื่ิบันเทิงก็คงกลายเป็นเรื่องปกติสามัญในสังคมชีวิตจริงเข้าสักวัน
            ไม่เพียงเท่านั้น ทว่าประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมที่เกี่ยวข้องกับสื่อบันเทิง ทั้งละครและภาพยนตร์ไทย ที่มีอย่างมากและต่อเนื่องในช่วงนี้ยังสะท้อนให้เห็นความจริงอันน่าเศร้าของอุตสาหกรรรมบันเทิงที่ต้องแข่งขันกับทุนนิยมและเรตติ้งที่ว่า ในยุคนี้ดูเหมือนว่าการสร้างละครหรือภาพยนตร์สักเรื่องในอุตสาหกรรมบันเทิงไทย จะไม่ได้คำนึงถึงเนื้อเรื่องหรือเนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมคนดู ซึ่งนับเป็นความรับผิดชอบของทีมงานอันดับแรก แต่กลับหันไปให้ความสนใจต่อเรตติ้ง ด้วยการดึงเอานักแสดงในกระแส หรือเซเลบริตี้ มาเล่นละครหรือภาพยนตร์ เพื่อความหวือหวาและกระแสบนโลกโซเชียลเท่านั้น...

ที่มา:https://www.vogue.co.th/lifestyle/article/rape-culture-issue-in-thai-movie
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่