วันที่ฟ้าเปิด The Movie 4

กระทู้คำถาม
บทที่ 4

              ติณณ์หัวเสียเมื่อได้อ่านบทภาพยนตร์ที่บริษัท 35 ฟิล์มส่งมาให้ ดูเหมือนบริษัทนี้ได้เขียนบทภาพยนตร์ขึ้นมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ  ไม่ได้มีนิยายรองรับมาก่อน ซึ่งเมื่อติณณ์อ่านบทภาพยนตร์จบก็รู้สึกว่าแก่นของบทนั้นมีแต่เรื่องของความรัก ไม่มีประเด็นอะไรที่สามารถจับต้องได้นอกจากเรื่องของการพบรักของคู่ชายหญิง และอุปสรรคที่จะมาแยกทั้งคู่ออกจากกัน

              ในบทละครพูดถึงหญิงสาวจากเมืองกรุงที่มีโอกาสลงไปในพื้นที่ เธอพบกับนายทหารหนุ่ม และได้ใช้ชีวิตร่วมกันอยู่ช่วงหนึ่งจึงเกิดเป็นความผูกพันอยากจะตามเขาไปอยู่ในจังหวัดยะลา ติณณ์คิดว่า การที่นางเอกได้พบกับนายทหารผู้นั้น แล้วเกิดสนใจอยากติดตามเขาไปที่ยะลานั้น เนื้อเรื่องดูอ่อนเหตุผล  และไม่มีส่วนไหนที่สื่อถึงคนในพื้นที่ หรือปัญหาความรุนแรงได้อย่างตรงจุด  ในฐานะที่เป็นทหารทำงานใน กอ.รมน. เช่นนี้ เขาดูออกว่าคนเขียนบทภาพยนตร์ไม่ได้ทำการบ้านเกี่ยวกับการทำงานในพื้นที่ของทหาร และไม่รู้จริงเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงใน 3 จ.ชายแดนใต้

              และเมื่อนำมันไปเปรียบเทียบกับนิยายเรื่องวันที่ฟ้าเปิด มันเทียบกันไม่ได้เลย เรื่องวันที่ฟ้าเปิดก็เป็นเรื่องของหญิงสาวที่มาเจอกันโดยมีเหตุการณ์เป็นสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ ชักจูงให้พระเอกและนางเอกมาเจอกันด้วยปมปัญหาที่ไม่เข้าใจกัน และทั้งคู่ก็คลี่คลายปมปัญหาในใจร่วมกันพร้อมกับทำความเข้าใจปัญหาความวุ่นวายในพื้นที่ไปพร้อม ๆ กัน แค่ประเด็นตรงนี้ก็ทำให้ติณณ์ไม่สามารถสลัดนิยายเรื่องนี้ออกไปจากหัวสมองของเขาได้เลย

              คุณค่าของนิยายเรื่องวันที่ฟ้าเปิดหากนำมาทำเป็นภาพยนตร์ ติณณ์มั่นใจว่านั่นจะให้อะไรกับคนดูได้มากกว่า แต่เขายังคงต้องทำงานกับบริษัท 35 ฟิล์มต่อไป ติณณ์ต้องการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องบทภาพยนตร์ เขาจึงโทรศัพท์ไปหาผู้กำกับจากบริษัท 35 ฟิล์ม

              “สวัสดีครับ ผม พันโท ติณณ์ จาก กอ.รมน. ผู้ติดต่อประสานงานในการสร้างภาพยนตร์ครับ” ติณณ์แนะนำตัวเองให้คู่สนทนารู้

              “สวัสดีครับผู้พัน ผมรู้สึกยินดีครับที่เราได้ร่วมงานกัน ผมชื่ออานนท์ครับ” อีกฝ่ายแนะนำตัวกลับ

              “ผมเพิ่งได้รับบทภาพยนตร์จากทางบริษัท และจะต้องนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมในสัปดาห์หน้าครับ แต่เมื่อผมลองศึกษาเกี่ยวกับบทภาพยนตร์ตามที่คุณอานนท์ส่งมา ผมว่าบทนี้ยังไม่ค่อยตอบโจทย์ในเรื่องของภาคใต้ตามที่ กอ.รมน.ต้องการนะครับ”

              ติณณ์อธิบายสั้น ๆ แต่ไม่มีเสียงตอบรับกลับมาจากปลายสาย เหมือนกับอานนท์ยังจับต้นชนปลายอะไรไม่ถูก ถึงเหตุผลที่ติณณ์พูด

              “คืออย่างนี้ครับคุณอานนท์ จุดประสงค์หลักที่ กอ.รมน. คิดจะสร้างภาพยนตร์นั้น เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสภาพความเป็นไปในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อให้คนดูรู้สึกว่าในพื้นที่นั้นไม่ได้มีแต่เหตุการณ์ความไม่สงบเพียงอย่างเดียว เราอยากทำให้คนที่อยู่นอกพื้นที่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่น อาจจะเสนอปัญหาความวุ่นวายว่ามันเกิดจากอะไร คนในพื้นที่ควรจะรับมืออย่างไร และที่สำคัญคือ คนที่อยู่นอกพื้นที่จะต้องเข้าใจและมีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ปัญหา แต่ว่าบทภาพยนตร์ของคุณอานนท์...”

              “แต่อะไรครับ” น้ำเสียงแผ่วเบาของอานนท์แสดงความไม่มั่นใจออกมา

              “แต่ว่าบทภาพยนตร์ของคุณอานนท์นั้นยังไม่เน้นเกี่ยวกับเรื่องนี้สักเท่าไหร่เลยครับ  เราอยากให้เห็นบรรยากาศใน 3 จังหวัดรวมทั้งสภาพแวดล้อมตามความเป็นจริงบ้าง คุณแค่ใช้หนึ่งในสามจังหวัดนั้นเป็นฉากในการเล่าเรื่องที่เน้นไปในแนวรักมากกว่าการสร้างความเข้าใจกับประชาชน สิ่งสำคัญที่เราคาดหวังไว้กลับไม่มีในบทภาพยนตร์ของคุณครับ”

              “เอ่อ...” อานนท์ทำเสียงประหม่าที่จะพูด “ส่วนหนึ่งเราไม่อยากให้หนังซีเรียสเกินไป กลัวว่าคนจะไม่อยากดูเรื่องความรุนแรงแบบนั้น”

              ติณณ์หยุดชะงักเงียบไปชั่วครู่ เหมือนเขาไม่รู้จะสรรหาคำพูดไหนมาอธิบายได้

              “กอ.รมน. ให้อิสระในการทำงานกับผู้ที่จะมาสร้างภาพยนตร์ครับ แต่ผู้สร้างต้องพยายามเข้าใจถึงจุดประสงค์ของแผนที่เราต้องการประชาสัมพันธ์ด้วยนะครับ ดังนั้นจะเป็นไปได้ไหมครับว่าจะขอให้ทางคุณอานนท์ไปปรับปรุงบทภาพยนตร์เรื่องนี้มาใหม่ ก่อนที่ผมจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม และถ้าหากคุณต้องการข้อมูลทางทหารเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการเขียนบท ผมยินดีจะช่วย”

              อานนท์นิ่งเงียบเหมือนกำลังไตร่ตรองอะไรอยู่

              “ได้ครับผู้พัน ผมจะให้นักเขียนบทภาพยนตร์ของผมแก้บทให้เป็นไปตามความต้องการของ กอ.รมน.” อานนท์กล่าวทิ้งท้าย

 

              ติณณ์นั่งคิดวนเวียนเกี่ยวกับเรื่องการสร้างภาพยนตร์อยู่นานหลายวัน มันทำให้เขาคิดถึงใบหน้าของรวิดา เขาตัดสินใจหยิบโทรศัพท์และต่อสายไปหาเธอ

              “สวัสดีครับคุณรวิดา”

              “สวัสดีค่ะผู้พัน” รวิดาตอบกลับ เมื่อเห็นเบอร์ที่โทรเข้ามา

              “เป็นยังไงบ้างครับ ” 

              “สบายดีค่ะ”

              “ โปรเจคนั้น ยังทำอยู่ไหมครับ”  เขาลองหยั่งเสียง

              รวิดานิ่งไปชั่วครู่ แต่เมื่อนึกขึ้นได้ว่าติณณ์คงไถ่ถามถึงเรื่องภาพยนตร์ เธอจึงตอบกลับไป “ทำค่ะ ตอนนี้ฉันหาสปอนเซอร์ได้แล้วหนึ่งรายแล้วค่ะ ความฝันที่จะได้เปิดกองเริ่มจะเป็นความจริงแล้ว”

              ติณณ์ได้ยินน้ำเสียงที่เริงร่ารวมทั้งข่าวดีนี้ ทำให้เขารู้สึกผ่อนคลาย

              “ยินดีด้วยครับ ผมดีใจจริง ๆ ที่คุณยังไม่ละทิ้งเรื่องวันที่ฟ้าเปิด”

              “ขอบคุณค่ะผู้พัน” รวิดากล่าวออกมาจากใจ รู้สึกดีที่เขายังสนใจถามไถ่ถึงเรื่องนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เธอนึกว่าคงไม่ได้เจอเขาอีกแล้ว

              “คุณรวิดาเก่งนะครับ ไม่น่าเชื่อว่าเป็นผู้กำกับหน้าใหม่ สามารถระดมทุนเพื่อมาทำหนังได้”

              ถ้าติณณ์สามารถมองทะลุผ่านโทรศัพท์ได้ เขาคงเห็นว่าขณะนี้รวิดายิ้มแก้มแทบปริกับคำชมนั้น เธอออกตัวว่า

              “แหม ชมกันเกินไปแล้วค่ะ พอดีมีพรรคพวกที่เป็นฝ่ายจัดทำโฆษณา เราก็เลยไปเสนอกับเขาได้ง่ายหน่อย”

              “เป็นสปอนเซอร์ประเภทไหนกันครับ”

              รวิดานิ่งเงียบไปอีกครั้ง เธอกำลังเรียบเรียงคำอธิบายให้ฟังเข้าใจง่ายที่สุด “ผู้พันรู้จัก Tie-in มั้ยค่ะ”

              เป็นทีที่ติณณ์จะนิ่งเงียบบ้าง ก่อนเขาจะตอบ “ไม่รู้จักครับ Tie-in คืออะไร”

              “Tie-in ก็คือโฆษณาแฝง ในหนังหรือในละครบางครั้งเราจะเห็นพวกป้ายโฆษณาที่กล้องไปถ่ายติดมา นั่นไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรอกค่ะ นั่นคือโฆษณาที่กองถ่ายจงใจเอาป้ายไปวางไว้ตรงนั้นแล้วก็ทำให้ดูเหมือนเป็นป้ายโฆษณาทั่วไป หรือบางทีก็มีดารานักแสดงใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาซื้อโฆษณาไว้ ก็จะทำเป็นใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ก็จะให้เห็นโลโก้ของสินค้า

              อย่างชัดเจนที่สุด”

              “อ้อ ผมเข้าใจแล้ว แต่นั่นมันจะดู เอ่อ..น่ารำคาญสำหรับคนดูไปไหมครับ อย่าบอกนะว่าคุณรวิดาจะให้โฆษณามาแฝงในหนังของคุณ”

              “ถ้าเราแฝงไว้แบบเนียน ๆ มันก็ไม่น่ารำคาญหรอกค่ะ ขอแค่อย่าให้มันโจ่งแจ้งมากเกินไป”

              “แล้วคุณเอามาใส่ในหนังตอนไหนหรือครับ”

              “คือในหนัง พระเอกจะต้องใช้รถกระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ ฉันก็เลยไปติดต่อบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ เสนอว่าจะใช้รถกระบะยี่ห้อฟอร์ด ให้พระเอกใช้ลุยในป่า เพราะถึงยังไงก็ต้องใช้รถกระบะสักยี่ห้อหนึ่งอยู่ดี นี่ก็เหมือนกับว่าเราใช้ทรัพยากรของเราไปขายแลกเป็นเงิน ไม่งั้นก็เสียทรัพยากรนั้นไปฟรี ๆ และที่สำคัญ มันเป็นการแฝงโฆษณาที่ดูไม่ยัดเยียด มากเกินไป ผู้พันคิดว่าจริงมั้ยคะ”

              “ฉลาดมากครับ ผมฟังที่คุณพูดถึงกับอึ้งไปเลย เห็นด้วยครับที่วิธีการนี้จะไม่ดูน่าเกลียด”

              “ฉันก็พยายามศึกษาหาหนทางไปต่อให้ได้น่ะค่ะ เพราะฉันอยากทำมันให้สำเร็จ”

              “น่าชื่นชมจังเลยครับ สำหรับคนความมุ่งมั่นที่จะทำอะไรสักอย่าง  อะไรที่ทำให้คุณอยากจะทำให้งานนี้ให้สำเร็จครับ”

              “คงจะเป็นนิยายเรื่องนี้แหละค่ะ ขอบอกตรง ๆ ว่าเริ่มแรกนั้นหลังจากที่ฉันลาออกจากงานมา ยังไม่มีความคิดว่าจะทำอะไร มีเพื่อนของฉันคนหนึ่งทำงานในกองถ่ายภาพยนตร์ชักชวนให้ลองทำหนังสั้น ตอนนั้นฉันก็อยากจะทำหนังเกี่ยวกับปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ฉันก็พยายามค้นหาหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ในร้าน แต่ปรากฏว่าได้เจอนิยายเล่มนี้แทน”

              “คุณก็เลยอยากนำบทประพันธ์นี้มาทำหนัง” ติณณ์พยายามสรุป

              “ใช่ค่ะ จากที่ตั้งใจจะลองฝึกทำหนังสั้นไปก่อน ก็เลยต้องเปลี่ยนมาทำหนังยาวไปเลย แต่ก่อนหน้านั้นฉันก็เริ่มฝึกงานในกองถ่ายจนคิดว่ามั่นใจว่าจะทำได้”

              “ผมคิดว่าคุณทำได้แน่นอนครับ ความพยายามของคุณคงจะไม่สูญเปล่า”

              “ขอบคุณมากค่ะ” รวิดาพูดด้วยน้ำเสียงซาบซึ้งในกำลังใจที่ติณณ์หยิบยื่นให้ “แล้วทางบริษัท 35 ฟิล์มเริ่มงานไปถึงไหนแล้วคะ”

              ติณณ์กลืนน้ำลายในลำคอ เหมือนเขาจะอึดอัดที่ต้องพูดเรื่องนี้ แต่อีกใจหนึ่งก็ยินดีที่มีคนมารับฟังความอัดอั้นตันใจของเขา

“เขาส่งบทภาพยนตร์มาให้ผมดูแล้วครับ แต่จะต้องมีการปรับแก้กันหน่อย ทางบริษัท 35 ฟิล์มคงจะเขียนบทขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ”

              “งั้นหรือคะ ไม่ทราบว่าเป็นหนังเกี่ยวกับอะไร”

              “บทภาพยนตร์ของเขาก็เป็นหนังรักทั่วไป มีฉากและเหตุการณ์ในพื้นที่ประกอบนิดหน่อย ถือว่าเป็นหนังรักเรื่องหนึ่งที่คงจะซาบซึ้งกินใจใครหลายคน แต่ผมยังคิดถึงนิยายเรื่องวันที่ฟ้าเปิดอยู่เลยครับ เสียดายที่ กอ.รมน. ไม่ได้สนับสนุนภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายเรื่องนี้”

              “คุณคงรักนิยายเล่มนี้แล้ว ฉันคิดว่าคุณคงอ่านนิยายเล่มนี้มากกว่าหนึ่งรอบ”

              “ใช่ครับ ผมยอมรับว่าผมก็รักนิยายเล่มนี้แล้ว เนื้อเรื่องพูดถึงเรื่องของคนที่ยอมอุทิศกายใจเพื่อแก้ปัญหาความวุ่นวายอย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าหากจะแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้หมดไปจริง ๆ ต้องมีคนที่จริงใจและมุ่งมั่นเหมือนตัวละครในนิยาย เหมือนกับคุณรวิดายังไงล่ะครับ ที่มุ่งมั่นจะสร้างภาพยนตร์จากนิยายเล่มนี้ให้ได้”

              “แหม... ผู้พันก็พูดซะ ฉันก็แค่อาจจะทำงานเพื่อเงินอย่างเดียวก็ได้”

              “ถ้าคุณจะทำเพื่อเงิน คงไม่มาทำหนังจากนิยายเรื่องนี้นะครับ” ติณณ์กล่าวด้วยน้ำเสียงแสดงความชื่นชม

 

              เมื่อถึงกำหนดที่บริษัท 35 ฟิล์มจะต้องส่งบทภาพยนตร์ที่แก้ไขใหม่มาให้ติณณ์ ปรากฏว่าไม่มีบทภาพยนตร์ฉบับใหม่ส่งมา มีเพียงแต่สายโทรศัพท์และคำแก้ตัวของอานนท์เกี่ยวกับเรื่องนี้

              “ผมต้องขอโทษทางผู้พันเป็นอย่างสูงครับ การแก้บทภาพยนตร์เป็นเรื่องใหญ่ ผมต้องให้นักเขียนบทของผมมาเข้าร่วมประชุมก่อนทำการแก้ไข แต่นักเขียนบทของผมมีคิวงานยุ่งมากเลยครับ”

              ติณณ์รู้สึกไม่ดีกับคำแก้ตัวนี้ แต่เขาก็ไม่แสดงความรู้สึกนั้นออกมาให้อานนท์รับรู้

              “ผมเข้าใจครับ ถ้าอย่างนั้นผมคงต้องยกเลิกการประชุมในวันพรุ่งนี้” ติณณ์ตัดบทเกี่ยวกับเรื่องบทภาพยนตร์

              “ขอบคุณมากครับ ผมขอเวลาภายในอาทิตย์นี้จะส่งบทภาพยนตร์ฉบับแก้ไขให้นะครับ ผมย้ำกับนักเขียนบทไว้แล้ว”

              ติณณ์คลายความกังวลใจลงนิดหน่อย เมื่อได้ยินคำมั่นจากอานนท์

              “ถ้าอย่างนั้นกำหนดการที่จะให้ผมเข้าไปดูการคัดเลือกนักแสดงก็ต้องเลื่อนออกไปใช่มั้ยครับ เพราะบทจะมีการแก้ไข”

              “ไม่เลื่อนครับผู้พัน การคัดเลือกตัวนักแสดงรอบสองจะยังคงมีในกำหนดการเดิม เพราะบทที่จะแก้ไขไม่มีการเปลี่ยนตัวหรือเพิ่มตัวละคร”

              “ดีครับ” ติณณ์กล่าวทิ้งท้าย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่