ตำนานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

กระทู้คำถาม
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 

         สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงตั้งพระราชหฤทัยจะวางมือจากสงครามและการเมืองหลายครั้ง แต่ติดที่บ้านเมืองยังไม่มั่นคง และเป็นห่วงศึกพม่า จึงต้องทรงรบทัพจับศึกอยู่ตลอดเวลา ครั้งหนึ่งพระองค์เคยมีพระราชประสงค์จะเสด็จนิวัตกลับไปประทับ ณ เมืองจันทบุรี แต่เนื่องด้วยติดภารกิจบริหารบ้านเมืองที่ยังไม่เข้ารูปเข้ารอย จึงทรงหักพระราชหฤทัย

         พระองค์ทรงผูกพันกับจันทบุรีมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งเขมรยกทัพมาตีเมืองจันท์ แม้จะทำการไม่สำเร็จ แต่พระองค์ทรงพระพิโรธ ยกกองทัพเรือรบ 100 ลำ เรือเสบียง 100 ลำ กำลังทหาร 15,000 ลุยเมืองเขมร ตั้งแต่ปากน้ำเมืองบันทายมาศ ตะลุยตีเขมรกระจุยกระจายไปจนถึงกรุงพนมเปญ หลังจากนั้น กัมพูชาก็ตกเป็นของกรุงธนบุรีอย่างสมบูรณ์

        หลังจากตีเมืองบันทายมาศสำเร็จ (เมืองท่าที่สำคัญของกัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันควรเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยแต่ฝรั่งเศสยึดไป ) ได้ทรงประกาศตั้งสัตยาธิษฐานต่อหน้าพระสงฆ์และข้าราชการน้อยใหญ่จำนวนมากในที่ประชุมว่า  “เป็นความสัตย์แห่งข้า ข้าทำความเพียรมิได้คิดแก่กายและชีวิต ทั้งนี้ จะปรารถนาสมบัติพัสถานอันใดหามิได้ ....ถ้าแลผู้ใดอาจสามารถอยู่ในราชสมบัติ ให้สมณพราหมณ์ประชาราษฎร์เป็นสุขได้ จะยกสมบัติทั้งนี้ ให้แก่บุคคลผู้นั้น แล้วข้าจะไปสร้างสมณธรรมแต่ผู้เดียว ถ้ามิฉะนั้น ปรารถนาศีรษะและหทัยวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะให้แก่ผู้นั้น“

       แปลไทยเป็นไทยก็คือ พระองค์ทรงทำศึกมิใช่เพื่อสมบัติพัสถาน แต่เพื่อความสุขของประชาราษฎร์ ถ้ามีใครที่สามารถมาแทนที่ในตำแหน่งนี้ และทำให้ประชาชนมีความสุขได้ จะยกให้ แล้วพระองค์จะไปปลีกวิเวกปฏิบัติธรรม หรือถ้าต้องการศีรษะ หัวใจของพระองค์ก็จะทรงยกให้

        พระองค์มิได้ทรงปรารถนาจะเป็นพระมหากษัตริย์ ครั้งตั้งทัพที่ระยอง ก่อนเข้าตีเมืองจันท์ ท่านบอกกับเหล่านายทหารว่า จะใช้นามพระยาตากต่อไป แต่ทุกคนเป็นห่วงว่า ถ้าพระองค์ไม่ตั้งตัวเป็นเจ้า พระราชอำนาจในการตั้งแม่ทัพ เจ้าเมืองจะไม่มี อำนาจในการสั่งประหารชีวิตก็ไม่มี แล้วจะกู้ชาติได้อย่างไร (ในสมัยนั้น ประชาชนเชื่อว่า “เจ้า” คือผู้มีบุญญาธิการมาเกิด เป็นเจ้าชีวิตของทุกคน) พระองค์จึงทรงตรัสว่า “กรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว เพื่อความสะดวกในการกู้แผ่นดิน เราจะตั้งตัวเป็นเจ้า เพื่อให้คนทั้งหลายเคารพยำเกรง การกู้แผ่นดินก็จะสำเร็จโดยง่าย พวกท่านเห็นเป็นประการใด” บรรดาแม่ทัพต่างเห็นด้วย พระยาตากจึงจำเป็นต้องยกฐานะตนเองเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสิน

           พระมหากษัตริย์ที่ต้องทรงตรากตรำทำศึกสงครามตลอดรัชกาลมีอยู่สองพระองค์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินท่านทรงสู้อย่างโดดเดี่ยวโดยปราศจากพระอนุชา พระเชษฐา และพระราชบิดามาช่วย จะมีก็เพียงกำลังพระทัยจากพระราชชนนีเท่านั้น แต่ครั้งที่พาทหาร 500 นายตีฝ่าออกมาจากกรุงศรีอยุธยา ทำให้ต้องพลัดพรากกับพระราชชนนี เมื่อกรุงศรีฯแตก ก็ไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร
ขณะตั้งทัพอยู่ที่จันทบุรี ได้บอกกับนายบุญมา (ต่อมาคือเจ้าพระยาสุรสีห์ อนุชา ร.1) ว่า ใครที่ช่วยกู้ชาติให้เป็นเอกราชได้ กับใครที่ช่วยพระราชชนนีได้ ทั้งสองอย่างนี้จะขอระลึกในบุญคุณจนตราบชั่วชีวิต นายบุญมารีบกลับไปอยุธยา (ขณะนั้นทหารพม่าเต็มไปหมด) พยายามเสาะหาตามเมืองใกล้เคียงจนพบพระราชชนนี และนำมาส่งให้กับพระเจ้าตากสินที่จันทบุรี พระองค์ทรงนับเป็นบุญคุณที่ตอบแทนไม่หมดจนสิ้นรัชกาล

          พระองค์ทรงห่วงชาติบ้านเมืองยิ่งกว่าสิ่งใด ครั้งหนึ่งที่ศึกบางแก้ว อะแซหวุ่นกี้ ส่งทัพมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เป็นเวลาเดียวกับที่พระราชชนนีประชวรหนัก แพทย์หลวงได้เดินทางจากกรุงธนบุรีมาเข้าเฝ้าฯที่บางแก้ว ราชบุรี เพื่อกราบบังคมทูลว่า พระอาการของพระราชชนนีน่าเป็นห่วง และมีพระประสงค์จะขอพบพระองค์ แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมีกระแสพระราชดำรัสตอบว่า “การแผ่นดินครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ครั้นจะกลับไปบัดเดี๋ยวนี้ก็ยังมิเห็นผู้ใดจะไว้ใจให้อยู่ต่อต้านข้าศึกได้ เจ้าจงเร่งกลับไปถวายการรักษาให้เต็มกำลังเถิด” ในที่สุดพระราชชนนีก็สวรรคต โดยที่พระองค์ไม่ได้กลับไปดูพระทัยในวาระสุดท้าย

          พระองค์ทรงมีพระเมตตาสูงยิ่ง ครั้งหนึ่ง ทหารนำเรือพระที่นั่งชนตอไม้ล่มลงกลางแม่น้ำ ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ต้องทรงว่ายน้ำเข้าฝั่ง แต่ปรากฏว่าทหารเรือเหล่านั้นกลับไม่ถูกลงโทษแต่ประการใด เพราะทรงเห็นว่าเป็นเหตุสุดวิสัย และการว่ายน้ำเข้าฝั่งก็ไม่เป็นการเสียพระเกียรติแต่อย่างใด 

        ทุกคราวที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรบชนะศึกต่างชาติ จะมีพระบรมราชโองการห้ามเด็ดขาดมิให้ทหารไทยทำร้ายหรือทำอันตรายประชาชนฝ่ายตรงข้าม แม้แต่เกี้ยวพาราสีสาวชาวบ้านก็ไม่ได้ ครั้งที่ชนะศึกบางแก้ว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รับแม่ทัพพม่าที่ถูกจับกุมเข้ามารับใช้เบื้องพระยุคลบาทที่กรุงธนบุรีด้วย

        ในสงครามตีเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าเมืองสู้ไม่ได้จึงหนีไปปัตตานี เมื่อถูกติดตามจับตัวมาได้ คณะลูกขุนจึงกราบทูลสมเด็จพระเจ้าตากสินให้สำเร็จโทษเสีย แต่พระองค์ทรงเห็นว่า เป็นสิทธิ์ของเจ้าเมืองที่จะต่อสู้ผู้รุกราน จึงไม่ใช่ความผิดของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ที่พยายามต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเมืองตนเอง และพระราชทานอภัยโทษให้

        ครั้งที่ถูกกบฏจับตัวในช่วงท้ายรัชกาล พระองค์ทรงตรัสกับพระโอรสองค์เล็กที่ถูกคุมขังพร้อมกันว่า ถ้าจำเป็นต้องสละชีวิตเพื่อความมั่นคงของชาติบ้านเมือง ก็ต้องยอม แน่นอนว่าพระองค์ทรงรักพระราชโอรส แต่ทรงรักชาติบ้านเมืองยิ่งกว่า

        ในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาได้บันทึกพระราชดำรัสสุดท้ายในสมเด็จพระเจ้าตากสินขณะถูกพระยาสรรค์จับกุมพระองค์ไว้ว่า "กูวิตกแต่ว่าศัตรูจะมาแต่ประเทศเมืองไกล แต่เดี๋ยวนี้ไซร้ ลูกหลานของกูเองว่ากูคิดผิดเป็นบ้าบอแล้วดังนี้ จะให้พ่อบวชก็ดี ฤาจะใส่ตรวนพ่อก็ดี พ่อจะยอมรับทำตามใจลูกบังคับทั้งสิ้น"

       บันทึกทางประวัติศาสตร์ของกัมพูชา ทำให้ได้รู้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยังคงมีพระสติ ครบถ้วนสมบูรณ์ ในขณะนั้น
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่