รีวิว นิยายชุดวาตะเมฆา (ฟงอวิ๋น ขี่พายุทะลุฟ้า)

พอดีปีใหม่นี้ มีเวลาอ่านนิยายที่ซื้อมา เลยขออนุญาตรีวิว นิยายชุดวาตะเมฆา หรือ ฟงอวิ๋นขี่พายุทะลุฟ้าครับ

เกริ่นก่อนครับว่า นิยายชุดนี้ ตันชิง(ตังแช) เริ่มเขียนตั้งแต่ปี 1990 หลังจากหม่าหย่งเฉิงเขียนการ์ตูนได้ 1 ปี (1989) ต่อมาปี 1997 แปลไทยครั้งแรกโดยคุณ น.นพรัตน์ จำหน่ายโดยสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์ (ถัดมา 1 ปี มี ver หนังโรง) จากนั้น 9 ปีต่อมา ลิขสิทธิ์ถึงย้ายไปอยู่กับสำนักพิมพ์บูรพัฒน์ที่จำหน่าย ver การ์ตูนด้วย แปลโดยคุณธีรยา

เรื่องนี้ ผู้เขียนแต่งขึ้น 11 ภาค
แต่แปลเป็นไทยแค่ภาค 8 แต่ละภาคค่อนข้างจบในตัว โดยภาคที่แปลไทย แบ่งตามนี้
Ver สยาม : 1, 2, 3, 4, 5, 7, 8 (ข้าม 6)
Ver บูรพัฒน์ : 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7 (ไม่ถึง 8)

เรื่องย่อ ขอยืม blog นี้มาให้อ่านครับ
https://www.bloggang.com/m/viewblog.php?id=wiizento&month=02-2009&group=10

เป็นนิยายที่มีการนำตำนานพื้นบ้านมาอ้างอิง เช่น ตำนานนางพญางูขาว เรื่องราวของเทพเจ้ากวนอู เคล็ดวิชาของตั๊กม้อ ทำให้นิยายชุดนี้เป็นที่น่าติดตามมากกว่า ver การ์ตูนและซีรี่ส์ คุณจะเข้าใจปู้จิ้งอวิ๋นมากขึ้น ภายใต้ความเงียบขรึมของเทพมรณามิร่ำไห้ เขามีความรู้สึกนึกคิดเช่นไร คุณจะเข้าถึงคุณธรรมน้ำใจของเทพมฤตยูผู้นี้มากขึ้น ผ่านเรื่องราวโศกศัลย์ที่จะไม่มีเล่าในเวอร์ชั่นไหน

สปอยเล็กน้อย นางเอกฝั่งปู้จิ้งอวิ๋นจะไม่ใช่ข่งฉือ หรือฉูฉู่นะครับ แต่ฝั่งเนี่ยฟงยังเป็น เมิ่ง ถือว่าเป็นฟงอวิ๋นอีกจักรวาลหนึ่งไปเลยก็ได้ครับ

ทุกภาคมีเนื้อเรื่องที่น่าติดตาม
แต่ที่สนุกที่สุดสำหรับผม จะเป็นภาคที่ปู้จิ้งอวิ๋นเป็นตัวเอก ส่วนเนี่ยฟงเป็นตัวรองครับ คือ ภาค 2 และภาค 7
เป็นเรื่องราวความรักของปู้จิ้งอวิ๋นกับนางพญางูขาวไป๋ซูเจิน



และบทของอู๋หมิงเป็นตัวเอก คือ ภาค 5 กับภาค 8 เป็นภาคกำเนิดอู๋หมิง กับเรื่องราวความรักของหงส์ที่มีต่ออู๋หมิงครับ

เปรียบเทียบ 2 ver
~แม้นรูปเล่มใหม่จะไฉไล ก็มีอาจกลบความดีงามของ ver เก่าไปได้~

Ver สยาม : ตามแบบนิยายจีนสมัยก่อน จะไม่มีภาพประกอบ มีแต่ตัวหนังสือล้วนๆ ผู้แปลจะต้องบรรยายขยายความสำนวนจีนให้ผู้อ่านนึกภาพได้ง่ายที่สุด ยิ่งได้รับการแปลภายใต้สำนวนของคุณ น.นพรัตน์ ยิ่งยกระดับนิยายเรื่องนั้นๆให้น่าติดตามมากขึ้น นิยายจีนเป็นที่น่าติดตามของคนไทยทุกวันนี้ เพราะได้คุณ น.นพรัตน์แปล คำพูดนี้ก็ไม่เกินเลย จะติดขัดก็เพียงแต่การแปลชื่อตัวละครในปีนั้น คุณ น.นพรัตน์แปลออกมาเป็นเสียงกวางตุ้ง

Ver บูรพัฒน์ : มีการวาดภาพประกอบโดยหม่าหย่งเฉิงเพิ่มขึ้นมาครับ ทำให้เห็นที่ตันชิงบรรยายมากขึ้น ผู้แต่งยังมีการเพิ่มประโยคบรรยายขึ้นมากกว่าฉบับเก่า (นักแต่งนิยายมักมีการปรับปรุงงานเขียนเสมอ) ชื่อตัวละคร แปลเป็นเสียงจีนกลาง

แล้วไฉนจึงไม่อาจกลบรัศมีของ ver เก่า ดังคำกล่าวที่ว่า นิยายจะน่าติดตามก็ขึ้นกับสำนวนผู้แปล

ผู้แปลของบูรพัฒน์ แปลฉบับการ์ตูนมาก่อน สำนวนแปลจะต้องกระชับ เพื่อให้ลงในช่องคำบรรยายได้ แน่นอนว่า เมื่อมาแปลฉบับนิยาย ไม่อาจใช้วิธีเดียวกันนี้ได้ เพราะหากแปลรวบรัดเกินไป การอ่านนิยายนั้นจะนึกภาพตามไม่ทัน ทำให้อ่านไม่สนุก

ยกตัวอย่าง ในเรื่องจะมีการสกัดจุด ซึ่งจุดเส้น จะเป็นศัพท์จีน คุณ น.นพรัตน์ จะมีอธิบายว่า ศัตรูโดนสกัดจุดใดบ้าง ทำให้ศัตรูสูญเสียพลังยุทธ์ แต่ ver บูรพัฒน์ จะบอกแค่ว่า ศัตรูโดนพลังแผ่พุ่งใส่ ไม่อาจเร่งเร้าพลังได้ ( 2 ประโยคนี้ผลคล้ายๆกัน แต่ทำให้การตีความต่างกันโดยสิ้นเชิง)

ยังไม่รวมถึงการแปลชื่อกระบวนท่า
เช่น จะมีศัตรูที่ใช้เพลงเตะพิชิตมังกร
(ดัดแปลงจากฝ่ามือพิชิตมังกรของพรรคกระยาจก เสริมเคล็ดด้วยวิชาเคลื่อนย้ายเส้นเอ็น ทำให้ดัดแปลงวิชาฝ่ามือเป็นเพลงเตะได้)
Ver สยาม : มังกรกลางพงไพร, มังกรโรมรันทุ่งกว้าง, พญามังกรได้สำนึก (มังกรผยองได้สำนึก - ท่าที่ก๊วยเจ๋งชอบใช้บ่อยที่สุด)
Ver บูรพัฒน์ : มังกรท้องนา, มังกรท้องทุ่ง, มังกรพิโรธ

แม้นสำนวนการแปลของบูรพัฒน์อาจจะไม่เทียบชั้นปรมาจารย์ แต่โดยภาพรวมแล้วก็ถือว่ายอมรับได้ครับ มีบางช่วงที่หยิบสำนวนของคุณ น.นพรัตน์มาใช้เลยก็มี มีการเสริมตอน เสริมเนื้อหาให้เรื่องราวสมบูรณ์ขึ้นกว่าฉบับก่อน และใส่ภาพประกอบสอดแทรกไปตลอดทั้งเรื่อง

ทำให้ควรค่าแก่การติดตามทั้ง 2 ver

สวัสดีปีใหม่ครับ 🙂
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่