วิเคราะห์ สังเคราะห์ 2565

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

วิเคราะห์เพลง 2565 (ที่ #2565ไม่ใช่แค่เลขปี) ของ#CGM48

จะลองวิเคราะห์เพลงแบบละเอียด (จากการเรียนแบบมือสมัครเล่นนะครับ) เพราะมีคนบอกว่าอยากจะลองทำอะไรให้ทำในสิ่งที่เราชอบ ด้วยความที่ชอบไอดอล และชอบดนตรี ก็มาลองวิเคราะห์ดนตรีจากเพลงออริจินอลของวง ที่น่าจะได้ยินชัดเพราะมิกซ์ใหม่ๆ ผมใช้หูฟัง BNK กับ หูฟังของ Samsung แบบเสียบ note10 (ฟังสองที่)

เริ่มต้น บทนำของเพลง (ยังไม่ใช่อินโทรหลัก) ด้วยเสียงเครื่องดนตรีพิเศษ ซึ่งก็คือ ปี่น้ำเต้า (ไม่แน่ใจว่าใช่เครื่องดนตรีไทลื้อหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ มาจากทางสิบสองปันนา) ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพระเอกของเพลงนี้ เป็นเครื่องเป่าลมไม้ที่ใช้ลิ้นเป็นตัวกำเนิดเสียง ซึ่งคิดว่าเป็นตัวแทนของดนตรีชาวเขา ซึ่งในที่นี้คือ ดอยที่เพลงและคนร้องกำลังจะปีนขึ้นไป อีกเครื่องดนตรีคือ คาวเบล (Cowbell) ไม่แน่ใจว่าเป็นแบบราวมีหลายๆอันหรือมีหลายๆอันแล้วเคาะ ฟังดูน่าจะเป็นอันแรก ให้ความรู้สึกเหมือนกระดิ่งราวเวลาโดนลม ซึ่งท่อนนี้มาในจังหวะ "ลาวกระทบไม้" แล้วเปียโนก็ขึ้นมารับเสียงปี่น้ำเต้า เพื่อเข้าสู้อินโทรหลักของเพลง ซึ่งอินโทรจะมีเสียงเครื่องดนตรีหลักอีกเครื่องของเพลงนี้คือ พิคโคโร (Piccolo) ซึ่งเป็นเครื่องเป่าลมไม้ที่ใช้การเป่าผ่านรู คล้ายขลุ่ยหรือฟลุ๊ท แต่ขนาดเล็กกว่า ทำให้ได้เสียงเล็กแหลม ซึ่งน่าจะเป็นตัวแทนของธรรมชาติ เสียงนก เสียงลม เสียงป่า (ในหนังหลายๆเรื่องจะใช้เครื่องดนตรีกลุ่มนี้แทนเสียงป่า เด่นๆ ก็อย่างอวตารในช่วงป่า-ภาคแรก) ซึ่งอินโทรนี้ก็จะบอกเราว่าพิคโคโรจะล้อกับปี่น้ำเต้า และไปถึงจุด climex ของเพลง สำหรับจังหวะ เพลงนี้ทั้งเพลง Base on "March" ซึ่งปกติเป็นจังหวะสำหรับการเดินทาง ซึ่งก็เป็นไปตามเนื้อเพลงที่ว่าถึงการเดินไปสู่ยอดเขา สำหรับมาร์ชนี้ จังหวะหลักจะเป็นตัวดำ (Quarter note) ซึ่งปัจจุบันมีหลายจังหวะที่ใช้ฐานเดียวกัน เช่น ดิสโก้ ไปจนถึง EDM สำหรับเครื่องดนตรีอื่นที่เข้ามาช่วงนี้ ก็เป็นเครื่องดนตรีพื้นฐานคือ กลอง เบส และสตริง กีตาร์ ด้วยอินโทรมีเครื่องดนตรีลักษณะเพียงเท่านี้ ไม่มีกีตาร์ไฟฟ้าที่ใส่แอฟเฟค และไม่มีบราสแบนด์ (มีแต่บราสซาวด์ที่อยู่กับสตริง) ทำให้เพลงนี้คงความใส และมีความเป็นอคูสติคพอสมควร ซึ่งต่างจากเพลง Idol ต้นฉบับจากวงพี่ ที่มีความJPop/JRock กีตาร์และกลองที่หนักหน่วง ถ้าฟังแต่ดนตรีจะไม่คิดว่าเป็นเพลงไอดอลยังได้ เนื่องจากท่อนนี้ พิคโคโรเด่น เสียงปี่น้ำเต้าจะไปอยู่ด้านหลังฝั่งซ้ายนิดๆแทน เพื่อเป็น Counter melody

Piccolo


Verse ท่อนร้อง ดนตรีไม่ซับซ้อน มีเพียง กลอง เบส เปียโน กีตาร์ (สตริง? ซ้อนหลังเบาๆบางๆ) เป็นหลักเท่านั้น ส่งเสริมให้นักร้องเด่นขึ้นมา และด้วยภาษาเหนือ ทำให้เรารู้ว่าเพลงนี้เป็นเพลงจากภาคเหนือของไทยแน่นอน เสียงนักร้องอยู่ด้านหน้า ดนตรีอยู่ด้านหลัง มีเสียงกีตาร์คอร์ดมาด้านหลังซ้าย เพื่อให้แยกกับเปียโนซึ่งเป็นตัวหลักในท่อนนี้

Pre-chorus เพิ่มกีตาร์เข้ามาเป็น Counter melody หลัก ให้เสียงมาทางหน้าขวาเล็กน้อย และให้สตริงเป็น Counter melody รอง  ก่อนที่จะส่งไปท่อน Chorus หลัก ด้วย กีตาร์นั่นเอง เป็นการส่งให้จบท่อน (กิมมิคเล็กน้อยของท่อนนี้คือ มีเสียงคอรัสชาย ร้องในท่อนจับมือกัน สวนขึ้นมา เสียงนั้นไม่ใช่ของใคร ครูเอ๊ะซินโดรม นั่นแหละ)

Chorus หลัก มีเสียงปี่น้ำเต้าเป็น Counter melody ช่วงแรก (อยู่ฝั่งซ้ายนิดๆ) และ รับด้วย สตริงในช่วงหลัง
Climex Chorus ผมไม่รู้ทางดนตรีเค้าเรียกท่อนนี้ว่ายังไง แต่หลังจาก Chorus จบ เหมือนว่าไคลแมกจะอยู่ที่คำร้องที่ว่า "ให้เพลงนี้ช่วยปาเฮาไปถึง" แต่กลับมีท่อนต่อมา คือท่อนที่ผมเรียกนี่แหละ และมันกลับเป็นไคลแมกจริงของเพลง (ในความรู้สึกผมนะ) คือ "อิสระที่ปลายฟ้านั้นรอ เฮาอยู่" ซึ่งสตริงมาเต็ม แล้วเพลงก็เข้าโซโลย่อยๆ ที่เกือบยูนิซันของเสียงร้อง "ลา ลา" สตริง และ พิคโคโร แต่ก็มี Variation กันอยู่ ทำให้คิดถึงเพลงในดนตรีไทยเลยทีเดียว เช่นเดียวกับ verseสอง และ pre-chorus2

แต่ Chorus ปี่น้ำเต้าเข้ามาล้อกับท่อนร้องทั้งท่อน ซึ่งจากท่อนเดิม ซึ่งบทบาทนี้ส่งเพลงเข้าสู่ท่อนแยก (รอบนี้ไม่มี chorus climex แล้ว) สำหรับผมแล้ว ท่อนแยกมันน่าจะพีคกว่านี้ได้ อาจจะเพิ่มความซับซ้อนของ melody รอง อย่างสตริง หรือเน้นจังหวะหนักให้เข้มข้นกว่านี้ แต่ก็พอเข้าใจว่าถ้าซับซ้อนมากก็อาจไปปนกับเสียงร้องซึ่งเป็นการขับร้องหมู่ ซึ่งท่อนแยกนี้มีการ Modulation (น่าจะไม่เปลี่ยนคีย์ ซึ่งผมเจอการ modulate บ่อยมากๆในเพลง idol) จาก D major กับ G major (อันนี้ถ้าผิดแย้งได้นะครับ)

แล้วเพลงก็พาไปเราเข้าสู่โซโลกลางอย่างแนบเนียน (กลับมาเป็นคีย์เดิมด้วยนะ) โซโลเริ่มด้วยปี่น้ำเต้า ให้จังหวะโดย ฆ้อง ฉาบ และกลอง ซึ่งแม้จะเป็นจังหวะเดิม (ลาวกระทบไม้) เหมือนตอนต้นเพลง แต่เครื่องดนตรีกลุ่มนี้เพิ่งปรากฏ ทำให้บรรยากาศไม่ได้เบาบางเหมือนตอนต้น แต่ถ้าไม่คิดถึงเพลงผมคิดถึงบรรยากาศวัดทางเหนือ เมื่อมารวมกับเพลงแล้วได้บรรยากาศวัดบนยอดเขาซึ่งปรากฏในหลายๆที่ในภาคเหนือของประเทศไทย

ความเนียนของเพลงนี้อีกอย่างคือจากท่อนแยก ไปโซโลกับมาเข้า chorus โดยมุ่งไป chorus ช่วงที่สองเลย เพื่อเข้าไป climex ของเพลง เพื่อให้เราฟังแบบชัดๆว่า เซนเตอร์ของเราได้เปลี่ยนวิธีร้องของท่อนนี้ไปแล้ว (คล้ายกับหนัง coming age ที่ตัวละครของเราจะได้เรียนรู้อะไรสักอย่าง) กับคำว่า "เฮา" ที่รอบนี้ฟังดูเป็นคนเมืองฮ้องเพลงเมือง ซึ่งถือว่าจบแบบสวยงาม และ เฮา ที่ยังเป็น เฮา อย่างแท้จริง

สุดท้าย outro ที่ปี่น้ำเต้ากลับมารับเราออกจากเพลง แถมยังทิ้งกิมมิคเล็กน้อยเอาไว้ ด้วย ปี่น้ำเต้าโซโลด้วยโน้ตที่ทำนองไต่สูงไปเรื่อยๆ แล้วท้ายที่สุด ไฮโน้ตของท่อนมารับด้วยพิคโคโร ซึ่งถ้าแปลในแนวทางงานศิลปะก็คือ ปี่น้ำเต้าเป็นตัวแทนของดนตรีชาวเขา ที่พาเรามาอยู่บนยอดดอย แล้วธรรมชาติและสายลม ที่แทนด้วยเสียงพิคโคโร จะพาเราบินไปพบอิสระ ที่แท้จริง ที่เหนือกว่ายอดเขาอีกนั่นเอง เหมือนกับคำที่ว่า "อิสระที่ปลายฟ้านั้นรอ เฮาอยู่"
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่