@@@ ความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-เชียงใหม่ @@@

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมหารือทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับนายไซโต เท็ตสึโอะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism: MLIT) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ณ สำนักงานใหญ่ MLIT ซึ่งมีผลลัพธ์ดังนี้

(1) ที่ประชุมฯ เห็นชอบการสานต่อความร่วมมือทางวิชาการ ได้แก่ การศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ และโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ได้แก่ การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการส่งเสริมให้นักลงทุนญี่ปุ่นที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

(2) ที่ประชุมฯ เห็นชอบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development; TOD) ในบริเวณสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย MLIT และองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองแห่งญี่ปุ่น (Urban Renaissance Agency; UR) ที่มีร่วมกันตั้งแต่ปี 2563 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ และกำหนดรายละเอียดการพัฒนาพื้นที่นำร่อง

(3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอโอกาสสร้างความสัมพันธ์ในมิติใหม่ในด้านคมนาคมขนส่ง ที่สอดคล้องกับแนวโน้มของโลกนอกเหนือจากระบบราง ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ พลังงานสะอาด การใช้เทคโนโลยีและระบบวิศวกรรมขั้นสูงเข้ามามีส่วนขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

(4) รัฐมนตรี MLIT ขอให้ฝ่ายไทยพิจารณาใช้เทคโนโลยีญี่ปุ่นในโครงการอุโมงค์ทางลอดและเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงซินคันเซนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ - เชียงใหม่

(5) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรี MLIT ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ด้านระบบราง เพื่อพัฒนาการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องด้านระบบราง ทั้งการบริหารงานของหน่วยงานและศักยภาพบุคลากร โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคโนโลยีเฉพาะด้านที่มีความสนใจร่วมกันซึ่งจะมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 3 ปี

(6) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรี MLIT ได้เป็นสักขีพยานการแสดงเจตจำนงการต่ออายุบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการบางชื่อ ระหว่างกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย MLIT และ UR โดยอัตโนมัติ เพื่อผลักดันการพัฒนาแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และการดำเนินกิจกรรมระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในบันทึกข้อตกลงฯ โดยมีผลใช้บังคับ 2 ปี

(7) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรี MLIT ได้เป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกการหารือระหว่างบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด และองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองแห่งญี่ปุ่น (UR)    ซึ่งเป็นความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ และการศึกษารายละเอียดการพัฒนาพื้นที่นำร่อง

#โครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม #3แกนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ #ยุทธศาสตร์ชาติ20ปี
#สร้างไทยไปด้วยกัน #ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
#PMOC #ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่