🔎 ‘ทีวีดิจิทัล’ โกยเงินโฆษณาช่วง ‘บอลโลก’ ไม่ถึง 200 ล. ‘TRUE4U’ ครองส่วนแบ่งมากสุด



ปิดฉากลงไปแล้ว
สำหรับ FIFA WORLD CUP QATAR 2022
ที่ดุเดือดแถมพลิกล็อกกันในหลายๆ คู่
แม้ว่าการแข่งขันจะได้รับความสนใจ
จากแฟนบอลชาวไทย แต่ดูเหมือนว่า
จะไม่ได้ช่วยให้เม็ดเงินโฆษณา
ที่ลงกับทีวีดิจิทัลจะไม่ได้ดุเดือดตามไปด้วย
เพราะจากปกติเม็ดเงินในมหกรรมกีฬา
จะต้องสะพัดไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
กลับเหลือไปได้ไม่ถึง 200 ล้านบาทด้วยซ้ำ
ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ
และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์ จำกัด กล่าวว่า
โดยปกติมหกรรมกีฬาใหญ่ ๆ ระดับโลก
หรือระดับภูมิภาค มักเป็นที่สนใจ
และติดตามของแฟนกีฬาชาวไทย
ซึ่งทำให้ช่วงเวลาดังกล่าว
เม็ดเงินการตลาดสื่อสารการตลาดของเหล่า
ผู้ประกอบการและแบรนด์จะสะพัดอย่างมากเพื่อเกาะกระแสมหกรรมดังกล่าว 

โดยช่วงก่อนปี 2020 ก่อนการระบาดของโควิด มหกรรมกีฬาเหล่านี้
ทำให้เกิดเม็ดการตลาด สื่อสารการตลาด
โดยเฉพาะเม็ดเงินโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์สะพัดไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
แต่ FIFA WORLD CUP QATAR 2022
ที่เพิ่งจบลงไป มีเม็ดเงินโฆษณาที่สะพัด
บนสื่อโทรทัศน์อยู่ที่ 136 ล้านบาท เท่านั้น
 
“เม็ดเงินที่เข้ามา 7 อันดับแรก 
มาจากแบรนด์ที่ลงขันซื้อลิขสิทธิ์ 
โดยทาง MI ได้คำนวณ
จำนวนสปอตโฆษณาของแบรนด์ที่ลงขัน ประเมินออกมาเป็นเม็ดเงิน
รวมเม็ดเงินของแบรนด์ที่มาลงโฆษณาจริง
สรุปแล้วอยู่ที่กว่า 136 ล้านบาทเท่านั้น
แสดงให้เห็นว่าบอลโลกปีนี้
ไม่ได้มาช่วยสื่อทีวีเลย”

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ยอดเม็ดเงินโฆษณา
ไม่สะพัดอย่างที่เคยเป็น ก็คือ ความล่าช้า
ความไม่ชัดเจน ของรายละเอียด
และเงื่อนไขต่าง ๆ ในการถ่ายทอดสด
เช่น รายชื่อสปอนเซอร์หลัก
แพ็กเกจการขายโฆษณา
ตารางช่องทางการถ่ายทอด
รวมถึงสิทธิ์ในการสื่อสารทางการตลาดอื่น ๆ (Sport Marketing) ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่นอนจนถึงวินาทีสุดท้าย
ก่อนมหกรรมฟุตบอลจะเริ่มขึ้น

สำหรับช่องที่มีสัดส่วนเม็ดเงินโฆษณาในช่วงบอลโลกมากที่สุดได้แก่ ช่อง TRUE4U (68%) ตามด้วย ช่อง 7 (10%), ช่อง ONE (6%),
ช่อง 3 และ Amarin TV (ช่องละ 4%)

“เม็ดเงินที่ขายโฆษณาได้ต่อนาที
อยู่ที่หลักหมื่นเท่านั้น
มีแค่ไม่กี่นัดที่จะขายได้หลักแสน
แต่มีช่อง 7 ที่สามารถขายโฆษณา
ได้ถึง 3.5 แสนบาท/นาที เพราะเป็น
นัดชิงระหว่างอาร์เจนตินาและฝรั่งเศส”

บอลโลกไม่ทำเงิน บอลไทยไม่ต้องพูดถึง
สำหรับศึก AFF Suzuki Cup ที่ปีนี้
เปลี่ยนชื่อเป็น AFF Mitsubishi Electric Cup
ตามสปอนเซอร์ใหม่
ที่เริ่มแข่งนัดแรกวันอังคารที่ 20 ธันวาคมนี้
ก็ไม่มีใครซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด
จากเดิม ช่อง 7 จะเป็นเจ้าประจำที่ซื้อลิขสิทธิ์ ทั้งที่ในปี 2564 การแข่งขันฟุตบอล AFF
จะถือว่าเป็นรายการที่มีเรตติ้งสูงสุดก็ตาม

ภวัต ให้ 3 สาเหตุว่า ที่ไม่มีใครซื้อลิขสิทธิ์
เพราะ ไม่คุ้ม เพราะต้นทุนที่สูง
และเงื่อนไขที่เสี่ยงจะไม่ทำกำไร
เพราะสปอร์ตไฟว์
คนกลางในการเจรจาซื้อลิขสิทธิ์
ต้องการขายแบบครบแพ็กเกจ 26 นัด เท่านั้น
ซึ่งแปลว่าต้องดูคู่ที่ไม่ใช่ไทยแข่งด้วย
ดังนั้น คู่ที่ไม่ใช่ทีมไทยแข่ง
อาจจะขายโฆษณาไม่ได้เพราะไม่มีผู้ชม

สาเหตุที่ 2 คือ การ บังคับซื้อลิขสิทธิ์
2 ครั้ง สุดท้าย ความนิยมที่ลดลง
ขนาดบอลโลก
ยังไม่มีใครกล้าลงเงินซื้อลิขสิทธิ์
บอลระดับภูมิภาคยิ่งไม่ต้องพูดถึง


ภวัต ย้ำว่า คอนเทนต์ที่พยุงทีวีให้ยังไปได้
ในปัจจุบันคือ ข่าว เพราะมีความน่าเชื่อถือ ประกอบกับที่ผ่านมา Fake News เยอะ
ทำให้คอนเทนต์ข่าวเป็นคอนเทนต์หลักของทีวี นอกจากนี้ ละคร
ก็ยังเป็นคอนเทนต์ที่พยุงทีวีให้ไปต่อได้ เนื่องจากช่องต่าง ๆ ให้ความสำคัญใน
การถ่ายทอดสดก่อนที่จะลงสตรีมมิ่งอื่น ๆ
ส่วนคอนเทนต์วาไรตี้อื่น ๆ
ผู้บริโภคเน้นดูย้อนหลังมากกว่า


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่