"โตโยต้า” เปิดเกมรุกกระบะ EV ขึ้นไลน์ผลิตในไทย-รับสิทธิ์ภาษี 0%, "อีซูซุ" เตรียมลุย EV Truck ที่ญี่ปุ่น

“โตโยต้า” ซุ่มเงียบเซ็นเอ็มโอยูสรรพสามิตส่ง “ปิกอัพอีวี” ร่วมมาตรการรับสิทธิ์ภาษี 0% ขึ้นไลน์ผลิตในประเทศเขย่าตลาดปิกอัพปีหน้า “อากิโอะ โตโยดะ” ประธานใหญ่ “โตโยต้า” ลั่นกระบะอีวีทั้ง 2 รุ่นตอบครบทุกความต้องการลูกค้าคนไทย อธิบดีสรรพสามิตเผยรอแผนผลิต-โครงสร้างราคา เชื่อค่ายอื่น ๆ ตามมาแน่ กระแสอีวีแรงจัด ประเมินปีหน้ายอดจองรถอีวีพุ่งแตะ 5 หมื่นคัน วงในวิเคราะห์ตลาดปิกอัพขยายตัวเร็วสัดส่วนแตะ 60% ของตลาดรถ 9 แสนคันต่อปี ค่าย MG ยันมีโปรดักต์รอตลาดพร้อม

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในงานฉลอง 60 ปี โตโยต้า ประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 นายอากิโอะ โตโยดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะกรรมการบริหารของ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้เดินทางมาประเทศไทย และขึ้นเวทีกล่าวถึงทิศทางการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของโตโยต้าในประเทศไทยว่า หลังจากที่มีการเปิดตัว

รถยนต์ไฟฟ้า 100% “bZ4X” ไปเมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา โตโยต้าเตรียมพร้อมแนะนำปิกอัพ 2 รุ่นใหม่ ได้แก่ ไฮลักซ์ รีโว่ อีวี และปิกอัพไซซ์เล็ก (อีวี) ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใต้โครงการ ไอเอ็มวี ซีโร่ (IMV 0) ลงตลาด เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้คนไทย โดยรถทั้ง 2 รุ่นอยู่ระหว่างการพัฒนาและผลิตจากโรงงานในประเทศไทย พร้อมทำตลาดอย่างเป็นทางการในปี 2566

“เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ จึงได้ตัดสินใจที่จะมอบภารกิจท้าทายให้ทีมวิศวกรรมและทีมออกแบบสร้างรถไอเอ็มวีแบบใหม่ทั้งหมด โดยให้เป็นรถกระบะสำหรับประเทศไทย ด้วยราคาที่จับต้องได้จริง และเป็นนวัตกรรมใหม่จริง ๆ”

โตโยต้า MOU สรรพสามิต 2 รุ่น

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่กรมสรรพสามิตได้เปิดโครงการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จนถึงขณะนี้กรมสรรพสามิตได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับผู้ประกอบการแล้วทั้งสิ้น 12 ราย โดยในส่วนของรถกระบะไฟฟ้าลงนามแล้ว 2 รายคือ Mine Mobility ของกลุ่ม EA และค่ายโตโยต้า

ในส่วนของโตโยต้านั้น ได้เซ็นเอ็มโอยูเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในส่วนของรถยนต์นั่ง คือรุ่น bZ4X ที่เปิดจองไปแล้ว และรถกระบะไฟฟ้า สำหรับค่ายโตโยต้าซึ่งเพิ่งประกาศว่าจะผลิตรถกระบะอีวีในไทยนั้น หากมีการผลิตพร้อมออกจำหน่ายก็จะต้องมีการเสนอรุ่นรถกระบะ ที่จะเข้าร่วมมาตรการมาอีกครั้ง พร้อมโครงสร้างราคา

“จากการที่ทางโตโยต้าเปิดตัวยิ่งใหญ่แบบนี้ คิดว่าผู้ผลิตรายอื่น ๆ ก็อาจจะมีตามมา เพราะเมื่อโตโยต้าเข้าร่วมมาตรการก็จะได้รับสิทธิ์ภาษีสรรพสามิตเป็น 0% และเมื่อราคารถกระบะอีวีไม่เกิน 2 ล้านบาทก็จะได้รับเงินอุดหนุนอีก 1.5 แสนบาท ซึ่งก็จะทำให้สามารถทำราคาได้ดีมากยิ่งขึ้น” นายเอกนิติกล่าว

ปิกอัพอีวีรับสิทธิ์ภาษี 0%

ทั้งนี้ สำหรับรถกระบะอีวีนั้น เงื่อนไขตามมาตรการส่งเสริมฯ จะต้องผลิตในประเทศไทยเท่านั้น ไม่รวมรถนำเข้า และต้องมีราคาขายไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยหากผลิตในช่วงปี 2565-2566 จะได้ลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 0% และต้องมีขนาดมอเตอร์มากกว่า 30 KWh ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุน 150,000 บาทด้วย ส่วนในช่วงปี 2567-2568 จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วน BEV เหลือ 0% ด้วย

นายเอกนิติกล่าวด้วยว่า กรมสรรพสามิตประเมินยอดจองรถอีวีของไทยในปี 2565 นี้ คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 25,000 คัน ซึ่งจะถือว่าเป็นตลาดรถอีวีสูงสุดในอาเซียน ขณะที่ปี 2566 คาดว่ายอดจองรถอีวีน่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปีนี้ได้อีกเท่าตัว หรืออยู่ที่ราว 50,000 คัน ตามกระแสความนิยมใช้รถอีวีของคนไทยที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของกรมสรรพสามิต ที่มีการประกาศราชกิจจาฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 โดยผู้ประกอบที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมรถอีวี สามารถนำเข้ารถอีวีจากต่างประเทศ (ยกเว้นกระบะอีวี ต้องผลิตในประเทศไทย) มาขายก่อนแล้วผลิตชดเชยภายหลังตามเงื่อนไข โดยได้รับสิทธิลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2%

ตลาดปิกอัพกินแชร์เกือบ 60%

ขณะที่ดร.สุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2566 ความต้องการใช้รถน่าจะใกล้เคียงก่อนโควิด โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่กลับมาบูม โดยประเมินว่าตลาดรถปิกอัพจะโตมีสัดส่วนตลาดเพิ่มจาก 52% เป็น 56% ส่วนอีโคคาร์จะมีส่วนแบ่งตลาดจาก 19% เป็น 22%

นอกจากนี้ ยังพบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ลูกค้าหันมาใช้แบรนด์ที่แข็งแกร่ง น่าไว้ใจมากยิ่งขึ้น เช่น รถปิกอัพเดิม 2 แบรนด์ รวมกันมีส่วนแบ่งตลาดที่ 70% ขยับเป็น 83% และยิ่งใกล้เลือกตั้งตลาดปิกอัพจะเติบโตมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยมียอดขายรถยนต์อยู่ที่ประมาณปีละ 8.5-8.6 แสนคัน ตลาดปิกอัพคิดเป็นสัดส่วน 56% ของตลาด เท่ากับว่าความต้องการของตลาดปิกอัพต่อปีอยู่ที่กว่า 5 แสนคัน และหากเป็นไปตามที่หลายฝ่ายประเมิน ว่าความต้องการใช้รถกระบะอีวีในช่วงเริ่มต้นน่าจะมีสัดส่วนราว ๆ 2-3% ก็เท่ากับว่าตลาดปิกอัพอีวีช่วงแรกน่าจะอยู่ที่ประมาณ 10,000-15,000 คันต่อปี

พร้อมขึ้นไลน์ผลิตใน ปท.

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากบริษัท โตโยต้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าทีมงานทุกภาคส่วนของโตโยต้ากำลังเร่งมือพัฒนารถปิกอัพไฟฟ้าอย่างจริงจังและมีการหารือร่วมกับซัพพลายเออร์ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้รถกระบะอีวีเกิดอย่างรวดเร็ว โดยได้มีการเข้าไปขอข้อมูลเพื่อเข้าร่วมโครงการสิทธิประโยชน์ที่ภาครัฐจะให้การสนับสนุนด้วย โดยเฉพาะเงินอุดหนุนทางภาษี เพราะตามเงื่อนไขแล้ว รถกระบะพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตและจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565-31 ธ.ค. 2568 เสียภาษีสรรพสามิต 0% แต่หลังจากวันที่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2578 จัดเก็บภาษี 2% ซึ่งทางโตโยต้าน่าจะทำงานได้ทันกับเงื่อนไขทางภาษี 0% ได้ไม่ยาก

“ตลาดปิกอัพปีหน้าสนุกแน่ โตโยต้าถือเป็นผู้นำตลาดที่มีโปรดักต์ครบทุกแบบ ทุกขนาด ตอบทุกโจทย์ความต้องการลูกค้าจริง ๆ ทั้งเครื่องยนต์สันดาปและมอเตอร์ไฟฟ้า”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบหลายราย ทั้งโตโยต้าและอีซูซุมองว่าปิกอัพอีวีในประเทศไทยคงต้องใช้เวลาอีกระยะ และไม่น่าจะเหมาะสมกับการใช้งาน เนื่องจากเป็นรถที่ใช้กำลังในการบรรทุกและลากจูง อย่างไรก็ตาม เนื่องจาตลาดปิกอัพยังแบ่งออกเป็นหลายเซกเมนต์ อาทิ กระบะหัวเดียวที่มีพื้นที่ด้านหลังสำหรับบรรทุก, สเปซแค็บ ตัวแค็บขยายกว้างขึ้น สามารถโดยสารได้ และดับเบิลแค็บ หรือกระบะแบบ 4 ประตู ซึ่งระยะหลังรถกลุ่มนี้กลายเป็นรถที่ใช้งานในชีวิตประจำวันแบบรถยนต์นั่ง และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหากผู้ประกอบการยังกังวลเรื่องกำลังบรรทุก ก็อาจเลือกรถกระบะกลุ่มนี้ทำตลาดด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า

โรงงานแบตเตอรี่พร้อม

แหล่งข่าวจากโรงงานผลิตรถยนต์โตโยต้า ย่านฉะเชิงเทรา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” เพิ่มเติมว่า การขึ้นไลน์ผลิตปิกอัพอีวี หากมองกันจริง ๆ ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก เพราะโตโยต้ามีไลน์ผลิตปิกอัพพร้อมอยู่แล้ว และไฮลักซ์ รีโว่ เป็นรถในโครงการ ไอเอ็มวีโปรเจ็กต์ ซึ่งตัวแพลตฟอร์มรถและชิ้นส่วนอื่น ๆ ใช้แบบเดียวกันทั่วโลก ส่วนอุปกรณ์ควบคุมได้พูดคุยและทำความเข้าใจกับซัพพลายเออร์มาระดับหนึ่งแล้ว ส่วนของแบตเตอรี่ โตโยต้าก็มีโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฮบริด อยู่ที่โรงงานโตโยต้า เกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา โดยชิ้นส่วนที่ใช้ในการประกอบแบตเตอรี่ไฮบริดจะเป็นการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการใช้ชิ้นส่วนที่สั่งจากผู้ผลิตภายในประเทศ

“โรงงานนี้เราดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมดีมาก ใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนที่ได้มาจากโซลาร์เซลล์ โดยนำพลังงานที่ได้มาเก็บในแหล่งเก็บพลังงานสำรองที่ผลิตขึ้นจากเซลล์แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฮบริดที่ใช้แล้ว รวมถึงมีการใช้กลไกพื้นฐานแบบอัตโนมัติ เพื่อลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตด้วย”

อีซูซุญี่ปุ่นลุย EV TRUCK ปีหน้า

นายทาคาชิ ฮาตะ กรรมการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด เปิดเผยว่า ในส่วนของปิกอัพอีวีนั้น อีซูซุ มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น มีการใช้งบประมาณในการวิจัยและพัฒนาเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน แต่สำหรับตลาดหลักในไทย คือรถปิกอัพและรถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่นั้น จะได้รับผลกระทบจากรถยนต์ไฟฟ้าที่ค่ายอื่น ๆ เข้ามาหรือไม่ คงต้องตอบว่าไม่น่าจะมีผลกระทบ เพราะสถานการณ์ของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน รถอีวีที่เป็นกระแสในประเทศไทยจะส่งผลกระทบกับรถยนต์นั่งเป็นหลัก ซึ่งมีการพัฒนา charging station เพื่อตอบสนองการใช้รถยนต์นั่งอยู่แล้ว ขณะที่อีซูซุเราเน้นรถปิกอัพและรถเพื่อการพาณิชย์เป็นหลัก ดังนั้น ต้องรอการพัฒนาของแบตเตอรี่มากกว่านี้ สำหรับเรื่องรถปิกอัพไฟฟ้าของอีซูซุอยู่ระหว่างการพัฒนา แต่ยังไม่มีกำหนดในการออกสู่ตลาดที่แน่นอน แต่กลุ่มรถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่มีแผนแน่นอนแล้วว่าจะแนะนำ EV TRUCK ในปีหน้าที่ประเทศญี่ปุ่น

MG ยันมีของรอตลาดพร้อม

ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ยืนยันกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าเอ็มจีมีรถกระบะไฟฟ้าอยู่แล้ว ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาเพื่อแนะนำออกสู่ตลาด เพียงแต่วันนี้ยังต้องศึกษาดูว่ารถกระบะที่จะมาทำเป็นยานยนต์ไฟฟ้านั้น มีความเหมาะกับการใช้งานหรือไม่ โดยเฉพาะขนาดของแบตเตอรี่ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และการบรรทุกสินค้าเพื่อขนส่งในระยะทางไกล ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกระยะ

อ่านข่าว : https://www.prachachat.net/motoring/news-1151047
#รถอีวี #TOYOTA #ประชาชาติธุรกิจ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่