ย้อนรอย หากทุกพรรคการเมืองต้องการให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ยกเว้นพรรคภูมิใจที่อยากให้กัญชาเป็นสมุนไพรสำหรับประชาชน

สืบเนื่องจากกระทู้ https://ppantip.com/topic/41777019

วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ แม้ว่าจะเป็นความคืบหน้าที่สำคัญจาก ร่าง พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ… ของคณะกรรมาธิการฯ จะได้ถูกลับมาพิจารณาการลงมติรายมาตราที่จะเห็นด้วยหรือแก้ไขตามกลไกลและครรลองของสภาผู้แทนราษฎรที่ควรจะเป็นอีกครั้ง

เพราะเมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดโดยมติเสียงข้างมากของรัฐสภา จึงเท่ากับเป็นการเปิดทางให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

และเมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรายาเสพติดไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดอีก ประเทศนี้ก็จำเป็นต้องมีกฎหมายออกมาเพื่อใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชาอย่างเหมาะสมต่อไป และถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของสภาผู้แทนราษฎรโดยตรงในวาระนี้

แต่สิ่งที่จับสัญญาณได้อย่างชัดเจนคือ ทุกพรรคการเมืองต้องการให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง “ยกเว้นพรรคภูมิใจไทย” โดยพรรคการเมืองส่วนใหญ่อ้างว่าสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้มีส่วนร่วมกับการปลดล็อกกัญชาด้วย เป็นเรื่องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแต่เพียงคณะเดียว
ตามมาตรา ๔ แห่ง ประมวลกฎหมายยาเสพติด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือที่เรียกว่า “คณะกรรมการ ป.ป.ส.” ประกอบด้วย

ฝ่ายการเมือง ๖ คน คือ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ข้าราชการระดับสูง ๒๒ คน คือ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา เลขาธิการสานักงานศาลยุติธรรม ผู้อำนวยการสานักงบประมาณ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เลขาธิการองค์การอาหารและ และปลัดกรุงเทพมหานคร โดยให้เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นกรรมการและเลขานุการ

นอกจากนั้นยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งต้ังไม่เกิน ๓ คนอีกด้วย[1]

จะเห็นได้ว่าภายใต้โครงสร้างของคณะกรรมการยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข แต่เป็นโครงสร้างที่ประกอบไปด้วยนักการเมืองและข้าราชการที่จะต้องพิจารณาเรื่องกัญชาในหลายมิติ ทั้งมิติของสังคม ความมั่นคง สุขภาพ เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม นักเรียนนักศึกษา การคลัง การปกครอง กระบวนการยุติธรรม ยาเสพติด และความมั่นคงแห่งรัฐ

แต่การที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.)จะพิจารณาการปลดล็อกกัญชาให้ออกจากยาเสพติดนั้น “จะไม่มีทางทำได้” หากประมวลกฎหมายยาเสพติดได้บัญญัติกำหนดให้คำว่า “เช่น กัญชา” เป็นตัวอย่างของ ยาเสพติดประเภทที่ ๕ เหมือนกับประมวลกฎหมายาเสพติดในอดีต หรือ เหมือนกับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษทุกฉบับในอตีตที่ผ่านมา

แต่การประชุมรัฐสภาไม่เพียงแต่จะยกเลิกประมวลกฎหมายยาเสพติดอดีต และยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษอดีตเท่านั้น แต่ได้เห็นชอบประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ที่ไม่มีการบัญญัติ ให้คำว่า “เช่นกัญชา” ให้เป็นตัวอย่างของยาเสพติดอีกต่อไปอีกด้วย

จากรายงานบันทึกการลงคะแนนเสียงของสมาชิกรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา(ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และส.ว.) เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ พบการลงมติประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ไม่ได้ระบุ “เช่น กัญชา”ให้เป็นตัวอย่างของยาเสพติดประเภทที่ ๕ อีกต่อไปนั้น ที่ประชุมลงคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์

“โดยที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง ๔๖๗ เสียง ไม่มีใครไม่เห็นชอบ และงดออกเสียงจำนวน ๒ เสียง”[2]

การดำเนินการปลดล็อกัญชาของสภาผู้แทนราษฎรดังที่กล่าวมานี้ ก็เป็นไปเหมือนกับการปลดล็อกกระท่อมก่อนหน้านั้น ผ่านพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่ใช้วิธี ไม่ยกตัวอย่างโดยระบุชื่อ “ เช่น กระท่อม” เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕” คงเหลือแต่ “เช่น กัญชา” เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ ต่อไป[3]

ความจริงได้เกิด “สุญญากาศพืชกระท่อม” ๑ ปี ๓ เดือน ที่ปราศจากกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติใดๆมาควบคุมพืชกระท่อมตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ กว่าจะมีกฎหมายมาควบคุมคือคือพระราชบัญญัติ พืชกระท่อม พ.ศ. ๒๕๖๕ ลงวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๕

โดยในช่วงเวลาระหว่างนั้นจนถึงปัจจุบันมีการวางขายโดยทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่หน้าโรงเรียนเสียกราดเกลื่อนยิ่งกว่ากัญชา แต่ที่ไม่น่าเชื่อคือกลับไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแสดงความห่วงใย หรือกลายเป็นประเด็นทางการเมืองเหมือนกับที่เกิดขึ้นกับ “กัญชา”ในขณะนี้

ประเด็นที่ต้องถามคือการประชุมร่วมรัฐสภาเกือบเป็นเอกฉันท์ที่ไม่ได้ระบุชื่อตัวอย่าง “ เช่น กัญชา” ในประมวลกฎหมายยาเสพติดเกิดขึ้นเพราะอะไร?

เรื่องดังกล่าวนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.​๒๕๖๒ ที่สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารรณาญัตติด่วน คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ ซึ่งในการตั้งคณะกรรมาธิการมากถึง ๔๘ คน ซึ่งประกอบไปด้วยหลายพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ซึ่งรวมถึงผู้แทนจากพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย ฯลฯ

ผ่านไปเกือบ ๙ เดือนคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแล้วเสร็จ จึงได้นำเสนอต่อประธานผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๓ และได้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยบทสรุปผู้บริหารของรายงานได้ระบุถึงข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความว่า

“แนวทางการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ คือ การยกเลิกกัญชา กัญชง และกระท่อมออกจากกฎหมายยาเสพติดให้โทษ แต่เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ให้โทษ ค.ศ. 1961 และพิธีสารแก้ไขฯ ค.ศ. 1972 (Single Convention on Narcotic Drugs, 1961, as Amended by The 1972 Protocol Amending The Single Convention on Narcotic Drugs, 1961) อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1971 (Convention on Psychotropic Substances, 1971) และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติด และวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1988 (United Nations Convention against Illicit Trafficking in Narcotic Drugs and Psychotropic Substances, 1988) ที่ประเทศไทยเป็น ภาคีของอนุสัญญาดังกล่าว ยังคงมีการควบคุมการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอยู่ในระดับหนึ่ง แต่การควบคุมนั้นจะไม่ได้ควบคุมในระดับพระราชบัญญัติอาจจะควบคุมในกฎหมายลําดับรอง เช่น ประกาศหรือระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขแทน เป็นต้น”[5]

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ “รับทราบ”รายงานฉบับนี้อย่างชัดเจนในผลการศึกษาดังกล่าว

และประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ที่ไม่ได้ระบุชื่อตัวอย่าง เช่น กัญชา กระท่อม ให้เป็นยาเสพติดอีกต่อไปซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาก็สอดรับไปกับผลการศึกษาฉบับดังกล่าวนี้

สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขจำนวนมาก และมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดไม่ระบุให้กัญชาทั้งต้นเป็นยาเสพติด ก็เป็นไปตามแนวทางผลการศึกษาของรายงานฉบับดังกล่าวนี้ เพียงแต่รัดกุมและรอบคอบกว่านั้น เพราะทั้งกัญชา กัญชง และกระท่อม ได้ถูกผลักดันออกมาในระดับพระราชบัญญัติเพื่อให้แน่ชัดว่าจะมีกฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติ

และนี่คือเหตุผลที่พรรคภูมิใจไทยเสนอร่าง พระราชบัญญัติ กัญชา กัญง พ.ศ…. เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เพื่อที่จะได้มีกฎหมายให้ประชาชนได้ใช้เพื่อใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชา กัญชง แทนการเป็นยาเสพติดตามที่ได้มีผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯของสภาผู้แทนราษฎรก่อนหน้านี้เช่นกัน

ร่าง พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ….​ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านลงมติรับหลักการมากถึงด้วยคะแนน ๓๗๒ เสียง ต่อ ไม่รับหลักการ ๗ เสียง (ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล) รับหลักการในวาระที่ ๑ ไปแล้ว

ไม่ว่ากฎหมายจะมีการแปรญญัติอย่างไรโดยสภาผู้แทนราษฎร วาระรับหลักการและเหตุผลก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการลงมติที่เกิดขึ้นไปแล้วได้ โดยเหตุผลที่รับหลักการนั้นได้ระบุเอาไว้ในข้อความแรกว่า

“โดยที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ”

คะแนน ๓๗๒ เสียงของสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน รับหลักการ เป็นที่ยืนยันว่าพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ.. ที่เห็นชอบลงมติก็เพราะด้วยเหตุเร่ิมต้นที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ

เหตุผลดังกล่าวข้างต้นก็เป็นไปตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯของสภาผู้แทนราษฎรลงมติรับทราบไว้แล้วตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔

สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจึงมีความจำเป็นต้องเดินหน้าเร่งให้มีการลงมติเห็นด้วยและแก้ไขรายมาตราในพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ…. ออกมาโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้มีกฎหมายสำหรับการใช้ประโยชน์และควบคุมการใช้กัญชาอย่างเหมาะสม

จะเห็นด้วยในมาตราไหน และแก้ไขมาตราไหนก็เป็นไปตามมติของสภาผู้แทนราษฎรตามกลไกและครรลองของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่จะกลับไปเป็นยาเสพติดอีกก็คงไม่สามารถจะทำได้ภายใต้การพิจารณากฎหมาย พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง ฉบับนี้ ที่ประชาชนกำลังรอเพื่อใช้ประโยชน์และการควบคุมกัญชาอยู่

แต่ถ้าสภาผู้แทนราษฎรมีความประสงค์จะทำให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีก ก็จะขัดแย้งกับผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการที่สภาผู้แทนราษฎรได้เคยตั้งเอาไว้เอง

และถ้าเชื่อว่ากัญชาควรกลับไปเป็นยาเสพติอีก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคต่างๆ ก็ควรจะเข้าชื่อกันเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติดให้ระบุกัญชาให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อตัวเองจึงจะถูกต้อง จริงหรือไม่?

และถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดยังไม่กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติด ทุกพรรคการเมือง พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ ที่รุมกินโต๊ะพรรคภูมิใจไทยและต้องการให้กัญชาให้กลับเป็นยาเสพติด ถ้ามีเสียงมากขนาดนี้จนเหลือแต่พรรคภูมิใจไทยเพียงพรรคเดียวที่ไม่เห็นด้วยให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกก็สามารถเข้าชื่อกันเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติดให้ระบุชื่อ กัญชาให้กลับไปเป็นยาเสพติดประเภทที่ ๕ ได้เลย

ถึงเวลานั้นก็จะได้รู้ว่าพรรคการเมืองใดเห็นควรให้ถอนต้นกัญชาออกจากบ้านประชาชนที่ไว้สำหรับพึ่งพาตัวเอง เผาทำลายทิ้งผู้ที่ปลูกกัญชา และจับกุมผู้ป่วยที่ใช้กัญชาใต้ดินเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์มากถึงร้อยละ ๘๔ ที่ไม่สามารถได้รับกัญชาในระบบได้ ซึ่งสุดท้ายประชาชนก็จะเป็นคนบอกกับท่านผู้แแทนปวงชนชาวไทยเองผ่านการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงว่าสิ่งที่ตัดสินใจไปนั้น ถูกหรือผิดกันแน่

อย่างไรก็ตาม ขอขอบพระคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านอีกครั้ง ที่ได้เริ่มยอมเปิดใจในการเริ่มพิจารณารายมาตรา ลงมติเห็นชอบหรือแก้ไขพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ… ของคณะกรรมาธิการ เพื่อให้ประชาชนได้มีกฎหมายในการใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชา กัญชงอย่างเหมาะสมต่อไป
ด้วยความปรารถนาดี

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข
๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=692023378958032&id=100044511276276&sfnsn=mo&mibextid=RUbZ1f

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่