14 ธ.ค.2565 - เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม เวลา 16.20 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 6 ชั่วโมง) ที่อาคาร Europa พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พบหารือกับนายชาร์ล มีแชล (H.E. Mr. Charles Michel) ประธานคณะมนตรียุโรป ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ
นายกฯ กล่าวแสดงความยินดีที่การประชุมสุดยอดอาเซียน- อียูสมัยพิเศษ เป็นครั้งแรกที่ผู้นำอาเซียนและประเทศสมาชิกอียูมาประชุมกัน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อียูมียุทธศาสตร์เพื่อความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก เพิ่มบทบาทและปฏิสัมพันธ์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกกับอาเซียนและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค รวมทั้งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในความสัมพันธ์ไทย-อียูด้วย โดยกำลังจะลงนาม PCA ที่สองฝ่ายจะใช้เป็นแผนความร่วมมือระหว่างกันต่อไป ไทยพร้อมเป็นหุ้นส่วนของอียูบนพื้นฐานค่านิยมร่วม ทั้งพหุภาคีนิยมที่ครอบคลุม ระเบียบระหว่างประเทศที่อิงกฎเกณฑ์ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล และหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทั้งอียู และประเทศสมาชิกในการนำแผนปฏิบัติการอาเซียน-อียู ปี ค.ศ. 2023-2027 และ PCA ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ที่เท่าเทียมกันของสองฝ่ายต่อไป ไทยพร้อมร่วมงานกับท่านอย่างใกล้ชิด เปิดรับต่อการปรึกษาหารืออย่างสร้างสรรค์ และพร้อมปฏิสัมพันธ์กับทุกหน่วยงานของอียู
ด้านประธานคณะมนตรียุโรปยินดีที่ได้พบกับนายกฯ ในวันนี้ เพื่อหารือถึงแนวทางกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอียู และยินดีที่ไทยและอียูจะได้ลงนามร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Thai-EU Partnership and Cooperation Agreement: Thai-EU PCA) ซึ่งจะเป็นกรอบในการเดินหน้าความร่วมมือต่าง ๆ ต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ประธานคณะมนตรียุโรปยังกล่าวชื่นชมไทยในฐานะมิตรประเทศที่สำคัญและมีบทบาทนำในภูมิภาค หวังว่าจะได้ร่วมมือกับไทยกระชับความร่วมมือในด้านที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน ทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืน สิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือด้านสาธารณสุข ความมั่นคง รวมทั้งความร่วมมือในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
โอกาสนี้นายกฯ และประธานคณะมนตรียุโรปยังหารือถึงการกระชับความร่วมมือในด้านต่างๆ ดังนี้ ด้านความยั่งยืนและวาระสีเขียว ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับการเติบโตเศรษฐกิจที่ยั่งยืนโดยใช้แนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG สร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่เหมาะสม ยึดมั่นในเป้าหมายความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยนายกฯ เชิญชวนอียู และประเทศสมาชิกอียูร่วมมือในการสนับสนุนภาคเอกชนไทย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้น ซึ่งอียูมีความเชี่ยวชาญ ด้านประธานคณะมนตรียุโรปชื่นชมไทยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สอดคล้องกับแผนปฏิรูปยุโรปสีเขียวของอียู (European Green Deal) พร้อมร่วมมือกับไทย และให้ภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ รวมทั้งผลักดันการขยายการลงทุน เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการวิจัยด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม
ด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงการกระชับความร่วมมือท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความมั่นคงโลก โดยไทยเห็นความจำเป็นของการรักษาไว้ซึ่งพื้นที่การหารือที่ครอบคลุมทุกฝ่าย ใช้การให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเป็นตัวนำ ซึ่งประธานคณะมนตรียุโรปพร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคง รวมทั้งการเสริมสร้างขีดความสามารถ การแลกเปลี่ยนข่าวกรอง บุคลากร และแนวปฏิบัติที่ดี พร้อมหารือเพิ่มเติมถึงการจัดตั้งกรอบการหารือด้านความมั่นคง เพื่อหารือในประเด็นความมั่นคงทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางทะเล และการต่อต้านการก่อการร้าย กับไทยต่อไป
ด้านความร่วมมือกับอาเซียน ประธานคณะมนตรียุโรปยืนยันในการให้ความสำคัญกับความเป็นแกนกลางของอาเซียน พร้อมร่วมมือกับไทยแสวงหาการหารือที่เปิดกว้าง สร้างสรรค์ ตลอดจนหลักการเรื่องการเคารพซึ่งกันและกัน ผลประโยชน์ร่วมกัน และความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน สำหรับไทย นายกฯ พร้อมร่วมมือกับอียูในการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอาเซียนและอินโด-แปซิฟิก และส่งเสริมการขับเคลื่อนวาระสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก อาทิ การอนุรักษ์ทะเลและการทำประมงยั่งยืน การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ ความร่วมมือด้านอวกาศ เป็นต้น
14 ธ.ค.2565 - เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. เวลา 12.15 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ซึ่งช้ากว่าไทย 6 ชั่วโมง) ณ โรงแรมโซฟิเทล บรัสเซลส์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมผู้บริหารระดับสูงในช่วงอาหารกลางวัน (C-Suite Roundtable Luncheon) ซึ่งจัดโดยสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Council: EU-ABC) พร้อมนายฝั่ม มิญ จิ๊ญ (H.E. Mr. Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และนายแฟร์ดีนันด์ โรมูอัลเดซ มาร์โคส จูเนียร์ (Mr. Ferdinand Romualdez Marcos Jr.) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เข้าร่วมด้วย
นายกฯ กล่าวยินดีที่ได้พบกับผู้บริหารของสหภาพยุโรปและผู้บริหารจากภาคเอกชนชั้นนำของยุโรปในวันนี้ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน ระหว่างภูมิภาคอาเซียน-ยุโรป และฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ บริบทโลกในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายในหลายมิติ ทั้งปัญหาความไม่เท่าเทียม สภาวะเงินเฟ้อ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และวิกฤตด้านอาหารและพลังงาน ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นจากทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสถานการณ์ความขัดแย้ง สะท้อนถึงความจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ โดยเน้นความสมดุล ซึ่งรวมถึงการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและต่อโลก เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ครอบคลุม และเอื้อประโยชน์ให้ทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวว่า ประเทศไทยเดินหน้าสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยขับเคลื่อนผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งไทยในฐานะประธานเอเปกปีนี้ได้ผลักดันเรื่องนี้ในกรอบเอเปกจนบรรลุเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG จึงยินดีที่สหภาพยุโรปมีข้อริเริ่ม Global Gateway ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจ BCG และสามารถสนับสนุนกับกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียนได้ ซึ่งสหภาพยุโรปมีความเชี่ยวชาญและทรัพยากรที่จะช่วยสนับสนุนอาเซียนในเรื่องการผลิตและการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การขนส่ง พลังงานทดแทน และการจัดการของเสีย
โอกาสนี้ นายกฯ ได้เสนอความร่วมมือหลัก 3 ด้าน เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียนและสหภาพยุโรปควบคู่ไปกับความยั่งยืน ดังนี้ 👇
1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและยั่งยืน โดยอาศัยการเงินสีเขียวหรือการลงทุนเพื่อความยั่งยืนควบคู่ไปด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีที่หลายองค์กรและธนาคารในสหภาพยุโรปร่วมสนับสนุนเงินทุนให้แก่กองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เชื่อว่า สหภาพยุโรปยังสามารถสนับสนุนอาเซียนในการพัฒนา และสร้างเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและคุ้มค่าในระยะยาว รวมทั้งสอดคล้องกับหลัก ESG ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) พร้อมหวังว่า ข้อริเริ่ม Global Gateway จะนำไปสู่การลงทุนของสหภาพยุโรปในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนในอาเซียนและในไทยมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยให้อาเซียนมีเครือข่ายพลังงาน คมนาคม และดิจิทัล ที่ทันสมัย สะอาด และยั่งยืนแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการค้า การลงทุน และการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนยุโรปในอาเซียนด้วย
นายกฯ เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปร่วมกับเขตเศรษฐกิจในเอเชียที่มีพึ่งพาการนำเข้าก๊าซ LNG สูง พิจารณาความร่วมมือในการจัดทำ LNG ในตลาดโลก รวมทั้งบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการนำเข้า LNG เช่น ท่าเรือ และคลังเก็บ LNG เพื่อช่วยลดความผันผวนด้านราคา และเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของทั้งสองภูมิภาค
2.การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อาเซียนมีเป้าหมายสู่พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน เป็นร้อยละ 23 ของสัดส่วนพลังงานในอาเซียน ภายในปี 2568 และเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว ไทยได้เริ่มขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในประเทศให้ผลิตสินค้าจากพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการใช้และการส่งออกสินค้าเหล่านี้ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรม EV โดยไทยยังมุ่งพัฒนาพลังงานกรีนไฮโดรเจน และยินดีร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการพัฒนาพลังงงานสะอาดนี้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในอาเซียน นายกรัฐมนตรีหวังว่า สหภาพยุโรปจะพิจารณาสนับสนุนความพยายามดังกล่าว ผ่านการอํานวยความสะดวกและลดภาษีสําหรับการนําเข้าและส่งออกสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป รวมถึงพิจารณาให้สิทธิ ช่องทางพิเศษสําหรับสินค้าสีเขียวหรือ GreenLane ด้วย
และ 3.การยกระดับมาตรฐานของอาเซียนไปสู่การค้าที่ยั่งยืน นายกฯ ชื่นชมสหภาพยุโรปในเรื่องการมีมาตรฐานทางการค้าที่สูง ทั้งในด้านกฎระเบียบ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน แรงงาน รวมทั้งทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่อาเซียนกำลังพยายามพัฒนา หวังว่าสหภาพยุโรปจะร่วมมือกับอาเซียนและไทยในการส่งเสริมศักยภาพในเรื่องนี้ เพื่อยกระดับมาตรฐานของอาเซียนให้ทัดเทียมกับสหภาพยุโรปมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการจัดทำ FTA ที่มีคุณภาพสูงและครอบคลุม และเป็นแนวทางสําหรับการเจรจา FTA อาเซียน-EU ในอนาคต ทั้งนี้ ไทยในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของความร่วมมือด้านวิชาการของภูมิภาค ในการเสริมสร้างการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ยินดีร่วมมือกับสหภาพยุโรปในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งสอดคล้องกับสปิริตของความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-สหภาพยุโรป
นายกฯลุงตู่เดินทางไปต่างประเทศนับครั้งไม่ถ้วน
ท่านได้รับการตอบรับจากทั่วโลกทุกประเทศ
ว่าเป็นผู้นำจากประเทศไทยที่สง่างาม ท่านร่วมทำงานเพื่อบ้านเมืองและกลุ่มประเทศต่างๆ
ทำเอากองเชียร์ลุงปลื้มยิ้มหน้าบานเลยค่ะ
💚มาลาริน💚สง่างาม! ติดตามภาระกิจนายกฯลุงตู่..หารือประธานฯอียูชื่นมื่น ชงความร่วม 3 ข้อ ประชุมโต๊ะกลมผู้บริหารระดับสูง