การยกเลิกรายการซื้อขายหุ้นของ AITCO ที่คีย์รายการผิดพลาด ในอดีต : ไม่ทราบว่าจะเปรียบกับกรณีของ MORE ได้ไหม

การยกเลิกรายการซื้อขายหุ้นของ AITCO ที่คีย์รายการผิดพลาด  ในอดีต : ไม่ทราบว่าจะเปรียบกับกรณีของ MORE ได้ไหม 

เหตุเกิดในช่วงสายใกล้เที่ยง ในวันหนึ่งของเดือน พ.ย. 2536 ยี่สิบเอ็ดปีที่แล้ว แต่ผมยังจำได้ละเอียดอย่างกับเกิดเมื่อวาน
ผมได้รับการตามตัวด่วน จากการประชุมอยู่กับลูกค้า ว่ามีเรื่องสำคัญเกิดขึ้น คือเกิดการผิดพลาดในระบบส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท กล่าวคือ ลูกค้าสั่งขายหุ้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บงล.) กรุงศรีอยุธยาฯ (AITCO) 20,000หุ้น ในราคา 130 บาท (ประมาณ) แต่ระบบดันสั่งขายไป 20,000,000 หุ้น กว่าจะรู้ว่าผิด ระดมกำลังกันถอนคำสั่ง (ถอนได้ทีละน้อย) แค่ยี่สิบนาที ก็มีผู้แย่งกันเข้าซื้อไปได้ 18 ล้านหุ้น คิดเป็นเงิน 2,300 ล้านบาท ปัญหามันมีอยู่ว่า เราไม่มีทางที่จะส่งมอบใบหุ้นที่ไม่มีนี้ให้กับผู้ซื้อได้เลย (เพราะหุ้น AITCO ที่จดทะเบียนทั้งหมดมีอยู่เพียง 12 ล้านหุ้น แถมผู้ถือหุ้นใหญ่คือกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยา และคุณกฤตย์ รัตนรักษ์ ถืออยู่กว่า 60%)

พอผมกลับมาร่วมประชุม คุณวิโรจน์ นวลแข CEO บอกว่า ได้แจ้งให้ทางประธานและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) (ศ.สังเวียน อินทรวิชัย และ คุณเสรี จินตนเสรี) และ เลขาฯ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) (คุณเอกกมล คีรีวัฒน์) ทราบแล้ว ทั้งสามท่านบอกว่าจะลองคิดวิธีแก้ไขให้ ซึ่งดูเหมือนทุกคนในที่ประชุมดูผ่อนคลาย คิดว่าปัญหาจะลุล่วงได้

แต่ผมทราบทันทีว่าเรื่องมันไม่ง่ายอย่างนั้น “ถ้าเราหวังพึ่งผู้ใหญ่ ถึงเขาจะพยายามช่วย แต่สุดท้ายอาจบอกว่าช่วยไม่ได้ แล้วเราก็เจอหายนะอยู่ดี ผมว่าเราต้องเข้าไปควบคุมสถานการณ์ กระตุ้นกระบวนการด้วยตัวเอง ถ้าไม่งั้นอาจจะสายเกินไป” คุณวิโรจน์เลยออกคำสั่งให้ผมเป็นผู้บัญชาการเรื่องนี้ โดยท่านจะเตรียมพร้อมคอยสนับสนุนทุกอย่าง “เรื่องนี้ให้คุณเป็นนาย ผมและทุกคนคอยช่วย เพราะคุณถนัดเรื่องแก้ปัญหายากๆ ” (นี่เป็นการบริหารสไตล์ภัทรฯ ที่ยอมรับในความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ไม่ใช่เป็นนายแล้วจะเก่ง จะรู้ทุกเรื่อง)

ทำไมถึงจะหายนะ ผมจะไล่เรียงให้ฟังนะครับ ปกติถ้าขายหุ้นวันนี้ อีก 3 วัน เราต้องนำหุ้นไปส่งมอบ (เรียกว่าระบบ t+3 ) ส่วนคนซื้อเขาก็เอาไปขายได้เลย (เพราะต้องส่งมอบอีกสามวันเหมือนกัน) ถ้าเราไม่มีหุ้น เราก็ต้องไปไล่ซื้อเอาแล้วยอมเสียค่าปรับส่งมอบช้า แต่หุ้น AITCO ในจำนวนที่เราขายไม่มีอยู่จริงในโลกนี้ ไม่รู้ต้องไล่ซื้ออีกกี่สิบกี่ร้อยวันถึงจะได้ครบ (ตอนนั้นตลาดฯ ยอมให้หุ้นขึ้นได้วันละ 10% เรียกว่า ceiling) หุ้นจะขึ้นอีกหลายสิบ ceiling แล้วคนส่วนใหญ่ก็จะไม่ยอมขาย เพราะคาดได้ว่าพรุ่งนี้ก็ต้อง ceiling ต่อไปเรื่อยๆ

ในตอนนั้น ภัทรฯ มีเงินกองทุนอยู่ประมาณสี่พันล้านบาท ทุก ceiling จะขาดทุนประมาณ 200 ล้านบาท ยี่สิบวันก็ล้มละลาย เดือดร้อนไปถึงผู้ฝากเงิน ลูกค้า ทางการ ไปหมด แล้วก็ไม่จบแค่นั้น ภัทรฯ เจ๊งไปแล้วก็ยังไม่มีใครหาหุ้นมาส่งมอบได้ คนซื้อจำนวนมากก็ไม่ได้หุ้น นึกว่ารวยแต่ก็ไม่มีของจริง ปั่นป่วนไปทั่ว ในที่สุดระบบชำระราคา (settlement system) ก็ต้องพัง ตลาดจะปั่นป่วนวุ่นวายถึงขั้นพังตามไปด้วยเลยได้

ถ้าฟังเหตุผลที่ผมไล่ก็เห็นได้ชัดว่า รายการผิดพลาดนี้ควรต้องถูกยกเลิก แทบจะมีข้อสรุปได้ทางเดียวเท่านั้น แต่เรื่องมันไม่ง่ายอย่างนั้นสิครับ เพราะว่า 1. ไม่มีกฎให้ยกเลิกได้ ไม่เคยมีเรื่องขนาดนี้เกิดขึ้นมาก่อน ถ้าเป็นรายการเล็ก ผู้ผิดพลาดต้องยอมรับความเสียหาย 2. มีผู้เกี่ยวข้องเยอะ โบรกเกอร์ที่เข้าแย่งซื้อมีอยู่ 30 แห่ง ทั้งพอร์ตตัวเอง ทั้งลูกค้าอีกนับพันคน ทุกคนอยากได้ประโยชน์และคิดว่ามีสิทธิ์ทั้งนั้น 3. ภัทรฯ ตอนนั้นโดดเด่นมาก มีมาร์เก็ตแชร์อันดับหนึ่งทั้งโบรกเกอร์ทั้งวานิชธนกิจ เป็นที่หมั่นไส้ของทุกคน โดยเฉพาะไอ้เตาเจ้าหลักการบ้าฝรั่ง คนยิ่งเขม่นเป็นพิเศษ มีคนอยากให้ล้มคว่ำให้สะใจอยู่ไม่น้อย (แหม่ ก็เราเป็นคนไทยกันนี่ครับ)

ผมตรงดิ่งไปตลาดหลักทรัพย์เพื่อขอพบผู้จัดการ ระหว่างทางโทรตามนักกฎหมายจากสองสำนักให้ส่งมือดีไปด่วน พอไปถึงได้รับแจ้งว่า ผจก. (คุณเสรี) ยังไม่ว่าง ออกไปทานเที่ยง แล้วกลับมามีนัด พบได้ห้าโมงเย็น ผมไม่ยอมรอ ถามว่าทานข้าวที่ไหน แล้วลุยเข้าไปขัดเลย เรียนท่านว่า นี่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ขอให้เรียกประชุมกรรมการตลาดฯ ด่วน ท่านตอบว่าใจเย็นๆ ตามระเบียบเรียกได้เร็วสุดพรุ่งนี้ ค่อยๆ คิดหาทางกัน ผมต้องโทรขอคุณวิโรจน์ติดต่อประธาน ในที่สุดท่านประธานฯ (อาจารย์สังเวียน) ท่านยอมเรียกประชุมด่วนตอนบ่ายสาม

ระหว่างรอประชุมกรรมการ ผมศึกษาประเด็นกฎหมาย นักกฎหมายคนหนึ่งบอกว่า ในความเห็นของเขารายการซื้อขายอย่างนี้ไม่มีทางที่จะยกเลิกได้ ผมสวนกลับทันที “ผมถามว่าจะยกเลิกได้อย่างไร ไม่ได้ถามว่ายกเลิกได้หรือเปล่า คุณไปหาคำตอบมาให้ได้ แล้วตอบมาว่าต้องทำอะไร ถ้าถึงกับต้องแก้รัฐธรรมนูญก็ขอให้บอกมา ถ้าตอบไม่ได้ก็กลับไป ให้นายคุณส่งคนที่ตอบได้มา”

ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า จะยกเลิกได้ก็มีวิธีเดียว คือ ให้คู่ค้าทุกฝ่ายยินยอม (ทั้ง 30 บริษัทหลักทรัพย์และลูกค้าอีกนับพันคน) และตลาดหลักทรัพย์ยอมอนุมัติ และควรต้องทำทุกอย่างให้แล้วเสร็จในเวลาห้าโมงเย็นก่อนหมดเวลาทำงานด้วย มันช่างเป็นภารกิจที่แทบเป็นไปไม่ได้เอาเลยทีเดียว เป็นบางคนอาจยอมแพ้หลบภาระ แต่ผมไม่ท้อ เริ่มวางแผนทำเต็มที่ (ก็ยังดีกว่าอยู่เปล่าๆ นี่ครับ)

ผมเข้าไปร่วมประชุมกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีโครงสร้างประกอบไปด้วยตัวแทนฝ่ายโบรกเกอร์ครึ่งหนึ่ง กับผู้ทรงคุณวุฒิอีกครึ่ง มี ศ.สังเวียน อินทรวิชัย เป็นประธาน ผมทำตัวลีบที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ตามคติ “ยามเป็นหมา ต้องเป็นหมา”) พยายามอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น ยอมรับความผิดพลาดที่เกิด ยืนยันว่าไม่ใช่ความตั้งใจชั่วร้ายใดๆ แต่ชี้แจงที่ประชุมถึงความจำเป็นที่จะต้องยกเลิกรายการนี้ มิฉะนั้นจะเกิดโกลาหลวุ่นวายไปหมด ไม่เพียง บงล.ภัทรฯ จะอยู่ไม่ได้เท่านั้น ตลาดก็จะปั่นป่วนจนถึงขั้นพังไปหมดได้ เห็นได้ชัดว่าที่ประชุมไม่ได้ตระหนักถึงความร้ายแรงของสถานการณ์ หลายท่านบอกว่าใจเย็นๆ ค่อยๆ ศึกษาหาทางออก ค่อยๆ คิดแก้ไข ไม่มีความจำเป็นต้องด่วนสรุป ด่วนตัดสินใจ

กรรมการฝ่ายโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ไม่ยอมให้ยกเลิกรายการไปเลย มีท่านหนึ่งเสนอให้ภัทรฯ ยอมจ่ายค่าเสียหายสัก 2 ceiling คือ ให้นักลงทุน (นักฉวยโอกาส) ได้รับคนละ 26 บาทต่อหุ้น ซึ่งรวมภัทรฯ ต้องจ่าย 468 ล้านบาท (ถือว่าเยอะมากในสมัยนั้น) “ภัทรฯ มีกำไรมากกว่าเพื่อนฝูงเกือบทุกปี ปีนี้ก็น่าจะกำไรกว่าสี่ร้อยล้าน จ่ายแค่นี้ ถ้าปีนี้จะขาดทุนก็ไม่มาก ไม่ถึงกับเจ๊ง” ท่านว่า

ผมต้องพยายามชี้แจงว่า “ประเด็นมันไม่ใช่ว่ายอมจ่ายเท่าใด แต่ถ้ายอมจ่ายแม้แต่บาทเดียว เท่ากับมีการยอมรับว่ามีการซื้อขายเกิดขึ้น ถ้าผู้ซื้อแม้แต่รายเดียวไม่ยอมรับจำนวนที่จ่าย จะเอามากขึ้นหรือสุดท้ายจะเรียกร้องเอาหุ้นซึ่งไม่มี มันก็ไม่จบอยู่ดี จะวุ่นวายไปทั่ว ทางเดียวคือต้องไม่ให้มีรายการ ต้องยกเลิกรายการ”

แต่ที่ประชุมส่วนใหญ่ก็ยังไม่ยอม โดยเฉพาะพวกโบรกเกอร์ มีโบรกเกอร์ใหญ่รายหนึ่งต่อรองว่า “ภัทรฯ ควรต้องเห็นใจคนที่มาซื้อ เพราะบางคนต้องขายหุ้นอื่นเพื่อเคลียร์วงเงินมาแย่งซื้อ ถ้าเค้าไม่ได้อะไรติดมือไปเลยเค้าอาจจะฟ้องได้ น่าจะต้องให้อย่างน้อยหุ้นละ 20 บาท ก็ยังดี”

ผมเรียนยืนยันว่าให้ไม่ได้เพราะเรื่องจะไม่จบ ให้ยกเลิกรายการ แล้วถือว่าภัทรฯ ทำผิดกฎ ต้องจ่ายค่าปรับให้ส่วนกลางไปเลยจะดีกว่า เรื่องนี้ทุกคนที่มาเข้าแย่งซื้อเป็นเพราะรู้อยู่ว่ามีการผิดพลาดเกิดขึ้น (เห็นคำสั่งขายที่ผิดปกติ) เลยเข้ามาแย่งซื้อ หวังกำไรจากความผิดพลาดของคนอื่น เป็นลาภที่ไม่ควรได้อยู่แล้ว เพราะถ้าไม่เห็นว่ามีการผิดพลาดเกิดขึ้นแล้วมีโอกาสที่จะฉวยเอาจากคนพลาด ปกติไม่เคยมีใครคิดจะซื้อหุ้น AITCO นี้เลย

“การเล่นหุ้นเป็นเรื่องของการแสวงหาโอกาสอยู่แล้ว คุณพลาดท่าเอง จะมาขอความเห็นใจได้อย่างไร ยังไงก็ต้องให้เค้าได้ติดไม้ติดมือไปบ้าง ยิ่งบางคนคิดว่าจะได้กำไรไปแล้ว วางแผนใช้เงินไปแล้ว ผมว่าคุณยอมชดใช้มาบ้างสักหุ้นละ 10-15 บาท แล้วพวกเราจะค่อยๆ ไปเจรจากับลูกค้าให้ คิดว่าลูกค้าไม่น้อยน่าจะยอม ส่วนที่เหลือก็ค่อยๆ เจรจากันไป” ท่านโบรกเกอร์ใหญ่รายเดิมยืนยัน

ผมยังยืนกระต่ายขาเดียวว่าทางเลือกนั้นทำไม่ได้ เพราะถ้ามีคนไม่ยอม เรื่องจะไปกันใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุด “ผมได้ตรวจสอบแล้วพบว่าบริษัทของพี่ (ท่านผู้ใหญ่ที่ว่า) เป็นโบรกเกอร์ที่เคาะซื้อไปมากสุด ประมาณ 3 ล้านหุ้น ถ้าพี่ยอมให้สัญญาว่า ถ้าเรายอมชดเชยหุ้นละ 5-10 บาท พี่จะเจรจาลูกค้าได้หมด 100% ส่วนที่ไม่ได้พี่จะชดใช้เอง ผมถึงจะพิจารณาได้ พี่ตกลงไหมครับ” “เฮ้ย คุณทำผิดเองแล้วจะมายกให้เป็นภาระพวกเราได้ไง” ท่านชักเริ่มมีอารมณ์

ในที่สุดท่านประธานขอให้ผมสรุปข้อเสนอ เพื่อที่ประชุมจะได้พิจารณาต่อ ผมเลยต้องขอโทษทุกท่านที่มีความผิดพลาดขึ้น แต่ขอเปรียบเทียบให้ฟังว่า มันเป็นการผิดพลาดจากการส่งคำสั่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอและก็มีโทษปรับตามระเบียบอยู่แล้ว เพียงบังเอิญคราวนี้มันเป็นรายการใหญ่ที่ไม่มีทางที่จะหาหุ้นส่งมอบได้ จึงมีทางเดียวคือยกเลิกรายการ “มันเหมือนกับผมขี่มอเตอร์ไซค์แล้วฝ่าไฟแดง ซึ่งก็ทำผิดกฎแหละครับ แต่บังเอิญผมบรรทุกถุงเงินมาด้วย แล้วถุงตกแตกกระจาย คนที่อยู่แถวนั้นเฮโลกันมาแย่งเงิน ผมคว้าข้อมือไว้อ้อนวอนขอคืน บางคนบอกไม่ได้หรอก ชั้นเสียเวลาต้องโดดลงรถเมล์มาแย่งเงิน ขอชดเชยค่าเสียหายสัก10 บาท ถ้าผมให้ไป อีกคนบอก ของกูแท็กซี่ ต้องเอาร้อย อีกคนบอกกูเลยผิดนัดสำคัญต้องขอพันนึง อย่างนี้ไปเรื่อยไม่มีที่สิ้นสุด ผมกราบอ้อนวอนทุกคน อย่าเอาเลยครับเงิน ถือเป็นความไม่สะดวก ผมกราบขอโทษ แล้วให้ตำรวจจราจรเขาปรับผมตามกฎหมาย ผมยอมรับผิด

ต้องขอกราบเรียนว่า ถ้าไม่มีการยกเลิกรายการในวันนี้ ผมไม่มีทางเลือกเลยครับ ภัทรฯ จะต้องทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า เรามิได้ส่งคำสั่งซื้อขายนี้ เราจะไม่ยอมรับรายการ และจะไม่มีการส่งมอบหุ้นใดๆ ซึ่งถ้าใครไม่ยอมก็ต้องไปฟ้องศาล และสู้คดีกันไปยาวนาน ภัทรฯ อาจถูกไล่ออกจากสมาชิกตลาดฯ เราก็ต้องจำยอม แต่ตลาดจะปั่นป่วน ระบบชำระราคาส่งมอบหลักทรัพย์ก็จะพัง ตลาดฯ อาจพังทั้งหมดได้ ผมไม่ได้ขู่นะครับ ผมต้องทำอย่างนั้นเพราะไม่มีทางเลือกจริงๆ” ในที่สุดผมก็อ้อนวอนให้เรียกประชุมโบรกเกอร์ทั้งหมดได้ในตอนเย็น โดยท่านประธานและกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิบางท่าน เช่น คุณนวพร เรืองสกุล ช่วยโน้มน้าวที่ประชุมให้

ก่อนเริ่มประชุม ผมโทรรายงานรายละเอียดให้คุณวิโรจน์ พร้อมทั้งขอให้ท่านติดต่อโบรกเกอร์ผู้ใหญ่ทั้งหลายที่ท่านคุ้นเคย เพื่อขอให้ช่วยสนับสนุน รวมทั้งขอให้ท่านสรุปประเด็นที่ต้องมีมติเอกฉันท์ให้ได้ให้ท่านประธานฯ (อ.สังเวียน) และผู้ใหญ่อื่นๆ ทราบ เพราะถ้ามีแม้แต่รายเดียวค้านก็จะเกิดปัญหาได้

พอเริ่มประชุมตอนหกโมงเย็น ผมเริ่มใจชื้น เพราะผู้ใหญ่ทั้งหลายของวงการต่างปรากฏตัวกันพร้อมหน้า ขอเอ่ยถึงเท่าที่จำได้นะครับ เช่น คุณธนดี โสภณศิริ CEO บงล.นวธนกิจ คุณจักร ปันยารชุน บงล.ไอทีเอฟ คุณโยธิน อารี แห่ง BFIT(บงล.กรุงเทพธนาทร) คุณสุขุม สิงคาลวณิชจากบงลธนสยาม ดร.ชัยยุทธ ปิลันธน์โอวาท บงล.ร่วมเสริมกิจ คุณสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ บงล.ธนชาติ ท่านเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ใหญ่ เป็นเสาหลักในวงการเงินทุนหลักทรัพย์สมัยนั้นกันทั้งสิ้น และนี่ต้องเป็นความพยายามอย่างยิ่งของคุณวิโรจน์ ท่านเหล่านี้จึงมาประชุมด้วยตนเอง ทั้งๆ ที่ปกติท่านจะให้ตัวแทนมา

ท่านประธานเปิดประชุม และขอให้ผมชี้แจง ซึ่งผมก็ได้ขอโทษที่ประชุม ยอมรับความพลาดทุกประการ เล่าเรื่องมอเตอร์ไซค์อีกที แล้วสรุปว่าต้องขอให้ที่ประชุมกรุณาลงมติยกเลิกรายการนี้ พอหลังจากนั้น ท่านประธานก็ให้ที่ประชุมแสดงความเห็น ซึ่งผู้ใหญ่ทั้งหลายที่ผมกล่าวนามต่างก็ทยอยกันขึ้นมาแสดงความเห็นสนับสนุนว่ามีทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ตลาดฯ ดำเนินไปได้ คือต้องให้มีการยกเลิกรายการนี้ มีโบรกเกอร์เพียงรายเดียวเท่านั้น ที่ประกาศว่าถ้าไม่ได้หุ้นละอย่างน้อยสิบบาทก็จะขอคัดค้าน (ไม่ทราบว่าท่านยังจำได้หรือเปล่า แต่ผมจำท่านได้แน่นอน และท่านก็ยังอยู่แถวนี้ด้วย)

ต่อ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่