วัดรัตนคูหาถ้ำผากล้วย🌼🌼ชมทุ่งบัวตอง,สวนเฉลิมพระเกียรติ🌷💐ที่แม่เมาะ ลำปาง จบด้วยก๋วยเตี๋ยวเห็ดหอมปางมะโอ🍄🍵😋

วันนี้ สบายๆ ผมขับรถผ่านมาทางลำปาง เลยถึงสามแยกวชิราวุธ เลยออกซ้ายไป วัดรัตนคูหาถ้าผากล้วย จากนั้น ก็ขับรถไปทางการไฟฟ้าแม่เมาะ ไปชมทุ่งบัวตองและสวนเฉลิมพระเกียรติ ช่วงนี้มีฝนตกดอกบัวตองส่วนหนึ่งก็จะโทรมนิดๆ แต่ที่บานใหม่ก็เยอะ รวมๆ แล้วยังสวยงามดีครับ และยังไปชมทุ่งบัวตองที่แม่เมาะได้ถึงกลางเดือนธันวาคมเลยครับ ผมออกจากสวนเฉลิมพระเกียรติมีเป้าหมายปลายทางที่เพชรบูรณ์ เลยมาแวะร้านประจำ กินก๋วยเตี๋ยวเห็ดหอมที่ปางมะโอ หมู่บ้านเห็ดหอมของเมืองลำปาง ซื้อเห็ดหอมกลับทุกที ไม่แพงครับ 
 

วัดรัตนคูหาถ้ำผากล้วย
          จากตัวเมืองลำปาง มุ่งหน้าไปทางอุตรดิตถ์ มาถึงสามแยกวชิราวุธ ผมเลี้ยวซ้ายไปทางแม่เมาะ จากสามแยกมาถึงวัด ก็ประมาณ 12 กม. ขับสบายๆ ก็ประมาณ 12-15 นาทีครับ วัดนี้สวยงามดี สงบ เป็นวัดในอุปถัมภ์ของสมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต)  

          บริเวณด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถมีบันไดนาค 5 เศียร และ 7 เศียร ตามลำดับ ภายในพระอุโบสถ มีพระไภษัทชยคุรุเขลางค์(พระกริ่งเขลางค์) หน้าตักกว้างประมาณ 50 นิ้ว หล่อจากทองแดงบริสุทธิ์ น้ำหนักกว่า 1,500 กิโลกรัม หล่อจากอะไหล่ที่หมดสภาพใช้งานแล้วของ กฟผ.แม่เมาะ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 3.5 ล้านบาท มาประดิษฐานเป็นองค์พระประธาน โดยบริเวณด้านล่างบริเวณฐานของอุโบสถยังมีสิ่งอัศจรรย์คือปล่องพญานาค ซึ่งเป็นรูกว้างลึกสุดลูกหูลูกตา ซึ่งเชื่อว่าจุดดังกล่าวเป็นทางเข้าออกของพญานาค มีผู้พบเห็นภาพเหมือนพญานาคมารอรับบุญในงานประเพณีใหญ่ของวัด และสามารถเชื่อมต่อกับถ้ำต่างๆ ในพื้นที่ ต.แม่เมาะ ได้อีกด้วย 

         ด้านบนสามารถชมทิวทัศน์ เดินขึ้นไปกราบนมัสการองค์พระพุทธขยันตีเมตตา ทันใจโลกนาถ ที่ประดิษฐานอยู่บนเนินเขาที่สามารถมองเห็น กฟผ.แม่เมาะ และอำเภอแม่เมาะจากมุมสูงได้ 360 องศา 

         เสร็จจากกราบนมัสการพระไภษัทชยคุรุเขลางค์(พระกริ่งเขลางค์) และพระพุทธขยันตีเมตตา ทันใจโลกนาถ ผมก็ขับรถไปต่อชมทุ่งบัวตอง 
 
ชมทุ่งบัวตอง, สวนเฉลิมพระเกียรติ ที่แม่เมาะ 
             ผมออกจากวัด ขับมาทางการไฟฟ้าแม่เมาะ ผ่านอ่างดักตะกอนห้วยทราย ตรงไปเรื่อยๆ มีป้ายบอกทางไป ทุ่งบัวตอง ก็ประมาณ 20 กม. ใช้เวลาสบายๆ ประมาณ 25 นาทีก็ถึงครับ ทุ่งบัวตองแม่เมาะนี้ มีปริมาณไม่น้อย จะว่าไป ดอกบัวตอง นี้ ในทางพฤกษศาสตร์จัดว่าเป็น เอเลี่ยนสปีชีส์ พืชต่างถิ่น กำจัดยากจึงจำเป็นต้องควบคุมพื้นที่การปลูก 

             เนื่องจากดอกบัวตอง เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศเม็กซิโก ตัวมันเป็นพืชที่มีบางชนิดที่เป็นอัลลีโลพาธี allelopathy คือไปทำการยับยั้งการเจริญเติบโตของพืชอื่นได้ (มีชื่อว่า sesquiterpene lactones) หลายพื้นที่เอามาปลูกในพื้นที่แล้ง เพราะมันอึดและทนแล้งได้ดี เอามาใช้เป็นเครื่องมือในด้านการท่องเที่ยว เพื่อความสวยงามครับ เรื่องนี้ ในทางวิชาการเขาก็เป็นห่วงว่าขอให้ระวังไม่เอามาปลูกร่วมกับพืชอื่นเพราะจะส่งผลกระทบต่อผลผลิต ก็ด้วยความปรารถนาดี ส่วนเรื่องการสื่อสารก็ต้องระมัดระวัง ไปกระทบกับการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ หากมีการจำกัดการปลูกในพื้นที่ควบคุมก็ไม่น่ามีปัญหาอะไรครับ ทั้งนี้ ความดีของเจ้าต้นบัวตองนี้ก็มีครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใบ
          การศึกษาวิจัยพบว่าใบบัวตองมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยสาร sesquiterpene ได้แก่ diversifolin, diversifolin methyl ether และ tirotundin ที่พบในส่วนใบมีฤทธิ์อย่างแรง หากวัวควายกินใบ ก็น่าจะดีเหมือนกันช่วยลดการอักเสบ คนก็เอามาใช้ได้นะ ถือเป็นสมุนไพรได้ แต่ก็ต้องศึกษาวิธีการใช้ให้รอบครอบครับ 

              การจัดการเดินรถเพื่อขับชมทุ่งบัวตอง ทำได้ดีเลย ขับวนไปมาแล้วก็ถึงทางเข้าสวนเฉลิมพระเกียรติ เลี้ยวเข้าไปมีลานจอดรถสะดวกมาก เดินไม่ไกล แดดแรงครับ แต่ลมเย็นๆ สบายๆ ชมธรรมชาติดอกไม้งามๆ ต้องทำใจกับแดดครับ ด้านในจะมีระเบียงยื่นไปเป็นจุดชมวิว ทำให้มองเห็นทุ่งบัวตองกว้างมากขึ้นนะครับ งดงามมาก ม่วนอ๊กม่วนใจ๋ ฮ่าๆๆๆ 

             บ่ายมากแล้วก็ต้องเดินทางต่อครับ ผมมีเป้าหมายปลายทางเพชรบูรณ์ ยังอีกหลายชั่วโมงเลย ต้องเคลื่อนตัวแล้วหล่ะครับ 
 
ก๋วยเตี๋ยวเห็ดหอมปางมะโอ ภูดอยฟาร์ม 
                  ผมขับออกจากสวนเฉลิมพระเกียรติ แม่เมาะ ขับมาได้สักพัก ผ่านมาทางปางมะโอ หมู่บ้านส่งเสริมการเพาะปลูกเห็ดหอม ของจังหวัดลำปาง ผมผ่านบ่อยๆ เลยมาแวะกินก๋วยเตี๋ยวเห็ดหอม ในมื้อบ่าย ผมมาแวะซื้อเห็ดหอมที่นี่ประจำ ก็จะได้ลดราคาบ้างแถมบ้าง 

                   ก๋วยเตี๋ยวก็ให้เยอะเลยครับ หอมเห็ดหอมมากอร่อยดีครับ รีวิวนี้ก็เอาดอกไม้งามๆ มาฝากเน้อ ก็คิดว่าผมพาเที่ยวทิพย์แล้วกันครับ ส่วนท่านใดมีแผนเดินทางผ่านลำปาง ก็ยังทันทุ่งบัวตองในช่วงก่อนถึงกลางเดือนธันวาคมนี้ครับ 
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่