@@@ กม.ดีๆในยุคนี้ @@@

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "ราชกิจจานุเบกษา" ออกประกาศ พ.ร.บ. มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 หรือกฎหมายฉีดไข่ฝ่อ ยาลดฮอร์โมนเพศชาย มีผลบังคับใช้แล้ว เหตุผลของการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากผู้กระทำความผิดอาญา บางประเภทที่เกี่ยวข้องกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรง เช่น การข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำความผิดทางเพศกับเด็ก การฆาตกรรม การทำร้าย จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การทำร้ายร่างกายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส รวมทั้งการนำตัวบุคคลไปเรียกค่าไถ่
.
เมื่อถูกจำคุกจนพ้นโทษ และได้รับการปล่อยตัวสู่สังคมแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีการติดตามจากเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจบ้าง แต่ไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย และไม่มีประสิทธิผลในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ผู้กระทำความผิดเหล่านี้ ส่วนหนึ่ง ยังมีแนวโน้มที่จะกระทำความผิดในรูปแบบเดียวกัน หรือรูปแบบใกล้เคียงกันซ้ำอีก สมควรมีกฎหมายเฉพาะที่กำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดดังกล่าว
.
โดยการกำหนดให้มีมาตรการแก้ไขฟื้นฟู ผู้กระทำความผิด มาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ และมาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ เพื่อป้องกันสังคม และผู้เสียหายจากการกระทำความผิดที่อาจเกิดขึ้นอีก และเพื่อส่งเสริมการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด โดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องคำสั่งดังกล่าวอย่างเหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติ สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ อาทิ หมวด 4 มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรา 22 เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นักโทษเด็ดขาดซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิดในความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 3 จะกระทำความผิดซ้ำภายหลังพ้นโทษ ศาลอาจมีคำสั่งกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ ตามที่พนักงานอัยการร้องขอ โดยกำหนดมาตรการเดียว หรือหลายมาตรการตามควรแก่กรณีก็ได้ มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ ได้แก่

(1) ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหายจากการกระทำความผิด

(2) ห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด

(3) ห้ามเข้าเขตกำหนด

(4) ห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

(5) ห้ามก่อให้เกิดอันตรายต่อละแวกชุมชนที่ตนพักอาศัย

(6) ให้พักอาศัยในสถานที่ที่กำหนด

(7) ให้พักอาศัยในสถานบำบัดที่กำหนดหรือให้ไปอยู่ภายใต้การดูแลในสถานบำบัดภายใต้การดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งได้รับการรับรองโดยกระทรวงสาธารณสุขตามที่ศาลเห็นสมควร

(8) ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือผู้ดูแลสถานที่พักอาศัยหรือสถานบำบัด

(9) ให้มารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติหรือได้รับการเยี่ยมจากพนักงานคุมประพฤติหรือ
อาสาสมัครคุมประพฤติหรือเจ้าหน้าที่อื่นตามระยะเวลาที่กำหนด

(10) ให้ใช้มาตรการทางการแพทย์ หรือมาพบหรือรับการตรวจรักษาจากแพทย์หรือบุคคลอื่นใด
ตามที่ศาลหรือพนักงานคุมประพฤติกำหนด

(11) ให้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูแก้ไขหรือเข้าร่วมกิจกรรมตามที่ศาลหรือพนักงานคุมประพฤติ
กำหนด

(12) ให้แจ้งพนักงานคุมประพฤติทราบถึงการเปลี่ยนสถานที่ทำงานหรือการเปลี่ยนงาน

(13) ให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวในการเฝ้าระวัง
.
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในส่วนมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ตาม (10) จะมีมาตรการทางการแพทย์ ให้ยากดฮอร์โมนเพศชาย (ฉีดให้ฝ่อ) แก่ผู้กระทำผิด หากเห็นว่ามีความจำเป็นต้องใช้ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช และอายุรศาสตร์อย่างน้อย 2 คน เห็นพ้องกัน และได้รับความยินยอมจากผู้กระทำผิด และให้นำผลการใช้มาตรการทางการแพทย์ดังกล่าว เป็นเงื่อนไขพิจารณาลดโทษ พักการลงโทษ หรือให้ผู้กระทำผิดได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดได้ เป็นต้น

-------------------------------
แหล่งข่าว

https://www.komchadluek.net/news/society/534496

https://www.dailynews.co.th/news/1618476/
-------------------------------
ติดตามข้อมูลข่าวสาร รู้ไทย รู้โลก กับ Thailand Vision ได้ที่
Website : http://www.thailandvision.co
Facebook :  https://www.facebook.com/thvi5ion
Twitter : https://twitter.com/Thailand_vision
Youtube : https://www.youtube.com/c/Thailandvision

แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  รัฐบาล การเมือง กฎหมายการเมือง
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่