JJNY : น้องตุ้มโพสต์จี๊ด│คนขอนแก่นวอนส่งยารักษา‘น้ำกัดเท้า’│ด่วน“เวียดนาม”พบไข้หวัดนกระบาด│‘พท.’ เชื่อเสียงฝ่ายปชต.พอ

น้องตุ้ม ปริญญา โพสต์จี๊ดเข้าใจโตโน่-หมอ เหนื่อยต่อมีรปภ.กัปตันเครื่องบิน-เหมือนดาราท่าน1กล่าว
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_7330375
 
 
สนั่นโซเชียลเลย น้องตุ้ม ปริญญา นักมวยดัง โพสต์จี๊ด เข้าใจโตโน่-หมอ ต้องเหนื่อยกันต่อเพราะมีรปภ.เป็นกัปตันเครื่องบิน – ผู้นำองค์กรแพทย์ก็เช่นกัน เหมือนดาราท่าน1กล่าว
  
วันที่ 24 ต.ค.65 ปมดราม่ายังไม่แผ่ว จากกรณี โตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ ว่ายน้ำข้ามโขง ได้รับเงินบริจาคสูงกว่า 63 ล้านบาท ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมแง่มุมต่างๆ นานา เรียกว่าดราม่าไม่จบแม้ภารกิจจบ แม้แต่ หมอริท เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช เพื่อนรักเดอะสตาร์ด้วยกัน ก็ยังออกมาโพสต์ทวิตเตอร์มองต่างมุม เห็นถึงเจตนาที่ดี แต่ต่อให้โตโน่ว่ายน้ำข้ามโขงอีก 10 รอบ ได้เงินเป็นพันล้าน ก็ไม่ช่วยให้แพทย์เหนื่อยน้อยลง เพราะปัญหาระบบสาธารณสุข  ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้ขาดแคลนบุคลากรแพทย์และหมอ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐ ทำงานกันเกินเวลาปกติ กลายเป็นประเด็นให้วิพากษ์วิจารณ์กันรัวๆ
  
ล่าสุด ในเฟซบุ๊กของ น้องตุ้ม ปริญญา เจริญผล อดีตนักมวยสาวสองชื่อดัง ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงกระแสดราม่าดังกล่าวด้วยว่า 

“เข้าใจโตโน่ เข้าใจหมอค่ะ พวกเราคงต้องช่วยกันค่ะ และยังต้องเหนื่อยกันอีกต่อไป เพราะเรามี รปภ. เป็นกัปตันขับเครื่องบิน และเป็นผู้นำองค์กรแพทย์ก็เช่นกัน เหมือนดาราท่าน 1 กล่าว ช่วยเหลือตัวเองกันนะจ๊ะ”



คนขอนแก่นวอนรัฐส่งยารักษา ‘น้ำกัดเท้า’ ลุยน้ำท่วมทุกวันจนไม่ไหว ไม่รู้จะกลับสู่ปกติตอนไหน
https://www.matichon.co.th/region/news_3635250

ชาวขอนแก่นวอนรัฐส่งยารักษาโรคช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมด่วน หลายหมู่บ้านน้ำท่วมขังนานนับเดือน พร้อมนิมนต์พระฉันเพล สนทนาธรรมเพื่อคลายเครียด
 
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 24 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์น้ำท่วมในเขต อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยเฉพาะถนนสายเคียมห้วย ตัดถนนเลี่ยงเมือง เส้นทางทางหลวงหมายเลข 1027 บ้านโคกท่า ต.ศิลา อ.เมือง ตัดผ่านไป อ.น้ำพอง และ อ.กระนวน ซึ่งเกิดภาวะน้ำท่วมจากการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้ระดับน้ำลดลงแล้ว เจ้าหน้าที่เปิดการเดินรถได้ตามปกติ คงเหลือแค่น้ำที่ไหลผ่านบริเวณพื้นผิวถนนเท่านั้น
ขณะที่บ้านดงพอง หมู่ 10 ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น 1 ใน 4 หมู่บ้านของ ต.ศิลา อ.เมือง ขณะนี้น้ำที่ท่วมขังเริ่มมีกลิ่นเหม็นเน่า ชาวบ้านต้องการยารักษาโรคเท้าเปื่อยและโรคที่มากับน้ำอย่างเร่งด่วน
 
นายชาตรี โพธิรุด อายุ 58 ปี กล่าวว่า ชาวบ้านที่นี่พบสถานการณ์น้ำท่วมมาตั้งแต่ปี 2521 จนถึงครั้งนี้ 6 ครั้งแล้วที่น้ำท่วมอย่างหนัก ชาวบ้านมีการปรับตัว มีการตั้งเต็นท์ ตั้งโรงทานช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และมีกิจกรรมให้ชาวบ้านคลายเครียดอยู่เรื่อยๆ ทำให้ลดภาวะความเครียดลงได้ สำหรับข้าวของเครื่องใช้ชาวบ้านได้ยกขึ้นที่สูงหมดแล้ว หลังได้รับการแจ้งเตือนจากการประชาสัมพันธ์ของในหมู่บ้านจึงไม่เสียหายมาก
 
“เครื่องอุปโภคบริโภคจะไม่ขาด เพราะมีคนมีจิตศรัทธาบริจาคอยู่เรื่อยๆ ที่ขาดจริงๆ จะเป็นยารักษาโรคน้ำกัดเท้า เท้าเปื่อย เพราะบางจุดน้ำกำลังเน่าและเริ่มส่งกลิ่น เดินลุยทุกวันเท้าก็เริ่มเปื่อย ฝากให้หน่วยงานสาธารณสุขเข้ามาช่วยดูแลหลังน้ำลด เพราะประชาชนอาจจะเจ็บไข้ได้ป่วย ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงอีกด้วย” นายชาตรีระบุ
 
ขณะที่ นายสุรัตน์ จันทาสีกา กำนันตำบลศิลา กล่าวว่า ชาวบ้านดงพองไม่มีโรคเครียด เพราะทุกวันจะมีพระมาฉันเพลน มีการนั่งสนทนาธรรม ทำให้ชาวบ้านหายเครียดและผ่อนคลาย แต่จะลำบากเรื่องวิถีชีวิตการเป็นอยู่ลำบากเพราะน้ำท่วมทางเข้า-ออกหมู่บ้าน ชาวบ้านสามารถเข้าไปนอนพักอาศัยได้เป็นบางหลังที่มีบ้าน 2 ชั้น แต่สำหรับคนที่มีบ้านชั้นเดียวจะไปอาศัยบ้านญาติ หรือบ้านเพื่อนบ้านเพื่ออาศัย และคอยไปสอดส่องดูบ้านตัวเองบ้านเป็นบางครั้งเพราะห่วงสิ่งของ
 
“ชาวบ้านมีบ่นบ้างว่าข้าวของเครื่องใช้เสียหายแต่ที่สำคัญเวลาน้ำลดสิ่งที่ต้องทำคือการเปลี่ยนประตูบ้านเพราะเสียหายทุกหลัง หลังจากเขื่อนปรับลดการระบายน้ำลงได้ 3 วัน ระดับน้ำก็ลดลงวันละ 5 ซม. ถือว่าลดลง ทำให้การสัญจรไปมาในหมู่บ้านสามารถใช้รถไถนาขับเข้าไปได้แทนเรือ น้ำที่ท่วมขังแบบนี้ยังไม่รู้ว่าจะลดลงเข้าสู่ภาวะปกติตอนไหน ถ้าเขื่อนปรับลดการระบายน้ำลงต่ำกว่า 30 ล้าน ลบ.ม.ต่อวันก็น่าจะเข้าสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น” กำนันตำบลศิลากล่าว
 
กำนันตำบลศิลากล่าวต่อว่า ตอนนี้ยังขาดเครื่องอุปโภคบริโภคอยู่บ้าง ที่สำคัญคือขาดยารักษาโรค ยารักษาอาการเท้าเปื่อย ตอนนี้ชาวบ้านเดินลุยน้ำทุกวันทำให้เกิดโรคเท้าเปื่อยเยอะขึ้น ดีที่ช่วงนี้น้ำยังไม่เน่ามาก จึงฝากถึงหน่วยงานที่จะเข้ามาช่วยเหลือถ้ามีรองเท้าบู๊ตจะดีมาก เพราะชาวบ้านเดินลุยน้ำจะได้ไม่เท่าเปื่อยต้องการยาทาแก้เท้าเปื่อยจะดีที่สุด
 


แจ้งเตือนด่วน “เวียดนาม” พบไข้หวัดนกระบาด
https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/544778

ปศุสัตว์ แจ้งเตือนด่วน ไข้หวัดนกระบาดในเวียดนามตายผิดปกติ ไม่ประมาท แม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบ 14 ปีแล้ว ยังเข้มงวด สุ่มเก็บตัวอย่างสัตว์ปีกในพื้นที่เสี่ยง ต่อเนื่อง ชี้สัตว์ตายผิดปกติ โทรด่วน 24 ชั่วโมง
  
นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากรายงานข่าวจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2565 ว่ากระทรวงสาธารณสุขเวียดนามออกแถลงการณ์ยืนยันการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิด A สายพันธุ์ H5 โดยผู้ป่วยเป็นเด็กหญิงวัย 5 ปี อาศัยอยู่ในจังหวัดฟู้เถาะ มีประวัติการรับประทานเนื้อไก่ และแสดงอาการประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนเข้ารับการรักษาที่โรงพยายบาล ซึ่งขณะนี้อาการยังอยู่ในขั้นวิกฤติ อนึ่ง เวียดนามมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกรวมอย่างน้อย 128 คน นับตั้งแต่ปี 2546 ทุกรายติดเชื้อไข้หวัดนก H5N1 เสียชีวิตรวม 64 ราย
  
อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบรายงานการเกิดโรคไข้หวัดนกมาแล้วเป็นระยะเวลา 14 ปี แต่กรมปศุสัตว์ก็ยังคงเตรียมความพร้อม และป้องกันโรคไข้หวัดนกเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยได้ สั่งการเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังโรคสัตว์ตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด   สุ่มเก็บตัวอย่างสัตว์ปีกในพื้นที่เสี่ยง เช่น พื้นที่ตามแนวชายแดน พื้นที่นกอพยพ พื้นที่นกวางไข่ พื้นที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกหนาแน่น ฝูงเป็ดไล่ทุ่ง เป็นต้น เข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ปีกภายในประเทศ ชะลอการนำเข้าสัตว์และซากสัตว์ปีกจากประเทศที่เกิดโรคไข้หวัดนก
 
ส่วนสัตว์ปีกเลี้ยงในระบบฟาร์มให้เข้มงวดความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นสูงสุด เช่น การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในโรงเรือนและบริเวณโดยรอบ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มเข้มงวดเรื่องระบบความปลอดภัยภายในฟาร์ม ควบคุมการเข้า-ออกฟาร์ม ให้ฉีดพ่นยานพาหนะทุกคัน เป็นต้น
  
รณรงค์ทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ได้แก่ พื้นที่นกอพยพอาศัยอยู่ พื้นที่ตามแนวชายแดน พื้นที่เลี้ยงสัตว์ปีกหนาแน่นเป็นต้น ตลอดจนผลักดันระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกให้เข้าระบบมาตรฐาน GAP หรือ GFM รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตลอดจนหน่วยงานระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
  
กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด  หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ อย่านำสัตว์ปีกไปจำหน่ายจ่ายแจก หรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที
  
เพื่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินมาตรการ ควบคุมโรคทันที หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร. 063-225-6888 หรือแจ้งผ่าน Application : DLD 4.0 ได้ตลอดเวลารองอธิบดีกรมปศุสัตว์ฯ กล่าวในที่สุด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่