ซาอุดิอาระเบียจะมาลงทุนสร้างคลังน้ำมันและโรงกลั่นในไทยมีโอกาสเป็นจริงแค่ไหนครับ

มีข่าวแว่วๆมาว่าทางซาอุฯสนใจมาสร้างคลังเก็บน้ำมันและโรงกลั่นในไทยจำนวน1ล้านบาร์เรลจำนวนเงินลงทุน5พันล้านดอลล่า ซึ่งข่าวนี้ได้มาจากนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ท่านนึงผมลองไปสืบค้นข่าวเก่าๆก็พบว่าทางไทยกับซาอุมีการพูดคุยเรื่องนี้กันจริงเมื่อตอนกลางปีที่ไทยเราไปเยือนซาอุอีกอย่างเดือนหน้ามีประชุมapecที่ไทยเจ้าชายซาอุท่านก็บินมาร่วมด้วยคณะใหญ่เลย. คิดว่าดีลนี้มีโอกาสเกิดขึ้นจริงมั้ยครับ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 3
มองว่า เป็นการโปรโมทการเยือนไทยของเจ้าชายซาอุ ที่ได้ทรงมาประชุม G-20 ที่ประเทศอินโดนีเซียระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย. จากนั้นก็ได้ยินจากรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยว่าท่านจะมาเยือนไทยต่อ ในช่วงที่ไทยจัดการประชุม APEC ซึ่งมีการประชุมของผุ้นำที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. 2022 นี้

ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ลองตรองดู การประชุม G-20 ที่อินโดนีเซีย ใกล้เคียงกับการประชุม APEC ที่ไทยมาก ผู้นำจากชาติต่าง ๆ ที่เดินทางมาภูมิภาคนี้แล้ว คงไม่เสียเที่ยวที่จะได้พบปะกับผู้นำจากหลาย ๆ ชาติด้วยในครั้งเดียวกันเลย

เป็นเรื่องปกติที่เวลา ผู้นำประเทศที่เป็นราชวงศ์ของซาอุดิอารเบีย ไปเยือนประเทศอะไร ก็มักจะมีข่าวการทุ่มเงินมหาศาล เพื่อลงทุนสร้างโรงกลั่นน้ำมันอะไรทำนองนี้.............. แต่ว่าจะลงทุนทำจริง ๆ หรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ส่วนตัวคิดว่า คงจะมีข่าวโปรโมท น่าจะเป็นมาจากทางฝ่ายของรัฐบาลไทยนี่แหละ ............ แต่ว่าลงทุนสร้างโรงกลั่น และ คลังน้ำมันจริง ๆ นั้นมีโอกาสน้อยมาก ส่วนมากก็รอผลการศึกษา จากนั้นก็ค่อย ๆ เลือนหายไปกับสายลม นี่ดูจากประเทศอื่น ๆ ที่ผู้นำจากซาอุไปเยือนนะครับ ข่าวแบบนี้เห็นเป็นประจำ

ในโลกนี้มีประเทศเพียง 4 ประเทศ เท่านั้น ที่ซาอุดิอาระเบียไปลงทุนสร้างโรงกลั่นน้ำมัน โดย 3 ใน 4 นั้นเป็นผู้บริโภคน้ำมันระดับ Top 10 ของโลก ได้แก่

-สหรัฐอเมริกา (Motiva , ที่  Port Arthur รัฐเท็กซัส โดย Saudi Aramco เพิ่งซื้อหุ้นจาก Shell ทั้งหมดจนได้ถือครองหุ้นทั้ง 100% เมื่อ 2017 นี้เอง) สาาเหตุที่ Shell ขายหุ้นโรงกลั่นน้ำมัน Port Arthur ในรัฐเท็กซัส ให้กับ Saudi Aramco ทั้งหมด เนื่องจากมีปัญหาการสไตรค์ของคนงาน อันเนื่องมาจากความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ทั้งอุบัติเหตุจากการทำงานและโรคร้ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับคนงานโรงกลั่นเอง และ ชุมชนโดยรอบ

     โรงกลั่นน้ำมันของ Motiva ในรัฐเท็กซัส แม้ว่าจะเป็นโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือคือมีกำลังการกลั่น 600,000 บาร์เรลต่อวัน  แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนการกลั่นน้ำมันของสหรัฐอเมริกาแล้ว ก็ถือว่ามีเพียงเล็กน้อย เนื่องจากสหรัฐอเมริกามีโรงกลั่นน้ำมันเป็นจำนวนมาก ถึง 130 แห่ง กำลังการกลั่นถึง 18 ล้านบารเรลต่อวัน

- ญี่ปุ่น (Idemitsu Kosan ซึ่ง Saudi Aramco มีหุ้นอยู่เพียง 7.65%) , โดยที่ Saudi Aramco มีหุ้นในบริษัทนี้เพราะไปร่วมทุนกับ Shell ซึ่งเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในระดับโลกของ Saudi Aramco ตั้งบริษัท Showa Shell Sekiyu ขึ้นมา แล้ว Shell ก็ขายหุ้นของตัวเองให้กับ Saudi Aramco ต่อมา Showa Shell Sekiyu ก็ถูกควบรวมกิจการเข้ากับ Idemitsu จนทำให้ Saudi Aramco มีหุ้นเหลืออยู่เพียง 7.65% อย่างที่ว่า

- เกาหลีใต้ (Hyundai Oilbank ซึ่ง Saudi Aramco มีหุ้นอยู่ 17% และ S-Oil Corporation ซึ่ง Saudi Aramco มีหุ้นอยู่ 65% โดยที่ซาอุซื้อหุ้นบริษัทนี้มากตั้งแต่ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง) สำหรับเกาหลีใต้นั้น เป็นประเทศที่ซาอุดิอารเบียมีอิทธิพลต่อโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติมากที่สุดในโลก จนนักวิชาการของเกาหลีใต้หลาย ๆ คนก็กังวลเหมือนกัน ว่าจะมีผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์หรือไม่อย่างไร

- มาเลเซีย (PRefChem เป็นการร่วมทุนระหว่าง Saudi Aramco และ Petronas รัฐวิสาหกิจของมาเลเซีย โดยถือหุ้นเท่า ๆ กัน ) สำหรับมาเลเซียเป็นประเทศมุสลิมที่ส่งออกน้ำมัน และมีความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับซาอุดิอารเบียมาช้านานแล้ว

โดยหลัก ๆ แล้ว เมื่อประเทศใดยอมให้โรงกลั่นของตนเอง ถูกถือหุ้นโดย Saudi Aramco แล้ว ก็ต้องมีสัญญาว่าต้องนำเข้าน้ำมันดิบเป็นส่วนใหญ่มาจากประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อเข้ามากลั่นในโรงกลั่นน้ำมันนั้น

สำหรับกลยุทธ การเข้าสู่ตลาดธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันของ Saudi Aramco ในต่างประเทศนั้น จะเป็นการเข้าไปซื้อหุ้นร่วมทุนกับบริษัทที่อยู่ในธุรกิจกลั่นน้ำมันอยู่แล้ว เพื่อลดความเสี่ยง ไม่เคยเห็น Saudi Aramco ลงทุนสร้างโรงกลั่นใหม่เองทั้งหมดในตลาดต่างประเทศ ในสหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น ก็ซื้อหุ้นมาจากบริษัท Shell ซึ่งเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในระดับโลก ส่วนในประเทศไทยนั้น Shell เคยมีหุ้นในโรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด  แต่ก็ได้ขายหุ้นทั้งหมดไปให้แก่ ปตท. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 แล้ว

ส่วนคลังน้ำมัน ก็เห็นซาอุดิอารเบีย ไปร่วมด้วยอยู่ 2 ประเทศเท่านั้น คือ

-ญี่ปุ่น ที่เกาะ โอกินาวา โดยที่รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้สร้างถังเก็บน้ำมันดิบ ส่วนซาอุดิอาระเบียก็ไปทำสัญญาเช่าถังเก็บน้ำมันดิบจากรัฐบาลญี่ปุ่นระยะ 3 ปี หมดสัญญาก็ตกลงกันใหม่ สามารถเก็บน้ำมันดิบสำรองไว้ได้ 6.3 ล้านบาเรล ซึ่งน้ำมันดิบนี้สำรองไว้สำหรับ 3 ประเทศในเอเซียตะวันออก คือ ญี่ปุ่น จีน และ เกาหลีใต้ แต่ญี่ปุ่น จะเป็นผู้มีสิทธิได้ใช้น้ำมันก่อนถ้าหากเกิดภาวะวิกฤตขึ้นมา ที่ซาอุดิอาระเบียไปเช่าคลังน้ำมันของญี่ปุ่น หลังจาก ทั้ง สหรัฐอาหรับอิมิเรต ได้ เช่าคลังน้ำมันที่เมือง Kiire เกาะคิวชู และ คูเวต ได้ทำมาก่อนแล้ว

-อินเดีย มีคลังน้ำมันสำรองอยู่หลายที่ บางส่วนใช้ถ้ำเกลือ ทำเป็นคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ คล้าย ๆ กับ สหรัฐอเมริกา อินเดียได้ให้ซาอุดิอาระเบียเช่า 1/4 ของความจุคลังน้ำมันสำรองที่เมือง Padur เพื่อเก็บน้ำมันดิบไว้จำนวน 4.6 ล้านบาร์เรล ที่อินเดียก็เช่นกัน ทางสหรัฐอาหรับอิมิเรต ก็ได้ไปทำสัญญาเช่าคลังน้ำมันสำรองของอินเดียแห่งหนึ่งมาก่อนแล้วเหมือนกัน

อีกอย่างหนึ่งก็คือ ซาอุดิอาระเบียไม่ได้มีการลงทุนแบบ FDI ในต่างประเทศมาก อย่างที่ใคร ๆ คาดคิด ตามภาพลักษณ์ของเศษฐีน้ำมันอย่างที่ปรากฎในข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ

ถ้าถามคนไทย ให้เปรียบเทียบการลงทุนต่างประเทศระหว่างไทย กับ ซาอุดิอาระเบีย ว่าประเทศไหนจะลงทุนต่างประเทศมากกว่ากัน แทบจะร้อยทั้งร้อยก็คงจะตอบว่า ซาอุดิอารเบีย ทั้งนั้น

แต่ตัวเลขสถิติ FDI ที่เก็บรวบรวบโดย UNCTAD ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติและได้รับการยอมรับ ถูกนำไปใช้อ้างอิงสำหรับองค์กรระหว่างประเทศส่วนใหญ่ทั้งหลายนั้น ปรากฎว่า ไทยมีการลงทุนต่างประเทศมากกว่า ซาอุดิอาระเบีย

กราฟนี้เป็นการเปรียบเทียบตัวเลขการลงทุนต่างประเทศ ระหว่าง ไทย และ ซาอุดิอาระเบีย ตั้งแต่ปี 1990 - 2021 (source : UNCTAD)

สำหรับตัวเลขการไปลงทุนต่างประเทศของไทยนั้น ได้ไปตรวจสอบกับตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นทำไว้ละเอียดดีมาก พบว่าตัวเลขใกล้เคียงกับของ UNCTAD  ส่วนของซาอุดิอาระเบียนั้น ไม่ได้ตรวจสอบ แต่ตัวเลขของ UNCTAD น่าจะมีความน่าเชื่อถือใกล้เคียงกับของไทย

โดยรวม ๆ แล้ว นับตั้งแต่ปี 1990 ถึง 2021 ไทยมีการลงทุนต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 160,645 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนซาอุดิอาระเบียมีการลงทุนต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 116,042 ล้านเหรียญสหรัฐ

สรุป ก็คือ มีแค่เป็นข่าวตามฟอร์มเศษฐีน้ำมันแค่นั้นแหละ แต่เป็นไปได้น้อยที่ซาอุดิอารเบีย จะมาลงทุนทำโรงกลั่นน้ำมัน และสร้างคลังน้ำมันสำรองในไทยตามนโยบายคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทย ประเทศไทยซึ่งเคยถูกลดระดับความสัมพันธ์ไป 30 กว่าปี แล้วเพิ่งจะเปิดความสัมพันธ์กันใหม่เมื่อต้นปี พ.ศ. 2565 นี้เอง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่