#ปุ่มฟัน...เจ้าปัญหา!!

กระทู้สนทนา
เมื่อคนเรามีอาการปวดฟัน ส่วนมากมักคิดว่าน่าจะเกิดจากฟันที่มีรอยผุลึก หรือมีวัสดุอุดฟันขนาดใหญ่

อันที่จริงแล้ว!! ฟันที่ไม่มีรอยผุ สามารถเกิดอาการปวดขึ้นได้เช่นกัน เช่น กรณีที่ฟันมีรูปร่างผิดปกติ ซึ่งส่งผลทำใหเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันได้โดยง่ายค่ะ

Dens evaginatus (เดนส์ อีแวจิเนตัส, DE) เป็นภาวะความผิดปกติของรูปร่างฟัน เกิดขึ้นระหว่างการสร้างและพัฒนาฟัน โดยจะมีปุ่มฟันยื่นขึ้นบริเวณด้านบดเคี้ยว อาจจะมีลักษณะเป็นปุ่มนูนขนาดเล็กหรือยื่นสูงขึ้นเป็นยอดแหลม บริเวณปุ่มฟันมีชั้นเคลือบฟัน ชั้นเนื้อฟัน และอาจมีชั้นโพรงประสาทฟันยื่นสูงขึ้นตามรูปร่างของปุ่มฟัน

การสบฟัน และการเคี้ยวอาหารอาจทำให้ปุ่มฟันแตกฟักได้ง่าย ซึ่งจะเป็นช่องทางที่แบคทีเรียภายนอกสามารถเข้าสู่โพรงประสาทฟันได้โดยง่าย ทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อของเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟัน ส่งผลให้มีอาการปวดฟันและเหงือกบวมได้ค่ะ
----------------------------------------------

ลักษณะปุ่มฟันนี้พบได้บ่อยบริเวณฟันกรามน้อย ซึ่งจะขึ้นในช่วงอายุ 9-11 ปี ซึ่งในระยะนี้รากฟันจะยังสร้างได้ไม่สมบูรณ์ หากตรวจพบปุ่มฟันดังกล่าวในช่วงนี้ สามารถรักษาแบบป้องกันได้ เช่น การปรับแต่งรูปร่างของฟันร่วมกับการอุดฟัน เพื่อไม่ให้ขัดขวางการสบฟัน

หากปุ่มฟันแตกหักจนเกิดการอักเสบและติดเชื้อขึ้นแล้ว การรักษาทำได้โดยการรักษารากฟัน ซึ่งหากเป็นกรณีที่ฟันยังไม่เจริญไม่เต็มที่ ผนังรากฟันจะบางและไม่แข็งแรง ทำให้การรักษามีความซับซ้อน อัตราความสำเร็จของการรักษาลดลง และมีโอกาสสูญเสียฟันได้ค่ะ

ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การพบทันตแพทย์ตรวจฟันเป็นประจำ เพื่อให้สามารถรับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรกก่อนที่ปุ่มฟันจะแตกหักนะคะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่