ชัชชาติทำอะไรบ้างช่วงน้ำท่วมมีคำตอบ

กระทู้คำถาม
...จากที่ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง โพสต์เฟซบุ๊กประเมินผลงานการแก้ปัญหาน้ำท่วมของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ว่า “ยังจับทางไม่ถูก” และ “มีแต่คนพยักหน้า เดินทำงานเอาหน้า” บีบีซีไทยรวบรวมการทำงานในช่วง “4 วันอันตราย” ของกรุงเทพฯ เพื่อประเมินว่าสอดคล้องกับข้อวิจารณ์ที่เกิดขึ้นมากแค่ไหน
บีบีซีไทยตรวจสอบย้อนหลังความเคลื่อนไหวบนหน้าเฟซบุ๊กของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พบว่า นับแต่ประกาศช่วง “4 วันอันตราย” ที่กรุงเทพฯ เสี่ยงเกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมสูงนั้น มีการไลฟ์สดเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำทั้งสิ้น 10 ครั้ง จนถึงช่วงบ่ายวันที่ 12 ก.ย.
การไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนใหญ่ของนายชัชชาติ ถ้าเป็นสถานการณ์น้ำจะเป็นช่วงเช้าตรู่ และช่วงค่ำ นอกเวลาราชการ ส่วนวันที่ไลฟ์สดมากที่สุด คือเมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 ก.ย. ทั้งหมด 6 ครั้ง แต่หากนับรวมการไลฟ์สดทั้งหมด จะนับได้ 16 ครั้ง รวมระยะเวลากว่า 450 นาที หรือราว 7 ชั่วโมงครึ่ง
นายชัชชาติ สร้างกระแสนิยมและให้เหตุผลการไลฟ์สด ที่ทำเป็นประจำนับแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งว่า เพื่อให้ประชาชนเห็นการทำงาน แต่ในความเห็นของนายชูวิทยู กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง มองว่า ตลอด 3 เดือนมานี้ ผลงานของผู้ว่าฯ ชัชชาติในฤดูฝน ยังสอบไม่ผ่าน

เหตุผลเพราะใช้สรรพกำลังและทรัพยากรของ กทม. ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ การประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ดี “มีแต่คนพยักหน้า แต่เดินทำงานเอาหน้า” ที่สำคัญ คือ การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตาม “ตามประสาวิศวกร แบบไม่มีแผนล่วงหน้า” ยังไม่มีแผนรุกแบบนักบริหารและนักยุทธศาสตร์
“หากปีหน้ายังเป็นแบบนี้ มีหวังโดนรับเละ โชคดีครับ ท่านผู้ว่าฯ กทม. ส่วนคน กทม. ตัวใครตัวมันครับ” นายชูวิทย์ กล่าวปิดท้าย
ขณะที่นักวิชาการมองว่า กล่าวโทษตัวบุคคลและชุดบริหาร กทม. อย่างเดียวไม่ได้ เพราะมาตรการรับมือน้ำท่วมในปัจจุบันเป็นแบบ "สู้กันดาบหน้า" มาตลอดนับแต่อุทกภัยใหญ่ปี 2554

แล้วนับแต่ประกาศ “4 วันอันตราย” เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวทั้งบนสังคมออนไลน์ และการทำงานนอก “ไลฟ์สด” ของนายชัชชาติ เป็นอย่างไรบ้าง บีบีซีรวบรวมมา ดังนี้
 
พฤหัสบดี 8 ก.ย. 2565
 
ไลฟ์สดสถานการณ์น้ำ 2 ครั้ง ที่ สำนักระบายน้ำกรุงเทพฯ และเขตลาดกระบัง 
การทำงานนอกไลฟ์สด: ก่อนหน้าการไลฟ์สดดังกล่าว นายชัชชาติ เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 9/2565 โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม โดยประกาศ “4 วันอันตราย” ตั้งแต่วันที่ 9-12 ก.ย. ถึงสถานการณ์น้ำ พร้อมสั่งกำชับให้รองปลัดดูแลกำกับหน้างาน ช่วย ผอ.เขต ย้ำว่าทุกสำนักต้องร่วมมือกัน 
“ถามว่าผมลงพื้นที่ไปทำไม ไม่ได้ลงไปบัญชาการเหตุการณ์นะ แต่ลงไปดูปัญหา สุดท้ายงบประมาณทั้งหลายจะต้องสอดคล้องกับปัญหาที่เจอ”
“ถ้านั่งอยู่ในห้องแอร์จะไม่รู้หรอกว่าปัญหาคืออะไร ไม่มีทางเห็นหรอกว่าชาวบ้านเขาด่าเรื่องอะไร ไม่ได้ลงไปจับผิด ผอ.เขต แต่ลงไปเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ จะได้ทราบว่าปัญหาอยู่ที่ไหนและนำงบประมาณจัดสรรลงในพื้นที่ให้ถูกต้อง”
วันเดียวกันนี้ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมผู้บริการ กทม. ได้เข้าพบนางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และหัวหน้าผู้แทนหน่วยงาน 21 หน่วยงานสังกัดองค์การสหประชาชาติใน โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือถึงความร่วมมือและความช่วยเหลือที่จะพัฒนาเมืองในอนาคต
เมื่อพบนางกีต้าแล้ว จึงลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำหลังฝนตกอย่างรวดเร็ว
 
ศุกร์ที่ 9 ก.ย. 2565
 
ไลฟ์สดสถานการณ์น้ำ 3 ครั้ง ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวในเขตบางเขน (2 ครั้งติดกัน) และเขตดอนเมือง
ไลฟ์สดวิ่งออกกำลังกาย 1 ครั้ง ที่สวนลุม กับบุตรชาย
การทำงานนอกไลฟ์สด: นายชัชชาติ ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำในคลองเปรมประชากร ว่า จุดน้ำท่วมหนักของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมี 3 จุด ประกอบด้วย เขตดอนเมือง เขตบางเขน และเขตลาดกระบัง โดยน้ำในคลองเปรมฯ เต็มเนื่องจากฝนตกปริมาณมากแล้วระบายไม่ทัน
นายชัชชาติระบุว่า มี 2 ส่วนที่ต้องดูแล คือ หนึ่ง เร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุด ทั้งสองฝั่งทั้ง ฝั่งเหนือและฝั่งใต้ และ สอง ต้องเข้าสู่หมวดการช่วยเหลือและการบรรเทาสาธารณภัย คือ สำนักงานเขตและส่วนกลางต้องเข้ามาช่วยเหลือและดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เรื่องอาหาร น้ำดื่ม เครื่องใช้จำเป็น ห้องน้ำ รวมทั้งผู้ป่วยติดเตียง
“ปัญหาคลองเปรมฯ คลองลาดพร้าว เป็นปัญหาระยะยาวที่ต้องแก้ไข ทั้งเรื่องทำเขื่อน การขุดลอกคลอง และเพิ่มกำลังสูบปลายทาง เพื่อให้มีประสิทธิภาพการระบายน้ำมากขึ้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร
นายชัชชาติไลฟ์สด 16 ครั้ง นับแต่ประกาศ "4 วันอันตราย"
ในช่วงบ่าย นายชัชชาติ ให้การต้อนรับนายอาร์มัน อิสเซทอฟ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคาซัคสถานประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและหารือความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและกรุงนูร์-สุลต่าน รวมถึงนายโจนาธาน เดล คิงส์ เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทยในวันเดียวกัน
ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นประธานขึ้นกล่าว ปาฐกถาพิเศษ “บริหารอย่างไร ให้ชนะใจประชาชน” ย้ำจุดยืน กรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน
 
เสาร์ที่ 10 ก.ย. 2565
 
ไลฟ์สดสถานการณ์น้ำ 2 ครั้ง ที่ สำนักระบายน้ำ และเขตสายไหม
ไลฟ์สดพิธีเปิดงาน 1 ครั้ง ในกิจกรรม Big Day มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์
ไลฟ์สดวิ่งออกกำลังกาย 1 ครั้ง ที่ สวนลุมกับบุตรชาย
สำนักงานประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร
กิจกรรม Big Day มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์
 
อาทิตย์ที่ 11 ก.ย. 2565
 
ไลฟ์สดสถานการณ์น้ำ 3 ครั้ง ที่ ศูนย์ติดตามสถานการณ์น้ำ สถานีสูบน้ำพระโขนง และลาดกระบัง
ไลฟ์สดการลงพื้นที่ 3 ครั้ง ที่ เขตบางเขน
การทำงานนอกไลฟ์สด: นายชัชชาติ พบปะและรับประทานอาหารกลางวันกับลูกจ้างของสำนักงานเขตบางเขตที่ได้รับเลือกว่าเป็นผู้มีความขยันรับผิดชอบต่อหน้าที่ ตรงเวลา และให้ความร่วมมือในภารกิจ ในจำนวนนี้ พบกับนายบุญเรือง ผู้ทำหน้าที่มุดท่อทะลวงขยะอุดตันด้วย
"วันนี้ ต้องการพบพี่บุญเรืองที่มุดท่อระบายน้ำลงไปเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้กับประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่เสียสละและเสี่ยงอันตรายในการปฏิบัติหน้าที่​"
สำนักงานประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร
"พี่บุญเรืองที่มุดท่อระบายน้ำ"
การรับประทานอาหารร่วมกับลูกจ้างเป็นหนึ่งในนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ เพื่อพบปะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ รับฟังปัญหาและสอบถามสภาพการทำงาน อีกทั้ง เป็นการให้ความสำคัญกับคนงานของเขตที่เปรียบเสมือนโซ่ข้อสุดท้ายที่เชื่อมต่อ กทม.กับประชาชน อยู่ใกล้ชิดพื้นที่และปัญหามากที่สุด โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 ก.ค. 65 จากกิจกรรมผู้ว่าฯ กทม. สัญจร ณ สำนักงานเขตจตุจักร
จากนั้น นายชัชชาติ สัญจรเขตบางเขน เพื่อรับทราบปัญหาตามโครงการ “ผู้ว่าฯ สัญจร 50 เขต” ก่อนตรวจเยี่ยมพื้นที่น้ำท่วมขัง ได้แก่ ชุมชนหลังตลาดยิ่งเจริญ และคอนโดฯ บริเวณถนนเทพรักษ์ บริเวณจุดก่อสร้างสะพานข้ามแยกถนนเทพรักษ์ พร้อมตรวจเยี่ยมลานกีฬา ตลาดนัดชุมชน และดนตรีในสวน ณ ชุมชนสินทรัพย์นคร
ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า เขตบางเขนมีปัญหาหลักคือน้ำท่วม มีคลองหลักคือคลองลาดพร้าวซึ่งขณะนี้น้ำยังสูงอยู่ เกิดจากฝนตกหนักในช่วงเดือนนี้ จะเห็นได้ว่าเดือนนี้เป็นเดือนที่ฝนตกเยอะ หลายปีที่ผ่านมาในช่วงเดือนก.ย. มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งกรุงเทพฯ ประมาณ 320 มิลลิเมตร ตอนนี้เกินแล้ว จากวันที่ 1 - 10 ก.ย. 65 มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 330 มิลลิเมตร เป็นสภาวะที่ฝนตกรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่เขตบางเขน ปริมาณฝนสะสมสูงถึง 178 มิลลิเมตร
ในช่วงที่อยู่เขตบางเขนนั้น นายชัชชาติ นำคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ส.ก.เขตบางเขน ผู้บริหารเขตบางเขน นักเรียนโรงเรียนสารวิทยา ร่วมปลูกต้นไม้จำนวน 80 ต้นด้วย
สำนักงานประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร
 
จันทร์ 12 ก.ย. 2565
 
การทำงานนอกไลฟ์สด: ช่วงเช้า นายชัชชาติ เป็นประธานประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพนมหานคร หลังจากนั้นได้แถลงถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ กทม. ว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ช่วงเช้า น้ำรอการระบายดีขึ้น อาทิ คลองลาดพร้าว ลดไป 50 เซนติเมตร ส่วนคลองเปรมประชากร ลดไปราว 30 เซ็นติเมตร
ขณะนี้ได้สั่งการให้เปิดประตูระบายน้ำในเขตลาดกระบังลงคลองพระโขนงมากขึ้น แต่จะเปิด 100% ไม่ได้ ต้องค่อย ๆ เปิดเพื่อให้น้ำทยอยเข้ามา และดูดด้านปลายออก ในส่วนของระยะยาวในอีก2-3 ปีข้างหน้า คงต้องปรับปรุงประสิทธิภาพคลองให้ดีมากขึ้น สำหรับภาพรวมถนนสายหลักดีขึ้น ยกเว้นในพื้นที่เขตลาดกระบัง ถนนพัฒนาการ วงเวียนหลักสี่ และพหลโยธิน อย่างไรก็ตามถนนเทพรักษ์ยังมีน้ำอยู่ ถนนช่างอากาศอุทิศ ดอนเมือง ยังคงมีน้ำอยู่เล็กน้อย หากวันนี้ไม่มีฝนเพิ่มก็น่าจะสามารถบริหารจัดการได้ทั้งหมด 
ส่วนกำหนดการที่เหลือของวัน ผู้ว่าฯ กทม. จะประชุมร่วมกับเลาขาธิการองค์การเมืองและรัฐบาลท้องถิ่นแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UCLG ASPAC) หารือความร่วมมือระหว่างกัน ต่อด้วยเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1
 
โทษชัชชาติไม่ได้
 
รศ.ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ในรายการ "เจาะลึกทั่วไทย อินไซต์ไทยแลนด์" วันที่ 12 ก.ย. ว่า มาตรการรับมือสถานการณ์น้ำใน กททม. ตอนนี้ เน้นการบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น
แต่ต้องยอมรับว่า ปี 2565 กรุงเทพฯ มีฝนตกหนักมากกว่าปีอื่น ๆ ในขณะที่พื้นที่รับน้ำใน กทม. กลับมีไม่มาก และมีแต่คลองต่าง ๆ ที่รับน้ำฝนแค่ 60 มิลลิเมตรก็เต็มแล้ว
"ถ้ารับไม่ได้ ต้องหาวิธีอื่นผ่อนหนักเป็นเบา ไม่งั้นมันก็เต็มตลอด พอเต็มแล้วก็สูบไปลงคลองอื่น"
แต่การรับมือในปัจจุบัน "สู้กันดาบหน้า มันยากที่ไม่มีแผนมาก่อน" และนับแต่ปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ จนถึงปี 2565 ทุกอย่าง "ยังเหมือนเดิม ในเชิงบริหารการจัดการ" ยกตัวอย่าง ไม่มีโมเดลที่จะกำหนดว่า ควรผ่องถ่ายน้ำจากคลองเปรมประชากรไปยังคลองรังสิตในปริมาณเท่าไหร่ เป็นต้น
และถ้าการแก้ปัญหาในเชิงระบบประสานงานระหว่าง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป "อีก 10 ปี เราอาจจะไม่มีแผ่นดินบางส่วนอยู่แล้ว"

https://www.bbc.com/thai/articles/c4nem34j844o
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่