กรณีศึกษา Intel ทำพลาดอะไร ถึงโดน AMD แซงหน้า

กระทู้ข่าว
กรณีศึกษา Intel ทำพลาดอะไร ถึงโดน AMD แซงหน้า /โดย ลงทุนแมน
หากเราพูดถึง CPU หน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ ทุกคนก็จะรู้ว่า Intel คือผู้นำตลาด
แต่รู้หรือไม่ว่าในปัจจุบัน บริษัทคู่แข่งอย่าง AMD กลับมีมูลค่าบริษัทแซงหน้า Intel ไปแล้ว
แม้ตอนนี้ AMD จะมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 35% ในขณะที่ Intel มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 65%

นอกจากนี้ เครื่องเกมคอนโซลชื่อดังอย่าง PS5 และ Xbox Series X ต่างก็ใช้ CPU และ GPU ของ AMD ทั้งสิ้น แต่ Intel ที่ออกแบบและผลิตชิปด้วยตัวเอง กลับไม่สามารถแย่งส่วนแบ่งในตลาดมาได้เลย

Intel ทำอะไรผิดพลาด ถึงโดน AMD แซงหน้าไป
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

ทั้ง Intel และ AMD นั้น ต่างมีต้นกำเนิดมาจากบริษัท Fairchild Semiconductor แต่เนื่องจากอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ทำให้ทั้งคู่ต้องกลายมาเป็นคู่แข่งกัน

จนมาถึงจุดเปลี่ยนในปี 2005 เมื่อ Apple ได้เลือกให้ Intel เป็นผู้ผลิตชิปสำหรับ Mac คอมพิวเตอร์

รวมกับความสำเร็จในการโปรโมตแบรนด์ด้วย Intel Inside ซึ่งคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่ใช้ CPU ของ Intel
จะมีสติกเกอร์สีฟ้าติดอยู่ ทำให้ Intel เป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มลูกค้าทั่วไป จากเดิมที่จะรู้จักกันเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตด้วยกันเท่านั้น

ในขณะที่ CPU ของ AMD กลับประสบปัญหาด้านประสิทธิภาพ และไม่สามารถแข่งขันกับ CPU ของ Intel ในขณะนั้นได้

ซึ่งปัญหาดังกล่าวก็ลากยาวมาจนถึงปี 2011
ทำให้ AMD ต้องกลับไปทบทวน การออกแบบใหม่ถึง 6 ปี

จนกระทั่งการมาถึงของ CPU ของ AMD ตระกูล Ryzen ในปี 2017
ที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ CPU ของ Intel แต่ราคาถูกกว่า

ทำให้ AMD ค่อย ๆ แย่งส่วนแบ่งการตลาดของ Intel กลับมาได้
โดยตั้งแต่ปี 2008 Intel ครองส่วนแบ่งการตลาดในระดับ 70-80% มาโดยตลอด

แต่หลังจากเปิดตัว Ryzen ในปี 2017 ส่วนแบ่งการตลาดของ AMD ก็ปรับเพิ่มขึ้นจาก 18% ในปี 2016
เป็น 35% ในปัจจุบัน ในขณะที่ Intel มีส่วนแบ่งการตลาด 65%

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ AMD กลับมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดจาก Intel ได้ คือกลยุทธ์การจ้างผลิต

เพราะสิ่งที่จะทำให้ชิปประมวลผลดีขึ้นได้นั้น คือจำนวน “ทรานซิสเตอร์” ที่อยู่บนชิป
โดยยิ่งมีจำนวนมากเท่าไร ก็ยิ่งประมวลผลได้ดีมากขึ้นเท่านั้น

ซึ่ง Intel ถือเป็นผู้ออกแบบชิปเพียงไม่กี่ราย ที่มีโรงงานผลิตชิปเป็นของตัวเอง
ในขณะที่ ผู้ออกแบบชิปรายอื่น ๆ อย่าง AMD, Nvidia, ARM เลือกที่จะจ้างบริษัท TSMC ในการผลิต

แม้จะดูเหมือนว่า Intel จะได้เปรียบคู่แข่งรายอื่น ๆ จากการที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ออกแบบ

แต่ความเป็นจริงแล้ว กลับไม่เป็นอย่างนั้น..

เพราะจากการที่ทำทั้งการออกแบบและการผลิต ซึ่งต้องใช้เงินทุนมหาศาลในการปรับปรุงเครื่องจักร ทำให้ Intel ติดปัญหาในการพัฒนาชิปจากขนาด 14 นาโนเมตร เป็น 10 นาโนเมตร ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดถึง 2 ปี

ในขณะที่ TSMC ซึ่งทำหน้าที่ผลิตเพียงอย่างเดียว กลับสามารถพัฒนาการผลิต และส่งมอบชิปขนาด 7 นาโนเมตรให้กับ AMD ได้ก่อน ในขณะที่ Intel ยังสามารถผลิตได้แค่ขนาด 10-14 นาโนเมตรเท่านั้น

นอกจากนี้ Intel ก็ยังเสียลูกค้ารายใหญ่อย่าง Apple ที่หันไปออกแบบชิปร่วมกับบริษัท ARM และจ้าง TSMC ผลิตชิปให้กับสินค้าของ Apple ตั้งแต่รุ่น M1 เป็นต้นมา

อีกเหตุผลหนึ่งคือ การที่ Intel ไม่อยู่ในตลาดการ์ดจอ

ในปี 1988 Intel เคยมีการ์ดจอเป็นของตัวเอง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก จึงได้เลิกผลิตไป แต่หลังจากปี 2000 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมเกมมีการเติบโตขึ้นทุกปี ซึ่งตลาดการ์ดจอก็เติบโตขึ้นตามไปด้วย

โดยในปี 2020 ตลาดการ์ดจอมีมูลค่าสูงถึง 900,000 ล้านบาท
แต่ปัจจุบันกลับมีผู้เล่นหลักอยู่เพียง 2 ราย นั่นคือ Nvidia และ AMD
โดยที่ Nvidia ครองส่วนแบ่งในตลาดการ์ดจอ PC อยู่ถึง 60%

ในขณะที่ AMD เองก็ครองตลาดเครื่องเล่นเกมคอนโซลไปแทบทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็น PS4 ของ Sony หรือ Xbox One ของ Microsoft

แม้แต่เกมคอนโซลรุ่นล่าสุดอย่าง PS5 และ Xbox Series X ก็เลือกใช้ทั้ง CPU และการ์ดจอของ AMD เพราะมีความเข้ากันได้ดีกว่า เนื่องจากเป็นสินค้าจากบริษัทเดียวกัน

แต่เมื่อกลับมามองที่ Intel ก็น่าแปลกใจว่า ทำไมผู้นำในการผลิตชิปประมวลผลอย่าง Intel กลับเพิ่งมาเปิดตัวการ์ดจอเป็นของตัวเองในปี 2022

โดยหลายปีที่ผ่านมา Intel กลับไม่มีส่วนแบ่งในตลาดการ์ดจอมูลค่า 900,000 ล้านบาทเลย ทั้ง ๆ ที่มีโรงงานผลิตเป็นของตัวเอง

จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าการที่ Intel เลือกทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ทั้งการออกแบบและการผลิต อาจจะไม่ได้มีแต่ข้อดีเสมอไป

เพราะในขณะที่ Intel ต้องโฟกัสทั้งการออกแบบและการผลิต ทำให้เทคโนโลยีการผลิตตามหลัง TSMC จนเสียส่วนแบ่งในตลาด CPU ไป

อีกทั้งยังเสียลูกค้ารายใหญ่อย่าง Apple ที่ให้ ARM ออกแบบ CPU และให้ TSMC ผลิต ซึ่งทั้ง 2 บริษัทก็ล้วนเป็นคู่แข่งของ Intel

รวมถึงการพลาดโอกาสในตลาดการ์ดจอ ที่สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องให้กับ AMD

ตรงกันข้ามกับ AMD ที่เลือกโฟกัสไปกับการออกแบบ จนทำให้ CPU ที่เคยตามหลัง Intel
มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันในเวลาเพียงไม่กี่ปี รวมกับความต้องการการ์ดจอที่สูงขึ้น จากทั้งอุตสาหกรรมเกมและคริปโทเคอร์เรนซี

ทั้งหมดนี้ ทำให้มูลค่าของบริษัท Intel ปรับลดลงมากกว่า 42% จากช่วงปลายปี 2019
เหลือเพียง 5.31 ล้านล้านบาท

ในขณะที่ AMD กลับมีมูลค่ามากกว่า 5.79 ล้านล้านบาท
แซงหน้า Intel ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว..


ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - ลงทุนแมน
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.youtube.com/watch?v=FHA7J-JtyCw
-https://www.extremeit.com/extreme-history-amd-k10-bulldozer-dark-age/
-https://www.cnbc.com/2020/11/10/why-apple-is-breaking-a-15-year-partnership-with-intel-on-its-macs-.html
-https://companiesmarketcap.com/intel/marketcap/
-https://wccftech.com/nvidia-amd-discrete-gpu-market-share-report-q3-2017/
-https://www.techtalkthai.com/cpu-gpu-what-difference/
-https://www.blognone.com/node/121178
-https://www.cpubenchmark.net/market_share.html
-https://www.statista.com/statistics/1166028/gpu-market-size-worldwide/#:~:text=In%202020%2C%20the%20global%20graphics,percent%20from%202021%20to%202028.
-https://www.longtunman.com/34126

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่