ฝาก ถึง อฟช ได้โปรดอ่าน หรือ อยากปรึกษา อะไร แฟนคลับช่วยแนะนำได้นะครับ

ผมตั้งใจจะมาเขียนรีวิววิเคราะห์ ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะ ถึงแนวทางแก้ปัญหาของงาน CGM48 1stFanmeet ตั้งแต่วันที่เปิดจองบัตรในevenpop แต่ก็ไม่คิดว่าจะมีคำวิจารณ์จากแฟนคลับมากมายเหลือคณา ไม่แน่ใจว่าจัดงานเพื่อให้ได้แฟนคลับเพิ่มหรือไล่แฟนคลับกันแน่ จึงขออนุญาต สรุปเหตุปัญหาแนวทาง เผื่อให้ทีมงานได้ตรึกตรองดูบ้าง

1.แผนการตลาดด้านการขายที่ขาดยุทธศาสตร์ โดยสิ้นเชิง (Dissociative marketing strategic plan) สะท้อนว่าทีมงานยังไม่เข้าใจถึง ตลาดของ CGM48 เป็น niche market ไปโดยสิ้นเชิงไปแล้ว การทำตลาดต้องอาศัย brand royalty ให้มาก ควบคุมคุณภาพ product ให้ดี แพงหน่อยลูกค้าก็จ่าย ขอให้ได้งานและประสบการณ์ที่ดีจริงๆ

1.1 ราคาบัตรไม่สะท้อนกลุ่มลูกค้าที่แท้จริง (Dissociative leveling payments) การกำหนดที่นั่ง VIP เพียง 46 ที่นั่งคือความผิดพลาดข้อแรกของงานขาย ปริมาณที่นั่งน้อยไป ผมสงสัยเรื่อง big data ของบริษัทนี้มาก ทำไมไม่ดึงข้อมูลลูกค้าจากปริมาณการใช้บัตรจับมือมาคำนวณว่าจะมี VIP seats กี่ที่นั่ง ทั้งๆที่ app ก็อยู่ในมือคุณ ให้กลุ่มลูกค้าชั้นดีแบก cost ไว้มากๆผมให้เลย 300-400 ที่ ขายหมดแน่นอน ส่วนที่นั่งที่เหลือให้ประหยัดที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนการผิดพลาดเรื่องที่ 2 ของราคาบัตร คือการ leveling ของ seat classified ลูกค้าแยกความแตกต่างระหว่างแต่ละแถวไม่ได้ โดยเฉพาะ 1,800 กับ 1,200 แทบไม่ต่างกันเลย แนะนำว่าควรลดความสับสนโดยขายบัตรให้ แยกระดับน้อยลง เหลือสัก 2 level ก็พอ ถึงตอนนี้ ผมยังตอบตัวเองไม่ได้ว่า ส่วนต่าง 600 บาท มีอะไรที่เหนือกว่ากัน

1.2 ผลิตภัณฑ์ไม่น่าสนใจ (Low value packaging) ลักษณะผลิตภัณฑ์ในแต่ละระดับควรมีความดึงดูดมากกว่านี้ พูดง่ายๆ ปัญหาคือ "แถมน้อยเกินไป" ควรจัดของแถมที่จะได้ในแต่ละกลุ่มการขายให้มากขึ้น โดยเฉพาะที่มีมูลค่าการตลาดสูง เช่น สุ่มรูปที่มีลายเซ็นต์เมมเบอร์, บัตรขอบคุณเขียนด้วยมือ ซึ่งใช้มูลค่าการลงทุนที่ต่ำ แต่มีค่าต่อแฟนคลับสูง

1.3 การขายบัตรไม่สอดคล้องกับกิจกรรมที่จัดร่วมกัน (Loosening associative events) ปัญหานี้ไม่ควรเกิดอย่างยิ่ง เหมือนทีมขายไม่ได้นั่งประชุมกับน้องๆเมมเบอร์เลย ต่างคนต่างไม่คุยกัน เรื่องนี้คล้ายกับ 1.2 เป็นประเด็นที่พ่วงกันอยู่ พูดให้ง่ายคือ "ทำไม ไม่ขายบัตรคอนเสิร์ตแล้วแถมบัตรกิจกรรมไปเลย" ทางทีมงานสามารถเพิ่ม cost ลงในบัตรได้อยู่แล้ว เช่น VIP คุณขายไปเลย 4,000 บาท แล้วแถมบัตรกิจกรรรม ไปเลย 4 ใบ 6 ใบ ขายแยกแบบนี้เหมือนตั้งใจจะขายบัตรกิจกรรมให้พ่อค้ามากกว่า มันน่าเศร้ามากนะครับที่ลูกค้าที่จ่ายค่าบัตรมาบางคนเป็น VIP payment ต้องมาเกาะรั้วอยู่ห่างๆ แค่เข้าไปยืนดูกิจกรรมก็ไม่ได้ การจัดการเรื่องนี้ไม่โอเคเลย เหมือน 2 งาน 2 ทีมจัดงานในวันเดียวกัน ที่เป็นคนละเรื่องกัน

1.4 รูปแบบแผงผังการจัดโซนที่นั่งที่เพิกเฉยต่อกิจกรรม (Poor-defined seat area) ทีมงานสามารถกระตุ้นยอดขายได้ง่ายๆ โดยการแบ่งโซนใหม่ ให้แต่ละสีเป็นแถวตอนยาว พูดให้ง่ายคือ จัดที่นั่งเป็น 5 โซน ด้านหน้าตอนยาว 3-4 แถวเป็น VIP ถัดจากนั้นเป็นโซนนิ่ง ในแต่ละชมรม เรียงกันสีแถว ขายบัตรราคาเท่ากันหมด ลูกค้าจะเข้าใจได้ทันทีว่า คนที่เลือกมากอยู่กลุ่มเดียวกันจะเชียร์เมมเบอร์คนเดียวกัน (เหมือนงานกีฬาสี) แล้วจะเป็นการง่ายในส่วนของเมมเบอร์ที่จะมาดูแลหรือมาเยี่ยมแฟนคลับในโซนชมรมของตนเองอีกด้วย แล้วยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถกระตุ้นยอดขายให้กับ"แต่ละบ้าน"ช่วยกันจัดโครงการ มาช่วยเติมที่นั่งให้เต็มโซนได้ง่าย

2. ปัญหาการจัดการหน้างาน (On site events management problems) เท่าที่คุยกันในกลุ่มแฟนคลับ ได้ประสพปัญหาหลายอย่าง เช่น ผังงานไม่ชัด, ขาดรายละเอียดแผงผังของงาน, สถานที่คือลานจอดรถใต้ถุนอาคารมีอากาศร้อน, ที่นั่งชมคอนเสิร์ตเบียดกันมาก, บัตรเข้าร่วมกิจกรรมชมรมหมดเร็ว และ ผลงานของเมมเบอร์เสียหาย ทั้งหลายทั้งปวง ผมสรุปปัญหาได้ดังนี้

2.1 ไม่มีผู้จัดการภาคสนามที่มีอำนาจตัดสินใจอย่างแท้จริง (Field manager assignment problem) เรื่องนี้ผมไม่ทราบว่า มีการ assignment เป็นการภายใน ให้ใครมีอำนาจในการทำหน้าที่นี้หรือไม่ ถ้ามีแล้วท่านได้ปฏิบัติตามบทบาทตามหน้าที่ได้ดีแล้วหรือยัง การเดินตรวจตราตลอดจนการพูดคุยกับลูกค้า สอบถามถึงปัญหาที่เกิดหน้างาน แก้ไข complaint ต่างๆ ได้ปฏิบัติหรือไม่ หลายปัญหาดังที่กล่าว หากสามารถแก้ไข ได้ด้วยการตัดสินใจ ณ หน้างาน เรื่องที่เกิดจะไม่บานปลาย ความไม่พึงพอใจของลูกค้า และความสูญเสียต่อทรัพย์สินของเมมเบอร์คงจะไม่เกิดขึ้น ถ้ามีการประสานงานที่ดีกว่านี้

2.2 การประสานงานระหว่างหน่วยงานและการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก (Collaborative working and sponsorship relation) เรื่องที่ไม่ควรเกิดอย่างยิ่งคือ ความกดดันของการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรุนแรงจนกระทั่งให้เมมเบอร์ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัท มาเสียเงินเพิ่มเพื่อกิจกรรมหาเงินให้บริษัท ณ จุดนี้ถ้าไม่มีเหตุการณ์ความเสียหายของทรัพย์สินเมมเบอร์เกิดขึ้น แฟนคลับจะไม่มีทางทราบเลยว่า งานนี้"เข้าเนื้อ"เมมเบอร์ไปจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่ของการจัดงานประเภทนี้ ถ้าสามารถหาผู้สนับสนุนได้ ควรทำเป็นอย่างยิ่ง บริษัทไม่ควรให้เมมเบอร์มาแบกรับในส่วนนี้แทน

2.3 การประเมินมูลค่าและปริมาณบัตรเข้าร่วมกิจกรรมที่ผิดพลาด (Shortage supply estimation and value invalidate problems) สืบเนื่องมาจากปัญหาแรกที่ขายบัตรไม่แถมบัตรกิจกรรม จึงเกิด sequel problem นี้ตามมา เคสนี้ผมยกตัวอย่างคือ ตัวผมเองที่ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด มีแค่เลิกช้าหรือเร็วเท่านั้น ไม่สะดวกไปต่อคิวซื้อบัตร (เมื่อก่อนเคยจ้างเลขาฯ ไปแคมป์รอคิวแทน แต่คิดไปมา มันไม่มืออาชีพ เพราะใช้เลขาฯ ในงานส่วนตัว เลยเลิกทำ) ได้รับทราบข่าวว่าบัตรหมดตั้งแต่ก่อนเที่ยงวัน เมื่อเกิดเรื่องแบบนี้ จึงมี 2 ทางเลือก ก็คือ ไปหาซื้อบัตรต่อจากพ่อค้าหรือกลับบ้าน ผมจึงตัดสินใจได้ทันที คือกลับไปนอนบ้านสบายๆ แล้วมางานตอนเย็นทีเดียวเลยดีกว่า พอมาตอนเย็นได้พูดคุยกับคุณหมอที่เป็นลูกศิษย์ซึ่งเป็นแฟนคลับเหมือนกัน ว่ามีปัญหาตามมาอีก คือ "เขากันไม่ให้คนไม่มีบัตรเข้าสถานที่จัดกิจกรรม" ตกลงกลุ่มลูกค้าชั้นดีที่มี loyalty สูง กลับได้เกาะรั้วดู ช่างเป็นเรื่องน่าเวทนา ผมว่าผมโชคดีแล้วที่ไม่ไปลุยหาบัตรเอาดาบหน้า เพราะถ้าไปอาจอารมณ์เสียถึงขั้นไม่ดูงานตอนเย็นไปเลย ถ้าได้เจอเกาะรั้วเข้าไป

เรื่องนี้จะโทษพ่อค้าแบบ 100% ไม่ได้ เพราะเขาเป็นพ่อค้า เขาต้องทำตามบทบาทของเขา มันอยู่ที่เรามากกว่า ถ้าอยากให้วงจรนี้อยู่ต่อไป ก็ยอมๆ จ่ายๆ จบกันไป ใบละสองร้อยสามร้อย แม้กระทั่งห้าร้อย หรือเดินออกมาเลยเหมือนผม มาถึงจุดนี้ ผมคาดว่า "งานใหญ่" ในรูปแบบคล้ายกันนี้ ที่ทางบริษัทคุณจะจัดโดยใช้โทเคน อาจมีปัญหาคล้ายกันได้ ทั้งพ่อค้าและแฟนคลับเตรียมตัวสะสมโทเคนกันไว้ให้ดีครับ

ผมอยากใช้โอกาสนี้ เรียกร้องให้บริษัทเห็นอกเห็นใจ empathy เมมเบอร์ CGM48 และแฟนคลับมากขึ้น อยากให้ใส่ใจ ทุ่มเททรัพยากรมาทางนี้ให้มาก ไม่ใช่เพียงแค่จัดงานเชิงทดลอง ที่จริง CGM48 คือ อนาคตของ 48TH ไม่ใช่ความผิดพลาด ดัชนีต่างๆ ยอดขาย ต่างเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าหลัง BNK48 รุ่นที่ 1 หมดสัญญา CGM48 จะขึ้นมาเป็นกำลังหลักของบริษัท คู่ขนานไปกับ BNK48 ที่เหลืออยู่ หากยังประสงค์ อยากจะทำวงต่อไป ควรปรับยุทธศาตร์และแนวคิดพื้นฐานให้เหมาะสม ขอยื่นยันว่า เชียงใหม่ไม่ใช่เมืองปราบเซียน แต่หลายครั้งที่คนนอกเข้ามา เขาไม่เข้าใจว่าเราเป็นแบบไหน เขาจึงต้องกลับไปแบบผิดหวัง

ขอบคุณที่อ่านครับ
นพ.อภินันท์ ตันติวุฒิ

หมายเหตุ ความรู้ในการเขียนวิเคราะห์ได้มาจากประสบการณ์ชีวิต และจากการเรียนเรื่องการบริหารจัดการยามวิกฤต Crisis resource management จาก เพื่อนแพทย์จาก Queen Victoria medical centre (Melbourne) มาสอนให้ รวมถึง การเรียนและทำงานภายใต้ หลักสูตร Advance Disaster Life Support ของ NDLS USA ร่วมกับเพื่อนแพทย์ วพม.ครับ หากมีข้อผิดพลาดใดขออภัยด้วย

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02XoZG4yLKk9VXDgDUewNVX54NTSqDLYzUMdcpWc2UjedNmwaGbgGvo3Esps8WoKu3l&id=100000873847421&sfnsn=mo
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่