สงสัยเรื่องการหลบหลีกกันระหว่างขบวนขุนนางผู้ใหญ่กับพระญาติชั้นรอง ว่าใครต้องหลบใคร

สงสัยว่าในสมัยอยุธยาเวลาขุนนางชั้นผู้ใหญ่มาก ๆ ที่ไม่ใช่พระญาติแต่มีความสำคัญทางการเมืองอย่างเช่นระดับอัครมหาเสนาบดีสัญจรไปในเมืองเวลาสวนทางกับพระญาติชั้นรองอย่างลูกคนรองของพระสนมที่ไม่มีความสำคัญทางการเมืองในขณะนั้น ถ้าเจอกับแบบนั้นใครต้องหลบใครครับ ?
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 5
พิจารณาจากลำดับศักดินาของพระราชวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในสมัยอยุทธยา จะเป็นดังนี้ครับ (บรรดาศักดิ์ไม่ตายตัว)

ศักดินา 100,000 ไร่   พระมหาอุปราช

ศักดินา 50,000 ไร่   สมเด็จพระอนุชาธิราชที่ได้ทรงกรม

ศักดินา 40,000 ไร่   สมเด็จพระเจ้าลูกเธอที่ได้ทรงกรม

ศักดินา 20,000 ไร่   สมเด็จพระอนุชาธิราชที่ไม่ได้ทรงกรม

ศักดินา 15,000 ไร่  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอที่ไม่ได้ทรงกรม  พระอนุชาที่ได้ทรงกรม พระเจ้าลูกเธอที่ได้ทรงกรม สมเด็จพระเจ้าหลานเธอที่ได้ทรงกรม

ศักดินา 11,000 ไร่   พระเจ้าหลานเธอที่ได้ทรงกรม

ศักดินา 10,000 ไร่   เจ้าพระยามหาอุปราช  สมุหนายก  สมุหพระกลาโหม  จตุสดมภ์  พระยารามจัตุรงค์ จางวางอาสาหกเหล่า  พระยาศรีราชเดโชไชย เจ้ากรมอาสาหกเหล่าขวา  พระยาศรีราชเดชไชยท้ายน้ำ เจ้ากรมอาสาหกเหล่าซ้าย  พระยาพระเสด็จ จางวางธรรมการ  พระมหาราชครูกรมลูกขุน  เจ้าเมืองชั้นเอก  เจ้าเมืองชั้นโท  เจ้าเมืองชั้นตรี  (พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมืองในกฎหมายตราสามดวง สมัยรัชกาลที่ 1 ลดศักดินาเจ้าเมืองชั้นตรีเหลือ 5,000 ไร่)

ศักดินา 7,000 ไร่
   พระอนุชาที่ไม่ได้ทรงกรม

ศักดินา 6,000 ไร่   พระเจ้าลูกเธอที่ไม่ได้ทรงกรม สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ

ศักดินา 5,000 ไร่  ระดับจางวางหรือเจ้ากรม ได้แก่  พระอุไทยธรรม์ เจ้ากรมเครื่องต้น   พระราชสุภาวดี จางวางกรมพระสุรัสวดีกลาง   พระเพทราชา สมุหพระคชบาลจางวางขวา  พระสุรินทราชา สมุหพระคชบาลจางวางซ้าย   พระเพชรพิไชย จางวางกรมล้อมพระราชวัง  พระราชภักดี จางวางกรมพระคลังมหาสมบัติ  พระราชครูกรมลูกขุน  พระศรีภูริปรีชา เจ้ากรมพระอาลักษณ์  พระพิไชยสงคราม เจ้ากรมอาสาซ้าย  พระรามกำแหง เจ้ากรมอาสาขวา  พระพิไชยรณฤทธิ์ เจ้ากรมเขนทองขวา   พระวิชิตณรงค์ เจ้ากรมเขนทองซ้าย  

ศักดินา 4,000 ไร่   พระเจ้าหลานเธอไม่ได้ทรงกรม

ศักดินา 3,000 ไร่  ระดับจางวางหรือเจ้ากรม  ได้แก่  หลวงมหาอำมาตยาธิบดี เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ  พระศรีพิพัฒน์รัตนโกษา เจ้ากรมพระคลังสินค้า  พระราชฤทธานนท์ เจ้ากรมวังนอก  พระนนทเสน เจ้ากรมวังนอก  พระธรรมเสนา เจ้ากรมข้าพระ   พระอินทราทิต สมุหพระสนมซ้าย  พระจันทราทิต สมุหพระสนมขวา   พระเนาวรัชโชดธิบดินทราธรรมธาเศรษฐี เจ้ากรมเศรษฐี  ออกพระเทพาธิบดี สมุหเจ้ากรมพระสัสดีซ้าย  ออกพระศรีสุเรนทราธิบดี สมุหเจ้ากรมพระสัสดีขวา  หลวงกำแพง สมุหพระคชบาลขวา  หลวงราชวังเมือง สมุหพระคชบาลซ้าย  พระยาศรีสุริยภาหะ สมุหพระอัศวราช   ตำแหน่งพระในกรมลูกขุน   พระศรีไกรลาศราชเศรษฐี เจ้ากรมช่างเงิน  พระราไชยมไหสุริยาธิบดี เจ้ากรมพระคลังในซ้าย  พระสมบัติบาล เจ้ากรมพระคลังในขวา  พระราชประสิทธิ์ เจ้ากรมพระคลังวิเศษ  พระโหราธิบดี เจ้ากรมโหรหน้า   พระธรรมไตรโลก เจ้ากรมพระกลาโหมฝ่ายนอก  พระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตำรวจซ้าย  พระยาอนุชิตราชา จางวางกรมพระตำรวจขวา  พระราชสงคราม จางวางทหารในกลาง  เจ้าพระยามหาโยธา จางวางกรมอาสามอญ  ปลัดเจ้าเมืองชั้นเอก  เจ้าเมืองชั้นจัตวา

ศักดินา 2,400 ไร่  ระดับเจ้ากรม ได้แก่ หลวงจ่าแสนบดีบริบาล เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายพลำภัง   หลวงมงคลรัตนราชมนตรี สมุหสรรพากรใน   หลวงอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร สมุหสรรพากรนอก  หลวงทรงพลราบ เจ้ากรมพระอัศวราชขวา  หลวงปราบพลแสน เจ้ากรมพระอัศวราชซ้าย  หลวงศรีสาวราชภักดีศรีสมุหะ เจ้ากรมพระกลาโหมฝ่ายพลำภัง  

ศักดินา 2,000 ไร่  ระดับจางวางหรือเจ้ากรม ได้แก่ หลวงพิไชยมนตรี เจ้ากรมม้าแซงในขวา  หลวงศรีอัศเดช เจ้ากรมม้าแซงในซ้าย  หลวงวิสูตอัศร เจ้ากรมม้าแซงนอกขวา  หลวงสุนธรเทพ เจ้ากรมม้าแซงนอกซ้าย  พระยาแพทยพงษา จางวางกรมแพทยาโรงพระโอสถ  หลวงมหามนตรี สมุหเจ้ากรมพระตำรวจในขวา  หลวงมหาเทพ สมุหเจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย  หลวงพิเรนทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ขวา  หลวงอินทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย  พระราชวังสรรค์ จางวงกรมอาสาจาม  

ศักดินา 1,600 ไร่  ระดับเจ้ากรม หรือปลัดทูลฉลอง ได้แก่ ขุนอินอัคเนศวร เจ้ากรมฉางเข้าบาตร  หลวงอินมูลบาลเศรษฐี  พระศรีวิโรทเศรษฐี  พระศรีธรรมบาลเศรษฐี  พระพิเดชสงคราม เจ้ากรมเขื่อนเพชรล้อมพระราชวังขวา  หลวงรามพิไชย เจ้ากรมเขื่อนขันธ์ล้อมพระราชวังซ้าย  พระศรีมโหสถ เจ้ากรมแพทยาหน้า  พระศรีศักราช เจ้ากรมแพทยาหลัง  หลวงราชรักษา เจ้ากรมหมอนวดขวา  หลวงราโช เจ้ากรมหมอนวดซ้าย  ขุนสรประเสริฐ ราชปลัดทูลฉลองกรมพระอาลักษณ์  หลวงโลกทีป เจ้ากรมโหรหลัง  พระมหาสงคราม เจ้ากรมทวนทองขวา  พระอนุรักษโยธา เจ้ากรมทวนทองซ้าย  หลวงราชรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา  หลวงอินทรเดชะ เจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้าย  หลวงพรหมบริรักษ์ เจ้ากรมสนมทหารขวา  หลวงสุริยภักดี เจ้ากรมสนมทหารซ้าย  หลวงวิสูตโยธามาตย์ เจ้ากรมทหารในขวา  หลวงราชโยธาเทพ เจ้ากรมทหารในซ้าย  พระยาอุดมราชา เจ้ากรมกลิอ่อง  พระยาพระราม เจ้ากรมดั้งทองขวา  พระยาเกียน เจ้ากรมดั้งทองซ้าย  พระยานครอินทร์ เจ้ากรมดาบสองมือกลาง  หลวงษรเสนี เจ้ากรมอาสาจามขวา  หลวงศรีมหาราชา เจ้ากรมอาสาจามซ้าย  หลวงลักษมาณา เจ้ากรมอาสาจามขวา  หลวงสุรินทเสนี เจ้ากรมอาสาจามซ้าย    ตำแหน่ง มหาดไทย พล ยกกระบัตร ของหัวเมืองชั้นเอก

ศักดินา 1,500 ไร่   หม่อมเจ้าซึ่งถือเป็นอนุวงศ์และเป็นเจ้าชั้นสุดท้าย     ขุนในกรมลูกขุนคือ ขุนไชยอาญามหาวิสุทธปรีชาจารย์ ขุนจินดาพิรมยพรมเทพวิสุทธิวงษาจารย์  

ต่ำลงกว่านี้ยังมีศักดินาตั้งแต่  1,400  1,200  1,000  800  600  500  400  300  200  150  100  80  50  30  25  20  15  10  5 ไร่

เชื้อพระวงศ์ที่ไม่ได้เป็นเจ้าแล้ว  จะมีตำแหน่งเจ้าราชนิกุลขี่ช้างค่ายต้นเชือก ศักดินา 1,000 ไร่  เจ้าราชนิกุลขี่ช้างค้ำปลายเชือก ขี่ม้า ขี่โขลงกระบือ ศักดินา 800 ไร่  หม่อมราชวงศ์ ศักดินา 500 ไร่



สำหรับโอรสพระมหากษัตริย์ที่เป็นลูกสนม มีสถานะเป็น "พระองค์เจ้า" คือเป็นพระเจ้าลูกเธอ  หรืออาจเป็นพระอนุชาต่างมารดากับพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน  หากไม่ได้ทรงกรมจะมีศักดินา 6,000 หรือ 7,000 ไร่ สูงกว่าขุนนางทั้งหมดยกเว้นขุนนางชั้นนาหมื่น  แต่หากได้ทรงกรมจะมีศักดินา 15,000 ไร่ สูงกว่าขุนนางชั้นนาหมื่น ดังนั้นสถานะจึงดูก้ำกึ่งอยู่ขึ้นอยู่ว่าได้ทรงกรมหรือไม่

เรื่องใครหลบหลีกขบวนให้ใครคงตอบชัดเจนยาก เพราะไม่ได้ปรากฏหลักฐานในสมัยอยุทธยาชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าโดยทั่วไปผู้มีศักดินาน้อยควรจะหลีกทางให้ผู้มีศักดินาสูงกว่า  นอกจากนี้น่าจะขึ้นอยู่กับอิทธิพลและบารมีของแต่บุคคลด้วย  เจ้านายชั้นผู้น้อยอาจต้องหลีกทางให้เจ้าพระยาหรือพระยานาหมื่นที่มีอิทธิพลมากกว่าก็ได้  กลับกันลูกสนมที่ได้รับความโปรดปรานจากพระมหากษัตริย์ก็อาจจะทำให้เสนาบดีผู้ใหญ่แสดงความอ่อนน้อมได้เช่นกัน   

ทำนองเดียวกับมหาดเล็กที่มีศักดินาน้อย อาจมีอิทธิพลยิ่งกว่าขุนนางผู้ใหญ่ที่มีศักดินาสูง เพราะมักเป็นบุตรขุนนางมีตระกูล ถวายงานใกล้ชิดได้รับฟังพระราชกระแสพระเจ้าแผ่นดิน เพ็ดทูลสิ่งต่างๆ ได้ง่าย  จึงมีเกียรติยศเป็นที่นับถือยำเกรงมากครับ



พิจารณาจากกฎมณเฑียรบาลที่บัญญัติสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ (รูปแบบธรรมเนียมอาจไม่เหมือนกับสมัยอยุทธยาตอนปลาย)  ตำแหน่งลูกสนมคือ "พระเยาวราช" ซึ่งเป็นพระราชกุมารระดับต่ำสุด ดูจะไม่ได้มีสถานะสูงนัก  พระราชกุมารชั้นสูงกว่ามียานขี่ คือ สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าที่เกิดด้วยพระอัครมเหสีขี่ทิพยานทอง มีอภิรุม 3 ชั้น พระมหาอุปราชที่เกิดด้วยแม่หยัวเมืองขี่ทิพยานนาก  มีอภิรุม 2 ชั้น พระเจ้าลูกเธอกินเมืองที่เกิดด้วยลูกหลวงหลานหลวงขี่พระยานมาศกลีบบัว มีอภิรุมกลีบทองกั้นกรรชิงหุ้มผ้าแดง  แต่พระเยาวราชไม่มียานขี่ ให้มีเพียงช้างกับม้าอย่างละตัว กับคน 20 คน  มีอภิรุมกลีบทองกั้นกรรชิงหุ้มผ้าแดงเหมือนพระเจ้าลูกเธอกินเมือง

ในขณะที่ผู้มีศักดินา 10,000 ในเมืองได้ขี่ยั่ว มีกรรชิงหุ้มผ้าขาว  ศักดินา 10,000 ในหัวเมืองได้ขี่คานหามเก้าอี้ มีกรรชิงหุ้มผ้าขาว  ศักดินา 5,000 ไร่ขี่ยั่ว มีร่มทงยู  ศักดินา 3,000 ไร่ ขี่ยาน

ผู้มีศักดินา 10,000 ที่ "กินเมืองทัง ๔ ฝ่าย" (สันนิษฐานว่าเป็นเมืองพญามหานครสำคัญคือ พิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย กำแพงเพชร ซึ่งปรากฏหลักฐานว่ายังเป็นเมืองที่มีความสำคัญสูงสุดอยู่ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง)  มีเครื่องยศเครื่องสูงจำนวนมาก คือ มีร่มปลิกสองคัน ทานตะวันเบื้อคู่หนึ่ง กรรชิงหุ้มผ้าแดงคันหนึ่ง เรือกูบแมงดาคฤ 3 ตอนบดลาดสาวตคุกหัวท้ายนั่งหน้าสอง คานหามเก้าอี้ทอง ศิรเพศมวยทอง แตรลางโพง 3 คู่ และปี่กลอง เมื่อมาถึงขนอนหลวงให้ลดเครื่องยศทั้งปวง เหลือแค่กรรชิงกับคานหาม  ดูมีเกียรติยศมากกว่าพระเยาวราชเสียอีกครับ   



มีหลักฐานว่าเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่สมัยอยุทธยาบางคนได้รับเกียรติยศพิเศษเสมอเจ้านาย เช่น ตำแหน่งเจ้าพระยามหาอุปราช ที่เป็นอัครมหาเสนาบดีสูงกว่าสมุหนายกและสมุหพระกลาโหม สามารถนั่งเฝ้าต่อหน้าพระมหากษัตริย์ได้โดยไม่ต้องหมอบกราบเหมือนขุนนางทั่วไป และเรียกคำสั่งว่า "พระประศาสน์" (หรือ 'พระสาศน') อย่างสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกินเมือง   ซึ่งสันนิษฐานว่าจะมีเกียรติยศและอิทธิพลสูงกว่าเจ้านายระดับล่าง โดยอาจอยู่ในระดับเดียวกับเจ้าต่างกรม

เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) ว่าที่โกษาธิบดี ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นเสนาบดีคนสำคัญที่ช่วยเหลือพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศให้ได้ราชสมบัติ มีหลักฐานฝ่ายลังกาที่บ่งชี้ว่าถูกยกสถานะขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาอุปราชด้วย หลังจากถึงแก่อสัญกรรมได้รับพระราชทานเกียรติยศเสมอเจ้า ให้สวมชฎาใส่เครื่องประดับสร้อยสังวาลย์เรียกศพว่า "พระศพ"  ทำเมรุที่วัดไชยวัฒนาราม เมื่อฌาปณกิจให้มีขบวนเรือชักพระศพอย่างพระศพลูกหลวง และเสด็จไปพระราชทานเพลิงด้วยพระองค์เอง

ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นไม่ได้ตั้งตำแหน่งเจ้าพระยามหาอุปราช แต่มีการพระราชทานเกียรติยศพิเศษให้เจ้าพระยาบางคนมีสถานะเสมอเจ้านาย  มีเสลี่ยงงากั้นกลดเครื่องยศเสมอเจ้าต่างกรม จึงถูกเรียกขานว่าเป็น "สมเด็จ" หรือ "สมเด็จเจ้าพระยา" และมีอิทธิพลในราชสำนักสูงมาก  ดังเช่นรัชกาลที่ 1 เมื่อเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในสมัยธนบุรี  หรือเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) สมุหนายกในรัชกาลที่ 3  ที่พบหลักฐานว่ามีเกียรติยศและอำนาจไม่ต่างจากเจ้าและเหนือกว่าเจ้าต่างกรมบางองค์ด้วย     (แต่ในทางปฏิบัติยังเป็นเจ้าพระยาอยู่ อาจมีตั้งแต่สมัยปลายอยุทธยาแล้ว เพราะมีหลักฐานกล่าวถึง 'สมเด็จเจ้าพระยามหาสมบัติ' ในสมัยกรุงเก่า ผู้เป็นอาของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ สันนิษฐานว่าเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ก็อาจถูกเรียกลำลองว่าเป็น 'สมเด็จ' เช่นเดียวกัน)

ในรัชกาลที่ 4 จึงได้ตั้งบรรดาศักดิ์ "สมเด็จเจ้าพระยา" เป็นบรรดาศักดิ์สูงสุดของขุนนางสำหรับพระราชทานให้เสนาบดีสกุลบุนนาคที่สนับสนุนพระองค์เป็นกษัตริย์ ให้มีเครื่องยศอย่างพระองค์เจ้าต่างกรม แต่เพิ่มศักดินาเป็น 30,000 ไร่ มากกว่าจตุสดมภ์ 3 เท่า  มากกว่าพระองค์เจ้าต่างกรม 2 เท่า  อำนาจทางการเมืองตกอยู่กับสกุลบุนนาค  และขึ้นสู่จุดสูงสุดในรุ่นของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่มีอำนาจมากจนเจ้านายที่พระราชวงศ์ต่างพากันเกรงกลัว พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4 ที่ยังทรงพระเยาว์ยังต้องหมอบกราบ  ดังที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร ทรงเล่าให้หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ไว้ว่า  "เรากลัวเขาจริง พอคลานผ่านที่เขาเอกเขนกอยู่ละก็ เราหมอบกราบกันราบเทียว"
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่