วันที่ฉันปิดเฟสบุ๊ค (อาจจะตลอดไป)

คุณเคยอยู่นิ่งๆ และสังเกตความคิดฟุ้งๆ ในหัว หรือความรู้สึกลึกๆ ก่อนที่คุณจะเปิดและดูเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมบ้างมั้ย?
เคยรู้สึก…อิจฉาคนอื่นว่าทำไมเขาโชคดีที่ชีวิตเกิดมาราวกับว่าเพื่อมีความสุขอย่างเดียวบ้างรึเปล่า?
เคยรู้สึก…เบื่อบางคนที่พร่ำพรรณนาบอกเล่าขยายเรื่องราวและความรู้สึกออกไปได้ยาวยืดจนคุณคิดว่า
เค้าน่าจะหาพี้นที่อื่นที่เหมาะกว่านี้ไหม?
เคยรู้สึก…เศร้า…รู้สึกแย่กับบางเรื่องราวที่เราไม่ได้ตั้งใจจะเห็นแต่มีคนอยาก ‘แชร์’ บ้างมั้ย?
เคย…เจออะไรดีๆ แล้วรู้สึกอยากตะโกนให้ทั้งโลกรู้จังเลยว่า (เอามือป้องปากทำท่าตะโกนเหมือน…เหินฟ้าาาา) “ชีวิตฉันดีๆๆๆ”
บ้างรึเปล่า?
เคย…เสียใจเวลาที่เห็นหรืออ่านอะไรที่มันสะเทือนความรู้สึกมั้ย?
ฉันเคยหมดล่ะ…และฉันว่าทุกคนก็คงเคย
บ้างก็เคยผ่าน บ้างก็เคยทำ
สำหรับตัวฉันเอง
ฉันรู้สึกว่าโลกในโซเชียลมีเดียหมุนเร็วจังเลย ทุกอย่างดู ‘เยอะ’ จนล้นเอ่อ ‘ท่วมท้น’ จนฉันเริ่มชิน
แล้วเสียงในหัวข้างหนึ่งก็บอกตัวฉันว่า
‘…มันก็อย่างนี่ล่ะเธอ…โซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนสมัยนี้ ไม่ว่าเธอจะอยากรับรู้หรือไม่ก็ตาม
ยังไงเธอก็ต้องได้พบเจอ ได้เผชิญหน้ากับมันอย่างไม่มีทางเลือก’
แต่เสียงอีกข้างในหัวก็ถามว่า
‘…จริงเหรอที่เราไม่มีทางเลือก
และจริงเหรอที่ชีวิตเราตอนนี้ขาดมันไม่ได้แล้ว?’
คำถามผุดขึ้นมาในหัวของฉันแบบนี้เป็นบางครั้งบางคราว
จนมาวันหนึ่งที่ฉันรู้สึกว่าตัวเองมีความ ‘ไม่สุข’ อยู่รอบๆ ตัวโดยที่ฉันเองไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด
จึงได้หยิบแว่นขยายมาส่องดูความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง
แว่นขยายของฉันก็คือ
การหยุดอยู่นิ่งๆ และตั้งคำถามกับตัวเองเพื่อย้อนกลับไปหาสาเหตุว่ามันมาจากไหนกันนะสิ่งที่ทำให้เรา ‘ไม่สุข’
และฉันก็ค้นพบว่า หลายๆ ความคิด
ความรู้สึก รวมถึงพฤติกรรมที่นำมาซึ่งความ ‘ไม่สุข’ ของฉันนั้น
รากเหง้าที่สำคัญส่วนใหญ่มาจากการเสพโซเชียลมีเดียที่คอยป้อนแต่ข้อมูลที่ตัวฉันเองไม่ได้อยากจะรับ และตีกรอบของโลกอีกโลกหนี่งจนทำให้เรากระเหือดกระหายและว่ายวนตามไปกับกระแสของข้อมูล
ของสังคม นำมาซึ่งความเครียดแอบแฝง คอยผลักดันให้เราสร้างตัวตนเพื่อให้สังคมในกรอบของโลกนั้นๆ ยอมรับโดยที่เราเองไม่รู้ตัวเลย
ขโมยห้วงเวลาอันมีค่าที่เราควรจะได้สัมผัสกับมัน ณ ขณะนั้นอย่างลึกซี้ง
ขาดสมาธิกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
ขาดความอดทนในการโฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนี่งได้นานๆ
และที่สำคัญ
มันทำให้เราไม่ได้ยินเสียงลึกๆ ข้างในใจของตัวเอง
เพราะเสียงในโลกนั้นมันกลบและเบนทุกอย่างที่เป็นตัวเราห่างออกไป…ทีละเล็ก…ทีละน้อย
และวันนั้น ฉันจึงตัดสินใจที่จะ ‘หยุด’
หยุดเพื่อฟังเสียงลมหายใจ
เสียงของความคิด เสียงคนข้างๆ เสียงของโลกจริงๆ
การหยุดและถอยตัวเองออกมาจากกรอบของโลกที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เรา ‘ติดกับ’ นั้นก็คือการ ‘ปิด’ โซเชียลมีเดีย
ที่ไม่ใช่แค่การปิดแอพพลิเคชันบนคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ
แต่หมายถึงการปิดแอคเคานต์การใช้งานและเป็นการปิดแบบที่..ไม่มีจุดหมายปลายทาง
เสียด้วยซิ
ผ่านมาตอนนี้มันก็เป็นเวลาสามเดือนแล้วนะที่ฉันไม่มีเฟซบุ๊กและปิดอินสตาแกรมส่วนตัวไป เหลือไว้อย่างเดียวก็คืออินสตาแกรมที่ไม่มีตัวตนฉันอยู่
และไม่มีจุดประสงค์อื่นใดนอกจากการเผยแพร่ผลงานภาพวาด (ที่นานๆ จะมีที)
และสามเดือนที่ผ่านมานั้น สิ่งที่ฉันค้นพบจากชีวิตหลังโซเชียลมีเดียก็คือ
ฉันมีสมาธิในการทำงานได้ดีขึ้น
ได้นานขึ้นกว่าเดิม…เยอะมาก
ฉันมีความรู้เพิ่มขึ้นเพราะมีเวลา
มีสมาธิในการศึกษาและการอ่านได้ดีกว่าเดิม
ฉันสัมผัสและซึมซับประสบการณ์ตรงหน้าได้แบบที่ไม่ต้องกังวลกับรูปถ่ายและไม่ต้องป่าวประกาศใครอีกแล้ว
ฉันดำเนินชีวิตของตัวเองได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องดูชีวิตใคร
เพื่อมาเป็นมาตรฐานอีกต่อไป
ฉันมีเวลาศึกษาและได้ลงมือทำในสิ่งที่มันเป็นความสนใจของตัวเองอย่างแท้จริง
ที่สำคัญ..ฉันมีห้วงเวลาของความเงียบซึ่งมันทำให้ฉันได้ยินเสียงความคิดและเสียงในหัวของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น นั่นก็เป็นที่มาของการเริ่มเทความคิดและจับมันมาเรียงลงไปบนกระดาษ
เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ..ตัวนี้ล่ะ 🙂
มันเป็นสามเดือนที่ดีกรีความ ‘ไม่สุข’ ของฉันลดลงอย่างฮวบฮาบ
แต่ดีกรีของความ ‘สุข’ นั้นเพิ่มขึ้นอย่างเหลือเชื่อ
มันเป็น ‘สุขเงียบๆ’ ที่มาจากข้างใน
มาจากการถอยออกมามอง มาฟังเสียงข้างในใจของตัวเอง
คุณลองอันปลั๊ก (unplug)
ตัดเสียงรบกวนจากโซเชียลมีเดียดูสิ
คุณอาจจะได้ยินเสียงในใจตัวคุณเองชัดเจนขึ้น
และอาจจะค้นพบอะไรดีๆ อีกหลายอย่างที่อยู่รอบตัวคุณ
ให้คุณได้สัมผัสกับของจริงมากกว่าของบนจอ บางที…มันอาจจะทำให้คุณมีเวลามากขึ้น
แล้วใช้เวลานั้นเพื่อตามหาอะไรบางอย่างที่คุณเคยทำหล่นหายไปนานแล้ว
ไม่แน่นะว่าสิ่งนั้นอาจเป็นสิ่งล้ำค่าที่สามารถเติมเต็มชีวิตและจิตวิญญาณของคุณ
ซึ่งแน่นอนว่ามันก็น่าจะดีกว่าการใช้เวลาและพลังงานของคุณไปกับการเวียนว่ายอยู่ในกระแสของโลกโซเชียลมีเดีย
..ก็เป็นได้นะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่