เมื่อจอยมีบอดี้การ์ด (2)

กระทู้สนทนา
เมื่อจอยมีบอดี้การ์ด
ดรัสวันต์

2
 
        เขาเป็นชายหนุ่มในวัยไม่เกินสามสิบ คะเนเอาเองว่าน่าจะแก่กว่าจอยไม่กี่ปี

       เราทำความรู้จักกัน แล้วเริ่มออกเดินทาง

       จำได้ว่าตอนนั้น จอยไม่ได้ตื่นเต้นและสนใจฮุสเซนนัก เพราะเป็นเวลาที่จอยรู้สึกเครียดลึกๆ อยู่ในใจกับสิ่งที่จะต้องเผชิญต่อไปข้างหน้า  

       เจ้าหน้าที่ของธนาคารรวมถึงมิสซิสชาวดาห์รี ที่มาส่งเรามีอาการเครียดกันทุกคน เราเหมือนถูกจับส่งไปให้พ้นๆ เมืองหลวง ก่อนที่เหตุการณ์ร้ายแรงจะส่งผลต่อพวกเรา

      ผู้หญิงสามคนถูกจัดให้นั่งข้างหลัง ผู้ชายสามคนนั่งข้างหน้า จะไม่มีการมานั่งเบียดกันหรือถูกเนื้อต้องตัวกันระหว่างหญิงชายที่ไม่ใช่สามีภรรยาหรือญาติพี่น้อง 
 
       ฟังดูน่าเหนื่อยไหมคะ สำหรับคนอย่างจอยที่มาจากประเทศที่ไม่ได้เข้มงวดนักกับเรื่องแบบนี้ จะว่าดีก็ดีหรอกค่ะ เป็นการให้เกียรติผู้หญิง  

       แต่อีกแง่หนึ่ง ข้อห้ามมากมายสำหรับผู้หญิงมุสลิม ดูเป็นการกดขี่ผู้หญิงก็ว่าได้

      เราเดินทางออกจากเมืองหลวงธากามุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือสู่เขต Rajshahi ที่มีเขตแดนติดกับอินเดีย
 

       จอยสังเกตบนท้องถนนว่ารถยนต์ยอดฮิตของที่นี่คือ โตโยต้า และน่าจะเป็นรถนำเข้าทั้งสิ้น เพราะสังเกตจากบางรุ่นที่ไม่มีขายในบ้านเรา

       เนื่องจากชาวบังคลาเทศยังเป็นแรงงานไร้ฝีมือ จึงยังไม่มีการลงทุนสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศนี้ ส่วนความรู้ใหม่อีกอย่าง ถนนหนทางในประเทศนี้สร้างโดยเงินช่วยเหลือจากญี่ปุ่น

      แน่ล่ะ คุณจะขายรถได้อย่างไร ถ้าไม่มีถนนให้วิ่ง !

      การเดินทางด้วยรถยนต์บนถนนที่ระเบียบและความเคร่งครัดของกฎจราจรมีน้อย ทำให้จอยอกสั่นขวัญแขวนไปตลอดทาง กับจังหวะเบรกกะทันหัน การเบียดแซงกันอย่างไร้สติและการบีบแตรใส่กันตลอดทาง

      จอยนั่งหลับตาพยายามข่มใจ เม้มปากแน่นในบางครั้ง ไม่ให้ส่งเสียงร้องอย่างตกใจออกมา

      พอลืมตาขึ้น ก็พบว่าฮุสเซนหันมามองจอยอยู่แล้ว ด้วยแววตาห่วงใย

      เขาชะโงกหน้าไปเตือนคนขับรถ ซึ่งก็ได้รับการอธิบายเป็นทำนองว่าไม่ใช่ความผิดของเขา เป็นความผิดของอีกคันที่ขับมาปาดหน้ากระชั้นชิด (อันนี้ แฟรงค์แปลภาษาเบงกอลีให้เราฟัง)ซึ่งก็จริง ผู้คนที่นี่ขับรถกันแบบนี้จริงๆ

      และการบีบแตรตลอดทางเป็นเรื่องที่สมควรทำในประเทศนี้และในอินเดีย จะสังเกตได้จากท้ายรถจะมีสติ๊กเกอร์เขียนไว้ว่า Horn Please

     เคยมีคนอินเดียมาเที่ยวเมืองไทยแล้วบอกว่าถนนเมืองไทยเงียบดีจัง
 

       เราใช้เวลาเดินทางต่อไปจนใกล้เที่ยง จึงถึงริมฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่ง จอยถามฮุสเซนว่าชื่อแม่น้ำอะไร

       “ยมุนา”

       นี่น่ะหรือ ยมุนา เป็นชื่อที่ไพเราะและโรแมนติกในความคิดของจอย ชวนให้นึกถึงวรรณกรรมในอดีต

       จอยมองสายน้ำข้างหน้าที่มีต้นกำเนิดมาจากทิเบตไหลผ่านเมืองอัคราที่ตั้งของทัชมาฮาลในอินเดีย แล้วไหลผ่านบังคลาเทศลงสู่อ่าวเบงกอล ช่างเป็นแม่น้ำที่ยาวไกลและไหลผ่านชีวิตผู้คนนับล้านมาแล้ว

       ที่ตรงนี้ เราจะต้องลงเรือเฟอร์รี่ข้ามไปยังอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำที่จอยไม่สามารถมองเห็น เพราะมีสันดอนทรายสีขาวสูงบดบังเสียสิ้น ไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน น่าจะเป็นตะกอนที่ทับถมกันมานานเป็นร้อยๆ ปี เพราะมีความสูงประมาณตึก 5 ชั้น ด้านบนสันดอนเป็นพื้นเรียบกว้างจนน่าจะขึ้นไปวิ่งเล่นเตะฟุตบอลกันได้

      เราใช้เวลารอ 15 นาที กว่าเรือเฟอร์รี่จะมาถึง จากนั้นรถของเราก็แล่นลงไปจอดในเรือลำใหญ่ตามลำดับก่อนหลัง เรือลำนี้สามารถจุรถยนต์ได้ 20 คัน เมื่อจอดเข้าที่แล้วผู้โดยสารสามารถออกจากรถ มานั่งที่ที่พักคนโดยสารชั้นบน ซึ่งมีอาหารขายและมีห้องละหมาด จัดไว้ให้ เรารับประทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารบนเรือ

      เสร็จจากรับประทานอาหาร ต่างคนต่างแยกย้ายออกไปหามุมอิสระของตัวเองโดยเฉพาะชาวมุสลิมที่ต้องทำละหมาด 

      จอยเฝ้ามองทิวทัศน์ที่มีเพียงด้านเดียวเพราะอีกด้านเป็นสันดอนทรายตลอดทาง  

      เรือลำใหญ่แล่นเรียบไม่โคลงเคลง มีลมแม่น้ำโชยมาเป็นระยะๆ ทิวทัศน์ริมฝั่งแม่น้ำเป็นบ้านเรือนผู้คน มีผู้หญิงออกมาซักผ้า ตักน้ำ เด็กๆ ออกมา
กระโดดน้ำเล่น เป็นความเพลิดเพลินเจริญใจสำหรับจอยไม่น้อย ชนบทที่สุขสงบ รอยยิ้มของผู้คนและเด็กๆ ช่างบริสุทธิ์นัก

      จอยโบกมือให้พวกเขา ซึ่งเขาเหล่านั้นก็โบกตอบ พลันสายตาจอยก็หันไปเจอสายตาของ ฮุสเซน ที่เฝ้ามองอยู่ห่างๆ  

      พอเห็นจอยมอง เขาจึงเดินเข้ามาบอกว่า

     “เราจะใช้เวลาเดินทางอีกครึ่งชั่วโมง คุณนั่งเล่นตามสบายนะ ใกล้ถึงแล้วผมจะมาตาม”

      “ขอบคุณค่ะ” จอยตอบแล้วยิ้มให้เขา ความเครียดในใจค่อยๆ คลายลงทีละน้อย

      สักพัก เรือก็พาเราอ้อมสันดอนทรายวกกลับขึ้นเหนือไปอีกยี่สิบนาที ก็ถึงท่าที่เราจะขึ้น  

      จอยเพิ่งถึงบางอ้อเดี๋ยวนี้เองว่า อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำที่เราต้องการจะมานั้นอยู่ตรงกันข้ามนี่เอง  แต่ความที่มีสันดอนทรายมาขวางกั้น ทำให้ต้องเสียเวลานั่งเรืออ้อมกว่า 45 นาที  

      “ทำไมถึงไม่มีใครคิดจะขุดสันดอนหรือสร้างสะพานข้ามนะ” จอยปล่อยคำถามออกไปเพราะมันจะประหยัดเวลาและทรัพยากรได้มากมาย

      “คงต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก” ฮุสเซนหันมาอธิบายสั้นๆ 

     พอเรือเฟอร์รี่จอดเทียบฝั่ง เราเดินทางต่ออีกประมาณ 40 นาที จึงมาถึงสำนักงานของกรามีนประจำภูมิภาค เราได้รับการต้อนรับจากผู้อำนวยการ
สำนักงานฯ ที่นี่เราพักดื่มชา เข้าห้องน้ำ  

     จอยแอบเห็นทีมงานของกรามีนคุยกันเบาๆ ด้วยภาษาที่จอยไม่เข้าใจ แต่มีสีหน้าเครียด 

     แฟรงค์ก็สังเกตเห็น เขาฟังภาษาเบงกอลีออกและบอกเราว่า เหตุการณ์ประท้วงที่เมืองหลวงเริ่มมีการยิงกันแล้ว

      จอยรับฟังด้วยใจเต้นระทึก ถามตัวเองว่าเราต้องเสี่ยงชีวิตขนาดนี้เชียวหรือ 

      โอย อยากกลับบ้าน !

     เราพักอยู่ที่นั่นไม่นาน ก็ออกเดินทางต่อ เมืองที่เราเดินทางมาถึงเป็นสำนักงานสาขาของกรามีนระดับตำบล ที่แฟรงค์และเดซี่จะมาศึกษางานที่นี่ ส่วนจอยกับมาดามชเรสธาเป็นทีมสุดท้ายที่เดินทางต่อไปอีกเมืองหนึ่ง 

      กว่าจะไปถึงก็เกือบห้าโมงเย็น

      และเพราะเป็นฤดูหนาว อากาศจึงมืดค่ำเร็วกว่าปกติ

     ที่พักของเราเป็นห้องแคบๆ อยู่ชั้นล่างติดกับอาคารที่ทำการสาขาของกรามีน แบงก์ ที่มีลักษณะคล้ายบ้านพัก มีบริเวณสนามด้านหน้า

     ผู้จัดการธนาคารเป็นชายวัยสี่สิบท่าทางสุภาพใจดี ออกมาต้อนรับเราและดูแลให้เราเข้าที่พักเรียบร้อยแล้วนัดเวลารับประทานอาหารเย็น

      จอยเข้าห้องแล้วมองออกไปนอกหน้าต่างที่เปิดไปเห็นประตูทางเข้าสำนักงาน ฮุสเซนกำลังพูดอะไรบางอย่างกับคนขับรถ แล้วรถที่พาเรามาส่งก็แล่นกลับไป

      จอยใจหายนิดๆ เราจะต้องอยู่ที่นี่อีก 4 วัน  หันไปมองมาดามชเรสธาที่เริ่มทอดกายพักผ่อนจากความเมื่อยล้าของการเดินทางไกลมาทั้งวัน
อย่างน้อย จอยก็มีผู้ใหญ่ที่จะอยู่ด้วยอย่างอุ่นใจ

      จอยออกไปสำรวจห้องน้ำ ไม่ได้คาดหวังว่าจะหรูหราอะไร ทดลองเปิดฝักบัวว่าใช้ได้ไหมแล้วเอามือไปรอง น้ำเย็นเฉียบจนแทบสะดุ้ง อากาศรอบตัวที่เริ่มหนาวเย็นลงทำให้จอยมองหาเครื่องทำน้ำอุ่น  

      แต่ไม่มี !  โอย จะอาบน้ำเย็นราวกับน้ำแข็งนี้ได้อย่างไร

      สิ่งที่จอยไม่ได้เตรียมตัวมาคือ การรับมือกับความหนาว จอยไม่รู้ว่าที่บังคลาเทศช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจะหนาวขนาดนี้ คือน่าจะต่ำกว่า15 องศาเซลเซียส

      บางครั้ง คนเราก็ประมาทในเรื่องที่น่าจะเตรียมตัวมาให้ดีกว่านี้ ดูอย่างตอนที่จอยสอบ Aptitude Test ไม่ผ่าน กับตอนนี้ที่ไม่คิดว่าบังคลาเทศจะหนาว  

       ‘เธอลืมดูแผนที่หรือยังไงนะจอยว่าประเทศนี้ตั้งอยู่สูงเหนือพม่าขึ้นไปอีก มันก็ต้องหนาวกว่าบ้านเรา’ จอยบ่นตัวเองอยู่ในใจ

       ล้างมือล้างหน้ากับน้ำเย็นจนใบหน้าชาหนึบ แล้วจึงเริ่มรับประทานอาหารเย็นด้วยกัน เราสามคน

       คนงานชายนำอาหารมาตั้งที่โต๊ะ ซึ่งอยู่มุมด้านหนึ่งของออฟฟิศธนาคาร กับข้าวมีอย่างเดียวคือแกงปลาอยู่ในเครื่องเทศสีแดง มีน้ำแกงขลุกขลิกและข้าวสวย  

      ทุกมื้อ ตั้งแต่มาอยู่ประเทศนี้ จอยได้เรียนรู้ว่าชาวบังคลาเทศรับประทานข้าวเป็นหลัก ไม่ใช่โรตี นาน หรือจปาตี้ อย่างคนอินเดีย ตลอดทางที่นั่งรถผ่านมา จอยได้เห็นนาข้าวเป็นส่วนใหญ่ เท่ากับย้ำว่าข้าวคือพืชหลักของประเทศนี้ แต่ก็ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิอย่างดีแบบบ้านเรา จอยต้องกินข้าวเม็ดหักๆ และกระด้าง ไม่มียาง

      “น้ำในห้องน้ำเย็นมากนะ”  จอยเปรยขึ้น หลังจากรับประทานเสร็จแล้ว

      “ไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่นหรอกหรือ” มาดามชเรสธาหันมาถามฮุสเซน แน่นอน เธอมาจากประเทศที่หนาวจัดอย่างเนปาล ที่นั่นเกือบทุกบ้านยกเว้นคนยากจนจะต้องมีเครื่องทำน้ำอุ่นและฮีตเตอร์หรือเตาผิงที่ให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว

      เราสองคนหันไปหาคำตอบจาก ฮุสเซน เป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องดูแลอำนวยความสะดวกให้เราสองคน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่