*** ศาสนาผี ศาสนาที่ถูกลืม ***

คุณคิดว่า คนไทยนับถือศาสนาอะไรมากที่สุด เป็นศาสนาพุทธใช่หรือไม่?

...ลองสังเกตดูง่ายๆ เวลาเข้าวัดไทย คุณจะพบทั้ง รูปปั้นพระพิฆเนศ, เจ้าแม่กวนอิม, ศาลปู่ย่า, ต้นตะเคียน, พระราหู และพระพุทธรูปอยู่ร่วมกันโดยที่คุณรู้สึก “ก็ปกตินี่”

คำตอบคนไทยนับถือสิ่งที่เรียกว่า “ศาสนาไทย” ซึ่งเป็นการผสมผสามของสามศาสนาได้แก่ พุทธ พราหมณ์ และผี สำหรับศาสนาผีนั้นคือความชื่อโบราณที่ยังแฝงอยู่ในวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และความคิดของเรา แต่กลับมักถูกลืมต้นตอไป

ศาสนาผีเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถกราบไหว้พระพิฆเนศ และเจ้าแม่กวนอิมไปพร้อมกัน เราไม่ได้นับถือพระพิฆเนศแบบคนอินเดีย และไม่ได้ไหว้เจ้าแม่กวนอินแบบคนจีน แต่เรานับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่ละอย่างเหมือนเป็น "ผี" ตนหนึ่งที่ให้คุณให้โทษได้

ในบทความดังกล่าว เราจึงจะมาพูดถึงความเชื่อที่แม้สังคมอาจลืมชื่อไปแล้ว แต่มันยังคงอยู่ และการได้เรียนรู้เรื่องนี้ จะทำให้เราได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น...

ศาสนาผี (Animism) หรือที่เรียกแบบวิชาการว่า “วิญญาณนิยม” คือศาสนาแรกของโลก เป็นความเชื่อที่มนุษย์หลายๆ อารยธรรมมีคล้ายๆ กันว่า “รอบกายเรามีวิญญาน, ผี, หรือตัวตนเหนือธรรมชาติสถิตอยู่” โทรศัพท์ที่ใช้ก็มีวิญญาณ บ้านที่อยู่ก็มีวิญญาณ ห้องน้ำที่เข้าก็มีวิญญาณ ฯลฯ และเราเองก็มีวิญญาน เป็นส่วนหนึ่งของวงจรตามธรรมชาตินั้น

ที่หลายอารยธรรมมีคล้ายกันเพราะเป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นบนสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์

ในศาสนาผีนั้น “ผี” เป็นได้ทั้งผีดีและผีร้าย และคำว่าผีสามารถใช้เรียกได้ทั้งพระเจ้า (ผีแถน) และตัวตนที่สถิตในบ้าน (ผีเรือน)

เช่นกันคนที่เชื่อในศาสนาผีมักสามารถกราบไหว้ผีได้หมด ไม่แบ่งแยกว่าเป็นผีดีหรือผีร้าย โดยหากเป็นผีดีก็ไหว้เพื่อขอให้พรเรา หากเป็นผีร้ายก็ไหว้เพื่อขอให้ไม่ทำร้ายเรา ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นการไหว้จอมปลวก ไหว้ชูชก ไหว้ควายสามเขา (อะไรที่ดูผิดธรรมชาติแปลว่ามีพลังวิญญานอยู่มากจึงควรไหว้ได้) ไม่ได้แปลว่าคนที่เชื่อในศาสนาผีงมงายกว่าศาสนาอื่น แต่เป็นเพราะมีพื้นฐานความเชื่อแบบดังกล่าว



ศาสนาผีในไทยมีเอกลักษณ์คือ คอนเซปต์ที่เรียกว่า “ขวัญ”

ขวัญคือสิ่งที่มองไม่เห็นที่อยู่ในตัวเราทุกคน มันไม่เหมือนวิญญานของศาสนาพุทธทีเดียว

ขวัญยังมีอยู่ในทุกที่ ทั้งในธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้าง ไร่นาก็มีขวัญ จอบเสียมก็มีขวัญ

ขวัญจะมีอยู่หน่วยเดียวแต่กระจายอยู่หลายจุดในร่างกาย จำนวนจุดที่กระจายนั้นต่างกันตามความเชื่อของชาวไทยแต่ละเผ่า คนไทยบางเผ่าบอกว่ามีขวัญ 32 แห่ง ไทยบางเผ่าบอกว่ามี 80 แห่ง 



แต่ไม่ว่าใครจะมีเท่าไหร่ ขวัญที่สำคัญที่สุดของมนุษย์จะสถิตอยู่กลางศีรษะ บนหัวคนผมจะขึ้นเวียนเป็นวงกลมจากกลางหัว ตรงที่วนคล้ายๆ ก้นหอยนั่นเองคือ “จอมขวัญ” (ลักษณะเดียวกับลายที่ปรากฏในหม้อโบราณบ้านเชียง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นลายที่สถิตของขวัญ)

ขวัญนั้นสามารถ “หาย” หรือหลุดออกจากร่างได้ หากขวัญหลุดออกจากร่างใครคนๆ นั้นจะป่วย และหากขวัญหาทางกลับไม่เจอ คนๆ นั้นก็จะตายในที่สุด

...เหตุผลนี้เองคนไทยจึงให้ความสำคัญกับหัวมากๆ และมีความเชื่อห้ามเล่นหัว เพราะตรงนั้นเป็นที่อยู่ของขวัญสำคัญ ทำอะไรไม่ถูกไม่ควรอาจทำให้พลังตก…


ภาพแนบ: ขวัญบนหัว 

 ตามตำนาน “พระนางจามเทวี” ซึ่งเป็นผู้ปกครองอาณาจักรหริภุญชัยเล่าว่า เนื่องจากนางสวยและเก่ง เลยมีเจ้าเมืองหนึ่งชื่อ "ขุนหลวงวิลังคะ" มาพยายามสู่ขอ

นางรู้ว่าหากปฏิเสธ ก็คงต้องเกิดสงคราม เลยออกอุบายให้พุ่งหอก (บ้างว่าธนู) จากเมืองของหลวงวิลังคะมายังหริภุญชัยซึ่งอยู่ไกลมาก

จามเทวีรู้ว่าหลวงวิลังคะเก่ง แถมขว้างหอกครั้งแรกก็เกือบถึงเมือง เลยทำทีเป็นส่งกำนัลเป็นหมวกไปให้ โดยแอบใส่ผ้าซับประจำเดือน (บ้างว่าขนบริเวณอวัยวะเพศ) ไว้

พอขุนหลวงวิลังคะสวมหมวก ขวัญก็หาย นอกจากขว้างหอกไม่ได้ ยังเสียกำลังใจและตายไปในที่สุด อนิจจา…



ดังนั้นเมื่อขวัญหาย คนไทยก็จะทำมีพิธี “บายศรีสู่ขวัญ” เพื่อ “เรียกขวัญ” กลับมา นอกจากนี้ยังต้องมีการถวายของให้แก่ขวัญ (หรือที่เรียกว่า “ของขวัญ”)

นอกจากนี้ หากใครเคยผ่านงานรับน้อง อาจผ่าน “พิธีรับขวัญ” ที่มีการนำด้ายขาวหรือสายสิญจน์มาพันข้อมือ นั่นก็เพื่อให้ขวัญอยู่กับตัวนั่นเอง


ภาพแนบ: สายสิญจน์

งานศพของคนไทยโบราณ เป็นงานรื่นเริง มีการเล่นดนตรีกันคึกโครม ทั้งนี้เพื่อเป็นการเรียกขวัญให้กลับสู่กาย ในงานนี้หมอขวัญ (หมอแปลว่า technician หรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ หมอขวัญแปลว่าผู้เชี่ยวชาญด้านขวัญ) จะทำการสวดเป็นเสียงกังวานเพื่อเรียกขวัญเป็นเวลาหลายวัน แต่เมื่อทำการเรียกขวัญไม่สำเร็จ และคนตายไปแล้ว หมอขวัญก็จะหยุดเรียก และเปลี่ยนไปทำการสวดเพื่อ “ส่งขวัญไปเมืองฟ้า” แทน

มรดกของสิ่งนี้เห็นได้จากงานศพบางแห่งของไทยยังมีกิจกรรมรื่นเริงอยู่ และพระสงฆ์ไทยนั้นสวดพระอภิธรรมเป็นลักษณะยืดยาวกังวาน และสวดหลายวัน แต่เปลี่ยนเนื้อหาที่สวดนั้นจากเนื้อหาแบบศาสนาผีเป็นเนื้อหาแบบพุทธ เช่นที่ชี้ให้ปลงอนิจจังเห็นสัจธรรมของชีวิต ประเพณีนี้เป็นประเพณีไทย ไม่ใช่ประเพณีที่รับมาจากอินเดีย


ภาพแนบ: วงปี่พาทย์มอญในงานศพ

คอนเซปต์ของวิญญาณเพิ่งเข้ามาทีหลังพร้อมกับศาสนาพราหมณ์/พุทธ ที่เชื่อว่าวิญญาณมีกรรมของตัวเอง หากหลุดออกจากร่างก็จะตายทันที (ขณะที่หากขวัญหลุดนั้นคนยังไม่ตาย)

หากคนทำดีวิญญานก็จะไปเกิดในภพภูมิที่ดี หากทำชั่วก็จะเกิดในภพภูมิต่ำ มีหน่วยงานเช่นนรกสวรรค์คอยจัดการเรื่องการย้ายภพภูมิเหล่านี้ ด้วยกฎที่อธิบายได้



สำหรับขวัญนั้นเมื่อหลุดออกจากกายแล้วก็สามารถไปเกิดใหม่ได้ แต่จะเกิดโดย random ไม่ได้มีกฎตายตัวเหมือนพุทธ เช่นขวัญอาจไปอยู่เมืองแถน (เมืองฟ้า) หรืออยู่เป็นผีบรรพบุรุษตามบ้านเรือน ตามแม่น้ำลำคลอง ไม่ได้ยึดติดกับกรรม

การเกิดใหม่ในลักษณะนี้ยังมีให้เห็นในนิทานพื้นบ้านเช่นเรื่องปลาบู่ทอง ที่เมื่อแม่ของเอื้อยจมน้ำตายก็ไปเกิดเป็นปลาบู่ พอถูกฆ่าโยนก้างลงดินก็ไปเกิดเป็นต้นไม้ เป็นความเชื่อที่ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และเวียนว่ายปนเปไปกับธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับความดีความชั่วที่ทำ


ภาพแนบ: ปลาบู่ 

ศาสนาผีของเผ่าไทยมีตำนานเทพเจ้าและกำเนิดโลกของตนเอง... มีหลายเวอร์ชันจะขอยกมาเวอร์ชันหนึ่ง เล่าว่าเริ่มแรกนั้นโลกมีมนุษย์อยู่ 3 คน ได้แก่ ขุนเค็ก ขุนคาน และปู่ลางเซิง

ทั้งสามมีนิสัยไม่ดี ทำให้พญาแถนซึ่งเป็นเทพเจ้าไม่พอใจ จึงเสกน้ำท่วมโลก มนุษย์สามคนนั้นเลยสำนึกผิด กราบไหว้บูชาเทพเจ้า พญาแถนเลยตอบแทนโดยการให้น้ำหยุดท่วม เกิดเป็นที่นาแห่งแรกชื่อ “นาน้อยอ้อยหนู” พร้อมให้ควาย 1 ตัวมาใช้งาน (เป็นการอธิบายว่าการทำนานั้นเป็นสิ่งสำคัญในวัฒนธรรมไทยมาแต่โบราณ)



ต่อมาควายตายแล้วก็มีน้ำเต้าผุดออกมาจากจมูก โดยทั้งสามสังเกตว่ามีมนุษย์อยู่ในนั้น ปู่ลางเซิงเลยนำเหล็กร้อนแทงน้ำเต้าเป็นรู และมีคนผิวดำเหมือนถ่านออกมา (เชื่อกันว่าเพราะถูกรมควัน) เรียกว่า “ข่า” ขณะที่ขุนคานนำสิ่วมาเจาะเป็นอีกรู ซึ่งคนที่ออกมาทางนี้ตัวขาว เรียกว่า “ไทย”

...ถือกันว่าผิวดำคือคนเขมร และคนผิวขาวคือคนไทย-ลาว ในปัจจุบัน…

ต่อมาพญาแถนก็ได้เสก “ขุนบรม” เป็นกษัตริย์องค์แรกลงมาปกครองมนุษย์ ซึ่งลูกของขุนบรมก็แบ่งกันปกครองเมืองลาวบ้าง ล้านช้างบ้าง ไทยใหญ่ ไทยน้อยบ้าง เป็นตำนานการเกิดมนุษย์ที่ไทย-ลาวมีร่วมกัน


ภาพแนบ: น้ำเต้า

 ...อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป คนไทยรู้สึกว่า ศาสนาผีมันช่างเชยมาก…

รอบๆ บ้านนั้นมีการรับศาสนาพราหมณ์และพุทธจากอินเดียแล้ว และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธนั้นมีหลักการน่าศรัทธา มีความเข้มขลังมากกว่า พิธีกรรมก็เป็นระเบียบอลังการ บ้านเมืองสวยงาม เทพเจ้าก็ยิ่งใหญ่

...วัฒนธรรมนั้นเหมือนน้ำ ย่อมไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ ผสมกลมกลืนไปทั่ว

...ดังนี้ในที่สุดคนไทยโบราณก็ถูกกลืนวัฒนธรรม 



หลังจากนั้นคนไทยก็รับวัฒนธรรมอินเดียเข้ามาเป็นอันมาก นอกจากพิธีกรรมแล้ว ยังมีการนำภาษาบาลี-สันสกฤตมาใช้ เช่นคำว่า “ขวัน” ก็เปลี่ยนตัวสะกดเป็น “ขวัญ” จาก “ไท” ก็สะกดว่า “ไทย” ซึ่งเป็นการสะกดคำไทยให้ดูเหมือนภาษาอินเดียมากขึ้น

คนไทยยังนิยมตั้งชื่อตัวเองให้ดูมีความหมายโดยใช้ภาษาบาลี-สันสกฤตเช่นกัน จาก “ไอ้ช้าง” ก็กลายเป็น “นายกุญชร” เพราะมันดูดีกว่า อินเทรนด์กว่า อารมณ์เดียวกับที่พ่อแม่สมัยนี้ มักตั้งชื่อลูกให้อ่านได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เช่น “นายกวิน” ก็เป็น “มิสเตอร์เควิน” ประมาณนั้น เพราะเราเชื่อว่าวัฒนธรรมฝรั่งนั้นเป็นวัฒนธรรมที่สูง 



การเปลี่ยนความเชื่อของคนไทยจากศาสนาผีเป็นศาสนาพุทธ มีการแสดงผ่านตำนานหลายเรื่อง เช่น “นิทานชาดก” ตอน “พญาคันคาก” หรือ พญาคางคก นั่นเอง

เล่าโดยย่อคือ นานมาแล้ว พระพุทธเจ้าเกิดเป็นลูกของกษัตริย์องค์หนึ่ง แต่เกิดมามีรูปเป็นคางคก จึงถูกเอาไปทิ้งเพราะเชื่อว่าเป็นกาลีบ้านเมือง พระอินทร์ได้ช่วยคางคกน้อยไว้ ครั้นแล้วคางคกนั้นก็ถอดรูปเป็นหนุ่มหล่อ ได้ปกครองเมืองที่สร้างขึ้นมาใหม่ มีภรรยาดี กลายเป็นกษัตริย์มีชื่อว่า "พญาคันคาก" และมีพวกสัตว์มีพิษอย่างงู แมลง กบ เขียด มาสวามิภักดิ์


เหตุนี้ทำให้พญาแถนรู้สึกโดนข้ามหน้าข้ามตา จึงบันดาลให้ฝนไม่ตก

พวกสัตว์มีพิษไปร้องทุกข์กับพญาคางคก พญาคางคกจึงนำทัพสัตว์ไปสู้กับผีแถน

แน่นอนว่าพญาคันคากชนะ ผีแถนจึงต้องยอมปล่อยน้ำฝน อันเป็นการอธิบายของคนโบราณว่าทำไมเวลาคากคกร้องฝนจะตก และอธิบายการเปลี่ยนผ่านของความเชื่อในสังคมไทยนั่นเอง แน่นอนชาดกเรื่องนี้ไม่มีในพระไตรปิฎกแต่อย่างใด



แม้จะถูกพุทธกลืนแต่ศาสนาผีไม่ได้หายไปซะทีเดียว อย่างที่บอกตอนต้นว่าแม้พุทธจะสามารถช่วงชิงพื้นที่ในศีลธรรมระดับเหนือโลกได้ แต่ศาสนาผียังครอบครองพื้นที่ของที่พึ่งทางใจในทางโลก

คือในขณะที่คนไทยมักเชื่อว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการลดกิเลสเพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ (ตามศาสนาพุทธ) แต่ยามรู้สึกอ่อนแอ หรือมีความต้องการทางโลก ก็จะไปสวดอ้อนวอนกับผี (ตามความเชื่อศาสนาผี)

พระพุทธรูปนั้นแต่เดิมเป็นของที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธรูปที่คนไทยไหว้นั้นหลายๆ องค์มีชื่อ มีนิสัย เช่นหลวงพ่อ ก. ให้พรทางอาชีพได้ดี ชอบของเซ่นไหว้เป็นแว่นตาดำ การที่คนไทยไหว้พระพุทธรูปที่มีนิสัยเช่นนี้ แปลว่าเขาไม่ได้เชื่อว่ากำลังไหว้พระพุทธเจ้า แต่กำลังไหว้ผีที่สถิตในรูปปั้นพระพุทธรูปนั้น ซึ่งย่อมมีนิสัยแผกไปต่างๆ

อนึ่งอันที่จริงศาสนาผีก็มีหลักศีลธรรม ที่เหลือผสมๆ มาให้เห็นเช่นหลักฮีต 12 คอง 14 ในภาคอีสาน แต่เมื่อไม่ลึกซึ้งเท่าพุทธ ในที่สุดจึงเสียพื้นที่ทางศีลธรรมแก่พุทธ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่