***ระเบียบโลกใหม่จากสงครามยูเครน***

สงครามยูเครนที่อุบัติขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ทำให้มีการหยิบยกกระแสเรื่อง “New World Order” หรือ “ระเบียบโลกใหม่” กลับมาพูดถึงกันอีกครั้ง

โดยมักพูดกันว่าเพราะอเมริกากำลังเสื่อม จึงทำให้รัสเซียเหิมเกริมถึงขั้นกล้าบุกประเทศอื่นแบบโนสนโนแคร์! โลกที่อเมริกาเป็นใหญ่ที่เรารู้จักกันมา 30 ปีหลังสงครามเย็นยุติกำลังสิ้นสุดลง และจีนกำลังก้าวขึ้นมาท้าทายบัลลังก์อันดับ 1 ของโลก! หรือในอีกทางหนึ่งก็ยังมีการพูดกันว่าการที่รัสเซียทำสงครามกับยูเครนนี้ไม่ว่าแพ้หรือชนะก็ทำให้ตนเองเสื่อมลง และต่อไปจะเหลือเพียงจีนกับอเมริกาที่ชิงความเป็นใหญ่กัน

แท้จริงแล้วเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้นยากคาดเดาได้ แต่บทความนี้จะเป็นการรวมการวิเคราะห์ของหลายๆ ฝ่ายมานะครับ


หลังสงครามเย็นเป็นต้นมา สหรัฐได้เป็นมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลกแบบไร้ข้อกังขา ดังนั้นจึงได้ส่งออกความคิดของตนเองไปยังประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลก ระเบียบโลกที่สหรัฐเป็นผู้วางรากฐานและตั้งตนเป็นผู้รักษากฎนี้เรียกว่าเป็น “ระเบียบโลกเสรีนิยม”

ระเบียบโลกเสรีนิยมประกอบด้วยเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ, ความร่วมมือระหว่างประเทศ และในบางทีอาจรวมถึงความเสมอภาคของมนุษย์ด้วย (ยุทธศาสตร์ของสหรัฐในการยอมผูกมิตรกับชาติเผด็จการเพื่อต้านคอมมิวนิสต์ได้ลดดีกรีลงหลังสงครามเย็นสิ้นสุดนะครับ)

ภาพแนบ: ระเบียบโลกของสหรัฐมีคำเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Pax Americana แปลว่า “สันติภาพอเมริกา” หรือเป็นการสื่อว่าอเมริกาเป็นผู้ผดุงระเบียบโลก 

แน่นอนว่าการแผ่อิทธิพลของสหรัฐทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและการทหารย่อมถูกมองด้วยความไม่พอใจจากชาติที่เสียประโยชน์ ประเทศอย่างจีนและรัสเซียซึ่งถูกโจมตีเรื่องเป็นเผด็จการและละเมิดสิทธิมนุษยชนมักโจมตีสหรัฐกลับว่าชอบไปก้าวก่ายกิจการภายใน หรือพยายามยัดเยียดอุดมการณ์ของตัวเองให้กับประเทศอื่นที่ไม่ต้องการเท่านั้น

...คติของสองประเทศนี้มักเป็นไปในแนวทางที่ว่า เราจะแยกการเมืองระหว่างประเทศกับการดำเนินกิจการภายในของชาตินั้นๆ เราพร้อมที่จะมีความสัมพันธ์กับทุกประเทศ โดยไม่เกี่ยงว่ารัฐบาลในขณะนั้นจะปกครองรูปแบบอะไร และปฏิบัติต่อประชาชนในประเทศตัวเองอย่างไร …หากใครไม่คบคุณ เราจะคบเอง… 

*** จุดพลิกผันของระเบียบโลกเสรีนิยม ***
หลังจากสหรัฐก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจขั้วเดียวของโลก ก็คงทำให้ผู้นำสหรัฐรู้สึกลำพองใจว่าตนสามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องสนเสียงจากประเทศอื่น แม้แต่พันธมิตรของตัว

ดังนั้นหลังเกิดเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 เมื่อปี 2001 ประธานาธิบดีบุชผู้ลูกจึงประกาศ “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” ซึ่งปรากฏออกมาในรูปการบุกอัฟกานิสถานปี 2001 และการบุกอิรักปี 2003 ช่วงนั้นบุชยังมั่นใจถึงขั้นขีดเส้นว่า ประเทศอื่นในโลกจะต้องช่วยอเมริกาปราบผู้ก่อการร้าย มิฉะนั้นจะต้องถือเป็นศัตรูของอเมริกาด้วย! มัวะฮ่าฮ่าฮ่า เคี๊ยก เคี๊ยก เคี๊ยก!!!

ภาพแนบ: บุชแถลงนโยบายต่อรัฐสภาปี 2002 ระบุว่า “อักษะแห่งความชั่วร้าย” (Axis of Evil) คือ ประเทศอิรัก อิหร่านและเกาหลีเหนือ เป็นชาติที่สนับสนุนการก่อการร้าย

 แต่อย่างที่เรารู้กัน สงครามต่อต้านการก่อการร้ายดำเนินมาหลายสิบปี เสียงบประมาณระดับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เสียกำลังพลไป 7 พันคน บาดเจ็บอีก 5 หมื่นคน แต่สุดท้ายกลับพบความสำเร็จเพียงการเด็ดหัวบินลาเดน กับการปราบกลุ่ม ISIS (ซึ่งก็ยังต้องร่วมมือกับอีกหลายสิบชาติและชนกลุ่มน้อยอย่างเคิร์ด) ส่วนอิรักกับอัฟกานิสถานนั้นนอกจากไม่สามารถรักษาไว้ได้ ยังเสียให้แก่ขั้วตรงข้าม แถมตัวเองยังได้ศัตรูใหม่ และเสียเพื่อนเก่าไปอีกเพียบ

...ท่านลองคิดดูเถิดว่าถ้าเรื่องราวเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น อเมริกาจะพัฒนาไปถึงไหนต่อไหนแล้ว…

ภาพแนบ: ความวุ่นวายที่สนามบินคาบูลหลังตาลีบันยึดเมืองหลวงได้

และในระหว่างที่สหรัฐกำลังติดหล่มอยู่ในสองประเทศนี้ ชาติมหาอำนาจอื่นๆ ย่อมไม่ได้อยู่เฉยๆ โดยเฉพาะจีนกับรัสเซีย

จีนนั้นมีจีดีพีโตเร็วแบบสองหลักมาทุกปีร่วมสิบกว่าปี แถมยังเร่งพัฒนาด้านการผลิตและเทคโนโลยี จนหลายคนเชื่อว่าในอีกไม่นานเศรษฐกิจจีนจะใหญ่แซงหน้าสหรัฐแน่นอน นอกจากนั้นจีนยังแผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปในประเทศแถบเอเชียและแอฟริกาได้เป็นอันมาก ด้านรัสเซียนั้นเมื่อเปลี่ยนประธานาธิบดีมาเป็นปูติน ก็มีการปฏิรูปเศรษฐกิจจนกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าระเบียบโลกที่สหรัฐเป็นใหญ่อยู่ขั้วเดียวนี้ค่อยๆ ถูกเซาะกร่อนไปเรื่อยๆ จากการกระทำของสหรัฐเอง…

ภาพแนบ: ทิวทัศน์ของเมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าและการเงินที่สำคัญของจีน

*** ระเบียบโลกใหม่: การกลับมาของโลก 2 ขั้วอำนาจ ***

ระเบียบโลกใหม่เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมานานแล้ว นั่นคือการบอกว่าสหรัฐจะถึงวันเสื่อม และจะมีประเทศอื่นก้าวขึ้นมากำหนดระเบียบโลกแทน แต่ที่ผ่านมาสิ่งเหล่านี้ยังไม่เคยเกิดขึ้น จนทำให้เรื่องนี้โดนล้อว่าเป็นเพียงการสาปแช่งอเมริกาด้วยอารมณ์

มาถึงครั้งนี้กระแสเรื่องระเบียบโลกใหม่กลับมาอีกครั้ง และเขาว่ากันว่ารอบนี้น่าจะของจริง (โดยมีผู้เกี่ยวข้องจากฝ่ายตะวันตกออกมาเตือนรัฐบาลของตนมากขึ้นเรื่อยๆ หรือสื่อโกลบอลไทมส์ของทางการจีนที่ประกาศออกมาอย่างมั่นใจว่านี่จะเป็นจุดจบของระเบียบโลกที่ “ไม่แฟร์” แล้วจะเกิดระเบียบโลกใหม่ที่เป็นธรรมมากขึ้น) ดังนั้นเราจึงควรกลับมาทบทวนกันเสียหน่อยว่าระเบียบโลกใหม่จะมีความหมายว่าอะไร

ภาพแนบ: สื่อจีนมองว่าโลกจะต้อนรับระเบียบโลกใหม่ที่จีนหยิบยื่นให้

ช่วงหลังการที่สหรัฐถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถานเมื่อกลางปี 2021 ที่ผ่านมา จนถึงสงครามยูเครนในรอบนี้ ชาติพันธมิตรของสหรัฐหลายประเทศหวั่นๆ ว่าสหรัฐจะสามารถคุ้มครองตัวเองได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไต้หวันที่ถูกจีนข่มขู่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ

ภาพแนบ: ประธานาธิบดีไซ่อิงเหวินของไต้หวันโชว์ใช้อาวุธ

…อย่างไรก็ตามระเบียบโลกใหม่ที่หลายฝ่ายมองก็ไม่ใช่ในรูปแบบของสามหรือสี่ขั้วอำนาจ…

เพราะสงครามยูเครนยังทำให้ทั้งรัสเซียและยุโรปอ่อนแอลง จากเรื่องการคว่ำบาตรและการต้องเพิ่มรายจ่ายทางทหารแทนการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้นยุโรปที่อ่อนแอลงจะไม่สามารถขึ้นมาเป็นขั้วที่ 3 แข่งกับสหรัฐและจีนได้ในอนาคตอันใกล้

รัสเซียเองก็มีเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลงตั้งแต่การถูกคว่ำบาตรหลังผนวกไครเมียในปี 2014 ต่อมาพวกเขายิ่งถูกซ้ำเติมจากการทุ่มงบทำสงครามและการถูกคว่ำบาตรอย่างหนักเป็นประวัติการณ์ จึงไม่อยู่ในสถานะที่จะผงาดขึ้นมาท้าชิงผู้นำโลกกับอีก 2 ประเทศได้นั่นเอง

ภาพแนบ: ทหารเยอรมันเดินสวนสนามในปี 2021

ระเบียบโลกใหม่รอบนี้มักจะถูกมองว่าหมายถึงการหวนกลับคืนสู่สมัยสองขั้วอำนาจแบบช่วงต้นสงครามเย็น โดยมีสหรัฐและจีนเป็นผู้นำคนละฝ่าย เชื่อว่าต่างฝ่ายจะต้องพยายามดึงประเทศอื่นเข้ามาเป็นพวกให้ได้มากที่สุด

แอนเดอส์ รัสมุสเซน (Anders Rasmussen) อดีตนายกรัฐมนตรีเดนมาร์กและเลขาธิการนาโต้ ให้ความเห็นว่า “ระเบียบโลกใหม่ที่โลกแตกออกเป็น 2 ค่ายจะเป็นการพัฒนาการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่เป็นช่วงเวลาที่เราต้องผ่านไปเพื่อกดดันค่ายเผด็จการให้ทำการร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ดีกว่าการเผชิญหน้าเพื่อทำลายล้าง ทั้งสำหรับตัวพวกเขาเองด้วย” รัสมุสเซนยังออกโรงตำหนิฝรั่งเศสและเยอรมนีที่ไม่ช่วยเหลือยูเครนมากกว่านี้ว่าเป็น “จุดอ่อน” ของนาโต้ที่จะทำให้รัสเซียยิ่งได้ใจกว่าเดิม

ระเบียบโลกใหม่ที่ว่านี้จึงอาจเกิดขึ้นมาได้ถ้าสหรัฐอ่อนแอลง และจีนเข้มแข็งขึ้นถึงจุดหนึ่ง จนทำให้โลกแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว


*** ระเบียบโลกใหม่: พลังงานโลก ***

ประเด็นที่ส่งเสริมการที่โลกจะแบ่งเป็นสองขั้วอำนาจอีกอย่างคือประเด็นเรื่องพลังงาน

ที่ผ่านมาการพึ่งพาด้านพลังงานระหว่างยุโรปและรัสเซียเป็นการพึ่งพาในลักษณะน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า แต่มันเพิ่งกลายมาเป็น “อาวุธการเมือง” ในวิกฤตยูเครนรอบปี 2014 หรือในสมัยปูตินนี่เอง โดยปูตินใช้เรื่องพลังงานราคาถูกของรัสเซียเพื่อข่มขู่ชาติยุโรปไม่ให้ขวางรัสเซียอยู่เรื่อยๆ

มาถึงวันนี้ยุโรปได้มาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เมื่อหลายประเทศต้องตัดสินใจว่าจะคว่ำบาตรพลังงานรัสเซียหรือไม่ ในเมื่อราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลเสียต่อค่าครองชีพของประชาชน (และความนิยมของรัฐบาล) และถึงแม้ว่าจะคว่ำบาตรพลังงานได้ 100% ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าปูตินจะยุติความก้าวร้าวและหยุดทำสงครามยูเครนง่ายๆ

ภาพแนบ: ผู้ประท้วงเรียกร้องให้ยุติการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย

อันที่จริงยุโรปมีแผนระยะยาวในการค่อยๆ ลดการพึ่งพาพลังงานรัสเซียและหันไปใช้พลังงานสะอาดอยู่แล้ว แต่การต้องเลื่อนเวลาขึ้นมาให้เร็วขึ้นจากหลักสิบปีเหลือหลักไม่กี่ปีหรือไม่กี่เดือน ทำให้พวกเขาต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ทั้งหมดนี้ทำให้ยุโรปถูกกดดันให้ถอยห่างรัสเซียมากขึ้น

จากนี้ยุโรปคงต้องหันไปซบสหรัฐมากขึ้น ขณะที่รัสเซียก็ต้องหันไปเกาะจีนมากขึ้นเช่นกัน ...ในสงครามยูเครนที่ฉุดรั้งทั้งสหรัฐ ยุโรป และรัสเซียนั้น ...ดูเหมือนจีนจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากสงครามมากที่สุด

ภาพแนบ: แผนที่การพึ่งพาน้ำมันและแก๊สธรรมชาติจากรัสเซียของชาติยุโรป

นอกจากประเด็นการคว่ำบาตรพลังงานรัสเซียแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นประเด็นที่พูดถึงอีก คือ การพยายามถอยห่างจากระบบ “เปโตรดอลลาร์” เนื่องจากที่ผ่านมาสหรัฐพยายามกำหนดให้ประเทศที่ต้องค้าขายน้ำมันกับสหรัฐต้องใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นวิธีหนึ่งที่ทำขึ้นเพื่อควบคุมเศรษฐกิจโลก

แต่ในช่วงหลังนี้ความพยายามของชาติอื่นที่จะแยกตัวเองออกจากระบบเปโตรดอลลาร์เริ่มชัดเจนยิ่งขึ้น เช่นจีนพยายามผลักดันระบบเปโตรหยวนกับรัสเซีย เวเนซุเอลา และอิหร่าน เพื่อให้ประเทศเหล่านี้สามารถค้าขายน้ำมันกับจีนต่อได้โดยไม่ต้องใช้เงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นทางเลี่ยงการคว่ำบาตรด้วย

การนี้แม้แต่พันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐอย่างซาอุดีอาระเบียก็เริ่มชั่งใจว่าจะรับระบบเปโตรหยวนด้วยหรือไม่ เพราะมกุฎราชกุมารบินซัลมานผู้ปกครองซาอุฯ ไม่พอพระทัยที่สหรัฐประณามว่าพระองค์อาจมีเอี่ยวในการสั่งสังหารผู้เห็นต่าง ทั้งหมดนี้ทำให้อเมริกาอ่อนแอลง และจีนเข้มแข็งขึ้น
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 1
*** ระเบียบโลกใหม่: การสิ้นสุดของโลกาภิวัฒน์? ***

ผลกระทบแง่มุมที่ 3 ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 นั่นคือ การที่ชาติต่างๆ ต้องพิจารณาลดการพึ่งพาต่างประเทศ หรือพูดได้อีกอย่างว่า อาจเป็นการสิ้นสุดของโลกาภิวัฒน์ที่เราคุ้นเคยกันมานาน

นับแต่ปี 2008 เป็นต้นมา การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไม่เคยกลับไปแตะระดับก่อนหน้านั้นอีกเลย และที่ผ่านมายังมีความพยายามของสหรัฐในการเตะสกัดคู่แข่งสำคัญอย่างจีน เช่นขัดขวางการส่งออกชิปซึ่งเป็นส่วนประกอบอิเล็กโทรนิกส์ที่สำคัญไปยังจีน

เรื่องใหญ่ในโลก เช่นสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ในสมัยทรัมป์, วิกฤตโควิด, และสงครามยูเครน ทำให้ภาคธุรกิจทั่วโลกปรับตัวเพื่อให้พร้อมรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันมากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงการชะลอการลงทุนในต่างประเทศ แม้ว่าจะมีปัจจัยหนุน เช่น ค่าแรงถูก

ภาพแนบ: ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ซึ่งแออัดหลังทางการสั่งล็อกดาวน์ทำให้ส่งผลกระทบต่อการขนส่งทั่วโลก

ทั้งการคว่ำบาตร การกีดกันทางการค้า และการชะลอการลงทุนที่ผ่านมาส่งผลทำให้โลกแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว ที่ไม่พึ่งพากัน ต่อไปเราอาจได้เห็นประชาชนกว่าครึ่งโลกใช้เทคโนโลยีจากบริษัทอย่างอะเมซอน, กูเกิล, เฟซบุ๊กและเทสลา แต่อีกครึ่งโลกใช้รถยนต์ไร้คนขับจากไป๋ตู้, มือถือหัวเว่ย, ช็อปปิ้งออนไลน์กับอาลีบาบา และเล่นโซเชียลบนวีแชตก็เป็นได้

…นี่เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะที่ผ่านมาทฤษฎีเสรีนิยมสอนว่า ตัวช่วยหนึ่งในการป้องกันสงคราม คือการที่ชาวโลกพึ่งพาอาศัยกัน จนแต่ละฝ่ายมองว่าการทำสงครามเป็นสิ่งที่ “ไม่คุ้มค่า” เพราะถ้าทำสงครามขึ้นมาจริงๆ ทุกฝ่ายก็จะเจ็บกันไปหมด
[img]https://f.ptcdn.info/592/077/000/rdlpnjghoSs8RfQ3XhK -o.jpg[/img]
ภาพแนบ: แผนที่ประเทศสำคัญในห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีโลก

*** ระเบียบโลกใหม่: เขย่าบัลลังก์ดอลลาร์สหรัฐ ***

เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินตราที่ครองโลกมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากในเวลานั้นทุกประเทศทั่วโลกต่างให้การยอมรับในเงินดอลลาร์สหรัฐที่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นทองคำได้ (อีกอย่างเพราะการเก็บทองคำมันยากกว่าเก็บเงินกระดาษด้วย) หลังจากนั้นดอลลาร์สหรัฐจึงเป็นเงินสำรองที่ธนาคารกลางทั่วโลกรักษาไว้ และใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศเรื่อยมา

ในยุคที่อเมริกายังเป็นมหาอำนาจขั้วเดียวนั้น แม้ประธานาธิบดีนิกสันได้ประกาศถอนดอลลาร์สหรัฐออกจากมาตรฐานทองคำ ซึ่งแปลว่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะแลกเปลี่ยนเป็นทองคำไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ธนาคารกลางทุกประเทศจึงตัดสินใจว่าจะต้องทำอะไรซักอย่าง! พวกเขาจึง...

…ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐต่อไป เพราะมันไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า…

ภาพแนบ: นิกสันประกาศถอนตัวจากมาตรฐานทองคำ

ใช่ครับ ทุกวันนี้แม้เงินดอลลาร์สหรัฐจะไม่ยึดติดกับทองคำอีกแล้ว แต่ทุกประเทศก็ยังคงใช้เงินดอลลาร์สหรัฐต่อไป ใช้ทั้งในการค้าขายระหว่างประเทศ ใช้ทั้งเป็นทุนสำรองเงินตรา ใช้ทั้งเพื่อตรึงราคาค่าเงิน หรือบางประเทศยังใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนในประเทศเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามการตัดบางประเทศออกจากระบบดอลลาร์สหรัฐเพื่อเป็นการลงโทษ เช่น การตัดออกจากระบบโอนเงินระหว่างธนาคารสวิฟต์ (SWIFT) ที่ต้องใช้ดอลลาร์สหรัฐนั้น กลับทำให้เกิดผลกระทบที่อาจคาดไม่ถึงขึ้นมา นั่นคือ บางประเทศต่างคิดหาทางที่จะไม่ต้องพึ่งพาระบบดอลลาร์สหรัฐต่อไป


สิ่งที่ปรากฏขึ้นมาแล้ว เช่น ระบบโอนเงินผ่านธนาคาร CIPS ของจีน และระบบหยวนดิจิทัล ที่จีนใช้เป็นตัวตั้งตัวตีในการหาประเทศอื่นเข้าร่วมด้วย หรือแม้แต่คริปโตเคอร์เรนซีที่เอกชนออกแบบมาเพื่อหวังว่าอนาคตโลกจะใช้ระบบเงินตราที่ไม่มีรัฐบาลใดควบคุมได้ก็ยังเป็นสิ่งที่เขย่าบัลลังค์อเมริกาอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ยังมีความกังวลมากขึ้นสืบเนื่องจากการอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลรัสเซียเพื่อเป็นการลงโทษ ทำให้เริ่มมีการพูดคุยกันถึงความกังวลว่าสหรัฐอาจใช้มาตรการนี้กับประเทศอื่นด้วย และทำให้อาจมีความพยายามลดการพึ่งพาระบบธนาคารสหรัฐในอนาคต


ดังนั้นด้วยปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน …ในอนาคตเราอาจเห็นบทบาทของดอลลาร์สหรัฐลดลง และมีการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ เพื่อท้าทายสกุลเงินที่ครองโลกมาร่วม 80 ปี

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าทั้งหมดนี้ยังอีกไกลกว่าการโค่นบัลลังก์ดอลลาร์สหรัฐจะสำเร็จจริง เพราะธุรกรรมระหว่างประเทศกว่าร้อยละ 90 และเงินสำรองธนาคารทั่วโลกกว่าร้อยละ 60 ยังคงใช้เงินดอลลาร์สหรัฐอยู่

ภาพแนบ: ลุงเบนอยู่ได้ทุกที่

แม้ทั้งหมดนี้ทำให้อเมริกาอ่อนแอลง และจีนเข้มแข็งขึ้น แต่ว่ากันตามเนื้อผ้าแล้วขั้วของสหรัฐก็ยังคงเป็นขั้วที่เข้มแข็งกว่าจีนมาก เพราะยังมีพันธมิตรมากกว่ามาก และแม้ว่าขั้วจีนจะดูเข้มแข็งขึ้น แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไปเรากลับเห็นความเปราะบางภายในหลายอย่าง

เช่นจีนกับรัสเซียที่ควรจะรักกันเพื่อต้านอเมริกานั้น พอถึงเวลารัสเซียมีปัญหาจริงจีนกลับไม่ได้ช่วยมากขนาดนั้น แถมยังเริ่มมีการพูดถึงประเด็นที่ว่าจีนอาจต้องการดินแดนไซบีเรียบางส่วนที่เคยเสียให้รัสเซียกลับคืนมาอีกด้วย!

เรื่องที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ สงครามยูเครนที่ยืดเยื้อนั้นส่งผลเสียต่อข้อริเริ่มเข็มขัดและเส้นทาง (BRI) ซึ่งจีนต้องการใช้เพื่อระบายสินค้าไปยังยุโรปอันเป็นลูกค้ารายใหญ่


การรักษาเส้นทางการค้าทางบกนี้มีความสำคัญต่อจีน โดยเฉพาะเมื่อต้องแย่งชิงความเป็นใหญ่กับสหรัฐ ที่มาขวางทางอยู่ทั้งในทะเลจีนใต้และช่องแคบสำคัญอย่างมะละกาและฮอร์มุซ

จีนยังไม่อยากผิดใจกับยูเครนเกินไป เพราะยูเครนก็อยู่ในเส้นทาง BRI ด้วย

หรืออีกเหตุผลหนึ่ง จะเป็นไปได้ไหมว่าลึกๆ แล้ว จีนเองก็รู้ว่ารัสเซียที่อ่อนแอลงและถูกตะวันตกหมายหัวนั้น ไม่ได้มีประโยชน์ต่อตนเองขนาดนั้น? และการคบกับรัสเซียออกนอกหน้าในเวลานี้ย่อมถูกรังเกียจจากตะวันตกด้วย

...ซึ่งจีนคงยังไม่พร้อมแตกหักกับตะวันตกในเวลานี้…

ภาพแนบ: แผนเข็มขัดและเส้นทางในเอเชีย แอฟริกาและยุโรป

การแตกออกเป็นสองขั้วอำนาจอาจไม่เด็ดขาดเหมือนสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น เพราะประเทศต่างๆ มีแนวโน้มว่าจะ “คุยได้กับหลายๆ ฝ่าย” เช่น ไทยนั้นขณะที่มีความร่วมมือหลายอย่างกับจีน แต่ก็ยังต้อนรับการสนับสนุนของอเมริกา และอินเดียที่ชัดว่าไม่ญาติดีกับจีนแน่ แต่ก็ไม่ได้อยากจะร่วมมือกับสหรัฐทั้งหมดเช่นเดียวกัน

ประเทศที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองมหาอำนาจจะต้องพยายามรักษาความสัมพันธ์กับฝ่ายต่างๆ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ ขณะที่ชาติมหาอำนาจจะยิ่งพยายามเข้าหาเพื่อดึงเข้ามาเป็นพวกด้วย ซึ่งนี่อาจจะเป็นธีมที่ลากยาวต่อไปในอนาคต


*** บทส่งท้าย ***

ทั้ง 4 แง่มุมของระเบียบโลกใหม่ที่มีการนำมาวิเคราะห์ในบทความนี้ ได้แก่ ระบบ 2 ขั้วอำนาจ, การเปลี่ยนแปลงของระบบพลังงานโลก, การสิ้นสุดของโลกาภิวัฒน์ และการเกิดขึ้นของระบบการเงินเพื่อทดแทนดอลลาร์สหรัฐ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสมมติฐานของสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น แต่นี่จะเป็นบททดสอบสำคัญของผู้นำและทีมเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐและจีน ว่าจะสามารถเอาชนะอีกฝ่ายได้หรือไม่

ประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่ได้มาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้ง โดยมีอนาคตของคนทั่วโลกเป็นเดิมพัน!

:: อ้างอิง :::

- ips-journal (ดอต) eu/topics/economy-and-ecology/the-return-of-geo-economics-5874/
- socialeurope (ดอต) eu/the-coming-world-order
- newsweek (ดอต) com/russia-war-ukraine-highlights-new-world-order-china-nato-head-anders-fogh-rasmussen-1714192
- globaltimes (ดอต) cn/page/202205/1265651 (ดอต) shtml
- thehill (ดอต) com/opinion/international/3261907-chinas-long-game-with-russia/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่