แก้ปัญหาไขข้อพลาดๆ จากการทาสีแบบเดิมๆ

เลือกสีไม่ง่าย แต่ไม่ยากถ้าเข้าใจแสง

หลายคนเจอปัญหาเลือกสีที่ชอบแต่ทาแล้วไม่ใช่!! ทำอย่างไรล่ะทีนี้ ถ้าไม่อยากเจอปัญหาแบบนี้แนะนำให้ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ ลองนำสีที่ชอบไปเทียบกับแสงที่ใกล้เคียงกับแสงในห้องที่ต้องการทาสีมากที่สุดดูก่อน สีหนึ่งๆ มีหลายเฉดอาจจะได้ตรงใจสักเฉด หรือหากไม่ได้เลยยังสามารถเปลี่ยนใจเลือกสีใหม่ที่ไฉไลกว่าได้ทัน เพราะแสงไฟแต่ละที่ไม่เหมือนกัน จึงทำให้เห็นเฉดสีที่ต่างกันออกไป

สีเงาจะทำให้เห็นความไม่เรียบร้อยของร่อยรอยผนังได้ง่าย สีด้านจะกลมกลืนแสงสะท้อนได้ดีกว่าทำให้มองไม่ค่อยเห็นความไม่เรียบร้อยต่างๆ ของผนัง แต่ทำให้สกปรกได้ง่ายกว่า และสีกึ่งเงาลดทอนในข้อเสียของสีทั้งสองแบบแรก และยังเช็ดล้างได้โดยไม่เกิดคราบสกปรกง่ายด้วย แต่ราคาจะสูงกว่าสีทั่วไป

เตรียมพื้นที่ก่อนเริ่มทาสี

การเตรียมพื้นที่ก่อนเริ่มทาสีเป็นขั้นตอนนี้มักถูกละเลย หารู้ไม่สีจะสวย ไม่สวย เรียบเนียน คงทนหรือไม่ ขั้นตอนนี้พิสูจน์ได้เลย การเตรียมพื้นที่เริ่มจากใช้กระดาษทรายขัดผนังสีเดิมให้ทั่ว หรือใช้น้ำยาลอกสีเคลือบเงาผนังก็รวดเร็วทันใจดี จากนั้นทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างจานหรือผงซักฟอก ทิ้งไว้ให้แห้ง หากพบว่ามีรอยแตกร้าว แตกลายงา เป็นร่องขรุขระ ควรโป๊วด้วยเคมีภัณฑ์อะครีลิคให้เรียบเสมอกันเสียก่อน (ช่างสีส่วนใหญ่ใช้ผงยิปซั่มซึ่งไม่คงทนเท่าที่ควร) ปล่อยทิ้งให้แห้งสักหนึ่งวันค่อยเริ่มขั้นตอนทาสี

หากผนังส่วนใดมีเชื้อราแค่การขัดล้างธรรมดาด้วยน้ำยาล้างจานหรือผงซักฟอกไม่เพียงพอ เพื่อความชัวร์ในการทาสีให้ได้สมบูรณ์แบบโดยเจ้าเชื้อราไม่กลับมาขึ้นอีกอย่างแน่นอน ควรทาน้ำยากำจัดเชื้อราก่อนเริ่มทาสี

เช็คสภาพอากาศ

สีจะแห้งสนิทดี และเร็วเมื่ออากาศร้อนหน่อยๆ ซึ่งทำให้เราทำงานง่ายสะดวก ช่วงเวลาที่เหมาะกับการวางแผนทาสีบ้านแนะนำเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน – เมษายนของปี เพราะสภาพอากาศในช่วงนี้จะมีความชื่นต่ำ ทำให้สีที่ทาแห้งได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่ควรทาสีในสภาพอากาศที่ร้อนจัดเกินไป โดยเฉพาะการทาสีภายนอกอาคารเพราะทำให้การทำงานไม่สะดวกสบาย ทำให้เกิดฟองอากาศจากสีบนแปรงที่แห้งเร็วเกินไป หลีกเลี่ยงการทาสีในวันที่ฝนตก หรือหลังฝนตกทันที เพราะความชื้นในอากาศจะทำให้คุณภาพการยึดเกาะของสีกับผนังได้ไม่ดี สีแห้งช้าทำให้สีโปร่งพอง หลุดล่อน และอาจเกิดเชื้อราตามมาอีกด้วย ไม่ควรทาสีในวันที่มีลมแรงจะทำให้ฝุ่นผงในอากาศปลิวมาติดผนังที่ทาสีไว้ให้เปรอะเปื้อนได้

ขนาดของแปรงและลูกกลิ้ง

การทาสีผนังนั้นให้เริ่มจากด้านบนลงด้านล่าง หาหนังสือเก่าปูบนพื้นให้ทั่วป้องกันสีหยดเลอะเทอะ เลือกอุปกรณ์ทาสี อย่าง แปรงและลูกกลิ้งตามขนาดให้เหมาะกับพื้นที่ที่จะทาสี ลูกกลิ้งเหมาะกับการทาสีบนพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่ไม่ควรใช้ลูกกลิ้งทาสีติดขอบผนังและขอบเพดานอาจทำให้สีเปื้อนได้ อาจหาเทปกาวมาติดกันเปื้อน หรือใช้ลูกกลิ้งทาสีฉะเพราะส่วนตรงกลางแล้วใช้แปรงทาสีเก็บรายละเอียดของสีเพิ่มตามขอบต่างๆ ส่วนแปรงเลือกใช้ตามขนาดพื้นที่ให้เหมาะสม แปรงเล็กเหมาะกับขอบผนัง ขอบเพดาน บัว ปลั๊กไฟ ขอบหน้าต่าง ขอบประตู และควรหาเทปกาวมาติดไว้กันเลอะด้วยก็จะเป็นการดี และหากใครชอบให้มีลวดลาย ลูกกลิ้งทำลวดลายมีหลายแบบให้เลือก

การรอคอยที่คุ้มค่า

มีคนคิดว่าทาสีหลายๆ รอบ ดีที่สุด จริงไหม? ซึ่งการทาสีให้สวยมีหลายปัจจัย ซึ่งต้องพิจารณาตามพื้นที่ด้วย แต่ถ้าเตรียมพื้นผิวไว้ดีแล้วทาแค่ 3 รอบถือว่าเพียงพอประหยัดไม่สิ้นเปลือง ส่วนขั้นตอนการทาสีก็ไม่ยาก มีขั้นตอนง่ายๆ ให้ทารองพื้น 1 รอบ และสีทับหน้า 2 รอบก็พอ การทาสีที่ดีคือทารองพื้นแล้วปล่อยให้แห้ง 2 – 4 ชั่วโมง (ถ้าเป็นพื้นปูนเก่า ควรเลือกสีรองพื้นปูนเก่าสูตรน้ำมัน เพื่อเสริมการยึดเกาะสีเก่ากับผนังได้ดียิ่งขึ้น แล้วทิ้งไว้ประมาณ 12 ชั่วโมง) จากนั้นค่อยทาสีทับหน้ารอบที่ 1 แล้วปล่อยให้แห้งสนิทก่อน (ระยะเวลาแห้งของสีทับหน้าขึ้นอยู่กับคุณภาพสีที่เลือก ถ้าเลือกแบบแห้งไว 2 – 3 ชั่วโมง แต่ราคาจะสูงกว่าสีทั่วไป) แล้วค่อยทาสีทับหน้ารอบที่ 2 แล้วปล่อยให้แห้งสนิท เท่านี้ก็จะได้ผนังสีที่เรียบสวย หรือถ้าต้องตกแต่งลวดลายเพิ่มความแตกต่าง สามารถทาสีรอบที่ 4 เฉพาะบริเวณลวดลายที่สร้างได้ให้ความนูนอย่างมีมิติอีกด้วย

หากจำเป็นต้องใช้สีเดียวกันหลายๆ กระป๋อง ควรนำสีทุกกระป๋องมาผสมให้เข้ากันก่อนนำไปใช้ เพื่อจะได้สีที่สม่ำเสมอกัน

ข้อผิดพลาดที่มักถูกละเลย

แพลบๆ มือสมัครเล่นหลายคนพลาดตรงนี้ เมื่อแบ่งสีออกไปทามักลืมปิดฝากระป๋อง จึงทำให้สีที่หลือแห้งเร็ว และอุบัติเหตุอื่นๆ มักเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นควรปิดกระป๋องสีทุกครั้งไม่ให้สีแห้งเร็วและป้องกันคนอื่นเดินมาชนกระป๋องสีหกเลอะเทอะด้วย

แพลบๆ หากสีเหลือจากการทาสีเต็มพื้นที่แล้ว สามารถเก็บสีที่เหลือไว้ได้อีกระยะหนึ่ง นำไปใช้ซ่อมแซมบางส่วนที่อาจเกิดความเสียหายหลังจากทาไปได้ไม่นานหรือใช้ทาสีส่วนอื่นๆ ในภายหลังก็ได้ จึงไม่ควรเก็บสีไว้ในที่ร้อนและเย็นจนเกินไปจะทำให้สีเสียก่อนกำหนด หรือจับตัวกันเป็นก้อน ที่ที่มีอากาศอุณหภูมิห้องเหมาะสมที่สุดในการเก็บสี

แพลบๆ บางคนคิดว่าการจุ่มแปรงทาสีทั้งอันกับในกระป๋องสี จะทำให้ทาสีได้เร็วขึ้นหรือเรียบเนียน ง่ายแบบไม่ต้องจุ่มสีบ่อยๆ ตรงข้ามการกระทำนั้นยิ่งทำให้มีเนื้อสีเยอะเต็มล้นแปรง ทำให้มีโอกาสสีหยดเลอะง่ายกว่า บางครั้งอาจทำให้ทาแล้วเป็นเส้นรอยแปรง สีไม่สม่ำเสมอ แถมสิ้นเปลืองสีอีกด้วย ดังนั้นใช้จุ่มแค่ปลายถึงกึ่งกลางแปรงก็พอแล้ว

แพลบๆ เดี๋ยวนี้งานสีกับงานศิลปะใกล้กันนิดเดียว ช่างที่มีฝีมือหรือแม้แต่มือสมัครเล่นหัดทดลองก็ใช้แรงบันดาลใจในการสร้างสีสันใส่ลวดลายทาบนกำแพงได้ แต่ลืมไปว่าศิลปินเขามีจานหลุมไว้แบ่งสี มีขั้นตอนการลงสีที่บางครั้งไม่ต้องล้างพู่กันก็รังสรรค์งานชิ้นเอกได้ แต่งานทาสีนั้นต่างออกไป ดังนั้นจึงควรระวังไม่แนะนำให้ทาสีหลายๆ สีพร้อมๆ กัน เพราะโอกาสที่ใช้แปรงจุ่มสีผิดมีมากทีเดียว

แพลบๆ การประหยัดเป็นสิ่งดี แต่ถ้าซื้อสีเท่าจำนวนพื้นที่ที่ต้องการทาพอดิบพอดีมักไม่ดีแน่ หากทาแล้วสีไม่พอ ต้องเดินทางไปซื้อใหม่จะเกิดความสิ้นเปลืองกว่า จึงควรซื้อสีมากกว่าจำนวนพื้นที่สัก 5 – 10 %

แพลบๆ ระหว่างทาสี ประตู หน้าต่างควรเปิดให้หมดเพื่ออากาศถ่ายเทได้สะดวก และผู้ทาก็หายใจได้โล่งจมูกขึ้นด้วย


HomeGuru by HomePro
อุ่นใจทุกเรื่องบ้านไปกับโฮมโปร และติดตามเคล็ดลับดีๆ เพื่อบ้านได้ทาง http://bit.ly/HomeGuru_Homepro
และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปัญหาเรื่องบ้านกับ HomeGuru เพิ่มเติมได้ทาง https://bit.ly/3dQm4XE
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่