ม.วลัยลักษณ์ จับมือ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ลงนาม MOU พัฒนาศักยภาพด้านพฤกษศาสตร์และการอนุรักษ์ทรัพยากรพืช

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ เพื่อพัฒนาหน่วยงานทั้งสองให้มีศักยภาพทางสูงด้านพฤกษศาสตร์และการอนุรักษ์ทรัพยากรพืช พัฒนางานวิจัยและต่อยอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ
          ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อพัฒนาศักยภาพทางด้านพฤกษศาสตร์และการอนุรักษ์ทรัพยากรพืช กับนายพรชัย หาญยืนยงสกุล รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ (อสพ.) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี มวล.และดร.ปิยเกษตร สุขสถาน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสวนพฤกษศาสตร์ อสพ. ลงนามเป็นพยาน เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 ณ ห้องประชุมเขาหลวง อาคารสหกิจศึกษา มวล.
           โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี  เปิดเผยว่า มวล.ได้จัดตั้งอุทยานพฤกษศาสตร์ โดยกำหนดให้เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ ภายในพื้นที่ประมาณ 1,350 ไร่ โดยมุ่งเน้นการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์พืชวงศ์ต่าง ๆ รวมทั้งการจัดทำสวนสมุนไพร สวนรวบรวมพันธุ์กล้วย โดมกระบอกเพชร และเรือนหม้อข้าวหม้อแกงลิง ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2565 อุทยานพฤกษศาสตร์ ได้รับดำเนินการจัดทำสวนรวบรวมพันธุ์ไผ่ การจัดทำโรงเรือนจัดแสดงกล้วยไม้ และการจัดทำโรงเรือนรวบรวมพรรณไม้ชนิดต่างๆ ควบคู่ไปกับการจัดทำเส้นทางศึกษาพันธุ์ไม้และธรรมชาติในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัย ที่สอดคล้องกับระบบนิเวศของพื้นที่อุทยานพฤกษศาสตร์ ทั้งนี้ยังมีบริการที่พัก ห้องประชุม และลานกางเต็นท์ รวมทั้งพื้นที่อาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเทพรัตนราชสุดาฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่จัดแสดงองค์ความรู้ ทั้งทางด้านทรัพยากรชีวภาพ กายภาพ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติที่งดงาม เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่สร้างสุนทรียภาพและจิดสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีศักยภาพโดดเด่น ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตและเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศไทย ทั้งนี้อุทยานพฤกษศาสตร์ได้สมัครสมาชิกของ Botanic Gardens Conservation International (BGCI) และการดำเนินการเพื่อขอรับรองมาตรฐานสวนพฤกษศาสตร์โลก BGCI สหราชอาณาจักร ซึ่งจะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายงานพฤกษศาสตร์ที่ได้มาตรฐานต่อไป
          ด้าน นายพรชัย หาญยืนยงสกุล รักษาการแทนผู้อำนวยการ อสพ. กล่าวว่า อสพ.เป็นหน่วยงนสำคัญของประเทศ มีภารกิจสำคัญในการบริหารกิจการด้านสวนพฤกษศาสตร์ ให้เป็นสถาบันทางวิชาการด้านพืช ที่รวบรวมพันธุ์พืชอย่างเป็นระบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาวิจัย การอนุรักษ์นอกถิ่นกำเนิด การจัดแสดงการเป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่ความรู้ให้แก่สาธารณชน ซึ่ง อสพ. ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีและมีความร่วมมือด้านวิชาการ ในการผลิตบุคลากรด้านพฤกษศาสตร์ เพื่อรองรับการดำเนินงานด้านการศึกษาและการวิจัยด้านพฤกษศาสตร์ และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่ดีในการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการดำเนินงานทั้งในด้านบุคลากร การศึกษาวิจัย ตลอดจนการพัฒนางานด้านสวนพฤกษศาสตร์ ที่เป็นคุณประโยชน์แก่ประชาชน และประเทศชาติต่อไป
          สำหรับวัตถุประสงค์ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ มวล. และ อสพ. ตกลงร่วมกันที่จะพัฒนาหน่วยงานทั้งสองให้มีศักยภาพขั้นสูงทางด้านพฤกษศาสตร์และการอนุรักษ์ทรัพยากรพืชอันจะทำให้เกิดความรู้ และการต่อยอดองค์ความรู้ ภายใต้หลักการด้านการพัฒนาบุคลากร งานวิจัย คุณภาพบัณฑิต และการพัฒนางานสวนพฤกษศาสตร์ มวล.โดยบันทึกข้อตกลงนี้มีระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันลงนามเป็นต้นไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่