อดีตผู้ว่าสตง.สอนมวยผอ.สำนักพุทธฯ

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้ตรวจเงินแผ่นดินภาคประชาชน ได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายนที่ผ่านมา ถึงเรื่องการปฏิบัติราชการที่ขาดหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) และยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนอีกด้วย
            ในหนังสือฉบับดังกล่าว นายพิศิษฐ์ระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้เคยมีหนังสือสอบถามผอ.สำนักพุทธฯถึงเหตุผลการเลือกปฏิบัติในการแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีกับวัดบางวัดอย่างมีอคติ และต่อมาได้รับหนังสือตอบจากผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติโดยอ้างว่านายกรัฐมนตรีได้ตอบกระทู้ถามส.ส.เรื่องดังกล่าวไปแล้วนั้น ซึ่งการตอบหนังสือเช่นนี้เป็นการตอบในลักษณะเบี่ยงเบนประเด็นที่จงใจจะไม่กล่าวถึงสาระสำคัญ อีกทั้งยังขาดทักษะ ตลอดจนความเข้าใจที่ถูกต้องในการปฏิบัติราชการ จึงจำเป็นต้องชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดบกพร่องของการปฏิบัติราชการในสำนักพุทธฯที่ปรากฏชัดเจนตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ เป็นต้นมาดังนี้
            ๑) สำนักพุทธฯขาดความรอบรู้อย่างชัดเจนในกิจการพระพุทธศาสนาและการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่รู้หน้าที่ของตนที่จะต้องอุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนา โดยต้องยึดหลักพระธรรมวินัยของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด แต่พฤติการณ์ที่ปรากฏตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ เป็นต้นมา หน่วยงานราชการแห่งนี้กลับกลายเป็นหน่วยงานที่กล่าวหาพระเถระตามพระอารามหลวงต่างๆ อย่างมีวาระซ่อนเร้นเต็มไปด้วยอคติส่วนตน ดังเช่นกรณีที่ไปกล่าวหาพระเถระชั้นผู้ใหญ่ตามพระอารามหลวงต่างๆ ที่แฝงไว้ด้วยความมีเลศนัย โดยมิได้มีการหารือเจ้าคณะผู้ปกครองให้สามารถดำเนินการตามขั้นตอนของพระธรรมวินัยอย่างรอบคอบถี่ถ้วนให้เป็นที่ยุติเสียก่อน แล้วจึงจะเข้าไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน การจงใจข้ามขั้นตอนในส่วนนี้ จึงเป็นการส่อแสดงถึงความมีวาระซ่อนเร้นบนความมีอคติส่วนตน ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งนี้จะต้องไม่ปฏิบัติเยี่ยงนี้
            ๒) การกล่าวอ้างถึงการตอบกระทู้ถามของนายกรัฐมนตรีที่ตอบกระทู้ถามของส.ส.แล้วนำมาใช้เป็นการตอบในหนังสือที่ถามไปในทางราชการนั้น ผอ.สำนักพุทธฯทราบหรือไม่ว่า การตอบกระทู้ถามเป็นเรื่องทางการเมืองในวงงานของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนเรื่องที่นายพิศิษฐ์ถามไปนั้นเป็นเรื่องที่ได้ถามไปในทางราชการ จึงไม่สมควรที่จะนำเรื่องทางการเมืองมาใช้เป็นข้ออ้างในการตอบหนังสือทางราชการ พฤติการณ์แบบนี้จึงเป็นการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนในข้อ ๒ (๒) ที่ได้กำหนดไว้ในวรรคท้ายของข้อนี้ว่า “...รับผิดชอบต่อหน้าที่ มีความพร้อมรับการตรวจสอบและรับผิด มีจิตสำนึกที่ดี โดยคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”
            ๓) การปฏิบัติหน้าที่ราชการที่ไม่รอบรู้ในหน้าที่ของตน ทั้งที่มีการกำหนดไว้แล้วตามระเบียบการบริหารราชการและยังไม่ประสีประสากับโบราณราชประเพณีในด้านการพระพุทธศาสนา จึงเป็นผลทำให้สำนักพุทธฯในปัจจุบันถูกครอบงำจากผู้มีอำนาจแฝงนอกระบบราชการเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป จนทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายเกิดขึ้นในหมู่คณะผู้ปกครองสงฆ์หลายระดับดังปรากฏเหตุการณ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากหลายๆจังหวัดเมื่อไม่นานมานี้ วงการคณะสงฆ์จึงเกิดมีคำถามว่า ผอ.สำนักพุทธฯจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร
            ๔) ผอ.สำนักพุทธฯเคยทราบมาก่อนหรือไม่ว่า คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้มีประกาศประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนที่ลงนามโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.พ.เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ มีผลใช้บังคับในวันถัดไป จนถึงขณะนี้เป็นเวลาเกือบ ๑ ปี ข้อเท็จจริงปรากฏว่า สำนักพุทธฯเป็นหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งที่มีการปฏิบัติราชการฝ่าฝืนข้อกำหนดในประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนดังกล่าวในหลายๆข้ออย่างต่อเนื่องตลอดมา ประกอบด้วย ข้อ ๒ วรรคท้ายที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว ข้อ๓ วรรคท้ายที่ได้กำหนดว่า “...ใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติ และไม่ยอมกระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมเพียงเพื่อรักษาประโยชน์หรือสถานภาพของตนเอง” ข้อ ๖ ที่กำหนดไว้ว่า “ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม ปราศจากอคติและไม่เลือกปฏิบัติโดยการใช้ความรู้สึกหรือความสัมพันธ์ส่วนตัว...” และข้อ ๗ กำหนดว่า “...ไม่อ้างหรือใช้อำนาจโดยปราศจากเหตุผล...” และเมื่อมีการฝ่าฝืนอยู่เนืองๆ โดยไม่นำพาต่อประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนอาจเป็นเหตุให้มีผู้ร้องให้สอบสวนเอาความผิดทางวินัยข้าราชการและ/หรืออาจเลยไปถึงการขอให้ดำเนินการเอาความผิดที่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ อีกทางหนึ่งด้วย
            ๕) นับตั้งแต่มีการจัดตั้งสำนักพุทธฯขึ้นมาทำหน้าที่แทนกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการแต่เดิม ปรากฏว่าได้สร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นในหมู่คณะสงฆ์จนทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความเสื่อมศรัทธา เหตุเพราะมีปัจจัยหลักจากการที่ผู้มาดำรงตำแหน่ง   ผอ.สำนักพุทธฯที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมิได้ปฏิบัติราชการสนองตอบต่อเจตนารมณ์ในการตั้งส่วนงานราชการแห่งนี้ ดังนั้นในฐานะที่ผอ.สำนักพุทธฯดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาเถรสมาคมตามที่กฎหมายกำหนดอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งรีบแก้ไขข้อบกพร่องประการสำคัญนี้อย่างเร่งด่วน โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งผอ.สำนักพุทธฯดังนี้
            ๕.๑ เป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเป็นที่ประจักษ์ปราศจากข้อสงสัย
            ๕.๒ เป็นผู้ที่เคยผ่านการบวชเรียนมาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ พรรษา และผ่านการสอบเปรียญธรรมไม่น้อยกว่า ๖ ประโยค
            ๕.๓ เป็นผู้ที่มหาเถรสมาคมมีมติให้ความเห็นชอบ....
ที่มา : เว็บไซต์ นสพ.บ้านเมือง
            อ่านจบ...ผมได้ยินเสียงตบหน้าดังฉาดใหญ่เลยครับ....
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่