กระดูกพรุนไม่ใช่แค่กรรมพันธุ์ แต่ยังเกิดจากพฤติกรรมได้ด้วย



โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือโรคที่ความหนาแน่นและมวลกระดูกลดลง จนทำให้กระดูกเปราะบาง พรุน และแตกหักง่าย ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคกระดูกพรุนนั้น นอกจากพันธุกรรมแล้วยังเกิดจากพฤติกรรมได้อีกด้วย

8 ปัจจัยเสี่ยงโรคกระดูกพรุน

1. อายุ ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุนมากขึ้น เนื่องจากการดูดซึมแคลเซียมในร่างกายลดลงและมีอัตราการสลายกระดูกที่มากขึ้น
2. เพศ พบผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี และผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง
3. รูปร่างผอมบาง คนที่น้ำหนักตัวน้อย มีความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนมากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวตามเกณฑ์มาตรฐาน
4. ครอบครัว หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน หรือกระดูกหักง่าย จะยิ่งมีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนมากขึ้น
5. กระดูกหักง่าย หากมีภาวะกระดูกแตกหรือหักง่ายจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง โดยเฉพาะในช่วงที่อายุยังน้อยอาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุนได้
6. สูบบุหรี่ โดยสารนิโคตินมีผลลบโดยตรงต่อเซลล์ที่ช่วยสร้างกระดูก ส่งผลให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลงและเกิดโรคกระดูกพรุนได้
7. แอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องมากกว่า 3 ยูนิต ต่อวัน มีผลต่อการทำงานของตับ ทำให้การสร้างวิตามินดีซึ่งช่วยในการดูดซึมแคลเซียมลดลง ส่งผลให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูก และยังมีผลต่อการทรงตัวทำให้หกล้มง่าย
8. ยา ยาบางชนิดส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพิ่มการสลายของกระดูก เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาลดกรดในกระเพาะ ยากันชัก เป็นต้น

หากพบว่าตัวเองหรือคนในครอบครับที่มีอายุ > 50 ปีร่วมกับมีความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน ควรเข้ารับการตรวจความหนาแน่นของกระดูกอย่างน้อยทุก 2 ปี เพื่อป้องกันและรักษาอย่างทันท่วงที ก่อนที่จะเกิดกระดูกหักง่าย

ข้อมูลโดย นพ. ธนวัฒน์ อำพันทรัพย์ ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อทั่วไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่