ตั้งแต่เด็ก ผู้กำกับ จอน วัตต์ส มักฝันซ้ำซากถึงเหตุการณ์หนึ่งมาโดยตลอด ในความฝัน ตัวเขาในวัย 10 ขวบกำลังนั่งอยู่บนรถของแม่ที่เบาะหน้าข้างคนขับ เพียงแต่คนขับคือ ทราวิส เพื่อนซี้วัยเดียวกัน หาใช่มารดาบังเกิดเกล้าไม่ ระหว่างที่ทราวิสพาเขาขับรถตะลอนเมืองเล็กๆ ทั้งคู่ก็สวนทางกับบรรดาเพื่อนบ้านหน้าคุ้น แต่กลับไม่มีใครเข้ามาหยุดรถของพวกเขาเลย ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่การกระทำอันสมควรของเด็กตัวจ้อย
“ผมกังวลแทบประสาทเสีย” วัตต์สเล่า “ผิดกับทราวิสที่เพลินไม่ใช่เล่น แถมยังเร่งความเร็วขึ้นเรื่อยๆ จนผมสะดุ้งตื่นด้วยความกลัวว่ารถจะชนโครมกับอะไรเข้าให้” ปลายปี 2013 วัตต์สเล่าความฝันนี้ให้ คริสโตเฟอร์ ฟอร์ด มือเขียนบท Robert & Frank (2012, เจค ชเรียร์) และ Clown (2014, วัตต์ส) ฟัง พลางเสริมไอเดียว่า “เรื่องคงเจ๋งเนอะ ถ้ารถคันนั้นเป็นรถตำรวจ” ฟอร์ดจึงเอ่ยกลับว่า “ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นเจ้าของรถตำรวจคันนั้นล่ะ?”
วัตต์ส (ตรงกลาง) ขณะกำกับ Clown
บิงโก! “ตอนนั้นผมรู้ทันทีเลยว่า เราได้หนังเรื่องใหม่แล้ว” วัตต์สบอก และนับแต่วินาทีนั้น โปรเจ็กต์ที่มาจากความฝันตรรกะเพี้ยนๆ ก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง จนกลายเป็น Cop Car (2015) หนังธริลเลอร์ขวัญใจซันแดนซ์ที่เล่ามหกรรมความอลหม่านซึ่งประดังประเดใส่สองเด็กชายจอมแก่นวัย 10 ขวบนาม ทราวิส กับ แฮร์ริสัน (รับบทโดย เจมส์ ฟรีดสัน-แจ็คสัน กับ เฮย์ส เวลล์ฟอร์ด) หลังจากพวกเขาบังเอิญเจอรถตำรวจจอดทิ้งไว้กลางทุ่งโล่งพร้อมกุญแจเสียบคาอยู่ ด้วยความคึกคะนอง ทั้งสองจึงตัดสินใจขึ้นไปลองสตาร์ตแล้วขับมันออกถนน โดยนึกไม่ถึงว่าจะต้องเผชิญหน้ากับเกมแมวจับหนูที่อันตรายถึงชีวิต เพราะเจ้าของรถอย่างนายอำเภอ เครตเซอร์ จอมโฉด (เควิน เบคอน ผู้มาพร้อมแววตาชวนขนลุก) พร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อเอารถกลับคืนมา
ก่อนหน้า Cop Car วัตต์สเคยผ่านงานทำหนังสั้น หนังทีวี และหนังสยองทุนต่ำอย่าง Clown เท่านั้น “เบื้องหลังของการทำ Clown มันสุดยอดมากเพราะเริ่มต้นจากการแกล้งกันเล่นๆ แต่ดันนำไปสู่ความบังเอิญครั้งใหญ่” เขากับคริส ฟอร์ดปิ๊งไอเดียที่จะทำตัวอย่างหนังเก๊ลงยูทูบด้วยการล้อเลียนหนังตระกูล Body Horror ของ เดวิด โครเนนเบิร์ก โดยตัวอย่างหนังที่ว่านั้นเล่าถึงชายหนุ่มผู้ค่อยๆ กลายร่างเป็นตัวตลกสุดสยอง
“ตอนนั่งตัดต่อ เราก็รู้สึกว่ามันเหมือนหนังใหญ่จริงๆ เราเลยคิดว่าคงจะมีคนอย่างน้อยสัก 10 คนล่ะน่าที่ดูแล้วหลงเชื่อว่านี่คือตัวอย่างหนังจริงที่กำลังจะฉาย แถมแผนเด็ดก็คือ ในเครดิตท้ายตัวอย่าง เราจะใส่ชื่อนักเขียนบทดังๆ ของฮอลลีวูด-ซึ่งจริงๆ แล้วไม่รู้จักเรา-ลงไปเป็นผู้เขียนบทร่วมกับเราด้วย แถมเรายังใส่ชื่อ อีไล รอธ -ผู้ที่ก็ไม่เคยเจอกับเราเช่นกัน- ให้เป็นผู้กำกับด้วย!”
แม้จะฟังดูเป็นไอเดียบ้าบ๊อง แต่หลังจากอัพโหลดคลิป ผลตอบรับกลับเกินกว่าที่ทั้งสองคาดคิด เพราะมีคนนับร้อยทีเดียวที่เชื่อว่ามันคือ ‘ตัวอย่างหนังใหม่ของรอธ’ จริงๆ! แถมกระแสบนโลกอินเตอร์เน็ตยังลุกเป็นไฟลามทุ่ง ถึงขั้นบรรดาบล็อกเกอร์ต่างก็นำไปโปรโมตในบล็อกหนังสยองขวัญของตน โชคดีที่เมื่อรอธตัวจริงเผอิญมาเห็นเข้าก็ชื่นชอบมันมาก“ตอนนั้น พวกเราสติแตกหมดเลย” วัตต์สเล่า “เพราะหลังจากปล่อยคลิปไปไม่กี่ชั่วโมง รอธก็โทรมาหา ผมคิดว่าเราต้องโดนฟ้องแหงๆ แต่โชคช่วยที่เขาชอบมากและคิดว่าเป็นไอเดียเจ๋งโคตร เราจึงไปหาเขาที่ลอสแองเจลิส แล้วเขาก็เสนอให้เราทำหนังเรื่องนี้โดยหาทุนให้ …เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นจากการอำกันขำๆ แต่กลับลงเอยด้วยการเป็นหนังจริงขึ้นมาได้ มันน่าทึ่งจริงๆ”
Cop Car ถูกนับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญในชีวิตการทำงานของวัตต์ส เพราะนอกจากจะช่วยสร้างชื่อให้เขาในชั่วพริบตาแล้ว ความโดดเด้งของหนังยังเตะตาค่ายมาร์เวล จนเขาได้รับโอกาสให้มากุมบังเหียนหนังฟอร์มยักษ์อย่าง Spider-Man เวอร์ชั่นรีบูต!
Cop Car ทำให้วัตต์สได้รับเสียงชื่นชมจากเหล่านักวิจารณ์ถึงความสามารถในการวางสมดุลระหว่างความเป็นหนังแนวข้ามพ้นวัยอันแสนสะเทือนใจแบบ Stand by Me (1986, ร็อบ ไรเนอร์) และกลิ่นอายความระทึกเลือดเย็นแบบหนังอาชญากรรมของ พี่น้องโคเอน อย่าง Blood Simple (1985) เนื่องจากเขาผสมผสานโลกอันบริสุทธิ์ของเยาวชนผู้ไม่รู้ประสีประสากับโลกที่อัดแน่นด้วยมลทินของผู้ใหญ่ได้อย่างเหมาะเหม็ง นักวิจารณ์ส่วนหนึ่งมองว่า การที่เด็กชายสองคนออกมาผจญโลกกว้างซึ่งแวดล้อมด้วยสิ่งที่ก่อให้เกิดความซับซ้อนทางอารมณ์นั้น เปรียบเสมือนการแตกสลายของชายคากำบังที่คุ้มครองผู้เยาว์จากสิ่งยั่วยุและความไม่มั่นคงทางจิตใจจากผู้ใหญ่ที่ขาดคุณธรรม
ยิ่งไปกว่านั้น หนังยังพาคนดูไปสำรวจจิตใจของเด็กชายที่กำลังจะก้าวข้ามวัย ผ่านการถ่ายทอดสภาวะความสับสนภายในจิตใจของคู่ตัวเอกเมื่อถึงภาวะต้อง ‘เลือก’ (เช่นเดียวกับ Clown ที่วัตต์สใช้ความไร้เดียงสาของลูกชายวัยใสของพระเอกมาสะท้อนจิตใจของพระเอกเองที่ค่อยๆ บิดเบี้ยวเมื่อถูกปีศาจตัวตลกครอบงำร่าง) ซึ่งการสำรวจประเด็นนี้ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้หนังยิ่งระทึก เพราะเราต้องคอยลุ้นว่า ในสถานการณ์ชี้เป็นชี้ตาย ตัวละครวัยละอ่อนทั้งสองจะรับมือกับมันอย่างไร และพวกเขาจะผ่านพ้นช่วงวิกฤตของชีวิตไปได้หรือไม่
ความน่าสนใจของหนังอีกประการหนึ่งก็คือ การได้ชื่อว่าเป็นหนัง ‘มินิมอลิสต์ธริลเลอร์’ เพราะวัตต์สเลือกนำเสนอแบบ ‘น้อยแต่มาก’
“ในแง่ของตัวบทและการเล่าเรื่องนั้น ผมว่ามันคล้ายกับ Le Samouraï (1967) ของ ฌ็อง-ปีแยร์ เมลวิลล์ ซึ่งเราแทบไม่รู้จักเลยว่าตัวละครเป็นใคร มีปูมหลังเป็นอย่างไร เราก็แค่ดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ เท่านั้น ไม่สำคัญหรอกว่าตัวละครเหล่านั้นคือใคร แต่สิ่งที่พวกเขากำลังทำนี่สิสำคัญ” เช่นกันกับเบคอน-ผู้รับบทนายอำเภอตัวฉกาจ-ที่ยืนยันว่า การนำเสนอรายละเอียดของตัวละครเพียงบางๆ ยิ่งส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้ชม “การให้ผู้ชมคิดเอาเองว่าเกิดบ้าอะไรขึ้นกันแน่นั้น จะทำให้พวกเขามีอารมณ์ร่วมมากกว่าการที่หนังบรรยายว่าอะไรเป็นอะไร เมื่อตัวหนังไม่ได้ให้ข้อมูลคุณทุกอย่างว่า เด็กพวกนี้เป็นใครมาจากไหน, อยู่ที่ไหน, ใครเป็นเจ้าของรถ, เกิดเรื่องอะไรขึ้น, นายอำเภอคนนี้ทำอะไรกันแน่ ฯลฯ ผมว่ามันเป็นวิธีสร้างความตึงเครียดที่ฉลาดมาก”
วัตต์สดู The Good, the Bad, and the Ugly (1966) อีกรอบก่อนเริ่มถ่ายทำ หนังคาวบอยขึ้นหิ้งของ แซร์จิโอ เลโอเน เรื่องนี้มีอิทธิพลต่อการกำกับ Cop Car ไม่เพียงในแง่ของการถ่ายภาพมุมกว้าง (โดยเฉพาะช็อตเปิดของหนังที่เผยทัศนียภาพสวยงามของทุ่งกว้างในโคโลราโดให้เห็นเต็มตา) แต่รวมถึงการสร้างความตื่นเต้นด้วยเสียงดนตรีในฉากไคลแม็กซ์ด้วย
แต่แม้จะปะหน้าเป็นหนังธริลเลอร์อาชญากรรมสำหรับผู้ใหญ่ วัตต์สก็ไม่ลืมสอดแทรกความเป็นเด็กผ่านตัวร้ายของหนังอยู่กลายๆ นักวิจารณ์มองว่าความบ้าคลั่งตัวละครนายอำเภอช่างเหมือน ไวล์ อี ไคโยตี (ใช่แล้ว! หมาป่าไคโยตีจาก ลูนีย์ ทูนส์) “เครตเซอร์เป็นตัวอย่างของคนเลวในความคิดเด็กอายุ 10 ขวบ เพราะหมอนี่พกทั้งปืนกล ทองแท่ง ใบขับขี่ปลอม และยาเสพติด” นอกจากนี้ หนังยังเติมเต็มความปรารถนาสมัยเด็กของวัตต์สที่จะเจอสิ่งเร้าใจระหว่างการเดินสำรวจพื้นที่ชนบทด้วย “ผมเดินตรงไปเรื่อยๆ พลางหวังว่าจะเจอสมบัติโจรสลัดหรือยานอวกาศที่พังโดยบังเอิญ แต่ก็เจอแค่ขวดแก้วแตกหรือเสื้อผ้าขาดวิ่น เคยเจอรถแทร็กเตอร์ครั้งหนึ่ง แต่ดันไม่มีกุญแจเสียบอยู่ด้วย” ซึ่งด้วยสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้เอง หนังจึงชวนให้เรารำลึกถึงยุครุ่งเรืองของหนังเด็กสุดคลาสสิก-ที่ว่าด้วยการผจญภัยแสนบ้าบิ่นของเด็กโดยปราศจากผู้ใหญ่ควบคุม-จำพวก The Goonies (1985, ริชาร์ด ดอนเนอร์) อยู่ไม่มากก็น้อย
เรื่องสุดท้ายที่ชวนให้สงสัยก็คือ ในเมื่อหนังกล้าแตะประเด็นละเอียดอ่อนอย่างพฤติกรรมทุจริตเน่าเฟะในแวดวงตำรวจ แล้วไม่ถูกเหล่าตำรวจตัวจริงเสียงจริงต่อต้านหรือ? วัตต์สตอบว่า ตอนแรกเขาไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้มากนัก ทั้งๆ ที่ก็มีเรื่องอื้อฉาวของนายอำเภอในเทศมณฑลละแวกนั้นพอดิบพอดี “ตอนเราไปถึงที่เมืองฟาวน์เทน รัฐโคโลราโด (ซึ่งเป็นโลเคชั่นถ่ายทำของหนังและเป็นบ้านเกิดของวัตต์สด้วย) เพื่อขออนุญาตถ่ายทำ พวกตำรวจก็ถามเราว่า ‘นี่มันเกี่ยวกับเขาคนนั้นหรือเปล่านี่?’ เรารีบปฏิเสธแล้วบอกว่านี่เป็นแค่เรื่องสมมติ เพราะตอนนั้น เราก็ไม่เห็นข่าวนั้นเหมือนกัน อย่างไรก็ดี พวกเขาให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะไม่เคยมีใครมาถ่ายหนังที่นี่ พวกเขาปิดถนนให้และปล่อยให้เราทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ
“…อันที่จริง ตำรวจบางคนก็ได้บทเล็กๆ ในหนังด้วยนะ” เขายิ้ม
ติดตามรับชม
Cop Car ล่าไม่เลี้ยง
คืนวันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน เวลา 00.00 น. ทางช่อง MONO29
Cop Car : มันคือ Stand by Me แห่งทศวรรษนี้!
คืนวันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน เวลา 00.00 น. ทางช่อง MONO29
: https://bioscope.mthai.com/