เขียนงานเซ็ตติ้งราชวงศ์ไทยควรใช้คำราชาศัพท์แบบไหนถึงเหมาะสม

สวัสดีครับพอดีตอนนี้เขียนงานที่อิงเซ็ตติ้งราชวงศ์ไทยยุค ร.4 ขึ้นมาโดยออกแบบตัวละครกับชื่อเมืองชื่อราชวงศ์ใหม่ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลจริง โดยเนื้อหามีการนำเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์บางจุดมาอ้างอิงและตีความใหม่ มีคำเตือนบอกชัดเจนว่าเป็นเรื่องสมมุติเพื่อความบันเทิงเท่านั้น
ทีนี้ในเรื่องมีตัวละครที่เป็นกษัตริย์ ตอนแรกผมใช้คำราชาศัพท์ตามจริงเลยครับคือ
สรรพนามบุรุษที่1 - ข้าพระพุทธเจ้า
สรรพนามบุรุษที่2 - ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท/ใต้ฝ่าละอองพระบาท
คำขานรับ - ข้าพระพุทธเจ้า


ทีนี้ผมรู้สึกมันไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไหร่ถ้าจะใช้เทียบกับของจริงเลย รวมถึงต้องการให้คำราชาศัพท์ดูกระชับเข้าใจง่าย และง่ายต่อการแปลเป็นภาษาต่างประเทศให้ต่างชาติเข้าใจบริบทในเรื่องด้วยเลยเปลี่ยนเป็น
สรรพนามบุรุษที่1 - จะใช้ ”ข้าพระพุทธเจ้า ”หรือ ”เกล้ากระหม่อม” แบบไหนที่เหมาะสมดีครับ
สรรพนามบุรุษที่2 - สามารถใช้ว่า “ใต้ฝ่าพระบาท” หรือ “ฝ่าพระบาท” แค่นี้แทนได้มั้ย
คำขานรับ - จะใช้ “พ่ะย่ะค่ะ/เพคะ” จะเหมาะสมมั้ยครับ แล้วคำว่า “พระพุทธเจ้าค่ะ” นี่สามารถใช้ได้มั้ย

ส่วนคำราชาศัพท์ของชั้นพระบรมวงศานุวงศ์หรือเจ้านายชั้นสูงผมใช้เป็น
สรรพนามบุรุษที่1 - กระหม่อม/หม่อมฉัน
สรรพนามบุรุษที่2 - ฝ่าบาท
คำขานรับ - พ่ะย่ะค่ะ/เพคะ


แล้วมีคำราชาศัพท์อื่นๆ เวลาพูดกับกษัตริย์อย่าง
       - “พระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม” หรือ “พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม” ลงท้ายว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” ใช้ในโอกาสแสดงความขอบคุณที่ได้รับความช่วยเหลือ
       - “เดชะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม” หรือ “เดชะพระบรมเดชานุภาพเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม” ลงท้ายว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” ใช้ในโอกาสแสดงว่ารอดพ้นอันตราย
       - “พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าพ้นกระหม่อม” หรือ “พระราชอาญาเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม” ลงท้ายว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” ใช้ในโอกาสทำผิดพลาด
       - “ไม่ควรจะกราบบังคมทูลพระกรุณา” หรือ “ไม่ควรจะกราบบังคมทูลให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท” ลงท้ายว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” ใช้ในโอกาสที่จะต้องกล่าวถึงของไม่สุภาพ
       - “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ” ลงท้ายว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ” ใช้ในโอกาสกราบบังคมทูลขึ้นก่อนเป็นครั้งแรก
       คำราชาศัพท์เหล่านี้ถ้านำไปใช้ในงานเขียนงานประพันธ์สามารถย่อหรือใช้คำที่กระชับเข้าใจง่ายกว่านี้ได้ยังไงบ้างครับเพราะเวลาคุยกับกษัตริย์ทีใช้แบบนี้ตลอดมันดูได้ความยากและดูแปลก ปกติกษัตริย์เวลาคุยกับคนสนิทหรือคุยเล่นปกติกับข้าราชบริพาร ขุนนางน่าจะมีศัพท์ที่ง่ายกว่านี้หรือเปล่า ถ้าเขียนโดยใช้คำอิงตามนี้แล้วรู้สึกหมดอรรถรสในการอ่านกันหมดพอดี พอมีคำแนะนำบ้างมั้ยครับ


จุดประสงค์หลักของงานผมไม่ได้ต้องการให้ถูกต้องขนาดนั้นแต่แค่ให้ผู้อ่านอ่านแล้วไม่รู้สึกแปลกกับคำราชาศัพท์หรือสรรพนามในเรื่องเพื่อจะได้โฟกัสกับเนื้อหาในเรื่องได้โดยไม่ขัด และอย่างที่บอกงานเขียนนี้ต้องคำนึงถึงคนอ่านต่างชาติที่ต้องนำไปแปลในภาษาต่างๆ ด้วยครับว่าควรใช้คำราชาศัพท์แบบไหนที่สามารถเข้าใจได้เป็นสากล
ผมกลัวว่าถ้าเอาของจริงมาดัดแปลงใช้ครึ่งๆ กลางๆ ไปแบบนี้ หรือใช้แบบละครจักรๆ วงศ์ๆ งานพีเรียดจีน เกาหลีไปเลยจะดูเหมือนผิดและเหมือนไม่หาข้อมูลมา  ถ้าเป็นท่านจะเลือกใช้ยังไงหรือมีคำแนะนำยังไงบ้างครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่