ข้าวเหนียวมะม่วง เป็นของเขมรที่ไทยขโมยมา จริงเหรอครับ

พอดีเห็นในกลุ่มชาวกัมพูชา และเพื่อนที่ทำงานคนกัมพูชา เขาภาคภูมิใจกันน่ะครับ

สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 11
วันก่อนก็เห็นกระทู้นี้แล้ว แต่ไม่ได้ตอบ วันนี้ขอตอบแล้วกันนะครับ แต่จะยาวหน่อยนะ จะได้อธิบายวิธีการคิดการตรวจสอบอะไรไปเลย

คนไทยนี่กินเค้กมั้ยครับ? กินเนาะ ดังนั้นเค้กก็น่าจะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมที่เรารับมาจากตะวันตกได้ แต่ถามว่าคนไทยประดิษฐ์คิดค้นวิธีการทำเค้กขึ้นมาหรือเปล่า? อันนี้ก็ต้องบอกว่าเปล่า อย่าว่าแต่เค้ก วิธีการทำอาหารด้วยการอบน่ะ เรารับมาจากฝรั่งเป็นหลัก ดังนั้นเมนูอาหารไทยที่ทำด้วยการอบนี่เรามีไม่เยอะมากนะครับเมื่อเทียบกับเมนูอาหารไทยแบบอื่นๆ

เวลาจะดูว่าอะไรมาจากที่ไหน ไม่ใช่คิดแค่พื้นที่ที่ติดกันครับ ดูสภาพแวดล้อมอื่นๆด้วย  ยกตัวอย่างให้นะ ผมเห็นมาสองสามครั้งแล้วและเชื่อว่าใครที่ท่องเน็ทเป็นพวกสัมภเวสีแบบผมและสนใจเรื่องอาหารอาจจะเคยเห็นเหมือนกัน คือมีเพื่อนบ้านเราบางที่ที่เขาจะพยายามบอกต่างชาติ--โดยเฉพาะตะวันตก--ว่าอาหารไทยน่ะจริงๆเอาไปจากเขา (กรณีที่ผมกำลังพูดนี่ไม่ใช่กัมพูชานะครับ บอกก่อน ชาติอื่นอีกที) เช่น บอกว่าพะแนงนี่มาจากของเขา เพราะชื่อเหมือนเมืองในประเทศเขา ซึ่งไม่ใช่หรอก เพราะพะแนงนี่มีบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยาโน่น ในขณะที่เมืองของเขาที่ชื่อคล้ายๆอาหารจานนี้เพิ่งมาตั้งชื่อตอนกลางๆรัตนโกสินทร์นี่เอง [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้ หรือบอกว่าแกงเหลืองแกงเผ็ดเรื่อยไปจนถึงข้าวซอยเป็นอาหารของเขา ซึ่งอาหารไทยพวกนี้ แม้แต่ข้าวซอยซึ่งจริงๆเรารับจากพม่า (และพม่าก็รับมาจากจีนมุสลิมอีกที) มันใช้กะทิน่ะครับ ถ้าเป็นแกงอะไรสารพัดนี่ยิ่งหนัก เพราะนอกจากกะทิ ยังใช้กุ้งแห้ง กะปิ น้ำปลาสารพัด ของพวกนี้จะหาได้ก็คือที่ทะเลครับ และเพื่อนบ้านที่อ้างว่าอาหารไทยแกงเผ็ดแกงเขียวหวานข้าวซอยอะไรทั้งหลายนี่เป็นของเขาไม่มีทางออกทะเลน่ะครับ ถ้าจะบอกว่าพวกนี้มาจากเขามันจึงฟังไม่ขึ้น

ทีนี้กลับมาเรื่องข้าวเหนียวมะม่วง ผมตั้งข้อสังเกตเหมือนกันเรื่องกะทิ ครัวกัมพูชาใช้กะทิมากน้อยเท่าไรล่ะครับ? เท่าที่ผมพอทราบ ไม่ได้เยอะมาก เหมือนๆกับครัวไทยภาคเหนือหรืออีสาน นั่นจะใช้กะทิไม่เยอะเหมือนกัน ใช้เครื่องเทศน้อย ของจากทะเลใช้น้อยเสียจนกระทั่งคนสักห้าสิบหกสิบปีก่อนที่อยู่ทางเหนือหรืออีสานเป็นโรคคอหอยพอกกันเยอะเพราะขาดไอโอดีน (ใครสงสัยไปค้นบันทึกทางการแพทย์ได้ครับ)

กะทิ เครื่องเทศ พวกนี้เป็นสิ่งที่เรารับมาจากอินเดียผ่านพ่อค้าชาวทมิฬที่เดินทางมาค้าขายแถวๆอินโด-มาเลย์ แล้ววัฒนธรรมการใช้ของพวกนี้ก็แพร่เข้ามาจากทางใต้ของไทยเข้าภาคกลางครับ แต่ทางเหนือหรืออีสานนั้นไม่ได้ใกล้ทะเล ของพวกนี้แม้แต่กะทิซึ่งจะขึ้นในพื้นที่ที่มีน้ำเยอะ เช่นภาคกลางหรือใต้ก็ไม่ค่อยมี รวมทั้งในอดีตทั้งสองพื้นที่จะไม่ใช่แหล่งการค้าเครื่องเทศ ครัวของเขาก็เลยไม่มีการใช้ของพวกนี้เยอะ

อีกอย่าง การกินข้าวเหนียวกับผลไม้อื่นๆนอกจากมะม่วง เช่นข้าวเหนียวทุเรียน เพื่อนบ้านเราก็กินครับ และเพื่อนบ้านที่ว่าไม่ใช่กัมพูชา แต่คือประเทศที่ขึ้นเชื่อเรื่องทุเรียนและเป็นแหล่งกำเนิดทุเรียนด้วย คือมาเลย์อินโด [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ถ้าใครบอกว่าข้าวเหนียวมะม่วงนี่กัมพูชาเป็นต้นแบบ  คำถมคือมองย้อนไปที่นี่แหละ กะทิ เขาใช้เยอะมั้ย ถ้าเยอะก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะแสดงว่านั่นคือวัตถุดิบประจำที่เขาใช้ เรื่อยไปจนถึงข้าวเหนียว วัฒนธรรมเขากินข้าวเหนียวเยอะหรือเปล่า? อย่างของไทยเรานี่ชาวบ้านโบราณแถวภาคเหนือหรืออีสานกินข้าวเหนียวเป็นหลักนะครับ ไม่ได้กินข้าวเจ้ากัน ดังในครัวไทยจะมีการใช้ปนกันทั้งข้าวเจ้าข้าวเหนียว แต่อย่างกัมพูชาน่ะ คุณกินอะไรเป็นหลัก? อย่างนี้แหละครับ ถ้าเขามีหลักฐานมีข้อยืนยันพิสูจน์ ก็มาดูที่น้ำหนักเหตุผลต่างๆว่าฟังขึ้นมั้ย โอเคหรือเปล่า มีข้อโต้แย้งอะไรได้มั้ย ไม่ใช่แค่ว่าอ๋อต้นแบบเป็นของชั้นเพราะชั้นกินขนมพวกนี้ แบบนั้นไม่เกี่ยว (นึกถึงเค้กข้างบนที่ผมยกตัวอย่างไปนั่นแหละ)

แถมด้วยว่าไม่เฉพาะเรื่องข้าวเหนียวมะม่วงนี่ แต่ไปถึงอื่นๆด้วย อย่างผมเคยเห็นคนกัมพูชานี่แหละบอกว่าขนมชั้น ขนมฯลฯ ของไทยเราน่ะเป็นของเขา ปัญหาคือเขาเองก็เรียกชื่อนั้นๆเป็นภาษาไทย เช่น ขนมชั้นเขาเรียก Nom Chan แต่พอถามว่าแล้วไอ้คำนี้มันแยกออกมาแล้วมีความหมายยังไง เขากลับตอบไม่ได้ ในขณะที่ในภาษาไทย ขนมชั้นแยกคำได้ และมีความหมายทั้งสองคำ (ขนม+ชั้น) ความหมายที่ว่าก็ตรงกับลักษณะขนมด้วย ห่อหมกอะไรอีกสารพัดแหละครับ อันที่จริงเขาก็มีอาหารของเขาที่ไทยไม่ค่อยมีใครทำเลยนะ อย่างข้าวต้มปลาร้า ซึ่งอันนี้อาจารย์คึกฤทธิ์ท่านเขียนและสัมภาษณ์ไว้หลายทีแล้วว่ามาจากเขมร อย่างนี้นี่เขาบอกว่าเป็นของเขาได้เต็มๆปากเลย แล้วไอ้จานที่ว่านี่ผมก็เห็นยังมีขายในตลาดบ้านเขา วิดีโอในยูทูปก็มี ไม่ยักกะพยายามชูให้มันเด่น

นอกจากการคิดให้มีเหตุผลในเรื่องอาหารนี่ เรื่องอื่นๆเราก็ควรใช้ด้วยเวลาจะศึกษาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อย่างที่กัมพูชาเขาชอบพูดบ่อยๆว่ามวยไทยมาจากเขา โดยเขาจะอ้างหลักฐานจากภาพสลักที่นครวัด เรียนตามตรงนะครับ มันฟังไม่ค่อยขึ้น เพราะ--ลองนึกดูนะ--ลองเอาภาพแบบนี้ วาดเหมือนกันเลยไปใส่โบราณสถานในกรีก รับรองคนจะนึกว่าเป็นมวยปล้ำ ไปใส่โบราณสถานในจีน คนจะนึกว่ากังฟู มีภาพแบบนี้ในบันทึกญี่ปุ่น คนเห็นก็จะนึกว่าซูโม่ นี่ไม่ต้องพูดถึงว่ามันอาจจะไม่ใช่การต่อสู้อะไรเลยด้วยซ้ำ แต่เป็นการนวด ซึ่งก็เป็นไปได้อีกนั่นแหละ ไหนจะบันทึกของทูตจีนที่ติดต่อกับอาณาจักรขอมโบราณ คือ Zhou Daguan เขาก็ไม่ได้เขียนอะไรไว้เลยเรื่องศิลปะการต่อสู้ของกัมพูชา (แถมที่เขาเขียนน่ะ ถ้าคนกัมพูชาอ่านอาจจะโกรธเขาเสียด้วยซ้ำ ไม่บอกล่ะว่าเขาเขียนว่ายังไงนะครับ ใครสนใจลองค้นเอง) ภาพสลักแค่นี้จึงไม่มีน้ำหนักที่สนับสนุนอะไรเลยว่าเป็นหลักฐานของมวยไทยว่ามาจากเขา (ไม่ได้บอกว่าไม่ได้มาจากเขานะครับ อาจจะมาก็ได้ หรือไม่มาก็ได้ แต่ถ้าเอาหลักฐานแค่นี้มาพูด มันไม่มีน้ำหนักพอ ทางวิชาการเขาไม่รับ)

ถ้าจะแย้งกับใครก็ตาม แย้งโดยใช้เหตุผลครับ เหตุผลที่มีน้ำหนักนะ ไม่ใช่เหตุผลที่เบาโหวงมีจุดโหว่เต็มไปหมด คิดให้รอบคอบก่อนค่อยแย้ง นั่นคือสิ่งที่คนได้รับการศึกษาเขาทำกัน แล้วมันจะทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆรวมถึงฝึกการคิด ไม่ใช่แย้งข้างๆคูๆหรือยกเหตุผลที่มันไม่มีน้ำหนักเลย นั่นกลับจะบอกด้วยว่าคนแย้งน่ะคิดด้วยเหตุและผลไม่เป็น ซึ่งมันจะสะท้อนถึงการศึกษาของเขาเองนั่นแหละ ไม่ใช่คนอื่น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่