สารานุกรมปืนตอนที่ 1380 ซิก ซาวเออร์ 1911 ไนตรอน เรล กับชุดซอง แท็คแพ็ค

ซิก (SIG) จากชื่อเต็ม Schweizerische Industrie Gesellschaft เป็นโรงงานปืนเก่าแก่ของสวิส  ในปี ค.ศ. 1970 ย้ายฐานการผลิตหนีค่าแรงแพงในประเทศไปลงที่เยอรมนี โดยร่วมทุนกับบริษัท ซาวเออร์ (J.P. Sauer & Sohn) เริ่มผลิตปืนติดยี่ิห้อ ซิก-ซาวเออร์ (SIG Sauer) และขยายงานอีกครั้งในปี ค.ศ. 1985 ตั้งบริษัท ซิกอาร์ม (Sigarms) ในสหรัฐ เพื่อนำเข้าปืน ซิก-ซาวเออร์ สู่ทวีปอเมริกา  จากนั้นตั้งโรงงานผลิตปืนในแดนลุงแซมเมื่อปี ค.ศ. 1990 สุดท้ายในปี ค.ศ. 2007 เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ซิก-ซาวเออร์ อิงค์ (SIG Sauer, Inc.) แยกการบริหารจัดการออกจากบริษัทยุโรปเพื่อความคล่องตัว



ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ที่กองทัพสหรัฐ ออกสเปกปืน 9 มม. ลูกดก เพื่อใช้แทน 1911 ของเดิม คู่ชิงสองกระบอกสุดท้าย คือเบเร็ตต้า 92 กับ ซิก-ซาวเออร์ P226 ซึ่งแม้ว่าเบเร็ตต้าจะชนะไปแบบฉิวเฉียด แต่ ซิก ก็ได้แสดงศักยภาพการผลิตและคุณภาพตัวปืนเป็นที่ประทับใจ เมื่อวงการตำรวจสหรัฐ ปรับตัวเปลี่ยนปืนจากลูกโม่เป็นกึ่งออโตฯ ซิก ได้ส่วนแบ่งตลาดถึงหนึ่งในสาม โรงงานซิก-ซาวเออร์ที่รัฐนิวแฮมป์เชียร์ เติบโตอย่างรวดเร็ว กลายเป็นฐานการผลิตใหญ่ที่สุดของกลุ่ม และอยู่ในอันดับต้น ๆ ของผู้ผลิตปืนสู่ตลาดโลก
ปืน 1911 ขนาด .45 ที่ถูกปลดระวาง แทนที่จะเสื่อมความนิยม กลับกลายเป็นปืนที่ขายดีในตลาดเอกชน นอกจากโคลท์เจ้าเก่าแล้ว มีรายใหม่ทำออกมาขายแข่งมากมาย เฉพาะ ซิก รายเดียว มีปืน 1911 ให้เลือกเกือบ 40 แบบย่อย เริ่มจากตัวมาตรฐานที่ซิกตั้งชื่อว่า 1911 ไนตรอน (Nitron) ตามกรรมวิธีเคลือบผิวโลหะที่ทนทานเป็นพิเศษ  ผิวเป็นสีดำด้านโดยเนื้อในเป็นเหล็กสเตนเลส

สำหรับรุ่น ไนตรอน เรล (Nitron Rail) สิ่งที่เพิ่มขึ้นจากรุ่นมาตรฐาน คือรางรับอุปกรณ์เป็นเนื้อเดียวกับโครงปืนใต้ลำกล้อง คือส่วนที่เรียกว่า “ครอบกันฝุ่น”  รางรับอุปกรณ์นี้เป็นแบบมาตรฐาน ช่วยให้ติดไฟฉายหรือเลเซอร์ช่วยเล็งได้สะดวก  อาจจะทำให้เสียรูปทรง “คลาสสิก” ของปืน 1911 ไปบ้าง แลกกับประโยชน์ในการใช้งาน มีจุดเริ่มต้นที่นาวิกโยธินสหรัฐ ยืนยันจะใช้ปืนขนาด .45 ออโตฯ สำหรับหน่วยรบพิเศษ จึงรวบรวมปืน 1911 ปลดระวาง มาเปลี่ยนชิ้นส่วนแบบยกเครื่อง  จนในที่สุดตัดสินใจสั่งซื้อปืนใหม่ กำหนดขนาดกระสุน .45 ACP มีรางรับอุปกรณ์ในตัว และต้องใช้ซองกระสุน 1911 จุเจ็ดนัดของเดิมได้ด้วย เท่ากับเป็นการ “ล็อกสเปก” กลับมาใช้ปืน 1911 อีกครั้ง บริษัทโคลท์ชนะประกวด ได้สัญญาสั่งซื้อลอตแรก 4,000 กระบอก ในปี ค.ศ. 2012 ห่างจากครั้งก่อน 101 ปีพอดี
ปืนตามสเปกนาวิกโยธินสหรัฐ เม่ือเทียบกับ ไนตรอน เรล กระบอกนี้ มีเพิ่มเพียงสองจุด คือ ห้ามไกซ้ายขวา และบ่อรับซองกระสุน ซึ่งในกลุ่ม 1911 ของซิก มีปืนที่ตรงสเปกอย่างน้อยสามรุ่น คือ สกอร์เปียน (2 มี.ค. 13), แท็ค-อ็อป (Tactical Operstions) และ คลาสสิก แท็ค-อ็อป โดยรุ่นสกอร์เปียนเคลือบ เซอราโคท (Cerakote) เช่นเดียวกับโคลท์ อีกสองรุ่นเป็นผิวไนตรอน



ไนตรอน เรล เป็น 1911 ที่ซิกปรับแต่งเพียงเล็กน้อยให้เข้ากับยุคสมัย ใช้เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ลดความคลาดเคลื่อนของชิ้นส่วน ได้ปืนที่ฟิตแน่นพอดี ความแม่นยำสูงไม่ต้องปรับแต่ง นกสับเป็นแบบห่วง หลังอ่อนหางยาว เรือนสปริงนกสับแบบตรง ไกแบบยิงเป้ามีสกรูหยุดไก ศูนย์แต้มจุดขาวสามจุดของโนแว็ค ลำเลื่อนแบบซิกส่วนล่างเสริมหนา ขอรั้งปลอกติดตั้งด้านนอก ด้ามวัสดุ  G10 แต่งผิวแบบทรายหยาบ ภายในมีระบบล็อกเข็มแทงชนวนเหมือน โคลท์ ซีรีส์ 80 สปริงลำเลื่อนเปลี่ยนเป็นแบบเส้นแบน อายุใช้งานทนทานกว่าเส้นกลม ลำกล้องใช้ระดับแข่งขัน 
โดยรวม ซิก 1911 ไนตรอน เรล เป็นปืนต่อสู้ชั้นดี ชิ้นส่วนฟิตแน่นไม่ต้องแต่ง วัสดุสเตนเลสล้วน และเคลือบผิวไนตรอนต้านสนิมดีมากดูแลง่าย ใช้กระสุน .45 ACP ไว้ใจในด้านอานุภาพ ความแม่นยำสูง ทำงานเรียบร้อยดีมาก  มีรางพร้อมติดอุปกรณ์ช่วยเล็งได้สะดวก ซิกขายทั้งไนตรอน และไนตรอน เรล ในชุด “แท็คแพ็ค” มาพร้อมซองกระสุนวัสดุไคเด็ก (Kydex) มีช่องเสียบซองกระสุนสำรองในตัว ใช้ลงแข่งรณยุทธ์ หรือเจ้าหน้าที่พกซองนอกได้ถ้าไม่ผิดระเบียบด้านเครื่องแบบ.

ข้อมูลสรุป SIG Sauer 1911 Nitron Rail

ขนาดกระสุน .45 ACP (11 มม.) ซองกระสุน 8 นัด
มิติ ยาวxสูงxหนา : 220x140x34 มิลลิเมตร
ลำกล้องยาว 127 มม. (5 นิ้ว)
น้ำหนัก 1,180 กรัม
แรงเหนี่ยวไก 2,520 กรัม (5.5 ปอนด์)
วัสดุ สเตนเลสเคลือบผิวไนตรอน (Nitron)
อื่น ๆ โครงปืนทำรางรับอุปกรณ์
ลักษณะใช้งาน จนท. พกซองนอก, เฝ้าบ้าน
ตัวเลือกอื่น Colt Rail Gun, Kimber TLE/RL, Springfield TRP, Smith 1911TA

https://d.dailynews.co.th/article/221170/
.................................
ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช




สวัสดีครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่