"ทุกข์นั้นมีอยู่ แต่ผู้ทุกข์นั้นไม่มี"

ไม่ใช่กระทู้คำถามนะครับ เพียงแต่ว่าถ้าตั้งแบบนี้ มีคนเข้าร่วมสนทนาได้หลายระดับ
จากความเห็นเล็กๆ นะครับ ผมตัดสินใจนำมาตั้งกระทู้จะดีกว่า

ก่อนอื่น ขอให้ท่านผู้อ่านพิจารณาสูตรดังต่อไปนี้
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
๗. อเจลกัสสปสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่ออเจลกัสสปะ

             [๑๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวร๑- เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ อเจลกัสสปะได้เห็นพระผู้มีพระภาค
กำลังเสด็จมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ทูล
ถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
             “ข้าพเจ้าขอถามเหตุบางอย่างกับท่านพระโคดม ถ้าท่านพระโคดมเปิดโอกาส
เพื่อตอบปัญหาแก่ข้าพเจ้า”
             “กัสสปะ ยังไม่ใช่เวลาที่จะตอบปัญหาของท่าน เรากำลังเข้าไปสู่ละแวกบ้าน”

---------------------------------------
@เชิงอรรถ :
@๑ ทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร หมายถึงพระองค์ทรงผลัดเปลี่ยนสบงหรือขยับสบงที่นุ่งอยู่ให้กระชับ
@แล้วทรงถือบาตรด้วยพระหัตถ์ถือจีวรด้วยพระวรกาย คือห่มจีวรอุ้มบาตรนั่นเอง (วิ.อ. ๑/๑๖/๑๘๐,
@ที.ม.อ. ๒/๑๕๓/๑๔๓, ม.มู.อ. ๑/๖๓/๑๖๓, ขุ.อุ.อ. ๖๕)

----------------------------------------

             แม้ครั้งที่ ๒ อเจลกัสสปะได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ‘ข้าพเจ้า
ขอถามเหตุบางอย่างกับท่านพระโคดม ถ้าท่านพระโคดมเปิดโอกาส เพื่อตอบปัญหา
แก่ข้าพเจ้า”
             “กัสสปะ ยังไม่ใช่เวลาที่จะตอบปัญหาของท่าน เรากำลังเข้าไปสู่ละแวกบ้าน”
             แม้ครั้งที่ ๓ ฯลฯ ‘เรากำลังเข้าไปสู่ละแวกบ้าน”
             เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว อเจลกัสสปะได้กราบทูลว่า “ข้าพเจ้า
ไม่ประสงค์ที่จะถามท่านพระโคดมมากนัก”
             “กัสสปะ จงถามปัญหาที่ท่านประสงค์เถิด”
             “ท่านพระโคดม ทุกข์เป็นสิ่งที่ตนกระทำเองหรือ”
             “อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสปะ”
             “ท่านพระโคดม ทุกข์เป็นสิ่งที่คนอื่นกระทำให้หรือ”
             “อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสปะ”
             “ท่านพระโคดม ทุกข์เป็นสิ่งที่ตนกระทำเองด้วย และคนอื่นกระทำให้ด้วยหรือ”
             “อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสปะ”
             “ท่านพระโคดม ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุที่ตนกระทำเองก็มิใช่ และคนอื่น
กระทำให้ก็มิใช่หรือ”
             “อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสปะ”
             “ท่านพระโคดม ทุกข์ไม่มีหรือ”
             “กัสสปะ ทุกข์ไม่มีก็มิใช่ ทุกข์มีอยู่”
             “ถ้าอย่างนั้น ท่านพระโคดม ย่อมไม่รู้เห็นทุกข์หรือ”
             “กัสสปะ เราไม่รู้เห็นทุกข์ก็มิใช่ เรานี่แหละที่รู้เห็นทุกข์โดยแท้”
             “เมื่อข้าพเจ้าทูลถามว่า ‘ท่านพระโคดม ทุกข์เป็นสิ่งที่ตนกระทำเองหรือ
ท่านตรัสว่า ‘อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสปะ’
             เมื่อข้าพเจ้าทูลถามว่า ‘ท่านพระโคดม ทุกข์เป็นสิ่งที่คนอื่นกระทำให้หรือ’
ท่านตรัสว่า ‘อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสปะ’
             เมื่อข้าพเจ้าทูลถามว่า ‘ท่านพระโคดม ทุกข์เป็นสิ่งที่ตนกระทำเองด้วย และ
คนอื่นกระทำให้ด้วยหรือ’
             ท่านตรัสว่า ‘อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสปะ’
             เมื่อข้าพเจ้าทูลถามว่า ‘ท่านพระโคดม ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุที่ตน
กระทำเองก็มิใช่ และคนอื่นกระทำให้ก็มิใช่หรือ’
             ท่านตรัสว่า ‘อย่ากล่าวอย่างนั้น กัสสปะ’
             เมื่อข้าพเจ้าทูลถามว่า ‘ท่านพระโคดม ทุกข์ไม่มีหรือ’
             ท่านตรัสว่า ‘กัสสปะ ทุกข์ไม่มีก็มิใช่ ทุกข์มีอยู่’
             เมื่อข้าพเจ้าทูลถามว่า ‘ถ้าอย่างนั้น ท่านพระโคดม ย่อมไม่รู้เห็นทุกข์หรือ’
             ท่านตรัสว่า ‘กัสสปะ เราไม่รู้เห็นทุกข์ก็มิใช่ เรานี่แหละที่รู้เห็นทุกข์โดยแท้’
             ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดตรัสบอกทุกข์แก่ข้าพเจ้า
ด้วยเถิด ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงทุกข์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”
             “กัสสปะ เมื่อเบื้องต้นมี(วาทะ)ว่า ‘ผู้นั้นกระทำ ผู้นั้นเสวย(ทุกข์)’ ต่อมา
มีวาทะว่า ‘ทุกข์เป็นสิ่งที่ตนกระทำเอง’ อันนั้นเป็นสัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง)
เมื่อมีผู้ถูกเวทนาเสียดแทง เบื้องต้นว่า ‘คนอื่นกระทำ คนอื่นเป็นผู้เสวย(ทุกข์)’
ต่อมามีวาทะว่า ‘ทุกข์คนอื่นกระทำให้’ อันนั้นเป็นอุจเฉททิฏฐิ(ความเห็นว่าขาดสูญ)
ตถาคตไม่เข้าไปใกล้ที่สุด ๒ อย่างนี้ ย่อมแสดงธรรมโดยสายกลางว่า ‘เพราะอวิชชา
เป็นปัจจัย สังขารทั้งหลายจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ ความ
เกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้
             อนึ่ง เพราะอวิชชานั้นดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ
วิญญาณจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้
             เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อเจลกัสสปะได้กราบทูลว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้ง
โดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ ฯลฯ ด้วยตั้งใจว่า ‘คนตาดี
จักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็น
สรณะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของ
พระผู้มีพระภาค”
             “กัสสปะ ผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ ประสงค์จะบรรพชาอุปสมบทในธรรมวินัยนี้
จะต้องอยู่ปริวาส๑- ๔ เดือน หลังจาก ๔ เดือนสิ้นสุดการอยู่ปริวาสแล้ว เมื่อภิกษุ
พอใจก็จะให้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุ อนึ่ง ในเรื่องนี้เราคำนึงถึงความแตกต่างระหว่าง
บุคคลด้วย”
             เขากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ ประสงค์
จะบรรพชาอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน หลังจาก ๔ เดือน
สิ้นสุดการอยู่ปริวาสแล้ว เมื่อภิกษุพอใจก็จะให้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุ ข้าพระองค์
จักขออยู่ปริวาส ๔ ปี หลังจาก ๔ ปีสิ้นสุดการอยู่ปริวาสแล้ว เมื่อภิกษุพอใจก็จะ
ให้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุ”
             อเจลกัสสปะได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาคแล้ว เมื่อบวชแล้ว
ไม่นาน หลีกออกไปอยู่คนเดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่
ไม่นานนัก ได้ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม๒- อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์๓- ที่
เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ
เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ อนึ่ง ท่านกัสสปะได้เป็นพระ-
อรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
-----------------------------

@เชิงอรรถ :
@๑ ปริวาส ในพระสูตรนี้เรียกว่า ติตถิยปริวาส ได้แก่ ข้อปฏิบัติสำหรับนักบวชนอกพระพุทธศาสนาผู้ที่เคย
@เป็นอัญเดียรถีย์เลื่อมใสในพระธรรมวินัยแล้วประสงค์จะบวชเป็นภิกษุ ให้ขอปริวาสต่อสงฆ์ แล้วดำรงตน
@อย่างสามเณรครบ ๔ เดือน จนสงฆ์พอใจจึงจะขออุปสมบทเป็นภิกษุได้ (สํ.นิ.อ. ๒/๑๗/๔๒,
@ที.สี.อ. ๔๐๕/๒๙๙)
@๒ ประโยชน์ยอดเยี่ยม หมายถึงอรหัตตผลหรืออริยผลอันเป็นที่สุดแห่งมรรคพรหมจรรย์
@(องฺ.ทุก.อ. ๒/๕/๗, ม.ม.อ. ๒/๘๒/๘๐)
@๓ ที่สุดแห่งพรหมจรรย์ หมายถึงจุดสุดท้ายของการประพฤติธรรม ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผลอันเป็น
@จุดหมายสูงสุดแห่งมรรคพรหมจรรย์ (ที.สี.อ. ๔๐๕/๓๐๐)

----------------------------

จะเห็นได้ว่า ในสูตรนี้ประกอบไปด้วยทิฏฐิ 3 อย่าง คือสัสสตทิกฐิ1  ,อุจเฉททิฏฐิ1  ,และสัมมาทิฏฐิ1
ทั้งสัสสตทิฏฐิ และ อุจเฉททิฏฐินั้น มี "เรา" เป็นพื้นความเชื่อ โดยที่

สัสสตทิฏฐินั้นมี "เรา" อยู่ภายใน สังสารวัฏมี "เรา" เป็นผู้เวียนว่ายตายเกิดแบบคงที่
อุจเฉททิฏฐินั้นไม่มี "เรา" อยู่ภายใน ทำกรรมอะไรไว้ไม่มีผล ไม่มีเหตุ "เรา" ข้างในไม่มี ไม่ต้องรับผลกรรมอันใดทั้งสิ้น ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด

จะเห็นได้ว่า ทั้งสองทิฏฐินี้ ล้วนพุ่มตรงมายังตัวอะไรบางอย่างที่อยู่ข้างใน
ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่ามีข้างใน เที่ยง ยืนโรง เวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆ ไม่มีความเปลี่ยนแปลงไปเป็นอื่น
อีกฝ่ายหนึ่งปฏิเสธว่าไม่มี ตายแล้วจบสิ้นกันไปเลย 
ส่วนความต่างของสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือปฏิจจสมุปบาทอันว่าด้วยเรื่อง "เหตุ-ปัจจัย" ล้วนๆ

ตรงนี้ต้องอย่า "งง" อย่าไปเห็นว่าการไม่มี "เรา" นั้นเป็นอุจเฉททิฏฐิเสมอไป เพราะว่า
ทั้งสองทิฏฐิคือสัสสติทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐินั้น เขาพุ่งเป้าไปที่การเวียนว่ายตายเกิด

ฝ่ายหนึ่งบอกว่ามีการเวียนว่ายเกิดจริง อีกฝ่ายว่าไม่มีหรอกตายแล้วก็จบกันไป โดยที่เอาเจ้า
ตัวประหลาดอะไรบางอย่างที่เที่ยง ไม่แปรเปลี่ยนข้างในเป็นตัวตัดสิน

ถ้ามีตัวที่เที่ยง เปลี่ยนชาติไปแล้วเจ้าตัวนั้นก็ยังเป็นตัวเดิมๆ แบบนี้เป็นสัสสตทิฏฐิ
ถ้าไม่มีตัวที่เที่ยงแบบนั้น แต่กลับเมื่อตายแล้วก็จบๆ กันไป แบบนี้เป็นอุจเฉททิฏฐิ

คราวนี้สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นทางสายกลางก็คือ มันจะว่าเป็นตัวเดิมที่เวียนว่ายตายเกิดก็ไม่ใช่
จะว่าไม่มีการเวียนว่ายเกิดก็ไม่ใช่อีก จะเกิดหรือไม่เกิดล้วนขึ้นอยู่กับเหตุ-ปัจจัย
ท่านโละทิ้งเจ้าตัวประหลาดตัวนั้นออกไปเลย ท่านตรัสว่าเจ้าตัวประหลาดนั้นไม่มีจริง
ที่คนเรารู้สึกว่ามีนั้นเกิดจากเหตุ คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ จึงสร้างตัวตนแบบนั้นเป็น "เรา" ขึ้นมาภายในจิตใจเสมอๆ
แล้วก็หลักกรรม หรือหลักการกระทำที่เป็นเหตุเกิด ไม่ว่าจะเป็นทางกาย วาจา และใจ จะเป็นตัวจุดชนวนปฏิจจสมุปบาท
ให้ก่อรูปสร้างภพชาติให้เกิดขึ้นเรื่อยไป

สัมมาทิฏฐิแบบนี้ จะเห็นได้ว่า เลิกพูดกันถึงเรื่อง "เรา" ในแบบมิจฉาทิฏฐิทั้งสองนั่นเลยทีเดียว
ที่เราหมายถึงตัวประหลาดข้างในที่คอยเวียนว่ายตายเกิดนั่นแหละ
แต่กลับมาโฟกัสกันที่ปฏิจจสมุปบาท หรือหลักกรรมในแบบเหตุและผล

ปฏิจจสมุปบาทสายเกิด "ทุกข์" ก็คือ 
1. อวิชชา เป็นปัจจัยให้มีสังขาร
2. สังขาร เป็นปัจจัยให้มีวิญญาณ
3. วิญญาณ เป็นปัจจัยให้มีนามรูป
4. นามรูป เป็นปัจจัยให้มีสฬายตนะ
5. สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้มีผัสสะ
6. ผัสสะ เป็นปัจจัยให้มีเวทนา
7. เวทนา เป็นปัจจัยให้มีตัณหา
8. ตัณหา เป็นปัจจัยให้มีอุปาทาน
9. อุปาทาน เป็นปัจจัยให้มีภพ
10. ภพ เป็นปัจจัยให้มีชาติ
11. ชาติ เป็นปัจจัยให้มี ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส

ปฏิจจสมุปบาทสายเกิด "ทุกข์" นี่เอง คือการสืบต่อ ไหลวนไปของชีวิตตามเหตุ-ปัจจัย โดยที่ไม่ต้องมีตัวประหลาดข้างในกายใจ
แบบที่พวกมิจฉาทิฏฐิทั้ง 2 ค่ายใหญ่เขาทุ่มเถียงกันตลอดมา

ดังนั้น เมื่อเรามองมุมนี้ 

การตั้งกระทู้ของเจ้าหัวหอมจึงตั้งอยู่บนความเห็นผิด ตั้งอยู่บนสัสสตทิฏฐินั่นเอง
คือไม่สามารถตอบได้ ว่าเราหรือสัตว์ที่สำนักพุทธวจนและเจ้าหัวหอมทึกทักเอานั้น
ตั้งอยู่ตรงจุดไหนในปฏิจจสมุปบาท แต่กลับไปทึกทักเอาตามแบบอย่างของพวกสัสสตทิฏฐิ
ว่าเจ้าตัวประหลาดนั้น เข้ามาสิงสู่อยู่ภายขันธ์ 5 เข้ามาหลงผิดจับยึดขันธ์ 5

กล่าวโดยสรุป สำนักพุทธวจน เจ้าหัวหอม กำลังสอนมิจฉาทิฏฐิแก่ญาติโยม
กำลังสอนสัสสตทิฏฐิแก่ญาติโยม ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสกำหราบอย่างเจ็บแสบว่าเป็นโมฆะบุรุษเอาเลยทีเดียว
ผู้อ่านเห็นปฏิจจสมุปบาทสายเกิด "ทุกข์" แล้ว ก็คงพอจะเข้าใจแล้ว
ว่า "ทุกข์" ที่เกิดขึ้นเป็นสายในปฏิจจสมุปบาทนั้น มีอยู่
และการมีขึ้นของทุกข์นั่นเอง คือการเกิดขึ้นของอุปาทานขันธ์ 5 แล้ว
ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสโดยย่อว่า "อุปาทานขันธ์ 5 นั่นแหละเป็นทุกข์"
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่