เราตามไอดอลK-POPมา8ปีแล้วค่ะ แต่ไม่รู้เรื่องเจนในวงการนี้เลย

สวัสดีค่ะ

เราตามK-POPมาตั้งแต่สมัยประถมแล้วค่ะ จนตอนนี้ก็ราว8ปีกว่าแล้ว ตอนนั้นเราตามBIGBANGค่ะ ช่วงFantastic Babyพึ่งจะออกเลยค่ะ โดนปู่ท็อปตกซะเต็มเปา ตามมาเรื่อยๆ จนมาGOT7 Twice แล้วก็ NCT ค่ะ แล้วรวมมาถึงตอนนี้เราก็พึ่งจะเริ่มชอบ Stray kids กับ Enhypen ค่ะ เราพึ่งมาได้ยินหลายๆคนพูดถึงเรื่องเจนก็ช่วงนี้แหละค่ะ วงเจน3อย่างนั้น วงเจน4อย่างนี้ เราไม่รู้เรื่องเลยค่ะ แหะๆ ใครพอจะอธิบายให้เราฟังได้มั้ยคะ🥺

ขอบคุณล่วงหน้านะคะ🙏
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
Generation ของไอดอลคือการจัดกลุ่มไอดอลตามลำดับรุ่นของการเดบิวต์ครับ
ก็เหมือนกับคนทั่วไปที่มีการแบ่งว่าคนกลุ่มนี้คือ Gen Boomers, Gen X, Gen Y, Gen Z นี่แหละ
ในส่วนของไอดอลเกาหลี ปัจจัยการแบ่งเจนหลักๆจะดูจาก
     - ช่วงอายุของไอดอลในรุ่น ต้องดูเป็นคนรุ่นเดียวกันหรือไม่หนีกันเยอะ
     - ปัจจัยแวดล้อมที่มีผลกับการโปรโมทและการเข้าถึงสื่อของไอดอลแต่ละเจน เช่น พฤติกรรมของคนฟังเพลง, เทคโนโลยีในการเสพสื่อ
     - การเล่นข่าวของสื่อเกาหลีเจ้าใหญ่ๆพร้อมกันหลายๆสำนัก รวมถึง Media Play จากทางค่ายเอง


โดยในปัจจุบัน ไอดอลเกาหลีจะแบ่งออกเป็น 4 รุ่นครับ (ขอยกคำตอบในกระทู้ที่เคยตอบไปเกี่ยวกับเรื่องนี้ในกระทู้ก่อนๆมาประกอบการอธิบาย)

เจน 1 = นับจากวงที่เดบิวต์ตั้งแต่ปี 1996-2002
   - ไอดอลส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นปลายเจน X ถึงต้นเจน Y
   - พฤติกรรมการฟังเพลงของคนฟังเน้นซื้อ Physical Album เพราะเป็นช่องทางเดียวที่จะสามารถเข้าถึงผลงานเพลงของศิลปินได้ในตอนนั้น
   - ความดังของไอดอลกระจุกอยู่แต่ในเกาหลี ยังไม่เป็น Phenomenon ในระดับภูมิภาค

ตัวอย่างวงไอดอลเจน 1 = H.O.T, S.E.S, Fin KL, Shinhwa, Fly To The Sky, GOD, Sechs Kies, Baby VOX


เจน 2 = นับจากวงที่เดบิวต์ตั้งแต่ปี 2003-2011
   - ไอดอลแทบทั้งหมดในเจน 2 เป็นคนรุ่นเจน Y
   - เริ่มมีทางเลือกในการฟังเพลงผ่าน Digital Platform เข้ามา เช่น Melon Chart
   - ยอดขาย Physical Album ลดลงจากเจน 1 เพราะคนฟังเข้าถึงการฟังเพลงได้มากขึ้น
   - แต่เจน 2 เป็นเจนที่ทำให้กระแส K-Pop โด่งดังเป็นอย่างมากในระดับภูมิภาค
         - เป็นยุคที่ K-Pop โด่งดังไปทั่วทั้งเอเชีย โดยเฉพาะโซนเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
   - ก่อกำเนิดคำว่า Hallyu Wave
   - เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็น Worldwide Phenomenon ของ K-Pop
   - YouTube เริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการเพลง K-Pop แต่ยังไม่มากเท่ากับเจนถัดไป
          - ในยุคเจน 2 ครองวงการเพลงเกาหลีโดยเฉพาะช่วงปลายยุค (2011-2015) ยอดวิวเกิน 100 ล้านวิวถือว่าสูงมากระดับปรากฏการณ์

ตัวอย่างวงไอดอลเจน 2 = TVXQ, Super Junior, BIGBANG, Girls' Generation, Wonder Girls, SHINee , 2PM, 2NE1, T-ara, Apink


เจน 3 = นับจากวงที่เดบิวต์ตั้งแต่ปี 2012 ถึงช่วงกลางปี 2017
   - ไอดอลส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นกลาง-ปลายเจน Y ถึงต้นเจน Z
   - YouTube มีบทบาทมากขึ้นกว่าในยุคของเจน 2
           - ยอดวิว 100 ล้านวิวไม่ใช่ยอดที่สูงมากอีกต่อไป ต้องมากกว่า 200-300 ล้านวิวจึงจะเรียกว่า "ยอดวิวสูง"
   - เป็นเจนที่ทำให้ K-Pop ไม่ใช่แค่ Asia Phenomenon แต่ขยายไปเป็น Worldwide Phenomenon
   - การเข้าถึงสินค้าเกี่ยวกับ K-Pop ทำได้ง่ายขึ้น ทำให้ยอดขายอัลบั้มของไอดอลเจน 3 เพิ่มสูงขึ้นจากยอดขายอัลบั้มของไอดอลเจน 2
   - Spotify เริ่มเข้ามามีบทบาทในความสำเร็จของไอดอล K-Pop

ตัวอย่างวงไอดอลเจน 3 = EXO, BTOB, BTS, GOT7, Mamamoo, Winner, Red Velvet, Seventeen, Twice, NCT, Blackpink


เจน 4 = นับจากวงที่เดบิวต์ตั้งแต่ปลายปี 2017-ปัจจุบัน
   - ไอดอลแทบทั้งหมดเป็นคนรุ่นเจน Z
   - ช่องทางการฟังเพลง K-Pop หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Melon, Spotify และอื่นๆ
   - ได้รับเอฟเฟ็กต์จากไอดอลรุ่นเจน 3 ทำให้เจน 4 เป็นรุ่นที่ทำยอดขายอัลบั้มได้ค่อนข้างสูงถ้าเทียบกับรุ่นพี่
     สังเกตว่าวงไอดอลเจน 4 ยอดขายอัลบั้มเกินแสนกันเป็นว่าเล่น ในขณะที่เจน 2-3 วงไหนมียอดขายอัลบั้มเกินแสนถือว่าปังมากแล้ว
   - แต่ในขณะเดียวกัน เจน 4 ก็เป็นรุ่นที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 หนักกว่ารุ่นพี่ๆ ซึ่งสร้างความแตกต่างจากเจน 1-3 ชัดเจน
     ในขณะที่วงเจน 1-3 ได้มีประสบการณ์ทัวร์คอนเสิร์ตพบปะแฟนคลับแบบ In-Person บ่อยๆ รวมไปถึงแฟนไซน์แบบเจอตัวแฟนคลับจริง
     เจน 4 เป็นรุ่นที่ต้องชินกับการทำ Online Concert, Online Event และ Video Call Sign มากกว่าการได้เจอกับแฟนคลับแบบตัวต่อตัว

ตัวอย่างวงไอดอลเจน 4 = The Boyz, Stray Kids, (G)I-DLE, Ateez, TXT, ITZY, Treasure, aespa, STAYC, IVE
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่