กฎหมายภาษี e-Service ปิดทางโกยรายได้จากคนไทยออกนอกประเทศอย่างลอยนวล

กฎหมายภาษี e-Service ได้เริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2564

ภาษี e-Service คือ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการต่างประเทศและแพลตฟอร์มต่างประเทศ ที่ให้บริการทางออนไลน์แก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย ที่มีรายได้จากการให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยให้อำนาจกรมสรรพากรเป็นผู้จัดเก็บ ในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี ซึ่งให้เสียภาษีจากภาษีขายโดยไม่ให้นำภาษีซื้อมาหัก และผู้ให้บริการต่างประเทศจะต้องยื่นจดทะเบียนชำระภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร
 
ธุรกิจที่ต้องยื่นจดทะเบียนและดำเนินการทางภาษีกับกรมสรรพากร มี 5 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย

1. ธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับขายของออนไลน์
2. ธุรกิจให้บริการพื้นที่โฆษณาออนไลน์
3. ธุรกิจให้บริการจองโรงแรม ที่พัก และการเดินทาง
4. ธุรกิจให้บริการเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย
5. ธุรกิจให้บริการสมาชิกดูหนังฟังเพลงออนไลน์ เกม และแอปพลิเคชันต่าง ๆ
 
จาก 5 ธุรกิจดังกล่าวจะพบว่าบริการเหล่านี้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทั้งสิ้น เช่น การดาวน์โหลดภาพยนตร์ เพลง เกม สตรีมมิ่ง ดูหนังดูซีรีส์ สติกเกอร์ นายหน้า สื่อโฆษณา แอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่เราใช้งานกันบนโลกออนไลน์ ล้วนเป็นแพลตฟอร์มของต่างประเทศ ที่ให้บริการในประเทศไทย อาทิ Apple, Google, Facebook, Netflix, LINE, YouTube, TikTok, Joox, Shopee, Lazada และพวกเว็บไซต์จองที่พักโรงแรม Agoda, airbnb
 
ข้อดีของกฎหมายฉบับนี้ เป็นการแก้ปัญหาความได้เปรียบเสียเปรียบในการทำธุรกิจ ของผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการต่างประเทศ โดยผู้ให้บริการทั้งสองจะต้องจ่ายภาษีอย่างเท่าเทียม เพราะก่อนหน้านี้ มีเพียงผู้ประกอบไทยเท่านั้นที่ต้องจ่ายภาษีส่วนนี้ 
 
การจัดเก็บภาษี e-Service จึงสร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษีระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจากต่างประเทศ เพราะกฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับผู้ประกอบการไทยที่จดทะเบียนอยู่แล้ว
 
อีกทั้ง การจัดเก็บภาษีนี้ก็จะทำให้รัฐมีรายได้มาใช้ในการบริหารประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2564 และอาจนำข้อมูลตรงนี้มาใช้คำนวณฐานภาษีใหม่ในอนาคตเพื่อเพิ่มรายได้เข้าภาครัฐ
 
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่