JJNY : ดุสิตโพลปชช.หนักใจค่าครองชีพสูง│นิด้าโพล13.42%หนุน“พิธา”เป็นนายกฯ│เอกชนชะลอลงทุน-อีอีซีสะดุด│ผู้ค้าโวยแอปขายหวย

สวนดุสิตโพลปชช. หนักใจค่าครองชีพสูงรายได้น้อยจี้รัฐช่วย
https://www.innnews.co.th/news/politics/news_312600/
 
 
สวนดุสิตโพล ปชช.หนักใจน้ำมันแพงค่าครองชีพสูง ขณะรายได้ไม่พอใช้มีหนี้สินเพิ่มขึ้น จี้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือมากขึ้น
 
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,047 คน กรณีความหนักใจของคนไทย ณ วันนี้ระหว่างวันที่ 22-24 มีนาคม 2565 พบว่า เรื่องที่ประชาชนหนักใจมากที่สุด ร้อยละ 89.73 ระบุว่า ของแพง น้ำมันแพง ค่าครองชีพสูง รองลงมาร้อยละ 87.43 ระบุว่า เศรษฐกิจย่ำแย่ ร้อยละ 73.70 ระบุว่า การบริหารงานของรัฐบาล
 
ทั้งนี้ประชาชนร้อยละ 56.73 ระบุว่า รู้สึกค่อนข้างหนักใจกับปัญหาต่าง ๆ รองลงมา ร้อยละ 38.78 ระบุว่า หนักใจมาก ร้อยละ 4.01 ระบุ ไม่ค่อยหนักใจ สาเหตุที่ทำให้หนักใจ ร้อยละ 80.97 ระบุว่า ทุกอย่างขึ้นราคา รองลงมาร้อยละ 57.10 ระบุว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาล ร้อยละ 47.25 ระบุว่า เงินไม่พอใช้
 
ทั้งนี้ประชาชนร้อยละ 76.14 ระบุว่า รับมือกับปัญหาด้วยการตั้งสติ อดทน ให้กำลังใจตัวเอง รองลงมา ร้อยละ 58.00 ระบุว่า ยอมรับสภาพ ทำใจ ปลง ร้อยละ 57.23 ระบุว่า พยายามนึกถึงครอบครัว คนที่เรารัก โดยประชาชนร้อยละ 75.77 ระบุว่า อยากให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็น ช่วยเหลือประชาชนให้มากขึ้น รองลงมา ร้อยละ71.61 ระบุ สนใจชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมากกว่าเล่นเกมการเมือง ร้อยละ 66.57 ระบุว่า มีมาตรการลดค่าน้ำมัน ลดค่าครองชีพลดค่าน้ำค่าไฟ
 
ในภาพรวมรายได้ของประชาชน ณ วันนี้ ร้อยละ 41.26 ระบุว่า ไม่พอใช้และมีหนี้สิน รองลงมาร้อยละ 30.37 ระบุว่า พอใช้แต่ไม่มีเงินเหลือเก็บ ร้อยละ 16.81ระบุว่า ไม่พอใช้แต่ไม่มีหนี้สิน



นิด้าโพล 13.42 % หนุน “พิธา” เป็นนายกฯ
https://www.innnews.co.th/news/politics/news_312598/

นิด้าโพล 13.42% หนุน “พิธา” เป็นนายกฯ ชอบวิธีการทำงานวมีแนวคิดแบบคนรุ่นใหม่
 
“นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจของประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,020 หน่วยตัวอย่าง เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 1/2565” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 10-15 มีนาคม 2565
 
เมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า
 
ร้อยละ 27.62 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ 
 
ร้อยละ 13.42 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะ เป็นคนตรงไปตรงมา ชื่นชอบในวิธีการทำงาน มีวิสัยทัศน์และแนวคิดแบบคนรุ่นใหม่ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องการให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ 
 
ร้อยละ 12.67 ระบุว่าเป็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะ เป็นคนซื่อสัตย์และสุจริต ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ นโยบายสามารถช่วยเหลือประชาชนได้จริง ขณะที่บางส่วนระบุว่า จะได้บริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง 
 
ร้อยละ 12.53 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะ ต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ชื่นชอบผลงานในอดีตของตระกูลชินวัตร
 
เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 4/64 เดือนธันวาคม 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และไม่ตอบ/ไม่สนใจ มีสัดส่วนลดลง ในขณะผู้ที่ระบุว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว (พรรคเพื่อไทย) นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคกล้า) และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
 
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า 
ร้อยละ 28.86 ระบุว่า ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย 
ร้อยละ 25.89 ระบุว่า พรรคเพื่อไทย
ร้อยละ 16.24 ระบุว่า พรรคก้าวไกล
 

 
เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยเสี่ยงดับ เอกชนชะลอลงทุน-อีอีซีสะดุด
https://www.prachachat.net/economy/news-895767

สภาพัฒน์ชี้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเหลือแค่ 2 ตัวหลัก “ลงทุนภาครัฐ-ส่งออก” ลงทุนภาคเอกชนเข้าโหมด “wait and see” เร่งเข็นลงทุน “รัฐ-รัฐวิสาหกิจ” 1 ล้านล้าน จี้ไฮสปีด 3 สนามบินเดินเครื่อง “คลัง-ธปท.-สภาพัฒน์” หวั่นผลกระทบแซงก์ชั่น “รัสเซีย-ยูเครน” ลากยาวแม้สงครามยุติ คาดจีพีดีไทยโตแค่ 3% “ทีทีบี” เผยราคาพลังงานดันนำเข้าพุ่ง ฉุดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง กดดันบาทอ่อนค่า เป็นปัญหา “งูกินหาง” สภาอุตฯกังวลเปลี่ยนตัว “เลขาฯอีอีซี” กระทบแผนลงทุนไม่เป็นไปตามเป้า เอฟเฟ็กต์ความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะฟื้นตัวช้า หลังเผชิญภาวะวิกฤตจากโรคระบาดโควิด-19 และยังโดนซ้ำเติมจากปัญหาสงครามรัสเซียและยูเครนทำให้ส่งผลกระทบการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า การลงทุนภาครัฐยังคงเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ โดยยอมรับว่าผลกระทบจากสงครามรัสเซียกับยูเครนจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงเล็กน้อยจากประมาณการเดิม
 
แต่ไม่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่จะกระทบเศรษฐกิจไทยในภาพรวม เพราะยังมีโครงการลงทุนอีกหลาย ๆ โครงการ อย่างอีอีซีก็ยังคงเป็นตัวหลักที่สำคัญที่ต้องช่วยกันผลักดัน รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ต้องเดินหน้าต่อไป
 
“ภาครัฐยังสำคัญ เพราะยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องลงทุนอยู่ ส่วนเอกชนก็จะค่อย ๆ ฟื้น” นายอาคมกล่าว
 
โครงสร้างเศรษฐกิจเก่าฉุดรั้ง

นายอาคมกล่าวปาฐกถาพิเศษ “อนาคตประเทศไทยกับสินทรัพย์ดิจิทัล” ในงานสัมมนาสินทรัพย์ดิจิทัล Game Changer เดิมพันเปลี่ยนอนาคต จัดโดยประชาชาติธุรกิจว่า วันนี้มีคำกล่าวว่า ไทยต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่ยังอยู่ในแบบเก่า
 
ดังนั้น เรื่องของการรองรับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เพิ่มเติมเข้ามา โดยมีผลกระทบชัดเจนต่อราคาสินค้า เพราะว่าอัตราเงินเฟ้อได้เห็นผลเป็นรูปธรรมแล้ว

อย่างไรก็ดี นโยบายทางการเงินในประเทศตะวันตกที่เริ่มออกมาคาดการณ์ว่า ปัญหาอัตราเงินเฟ้ออยู่ในแนวโน้มลดลง ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต้องเรียกว่าเป็นปัญหาระยะสั้น และจากประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของไทยก็มองปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเฉพาะชั่วคราว
 
ถึงเวลารื้อ “ท่องเที่ยว”

นายอาคมกล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจแบบเก่า แน่นอนว่าไทยยังคงพึ่งพาภาคธุรกิจบริการ โดยมีการท่องเที่ยวเป็นหลัก และเมื่อมีโควิดเข้ามาก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเมื่อเทียบกับในอาเซียน ฉะนั้นในโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ จะต้องดูเรื่องการสร้างมูลค่าให้กับภาคการท่องเที่ยวที่แตกต่างไปจากเดิม
 
“เรื่องคุณภาพของการท่องเที่ยวไทยมีการพูดถึงกันมานาน แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ดูเรื่องนี้เท่าไหร่ กลับไปมุ่งเน้นในเรื่องของจำนวนมากกว่า ซึ่งหากต้องการสร้างคุณภาพให้กับการท่องเที่ยว จะต้องเข้าไปดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่มีค่ามากที่สุด” รมว.คลังกล่าว
 
นอกจากนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ โครงสร้างหนึ่งที่เข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจไทยที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีดิจิทัล และต่อไปนี้จะเห็นทุกอย่างเป็นเรื่องของดิจิทัลไปหมด เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นก็ย่อมได้ เพราะว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการทางเทคโนโลยีดิจิทัลได้เปลี่ยนแปลงให้เกิดสินทรัพย์ใหม่ประเภทหนึ่งขึ้น คือ สินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีการกระจายอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็เห็นได้ว่าเกิดขึ้นกับทั่วโลก
 
สศช.ชี้เหลือ 2 เครื่องยนต์หลัก

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อนหน้าจะเกิดสถานการณ์รัสเซียกับยูเครน สศช.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวราว 3.5-4% ต่อปี ขับเคลื่อนด้วย 3-4 เครื่องยนต์หลัก

ได้แก่ การส่งออก, การลงทุนภาคเอกชน ที่เตรียมขยายกำลังการผลิตรับส่งออกที่ดีขึ้น ตลอดจนการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ตามที่ภาครัฐส่งเสริม และการเข้ามาลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการลงทุนภาครัฐ และการบริโภคภายในประเทศกับการท่องเที่ยว
 
“แต่พอมีเรื่องรัสเซียกับยูเครนเข้ามา ซึ่งปกติเมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ การลงทุนภาคเอกชนจะชะลอตัวลงไป เพราะเอกชนก็คง wait and see หรือรอดูสถานการณ์ไปก่อน รวมถึงการบริโภคก็คงจะชะลอเหมือนกัน เพราะราคาน้ำมัน ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น กระทบค่าครองชีพ
 
แต่ว่าก็ต้องรอดูตัวเลขเดือน ก.พ.-มี.ค.ว่าผลกระทบเป็นอย่างไร เพราะเดือน ม.ค.ยังดีอยู่ ดังนั้นก็จะเหลือ 2 เครื่องยนต์หลัก ๆ ในปีนี้ คือ การส่งออก กับการลงทุนภาครัฐ ที่จะเป็นตัวหลักของปีนี้” นายดนุชากล่าว
 
เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวว่า นอกจากนี้ ด้วยราคาน้ำมันที่สูงขึ้น รวมถึงราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ รวมถึงปุ๋ยเคมีที่จีนจำกัดการส่งออก แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบในด้านราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น และคงส่งผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย
 
แต่สุดท้ายแล้วดุลบัญชีเดินสะพัดจะเป็นลบหรือบวก ยังฟันธงไม่ได้ในขณะนี้ รวมถึงยังมีเรื่องราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นอีกด้วย เช่น ทองแดง นิกเกิล อะลูมิเนียม เป็นต้น ซึ่งก็เป็นวัตถุดิบที่ไทยต้องนำเข้ามาใช้ในการผลิตเช่นกัน
 
เร่งแผนไฮสปีด 3 สนามบิน
 
สำหรับการลงทุนภาครัฐปีนี้ นายดนุชากล่าวว่า จะมีงบประมาณรายจ่ายลงทุนที่อยู่ในงบประมาณแผ่นดินปี 2565 ราว 7 แสนล้านบาท ซึ่งมีการทำโครงการหลาย ๆ ประเภท อาทิ ถนน แหล่งน้ำ สร้างอาคาร เป็นต้น ขณะที่มีงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 2-3 แสนล้านบาทที่จะลงทุนในปี 2565 รวมถึงโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่อนุมัติระหว่างปี ที่อยู่ในไปป์ไลน์

อาทิ โครงการรถไฟทางคู่, โครงการขยายสนามบินดอนเมือง เป็นต้น หลาย ๆ โครงการรวมแล้วก็มีเม็ดเงินเป็นหลักแสนล้านบาท ซึ่งต้องเร่งผลักดันออกมา โดยส่วนนี้คาดว่าจะออกมาได้ช่วงไตรมาส 3-4 ของปี เพราะกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต้องใช้เวลา
 
“สำหรับรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินก็คงต้องเริ่มลงมือก่อสร้างแล้ว เพราะที่ผ่านมาก็ปรับสัญญาอะไรกันไปแล้ว ซึ่งโครงการเซ็นสัญญาไว้ก็ต้องเดินหน้าไปตามสัญญา” นายดนุชากล่าว
 
สศช.-คลัง-ธปท. ห่วงสงคราม

นายดนุชากล่าวว่า จากการหารือ 3 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ คือ สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินกันว่า ถึงแม้การสู้รบจะยุติ แต่โอกาสที่ผลกระทบก็น่าจะยังยืดเยื้อ จากที่มีการคว่ำบาตร (แซงก์ชั่น) ระหว่างกันอยู่ ซึ่งตรงนี้จะเป็นทั้งข้อจำกัด และโอกาสสำหรับภาคการส่งออกของไทย รวมถึงการดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ
 
“ตอนนี้ปัญหาราคาน้ำมันถูกซ้ำเติมเข้าไปด้วยวิกฤตรัสเซียกับยูเครน ซึ่งสินค้าที่ถูกห้ามส่งออกจากรัสเซีย โดยเฉพาะข้าวสาลีที่เป็นปัจจัยสำคัญทางด้านอาหาร ที่รัสเซียส่งออก 30% ของตลาดโลก เราก็ถูกกระทบไปด้วย โดยที่ผ่านมาบางช่วงเวลา เราต้องนำเข้ามาผสมเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งสถานการณ์ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบเร็ว” นายดนุชากล่าว

อย่างไรก็ดี ทั้ง 3 หน่วยงานมองกันว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะขยายตัวได้ระดับกว่า 3% ต่อปี ซึ่งชะลอจากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ 3.5-4.5% ขณะนี้ไม่เห็นสัญญาณเกิดเศรษฐกิจชะลอตัวท่ามกลางเงินเฟ้อสูง (stagflation) หรือเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดภาวะดังกล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่