หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมถึงใช้แบบบ้านคนอื่นไปสร้างแล้วมีความผิด : ดาวดำผู้จะไล่เรียงให้ชาวราชดำเนินฟัง

กระทู้คำถาม
การที่จะสร้างบ้านหนึ่งหลังทุกวันนี้ จะมีความแตกต่างจากเมื่อ 10-20 ปี ก่อนพอสมควรนะครับ

เมื่อก่อนเท่าที่รู้คือ สร้างบ้านจนเสร็จเป็นหลังก่อนถึงค่อยแจ้งหน่วยงานรัฐท้องถิ่นนะครับ เพื่อขอบ้านเลขที่ก่อนเข้าอยู่อาศัย แต่ทุกวันนี้เขาไม่ทำแบบนั้น ก่อนจะสร้างบ้านเขามีระเบียบบังคับชัดเจน ว่าต้องขออนุญาตก่อนถึงจะสร้างได้นะครับ

ขั้นตอนการขออนุญาตสร้างบ้านมีอะไรบ้าง

อย่างแรกเลยต้องมีแบบบ้าน ใครจะสร้างบ้านต้องไปจ้างช่างเขียนแบบทำแบบให้ก่อนนะครับ อาจจะบอกรายละเอียดกับช่างเขียนแบบไป เช่น ต้องการกี่ห้องนอน กี่ห้องน้ำ ตัวบ้านใหญ่มากน้อยเท่าไร อยากได้บ้านทรงไหน หลังคาปั้นหยา จั่ว เรือนไทย นอร์ดิก หรือโมเดิร์นอะไรก็ว่าไป

การเขียนแบบก็จะมีรายละเอียดเฉพาะทางอีกนิดหน่อย เช่น ใครเขียนได้บ้าง ใครเซ็นได้บ้าง อะไรทำนองนี้

ในส่วนของคนเขียนแบบจริงๆ ไม่ได้เน้นมากว่าต้องเป็นวิศวกรหรือสถาปนิกโดยเฉพาะเจาะจง เป็นใครก็ได้ที่สามารถเขียนแบบได้ จะเขียนมือหรือใช้คอมพิวเตอร์เขียนก็ไม่ได้บังคับนะครับ แต่...ในแบบต้องใส่รายละเอียดงานก่อสร้างเป็น ต้องรู้จักโครงสร้างของบ้านว่ามีอะไรบ้าง ฐานแผ่ คาน ตอม่อ เสา อเส จันทัน แป อกไก่ ตะเฆ่สัน ตะเฆ่ราง อะไรพวกนี้ต้องรู้ และคนปกติทั่วไปไม่ค่อยมีใครรู้ มันจึงเป็นงานที่ค่อนข้างมีความเฉพาะทาง ถึงจะไม่ได้บังคับว่าคนเขียนแบบต้องเป็นช่างก็เหมือนบังคับไปในตัว ทีนี้พอเขียนเสร็จ ในข้อกำหนดของเทศบาล เขาบังคับให้คนเขียนแบบต้องใส่ชื่อ วุฒิการศึกษา และที่อยู่ลงไปในแบบด้วย และต้องลงลายมือชื่อในแบบว่าเป็นคนเขียน ตรงนี้อาจให้ใส่เพื่อเป็นจุดพิจารณาเบื้องต้นว่า แบบบ้านหลังนี้คนเขียนแบบมีความน่าเชื่อถือหรือไม่

ถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มจะงง ว่าคนเขียนแบบไม่ต้องเป็นวิศวกรหรือสถาปนิกเหรอ คำตอบคือใช่...ไม่จำเป็นครับ แต่ถ้าเป็นวิศวกรหรือสถาปนิกก็จะมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น อย่างที่บอกวุฒิผมก็เป็นวิศวะเพียงแต่ไม่ใช่สายโยธา ก็มีความน่าถืออยู่ในระดับหนึ่ง สำหรับงานเขียนแบบนะ เพราะผมจบมาทางสายวิศวกรรมออกแบบ แต่เป็นฝั่งของวิศวเครื่องกล

แล้ววิศวกรกับสถาปนิกเซ็นแบบตอนไหน ถ้าจะให้พูดตามตรงนะครับ บ้านธรรมดาทั่วไปสถาปนิกกับวิศวกรไม่ต้องเซ็นรับรองก็สามารถสร้างได้ครับ จุดนี้คนถูกหลอกมาเยอะนะครับ เพราะผมได้ยินมาบ่อยว่าช่างเขียนแบบบวกค่าวิศวกรกับสถาปนิกเข้าไปในราคาเขียนแบบด้วย ซึ่งบวกทีมีแต่หลักหมื่น

วิศวกรและสถาปนิกจะต้องรับรองแบบที่มีความเจาะจงขึ้นมาอีกครับ เช่น สแปนคานยาว 5 เมตร ขึ้นไป วิศวกรต้องทำรายการคำนวณและเซ็นรับรองครับ คือบ้านปกติความยาวสแปนคานก็ไม่ค่อยจะใช้เกิน 4 เมตร กันอยู่แล้ว ส่วนสถาปนิกจะต้องเซ็นรับรองแบบในกรณี สร้างบ้านที่มีขนาดตัวบ้านเกิน 150 ตร.ม. ขึ้นไป บ้านปกติทั่วไปไม่ได้ใหญ่ถึงขนาดนั้น 120 ตร.ม. ก็อยู่กัน 5-6 คน ได้สบายๆ แล้ว

ทีนี้พอได้แบบมาแล้ว เจ้าของบ้าน เจ้าของโครงการ อาจให้ใครก็ได้นำแบบไปยื่นกับ อบต. หรือ เทศบาล เพื่อให้เขาออกใบอนุญาตก่อสร้างให้ จึงจะสามารถทำการก่อสร้างบ้านได้ถูกต้องตามกฎหมาย ตรงนี้นิดหนึ่งนะครับ แบบแต่ละแบบแม้จะเป็นโมเดลเดียวกัน มันก็จะมีจุดที่แตกต่างกันในแต่ละหลังนะครับ คือ 1. แบบจะระบุชื่อเจ้าของบ้านไว้อย่างชัดเจน 2. แผนที่จุดก่อสร้างแต่ละหลัง 3. ผังโฉนดจะเจาะจงเลยว่าแบบหลังนี้จะสร้างบนโฉนดผืนไหน

และจุดนี้แหละครับ ที่มันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น เจ้าของโครงการไม่อยากจ่ายค่าเขียนแบบ ก็เอาแบบผมไปเปลี่ยนชื่อลูกค้าหน้าตาเฉย แล้วเอาไปยื่น อบต. เพื่อขอใบอนุญาตก่อสร้าง โดยที่ผมไม่รู้เรื่องเลย ผมไม่รู้เรื่องก็เท่ากับผมถูกปลอมลายเซ็น ในส่วนของผู้เขียนแบบ อย่างแรกเลยผมถูกละเมิด และในแบบต้องมีการเปลี่ยนชื่อเจ้าของบ้านอย่างแน่นอน ก็เท่ากับปลอมแปลงเอกสารอีกกระทงหนึ่ง อันนี้ไม่รู้นับเป็นเอกสารราชการด้วยหรือเปล่านะ

คร่าวๆ ประมาณนี้ก่อนนะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่