ควรจะเป็นหนี้เพื่อญาติ เพราะย่าที่เราเลี้ยงดูเรามาขอหรือไม่/ควรให้ความช่วยเหลือขนาดไหนคะ

รบกวนสอบถามค่ะ นอนแทบไม่หลับมาเป็นอาทิตย์ตั้งแต่ทราบเรื่อง

ส่วนตัวอายุ 20 ปลาย รายได้ 30 ต้นๆ กำลังวางแผนไปเก็บเงินเพิ่มและตั้งตัวเพื่อตนเองที่ต่างประเทศค่ะ

ซึ่งนอกจากหนี้ของแม่ที่เป็นประเด็นนึงแล้ว

- ฝั่งย่าที่ช่วยดูแลดิฉันมาตั้งแต่เด็ก (วัฒนธรรมตจว) ซึ่งดิฉันรักแกมาก กลับตจว ก็จะไปเยี่ยม นอนเล่นด้วย ให้เงินเล็กๆ น้อยๆ ตลอด แกแก่มากแล้ว ซึ่งตอนแรกแกเป็นคนที่สุขภาพดี อารมณ์ดี แข็งแรง ชอบเข้าวัดวา ชอบทำกิจกรรมผู้สูงอายุตามประสา แต่พอตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ที่อาคนสุดที่ 5 ก่อหนี้สามแสน สุขภาพแกทรุดลงมาก(แบบนอนไม่ค่อยหลับ ร้องไห้บ่อยๆ) จนสุดท้ายย่าซึ่งมีที่ดิน 4 แปลง จึงนำที่ดินแปลงที่ตนอาศัยอยู่ (ราคาประเมินบ้าน+ที่ดินแปลงนี้ล้านกว่า) ไปขายฝากเพื่อได้เงินมาจ่ายหนี้ให้อาคนที่ 5 คนนี้

- อาคนที่ 5 ทำอาชีพรับจ้างที่ตจว เงินเดือนไม่ถึงหมื่น แต่เค้าและครอบครัวค่อนข้างขี้เกียจ ใช้ชีวิตเกินตัว ชอบไปยืมหนี้ยืมสินและขอเงินย่าเป็นประจำ อาคนอื่นและพ่อทำธุรกิจด้วยกันที่บ้านเพื่อจ่ายหนี้ที่อาคนนี้ก่อ แต้อาคนนี้ก็ไม่ช่วยงาน และนอกจากงานของเค้าเอง เค้าจะชอบนอนดูหนังฟังเพลงที่บ้าน ซึ่งอาคนนี้ "ไม่รับผิดชอบหรือสำนึก" กับการกระทำของตนเองเลย 

- เนื่องจากการจัดการเงินไม่ดีของที่บ้าน ทำให้มีการชำระหนี้สำหรับที่ดินแปลงแรกนี้ไม่ครบถ้วน ย่าจึงได้นำที่ดินแปลงที่ 2 และ 3 - 4 เข้าลูปตามเดิม กลายเป็นโดมิโนและกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่

- ประเด็นคือ แปลงที่ 2 เป็นที่ดินที่อาคนที่ 4 อาศัยอยู่กับครอบครัว ซึ่งกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว และทุกวันนี้ยังเช่าอยู่ แต่มีการเกี่ยงการชำระเงินระหว่างอาด้วยกันเองจนจ่ายค่าเช่าได้ไม่ครบถ้วน จนเจ้าหนี้คนนี้จะมารื้อถอนบ้านออกในเดือนเมษายน 2565 นี้ เป็นผลให้ย่าทุกข์ใจมาก เพราะตนเป็นคนเอาที่ดินเหล่านี้ไปขายฝากเอง และไม่อยากเห็นบ้านของอาคนที่ 4 ต้องโดนรื้อไป /*ที่ดินแปลงนี้ บ้าน+ที่ดินมีราคาประเมินประมาณ 350,000 บาท แต่เจ้าหนี้อยากได้เงินคืนตามสัญญาขายฝาก คือต้น+ดอกเบี้ย 500,000 (ทั้งๆ ที่ศาลพิพากษาเป็นกรรมสิทธิเค้าไปแล้ว ไม่น่าจะคิดตามสัญญาขายฝากอีก คือเจ้าหนี้เรียกทั้งค่าเช่าและหนี้คืน) 

- ที่ผ่านมาตั้งแต่ดิฉันเรียนจบ ก็สงสารย่ามาตลอด จนหลายครั้งก็รับปากท่านว่าจะช่วยให้ได้ สุดท้ายวันนี้คือย่าอยากจะให้ดิฉันช่วย โดยโทรมาขอร้อง ร้องไห้แทบทุกวัน บอกว่าดิฉันให้ความหวังเค้าต่างๆนานา และอาคนอื่นก็ไม่มีความสามารถช่วยได้แล้ว และหลายๆคนก็บอกว่าย่าอาจจะตรอมใจได้ถ้ามีการรื้อถอนบ้านอาคนที่ 4 จริงๆ 
  1. ถ้าดิฉันกู้เงินกับธนาคารเพื่อซื้อที่ดินแปลงของอาคนที่ 4 ก็จะได้วงเงินไม่ถึงจำนวนที่เจ้าหนี้อยากได้ (ราคาประเมิน 350,000) มีส่วนต่างอีก 150,000 บาท
       1.1 ถ้าได้วงเงินกู้ไม่พอ ไม่ได้กรรมสิทธิ์ก็จะเกิดการเรื้อรังไปอีก หรือไม่ก็อาจได้ทำสัญญาเพิ่มกับเจ้าหนี้อีก 150,000 
       1.2 ถ้าได้กรรมสิทธิ์ก็เป็นที่ดินและบ้านที่มีมูลค่า 350,000 บาทเท่านั้น เสียเงินฟรีๆ อีก 150,000?
       1.3 แม้ได้กรรมสิทธิ์ ก็จะใช้ประโยชน์จากที่ดินตรงนั้นไม่ได้ เนื่องจากอาคนที่ 4 ยังอาศัยอยู่และคิดว่าเค้าจะจ่ายค่าเช่าดิฉันไม่ครบ
       1.4 พอผ่านไป 10 ปีอาคนที่ 4 จะได้กรรมสิทธิ์เป็นการครอบครองเป็นปรปักษ์อีก 
       1.5 อาคนที่ 3 ที่ช่วยกู้เงินซื้อที่ดินคืนส่วนหนึ่งและกู้เพิ่มอีกไม่ไหวแล้ว มีอาชีพข้าราชการได้ให้สัญญาดิฉันว่าจะซื้อที่ดินของอาคนที่ 4 นี้คืนเมื่อเค้าเกษียนอีก 9 ปี และระหว่างนั้นจะช่วยจ่ายหนี้เงินกู้ธนาคาร (ซึ่งไม่มีอะไรรับประกันเลยว่าจะทำจริง ควรทำสัญญารูปแบบไหนมั้ยคะ)
  2. หรือจะต้องเจรจากับอาคนที่ 3 ว่าจะทำสัญญาให้เค้ากู้ยืม 100,000 บาท เพื่อนำไปดำเนินเรื่องเจรจาต่อ (แต่ก็คิดว่าน่าจะจัดการไม่สำเร็จอยู่ดี)
  3. หรือจะไม่ช่วยเลย แล้วปล่อยให้รื้อถอนบ้าน และปล่อยให้ย่าเสียใจมากๆ 

บางทีก็เหนื่อยกับวัฒนธรรมช่วยญาติ/ช่วยพ่อแม่จนเบียดเบียนตนเองมาก แต่กลัวความรู้สึกผิดว่าไม่ได้ช่วยย่าแล้วเค้าเป็นอะไรไปน่ะค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 4
เราเคยช่วยเหลือ เสียสละทั้งเงิน เสียสละให้ทั้งที่ดินกับคนในครอบครัว  ให้จนกระทั่งตัวเองต้องหมดเนื้อหมดตัว สุดท้ายเจอคนเนรคุณ

ตอนเราเดือดร้อน ลำบากไม่มีใครหน้าไหนยื่นมือมาช่วยเหลือเราได้ มีแต่นิ่งเฉย เมินเฉย ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจใดๆทั้งสิ้น เห็นแก่ได้เห็นแก่ตัว นึกถึงแต่ตัวเอง

เราล้ม เราเจ็บใจมาก แต่ก็ไม่อยากฟ้องร้องให้เป็นคดีความ ก็พยายามตัดใจค่ะ แล้วหันมารักษาสภาพจิตใจตัวเองประคับประคองตัวเอง ให้ลุกขึ้นยืนให้ได้ด้วยตัวเองอีกครั้ง เริ่มต้นเก็บหอมรอมริบใหม่ด้วยตัวเอง กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ไม่ใช่ง่ายเลย


อย่าช่วยเหลือใครจนตัวเองต้องเดือดร้อน อย่าเสียสละอะไรให้ใครจนตัวเองต้องหมดเนื้อหมดตัว เพราะถ้าถึงเวลาที่เราลำบาก คนที่เราเคยช่วยเหลือเขาทุกคน ขอย้ำเลยนะว่าทุกคนไม่มีศักยภาพมากพอที่จะมาช่วยเหลือเราได้เลยแม้แต่คนเดียว เพราะอะไร? เพราะลำพังตัวเขาเองเขายังเอาตัวไม่รอดเลยจึงต้องหันมาพึ่งเรา แล้วถ้าเราเดือดร้อน เราลำบาก คนพวกนี้ไม่มีทางช่วยเหลืออะไรคุณได้เลย

ทำดีแทบตายสุดท้ายไม่มีใครเห็นความดี อย่ารับผิดชอบหนี้แทนใคร ใครก่อหนี้ให้เขาหาทางสะสางแก้ไขด้วยตัวเขาเอง

คุณช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่าย อาหารการกินเท่าที่พอจะช่วยเหลือได้ ไม่เกินกำลังความสามารถของตนเองดีที่สุดค่ะ

ถ้าเรายังไม่มั่นคง แล้วทุ่มเทไปช่วยเหลือคนอื่น เป็นเหมือนไม้หลักปักขี้เลน สุดท้ายล้มครืนลงไปทั้งคู่..
ความคิดเห็นที่ 9
บอกย่าไปว่า หนูเป็นรุ่นหลาน

ให้รุ่นลูกรับผิดชอบไป  ในเมื่อย่าก่อนหน้านี้ไปขายฝากเอง ไม่มีใครบังคับ ก็ต้องยอมรับผลกรรมอันนั้น จะมาให้เราช่วยมันไม่มีเหตุผลที่สมควร

้ถ้าสุดท้ายต้องย้ายออก ก็ย้ายออกกันไป
หาบ้านเช่าให้แม่ และย่ามาอยู่ด้วย

ทรัพย์ที่เสียไปก็เพราะตัดสินใจกันเอง
ตอนเอาไปขายฝากทำไมไม่คิดถึงวันที่ต้องเสียทรัพย์ไป
เวลาขายฝากต้องเตรียมใจไว้ก่อนแล้วว่าอาจจะหลุดมือไป ถ้าเสียดายขนาดนั้นขายฝากทำไม

เขาเรียกร้องความสงสารจากเราเพื่อชดเชยความผิดตัวเองครับ อย่าหลงกล
เขาเลี้ยงดูเรา เราก็ตอบแทนด้วยการเลี้ยงดูให้ที่อยู่กับอาหารคืนไป ไม่ใช่เราต้องไม่สบายใจเพื่อเอาทรัพย์ที่เขาทำเสียหายกลับมาเพื่อความสบายใจของเขาเพียงด้านเดียวครับ
ความคิดเห็นที่ 1
ส่วนตัวนะ  ผมปล่อยให้ยึด


เพราะถ้าไปช่วย   ก็จะเข้าลูปเดิมอีกแน่นอนเมื่อดูจากพฤติกรรมของอาคนที่มีปัญหาแล้ว   ว่าง่ายๆคือเงินสูญแน่นอน
ความคิดเห็นที่ 2
เป็นผมนะ ไม่ช่วย ปล่อยไป
ถ้าคุณช่วยก็แค่ทำให้ย่าคุณสบายใจขึ้นแค่นั้น แต่ดูเหมือนคนที่ได้เต็มๆคืออาคุณที่ไปทำเรื่องไว้แหละ
ใครทำอะไรไว้ก็ต้องไปแก้ไขเอาเอง เราช่วยได้แค่บางเรื่อง เช่นซัพพอร์ทค่ากินอยู่ ให้เงินเล็กๆน้อยๆ
อย่าให้พฤติกรรมคนอื่นมาทำให้แผนชีวิตเราพังไปต่อหน้า
ความคิดเห็นที่ 3
อ่านแล้วงงดี สรุปว่า สุดท้ายถึงแม้เราจะปลดหนี้เอาที่ดินแปลงนั้นกลับมาได้ก็ไม่ได้หมายความว่าตัวสร้างหนี้จะไม่ก่อหนี้ใหม่อีก พอมีคนแก้ให้ เขาก็จะได้ใจ อาจจะสร้างหนี้ให้คนอื่นมาตามแก้ต่อไปเรื่อย ๆ ครับ
อาจจะดูใจดำแต่ผมยอมให้เจ้าหนี้รื้อบ้านไล่ที่ยังดีซะกว่า ส่วนย่าก็ต้องคุยให้เข้าใจ บุญคุณต้องทดแทนแต่ความเป็นจริงก็ต้องเข้าใจด้วยครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่