[CR] เมืองรอง ต้องไป : เพชรบูรณ์ – พิษณุโลก – เลย

หลายคนอาจจะเคยได้ยินวลีที่ว่า “นอนเขาค้อ 1 คืน อายุยืน 1 ปี” กันมาบ้าง

แล้วถ้าหากผมได้มีชีวิตอยู่จนถึงเกณฑ์อายุขัยโดยเฉลี่ยของเพศชาย ที่ 73 ปี ผมคงจะมีอายุยืนถึงเกือบ 100 ปีเป็นแน่ๆ เพราะผมได้กำไรมาจากการไปนอนเขาค้อมา น่าจะเกือบ 20 ครั้งแล้ว หลายคนอาจสงสัยทำไมผมถึงไปเขาค้อบ่อย เพราะเพชรบูรณ์และลพบุรี (ผมเป็นคนลพบุรี) เป็นจังหวัดที่อยู่ติดกัน จึงไปเที่ยวบ่อยมากๆ 

สำหรับรีวิวชุดนี้ เป็นการนำสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดเพชรบูรณ์ 3 ครั้ง ล่าสุด รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวของพิษณุโลก และ เลย มายำรวมกันเป็นทริปนี้ทริปเดียว ทำให้เพื่อนๆ จะได้เห็นบรรยากาศในช่วงปลายฝนต้นหนาว รวมถึงช่วงฤดูหนาว ซึ่งใครจะนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทริปก็ได้นะครับ เส้นทางการเดินทางจะประมาณนี้ครับ
ผมไปเที่ยวเพชรบูรณ์มาก็หลายครั้งมากๆ แต่ก็เพิ่งจะมารู้ว่า เพชรบูรณ์เป็นดินแดนมหัศจรรย์แห่งธรณีวิทยา ก็เมื่อทริปครั้งล่าสุดนี่เอง โดยเมื่อราว 350-300 ล้านปีได้เกิดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกเก่าและใหม่ ที่เรียกกันว่า อนุแผ่นผิวโลกเก่าอินโด-ไชน่า ทางฝั่งตะวันออก และอนุแผ่นผิวโลกใหม่ชาน-ไทย ทางฝั่งตะวันตก ทำให้แผ่นดินเกิดการยกระดับภาคอีสานกับภาคกลางโดยเกิดริ้วรอยขึ้นในฝั่งเพชรบูรณ์ ก่อให้เกิดคุณค่าทางธรณีวิทยาในจังหวัดเพชรบูรณ์รวม 22 จุด จึงได้มีการประกาศจัดตั้ง “อุทยานธรณีเพชรบูรณ์” เพื่อผลักดันให้คนในท้องถิ่นเกิดการร่วมกันศึกษา ตระหนักในคุณค่า ร่วมกันรักษา และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวครับ และจุดหมายแรกของทริปนี้ ผมขอแวะเปิดโลกทัศน์ใหม่ของผมกันที่ ท้องทะเลดึกดำบรรพ์ ภูน้ำหยด 1 ใน 22 แหล่งท่องเที่ยวในอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ ในเขตอำเภอวิเชียรบุรี ครับ

หากไม่รู้ประวัติของสถานที่นี้มาก่อน คงคิดว่า ผมพามาดูอะไร มีแต่เศษซากหินอยู่เต็มไปหมด แต่สถานที่แห่งนี้ เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ ทำให้รู้ว่า เดิมที่นี่เคยเป็นมหาสมุทรที่คั่นระหว่างแผ่นเปลือกโลกอินโด-ไชน่า และ ฉาน-ไทย นักธรณีวิทยาได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งธรณีวิทยาภูน้ำหยด ทำให้รู้ว่าเศษหินที่เห็นเกลื่อนกลาดคือ ทุ่งโขดหินกรวดมนฟอสซิล 240 ล้านปี ยุคปลายเพอร์เมียน ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงตำแหน่งภูมิศาสตร์ของโลกในอดีต โดยเฉพาะเป็นหลักฐานของแอ่งสะสมตะกอนในมหาสมุทร หรือทะเลโบราณ ในปลายยุคตอนต้นมีทะเลใหญ่ที่เรียกว่าทะเลเททิส คั่นกลางระหว่าง 2  แผ่นเปลือกโลกคือ อินโด-ไชน่า และ ฉาน-ไทย โดยที่แห่งนี้คือหลักฐานทะเลเททิสที่ยังหลงเหลืออยู่ครับ

จากที่ผมหาข้อมูลมา นักวิชาการบอกว่าเดิมบริเวณนี้เป็นแนวหินปะการังใหญ่ที่มีขนาดใหญ่เหมือนเกรตแบร์ริเออร์รีฟ แห่งทวีปออสเตรเลีย หลังจากนั้นเกิดการยกตัว ทำให้ในแอ่งหยุดการตกตะกอน และทำให้แนวหินปะการังโผล่ขึ้นพ้นพื้นน้ำ จากอิทธิพลของแสงแดดและการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิจึงเกิดการแตกหัก และมาสะสมตัวที่เป็นไหล่ทวีปก่อนเกิดการแข็งตัวกลายเป็นหินในที่สุด
ต้องบอกเลยว่าลักษณะของพื้นที่บริเวณนี้ มีความเฉพาะตัวจริงๆ ครับ มันดูแปลกดีที่มีกลุ่มหินปูนโผล่ขึ้นมาบนพื้นดินแบบตะปุ่มตะป่ำ กินพื้นที่ค่อนข้างกว้าง การมาเที่ยวที่นี่ควรจะมีไกด์ท้องถิ่นมาด้วย เพราะไกด์จะแนะนำและพาไปดูยังจุดสำคัญๆ แต่ถ้าไม่มีไกด์ ก็ต้องมานั่งงม นั่งตามหาซากฟอสซิลเหมือนผม จริงๆ แล้ว กลุ่มก้อนหินด้านหน้าป้าย “ท้องทะเลดึกดำบรรพ์ ภูน้ำหยด” ถ้าหากสังเกตดีๆ ก็จะเห็นร่องรอยของฟอสซิลปะการังต่างๆ มากมายครับ 

จากนั้นเดินทางต่อ สู่วัดธรรมยาน แห่งอำเภอหนองไผ่ โดดเด่นที่พระอุโบสถสีขาวสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่มีโครงสร้างแปลกตา ด้านหน้าพระอุโบสถมีประติมากรรมพญานาคขนาดใหญ่ 2 องค์ ดูสวยงามสมจริง กำลังเลื้อยและพ่นน้ำอยู่ในสระน้ำ เชื่อกันว่าหากใครให้พญานาคพ่นน้ำใส่จะดลบันดาลให้เกิดสิริมงคลกับชีวิตเงินทองไหลมาเทมาครับ 
สำหรับด้านในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธรูปศิลปะแบบปางมารวิชัย องค์สีทองอร่าม งดงามมากๆ  
นับเป็นอีกหนึ่งวัดสวยที่ไม่ควรพลาดจริงๆ ผมมาวัดนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้วครับ

ไปต่อกันที่ถ้ำผาโค้ง แห่งอำเภอวังโป่ง เป็นอีกหนึ่งใน 22 แหล่งท่องเที่ยวในอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ ซึ่งที่นี่ผมขอยกให้เป็น Unseen เพชรบูรณ์เลยละกัน  เพราะเป็นครั้งแรกที่ผมได้มาเที่ยวที่นี่ การมาเที่ยวเพชรบูรณ์ตลอดเกือบน่าจะ 20 ครั้งของผม สารภาพว่าผมไม่รู้จักที่นี่เลย จนท้ายสุด เมื่อได้รู้ข้อมูลว่าเพชรบูรณ์มีสถานที่แบบนี้ด้วย มันจึงเป็นตัวจุดประกายให้ผมได้มาเที่ยวเพชรบูรณ์ครั้งล่าสุดครับ

ถ้าเอ่ยถึง “ถ้ำ” หลายคนอาจจะนึกถึงความลึกลับ น่ากลัว มืดตื๋อ แต่ถ้ำที่ทิวเขาผาโค้ง ไม่เหมือนถ้ำที่หลายคนนึกถึง แต่ละถ้ำจะเป็นถ้ำตื้นๆ ซึ่งมีความพิเศษเฉพาะตัว ที่สำคัญ แต่ละถ้ำอยู่ใกล้กันมาก สามารถเที่ยวได้แบบสบายๆ ครับ

ขอเริ่มที่ถ้ำที่เป็นไฮไลท์ก่อนเลย คือถ้ำผาโค้ง หรือที่ชาวบ้านเรียก ผาเจ็ดสี จะเป็นภูเขาหินปูนขนาดเล็กที่ถูกกัดเซาะโดยลมและน้ำเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ผามีลักษณะโค้งมน ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นม่านหิน สูง 20 เมตร ยาว 80 เมตร นอกจากนั้นยังมีลายหินเป็นริ้วๆ และมีตะไคร่น้ำเกาะบางตำแหน่ง เป็นลวดลายแปลกตาดีครับ ยามริ้วลายพวกนี้ต้องกับแสง จะเกิดเป็นเฉดสีไล่กันอย่างสวยงามครับ
ยืนจากถ้ำผาโค้ง มองออกไปจะเห็นถ้ำปากเสือ ระยะทางจากถ้ำผาโค้งไปยังถ้ำปากเสือประมาณ 100 เมตรเห็นจะได้ การเที่ยวชมถ้ำปากเสือนี้ จะต้องเดินขึ้นบันไดเหล็กระยะทางสั้นๆ ประมาณ 10 เมตร ตอนแรกผมก็ยังไม่กล้าที่จะเดินขึ้นไป เพราะสภาพที่รกชัฏ เกรงว่าบันไดเหล็กจะผุพัง แต่จากการหยั่งๆ ดูสภาพแล้ว ก็ยังพอที่จะเดินขึ้นไปชมความสวยงามของถ้ำปากเสือได้ครับ

ถ้ำปากเสือเป็นถ้ำเล็กๆ เตี้ยๆ มีโถงลักษณะคล้ายเสือกำลังอ้าปาก แล้วมีเขี้ยวของเสืออยู่เต็มไปหมด คือถ่ายรูปออกมาแปลกตามากๆ ครับ จากด้านในถ้ำ หากนั่งหันหน้าให้ปากถ้ำ จะมองเห็นทุ่งหญ้าด้านล่าง อากาศถ่ายเทดี แต่มีกลิ่นขี้ค้างคาวบ้างครับ จากลักษณะภายในของถ้ำปากเสือคล้ายเขี้ยวของเสือ ชาวบ้านจึงนิยมเรียก ถ้ำเขี้ยวเสือ อีกชื่อหนึ่งครับ
อีกหนึ่งถ้ำที่มีความพิเศษก็คือ ถ้ำแอร์ คงไม่ต้องบอกนะครับว่าช่วงบ่ายแก่ๆ อากาศมันจะร้อนอบอ้าวแค่ไหน แถมผมเพิ่งจะเข้าไปสำรวจถ้ำปากเสือเสร็จใหม่ๆ เหงื่อไหลไคลย้อย แต่เพียงแค่ได้เดินเข้าไปใกล้ปากถ้ำแอร์ ผมก็รับรู้ถึงความเย็นที่มาปะทะผิวกายเลยครับ อากาศมันเย็นลงจนน่าแปลกใจจริงๆ เหมือนได้เดินเข้าไปในห้องแอร์เลย จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถ้ำแห่งนี้จึงได้ชื่อว่าถ้ำแอร์ ตามข้อมูลบอกว่าช่วงเวลาที่ภายในถ้ำมีความเย็น จะอยู่ในช่วงเวลา 09.00-16.00 น. นอกเหนือเวลานั้นจะเป็นเพียงลมธรรมชาติครับ สำหรับปากทางเข้าถ้ำแอร์ เป็นเพียงช่องเล็กๆ ด้านในถ้ำเป็นเพียงโถงเล็กๆ เท่านั้นเองครับ
ติดกับถ้ำแอร์ยังมีถ้ำเงิน ถ้ำทองและถ้ำนาค ซึ่งทั้ง 4 ถ้ำ อยู่ติดๆ กับถ้ำผาโค้งครับ
เส้นทางที่จะมาเที่ยวที่ถ้ำผาโค้งจะแยกมาจากถนนหมายเลข 21 ตรงแยกวังชมพู ระยะทางประมาณ 56 กิโลเมตร ก็ถือว่าไกลพอสมควร หากเพื่อนๆ มีเวลาก็อยากให้ลองแวะมาเที่ยวชมดูครับ ผมว่าคุ้มค่าอยู่ครับ
ชื่อสินค้า:   The Jazz Camp site Khaokho, อิ่มไอหมอก ทับเบิก, Takmoh Coffee Khao Kho & โรงเตี๊ยมสุดขอบฟ้า, Moon Light Chateau
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่