JJNY : 'ทักษิณ'ชี้ค่าแรงต้อง500│“ธนวรรธน์”ย้ำต้องมีแผนกระตุ้นศก.อีก│2.4หมื่นโรงแรมระส่ำ│เผยทัพพม่าผิดก่ออาชญากรรมสงคราม

'ทักษิณ' ชี้ชัด ค่าแรง 300 บาท ไม่พอกิน ตอนนี้ต้องได้ 500 บาท ถึงจะอยู่ได้
https://www.khaosod.co.th/politics/news_6891781
 
 
‘ทักษิณ’ ชี้ชัด ค่าแรง 300 บาท ไม่พอกิน ตอนนี้ต้องได้ 500 บาท ถึงจะอยู่ได้ ย้ำสมัย ‘ยิ่งลักษณ์’ ยังขึ้นค่าจ้างได้ แนะต้องสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจ
 
วันที่ 16 ก.พ.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 15 ก.พ.65 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือ โทนี่ วู้ดซัม ร่วมสนทนาในรายการ Care Talk x Care ClubHouse ในหัวข้อ “จุดสิ้นสุด xxx พลิกเกมสู้ของแพง” ในช่วงตอนหนึ่ง มีผู้เข้ามาสอบถามถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่ามีโอกาสขึ้นได้มากกว่านี้หรือไม่ โทนี่ กล่าวว่า ตอนนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ค่าแรงจาก 170 กว่าบาท ไป 300 บาท บอกทำไม่ได้ สุดท้ายก็ทำได้
 
จุดอ่อนของสังคมไทยคือไปตัดต้นทุนตัวอื่นไม่ได้ ก็เลยไปกดราคาแรงงานให้ต่ำ จะได้ไปแข่งคนอื่นได้ แต่ไม่ไปปรับประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การผลิต และไปตัดคนที่เป็นแรงงานแทน ครั้งนั้นพอเรายัน ทุกคนก็ต้องยอมรับ และไปปรับตัวอื่นในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ
 
ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทไม่พอหรอก อย่างพปชร.บอก 400 บาท แล้วทำไม่ได้ จริงๆแล้ว ถ้าไม่ใช่ 500 ไม่พอกิน แต่ 500 บาท จะเอามาจากไหน ไม่ได้เอามาจากรัฐ แต่ต้องสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจ ให้มีรายได้ในภาพรวม ถึงมีสตางค์ สระน้ำมันลดลงทุกวัน รอปลาตาย แทนที่จะเอาน้ำมาเติม เพื่อให้อาหาร  แพลงตอนมาอยู่ เราไม่ได้ทำ วันนี้ต้องเพิ่มปริมาณเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ โดยการสร้างรายได้ กู้เงินมาทีหลัง ต้องรีบสร้างไม่ว่าวิธีไหน” โทนี ทิ้งท้าย


 
“ธนวรรธน์” ย้ำรัฐบาลต้องมีแผนกระตุ้นศก.อีก
https://www.innnews.co.th/news/economy/news_292414/

“ธนวรรธน์” ย้ำ รัฐบาลต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ช่วยประชาชนรับมือเงินเฟ้อสูงขึ้น เชื่อ ธปท.ยังไม่ออกมาตรการสกัด
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า จากสถานการณ์ราคาสินค้าที่สูงขึ้นเวลานี้เชื่อว่ามาตรการที่รัฐบาลออกมาจะลดผลกระทบราคาสินค้าและทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศที่ขยายตัวสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 3 เป็นอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวสูงขึ้นในระยะสั้นได้
 
โดยเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. จะยังไม่ใช้มาตรการใดๆมาสกัดความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อเวลานี้ เพราะหากเป็นเงินเฟ้อชั่วคราวในระยะสั้นไม่เกินช่วงครึ่งปีแรก เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวผลกระทบที่ได้รับจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะลดลง
 
แต่อย่างไรก็ตามมองว่านอกจากมาตรการทางภาษีเพื่อลดราคาน้ำมันแล้ว รัฐบาลยังจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเพิ่มวงเงินในกระเป๋าเพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นชดเชยกับอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวสูงขึ้น ทำให้ค่าครองชีพของประชาชนลดลง
  

  
2.4หมื่นโรงแรมระส่ำวอนรัฐผ่อนผันภาษีที่ดิน10%อีก2ปี
https://www.thansettakij.com/business/514010
 
โรงแรม 2.4 หมื่นแห่งอ่วมรัฐจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 100% ทำธุรกิจไปต่อไม่ไหว ผนึกสภาหอการค้าไทย-สทท. วอนอย่าเพิ่งเหมารวมธุรกิจโรงแรม ขอผ่อนผันจ่ายภาษี 10% ออกไปอีก 2 ปี หรือจัดเก็บแบบขั้นบันได เพื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวยังหายใจได้อยู่
 
โรงแรม 2.4 หมื่นแห่งอ่วมรัฐจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 100% ทำธุรกิจไปต่อไม่ไหว กระทบหนักจากโควิดทำขาดทุนมาร่วม 2 ปีแล้ว นักท่องเที่ยวหายฮวบ 90% ผนึกสภาหอการค้าไทย-สทท. วอนอย่าเพิ่งเหมารวมธุรกิจโรงแรม ขอผ่อนผันจ่ายภาษี 10% ออกไปอีก 2 ปี หรือจัดเก็บแบบขั้นบันได เพื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวยังหายใจได้อยู่
 
จากนโยบายที่กระทรวงการคลังมีนโยบายจะจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2565 ในอัตรา 100% ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมอย่างหนัก เนื่องจากโรงแรมไม่มีรายได้เข้ามาเพียงพอที่จะสามารถชำระภาษีดังกล่าวได้เต็มอัตรา เพราะจากโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมาร่วม 2 ปีกว่าแล้ว ทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงไปกว่า 90% และโรงแรมประสบปัญหาการขาดทุนมาต่อเนื่อง
 
ดังนั้นสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) จึงอยู่ระหว่างผลักดันผ่านสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และสภาหอการค้าไทย เพื่อยื่นเรียกร้องต่อรัฐบาลขอเพิ่งเหมารวมธุรกิจโรงแรม อยู่ในข่ายที่ต้องชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา 100% เพราะเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากโควิด- 19 จึงอยากขอให้ขอผ่อนผันจ่ายภาษีที่ดิน 10% ต่อไปอีก 2 ปี หรือปรับอัตราภาษีเก็บแบบเป็นขั้นบันได เพื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรมยังหายใจได้อยู่ ซึ่งจากสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีจำนวน 24,269 แห่งในปี 2563
 
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าสมาคมโรงแรมได้สำรวจสมาชิกถึงผลกระทบของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหากมีการจัดเก็บ 100% ซึ่งพบว่าผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะในภาวะเช่นนี้ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่หนักมาก เมื่อโรงแรมยังไม่มีรายได้กลับเข้ามาเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เนื่องจากปริมาณนักท่องเที่ยวลดลงกว่า 90% ประกอบกับโรงแรมต้องแบกภาระการขาดทุนมากว่า 2 ปีแล้ว รายได้ทุกวันนี้หลายโรงแรมก็กู้ยืมเงินมาเพื่อใช้เป็นกระแสเงินในการจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน เพราะรายได้ของโรงแรมอย่างเดียวยังไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้ แม้ว่าในขณะนี้พนักงานโรงแรมส่วนใหญ่ก็ยังอาจได้รับเงินเดือนไม่เต็มที่เหมือนในอดีตก็ตาม
   
หากผู้ประกอบการมีภาระต้องจ่ายภาษีที่ดินเต็ม 100% คงไม่ไหว ซึ่งโรงแรมจัดว่าเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากโควิด-19 หากเทียบกับธุรกิจอื่นๆ อย่างอุตสาหกรรม หรือ อสังหาริมทรัพย์ จึงอยากขอให้รัฐบาลให้ความเห็นใจในการขอผ่อนผันจ่ายภาษีที่ดิน 10% ต่อไปอีก 2 ปี คือในปี 2565-2566 หรือปรับอัตราภาษีเก็บแบบเป็นขั้นบันได อย่าเพิ่งเหมารวมธุรกิจโรงแรมเข้าไปอยู่ในอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดิน 100% เพราะถ้าโรงแรมมีรายได้เหมือนเดิมก็พอมีกำลังจะจ่ายภาษีดินได้
 
แต่วันนี้ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือแค่ 4.2 แสนคน จากเดิมที่เคยมีเข้ามามากถึง 40 ล้านคน การเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบ Test & Go ก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามาราว 2-3 แสนคนต่อเดือน เทียบไม่ได้กับปกติที่ไทยจะมีนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 3.3 ล้านคนต่อเดือน และการพึ่งเพียงการเข้าพักของคนไทยอย่างเดียวจึงยังไม่เพียงพอ
 
ทั้งการลงทุนโรงแรมส่วนใหญ่จะต้องใช้พื้นที่มาก และส่วนใหญ่อยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลัก และหลายแห่งอยู่ติดทะเล ขณะที่การดำเนินธุรกิจกลับมีรายได้ไม่มากนัก หากเทียบกับโรงงานต่างๆ ซึ่งใช้พื้นที่น้อยกว่า แต่สามารถผลิตสินค้าได้เป็นหลักหมื่นล้านบาท การจัดเก็บภาษีที่ดินจึงเห็นว่ายังมีความไม่เสมอภาคกันอยู่ และธุรกิจเหล่านี้ก็ไม่ได้รับผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีที่ดิน 100%
 
แตกต่างจากธุรกิจโรงแรมที่กระทบมาตั้งแต่รัฐปรับรูปแบบการจัดเก็บภาษีโรงเรือน ที่คำนวณตามรายได้ มาเป็นภาษีที่ดิน โรงแรมก็ต้องจ่ายภาษีที่หนักกว่าเดิม อาทิ รีสอร์ทขนาด 80-100 ห้อง เมื่อก่อนจ่ายภาษีโรงเรือนราว 6 แสนบาทต่อปี พอเป็นภาษีที่ดินต้องจ่าย 1.3-1.4 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมารัฐช่วยผ่อนผันให้จ่าย 10% ผ่อนจ่าย 3 งวดมากว่า 2 ปี ก็ทำให้โรงแรมยังประคองไปได้ และอยากจะร้องขอให้ก็ภาครัฐจะยังให้การช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมต่อไป ซึ่งปัจจุบันธุรกิจโรงแรมไทยที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมายมีอยู่ราว 16,000 แห่ง แต่ถ้ารวมโรงแรมที่ไม่จดทะเบียนถูกต้องก็จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และมีจำนวนห้องพักทั้งหมดประมาณ 7-8 แสนห้อง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่