2 ทศวรรษ หนัง "มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟ.เอ็ม." : รวมพลคนลูกทุ่ง (ขนานแท้)


วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2545 ถือเป็นวันที่ภาพยนตร์เพลงฟอร์มยักษ์เรื่อง "มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟ.เอ็ม." เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศไทย ภายใต้การสร้างของบริษัท "สหมงคลฟิล์ม" และ "บาแรมยู" โดยมีหัวเรือใหญ่ของ "ลูกทุ่งเอฟ.เอ็ม." คือ "วิทยา ศุภพรโอภาส" มาร่วมสรรสร้างและเขียนบทอีกแรงหนึ่ง

เรื่องนี้มาจากแนวความคิดของโปรดิวเซอร์ของเรื่องคือ "ปรัชญา ปิ่นแก้ว" ที่ต้องการระดมเหล่าศิลปินนักร้องและผู้เกี่ยวข้องในวงการเพลงลูกทุ่ง รวมถึงดีเจในคลื่น รวมแล้วร่วมร้อยชีวิต มาร่วมร้อยเรียงภายในเรื่องเดียวกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ แถมยังเป็นการประชาสัมพันธ์ "ลูกทุ่งเอฟ.เอ็ม." ซึ่งเป็นคลื่นวิทยุเรตติ้งอันดับ 1 ในขณะนั้นไปในตัวด้วย โดยปรัชญาไว้วางใจให้ "บัณฑิต ทองดี" มาประเดิมงานกำกับภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในชีวิต

หนังเรื่องนี้เรียกความฮือฮาตั้งแต่วันบวงสรวงเปิดกล้อง เพราะเป็นการรวมพลครั้งยิ่งใหญ่ของชาวลูกทุ่งซึ่งนานทีจะรวมตัวกัน เรื่องราวของหนังเป็นการเดินทางสู่ความฝันของเหล่านักร้องจากท้องที่ต่าง ๆ เพื่อมุ่งคว้าสิ่งสำคัญสูงสุดคือ "เงินล้าน" แต่จู่ ๆ เหตุการณ์ที่หลายคนไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อเงินรางวัลจำนวนนั้นได้หายไปอย่างไร้ร่องรอยโดยที่ทุกคนต่างก็ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าอาจจะเป็น "โจรพันหน้า" ปลอมมาขโมยเอาไป ซึ่งงานนี้ยังได้ "พันนา ฤทธิไกร" มากำกับคิวบู๊

จนเมื่อหนังฉายเสร็จก็สามารถทำรายได้อย่างท่วมท้น ทำให้วงการเพลงลูกทุ่งยกระดับขึ้นห้างอย่างได้ผล การแสดงของคนลูกทุ่งโดยเฉพาะนักแสดงหลักซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยผ่านการเล่นหนังมาก่อนก็ทำหน้าที่ให้ความบันเทิงได้อย่างกลมกลืนและเต็มที่(ต่อมาบางคนได้ดิบได้ดีทั้งงานร้องเพลงควบงานเล่นหนัง) ทั้งยังวางคาแรกเตอร์พร้อมผูกเรื่องไปกับเพลงประจำตัวได้อย่างลงตัวสุด ๆ คือเมื่อผู้ชมเจอนักร้องคนไหน เพลงตัวเองก็ดังขึ้นมาทันทีทันใด

กระทั่งในปี 2556 "วิทยา ศุภพรโอภาส" ในนามบริษัท เอ็กซ์เพรสฯ ได้รื้อแบรนด์หนังมาสร้างต่อในภาคใหม่คือ "รวมพลคนลูกทุ่งเงินล้าน" โดยมี "เอ็ม พิคเจอร์ส" เป็นผู้อำนวยการสร้าง และมอบหมายให้ "กัลป์ หงส์รัตนาภรณ์" เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ โดยเป็นการสะสางเรื่องวุ่น ๆ ของเหล่าลูกทุ่งหน้าเดิมบางส่วนและหน้าใหม่ที่เพิ่มเข้าตามกระแส แถมยังฉีกแนวเรื่องออกไปทางแฟนตาซีปนสยอง ทว่าภาคล่าสุดนี้กลับไม่ประสบผลสำเร็จทางรายได้เท่าที่ควร  

ในความเห็นส่วนตัว ถ้าจะเทียบระหว่าง "มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟ.เอ็ม." กับ "รวมพลคนลูกทุ่งเงินล้าน" ความสนุกที่ส่งมาถือว่าพอ ๆ กัน แต่ในภาคแรกถือว่าเรียกความคึกคักและความประทับใจได้ดีกว่า แถมมีความคลาสสิกอยู่พอสมควร ส่วนภาคหลังถือเป็นความท้าทายอีกมิติหนึ่ง แต่ขาดอย่างเดียวคือการเล่าประเด็นวงการเพลงลูกทุ่ง(ขนานแท้)ที่เปลี่ยนไปก็ควรจะตีเรื่องให้ลงลึกยิ่งกว่านี้ จะให้ฟังแค่นักร้องยืนกระดานบรรยายในเพลงอย่างเดียวคงไม่สะใจพอ     

ไม่ว่าผลจะเป็นเช่นใด แต่สำหรับภาคเริ่มต้น "มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟ.เอ็ม." ถือเป็น "หนังในดวงใจ" ของคอหนังที่ยังรักในเสียงเพลงลูกทุ่งเสมอมา

ในโอกาสครบรอบ 20 ปี เราจะมาร่วมทบทวนความหลังด้วยกัน รักใคร ชอบใคร ประทับใจฉากไหน ใครเล่นได้ดีกว่า ก็บอกเข้ามาได้นะ...สวัสดี.
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่