dreas : หนังวัวพองลมที่ใช้เป็นเรือข้ามฟากทางเหนือของอินเดียในศตวรรษที่ 19

กระทู้คำถาม



ในช่วงต้นทศวรรษ 1900 James Ricalton ครูโรงเรียนอเมริกัน นักเดินทาง และช่างภาพ ได้เดินทางไปทั่วอินเดียและอนุทวีป เพื่อบันทึกและทำเอกสารเกี่ยวกับชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีของชาวพื้นเมืองผ่านการถ่ายภาพ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขณะไปเยือนหมู่บ้านห่างไกลบางแห่งบนเนินเขาของแคว้นปัญจาบในเทือกเขาหิมาลัยตอนล่าง เขาได้พบกับสิ่งที่ไม่ธรรมดา เขาจึงถ่ายสิ่งที่เห็นด้วยกล้องสามมิติของเขา (ภาพด้านบน) และอธิบายประกอบภาพไว้ว่า
- ห่างจาก Naldera หมู่บ้านเล็กๆ ราว 20 ไมล์ ขึ้นไปบนเนินเขาของแคว้นปัญจาบ มีแม่น้ำภูเขาที่ลึกและเชี่ยว สองฝั่งเต็มไปด้วยตลิ่งที่สูงชัน โดยเฉพาะในวันที่ฝนตก น้ำฝนที่ไหลมาตามเนินดังกล่าวเมื่อลงแม่น้ำ ยังทำให้กระแสน้ำเชี่ยวกรากมากขึ้น

ส่วนผู้ชายเหล่านี้ทั้งหมดเป็นชาวพื้นเมืองที่แต่งกายตามธรรมเนียมของพวกเขา และยุ่งอยู่กับงานที่ดูน่าสยดสยองนั่นคือหนังวัว ซึ่งเย็บติดแน่นและพองลมจนสามารถใช้เป็นเครื่องช่วยชีวิตขนาดมหึมาได้ หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่ามีผู้ชายสองคนกำลังเป่าหนังวัวดังกล่าวให้อากาศเข้าจนเต็มเพื่อใช้มันเป็น 
" เรือ " โดยเมื่อขยายออกจนเพียงพอแล้ว ก็จะผูกมันด้วยเชือกที่ปลายข้างหนึ่ง

แต่ก็มีที่คนอื่นๆ จะเป่าหนังวัวจากที่บ้าน และลำเลียงพวกมันมาไว้บนตลิ่งหิน มันอาจดูเทอะทะก็จริงแต่เบามากและค่อนข้างจะจัดการได้ง่าย เมื่อพวกเขาพร้อมที่จะออกเดินทาง แต่ละคนจะกระโดดขึ้นไปบนหนังวัวที่พองลม โดยใช้เท้าข้างหนึ่งและใช้ไม้พายสั้นอีกข้างหนึ่งเพื่อขับเคลื่อน หากการทรงตัวของเขาไม่สมบูรณ์แบบ เรือหนังวัวอาจพลิกคว่ำได้ ดังนั้นการฝึกฝนให้มีความชำนาญจึงจำเป็นมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว การขนส่งสินค้าหรือผู้โดยสารจำนวนเล็กน้อยก็ถูกขนส่งข้ามไปอย่างปลอดภัยทุกครั้ง และหากต้องรับผู้โดยสารหลายราย พวกเขาจะใช้เรือหนังวัว 2 ลำมาเคียงกัน ในขณะที่ผู้โดยสารบนแพจะจับกันเพื่อช่วยปรับสมดุล

 นักเดินทางพื้นเมืองกำลังถูกพาข้ามแม่น้ำบนหนังวัวพองลมที่ผูกติดกันเป็นแพ
 

เทคนิคดั้งเดิมในการข้ามแม่น้ำและลำธารโดยการใช้หนังสัตว์ที่เป่าลมนี้ ไม่ได้มีเฉพาะในอินเดียและไม่ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยชาวพื้นเมืองเหล่านี้ หนึ่งในตัวอย่างที่เก่าแก่ที่สุดของเทคนิคนี้ที่ช่วยให้ผู้คนสามารถข้ามผืนน้ำได้ สามารถพบในรูปปั้นนูนต่ำจากเมโสโปเตเมียโบราณจาก Nimrud ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นของตกแต่งวังของ King Ashurnasirpal II ผู้ปกครองอัสซีเรียตั้งแต่ 883 - 859 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอังกฤษ 

รูปปั้นนูนต่ำดังกล่าว แสดงให้เห็นทหารอัสซีเรียในสมัยโบราณกำลังว่ายน้ำโดยมีหนังสัตว์พองลมเล็กๆ หนุนอยู่ซึ่งน่าจะเป็นหนังแพะ ยังมีมหาราช Cyrus ที่ใช้หนังสัตว์พองลมหรือหนังสัตว์ยัดไส้เพื่อข้ามแม่น้ำบาบิโลนตามที่นักประวัติศาสตร์ชาวเอเธนส์ Xenophon กล่าวไว้ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ King Darius ที่ I ใช้เทคนิคเดียวกันใน 522 ปีก่อนคริสตกาลเพื่อข้ามแม่น้ำไทกริส นอกจากนี้ กองทหารมองโกลของเจงกีสข่านใช้หนังสัตว์พองลมในการพิชิตดินแดน ทางทิศตะวันตก รวมถึงกุบไลข่าน หลานชายของเขาได้ใช้หนังสัตว์พองลมพร้อมกับแพไม้ในยามจำเป็น แม้ในเวลาต่อมา ชาวโรมันและชาวอาหรับยังคงใช้วิธีแก้ปัญหาที่เรียบง่ายแต่ชาญฉลาดนี้เพื่อจุดประสงค์เดียวกัน

สำหรับการเตรียมหนังเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ลอยน้ำนี้ มาจากข้อมูลของ William Moorcroft ที่ได้รับการบันทึกไว้โดย James Hornell ในวารสารสถาบันมานุษยวิทยาแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ที่ตีพิมพ์ในปี 1942 จากที่ Moorcroft เดินทางไปทั่วเทือกเขาหิมาลัย ทิเบต และเอเชียกลางอย่างกว้างขวาง และได้กล่าวถึงวิธีการนี้จากที่เขาเห็นขณะทำงานในรัฐปัญจาบในปี 1820 โดยบรรยายว่า แพะ วัว หรือควายจะถูกถลกหนังแตกต่างกันโดยให้ได้ผิวที่เหมือนเดิมและไม่เสียหาย


ทหารอัสซีเรียลอยอยู่บนทุ่นหนังแพะ


เริ่มจากผิวหนังจะถูกตัดผ่านเข่าแต่ละข้าง โดยการกรีดตามยาวที่ส่วนหลังของขาหลังยาวลงไปถึงเข่า ด้วยวิธีนี้ผิวหนังจะค่อยๆหลุดออกมาทั้งสองด้าน และนำผิวหนังที่ได้ไปฝังไว้เป็นเวลาสองสามวัน เพื่อให้การสลายตัวดำเนินไปอย่างเพียงพอ สำหรับเส้นขนก็จะถูกขูดออกด้วยมือหรือด้วยมีดทื่อๆ จากนั้นกลับด้านในออกและเย็บช่องเปิดตามธรรมชาติ (ปาก ตา ฯลฯ) เข้าด้วยกันให้สนิท แล้วกลับด้านอีกครั้งและเย็บรอยผ่าหลักด้วยหนังดิบ ส่วนปลายเปิดของขาทั้งสามให้มัดปิดไว้ ส่วนขาที่สี่เปิดทิ้งไว้เพื่อใช้เป็นท่อสำหรับเป่าลมเข้า สุดท้ายก็เทน้ำมันดินบาง ๆ จากต้นสน deodar หรือต้นสนชนิดอื่น ๆ เข้าไปในผิวหนังแล้วเขย่าจนผิวภายในถูกชุบอย่างทั่วถึงกัน
 
เมื่อเป่าลมเข้าจนผิวหนังของวัวพองขึ้น มันจะดูเหมือนหมีที่ไม่มีขนตัวใหญ่ สุนัขที่ไม่คุ้นเคยเห็นก็มักจะคำรามและแสดงอาการกล้าๆกลัวๆ ที่แปลกพอๆ กันคือภาพของชายคนหนึ่งที่แบกหนังวัวพองลมไว้บนหลัง ซึ่งดูแล้วเหมือนแบกสัตว์ที่มีความใหญ่สามหรือสี่เท่าของน้ำหนักตัวเขาเอง ทั้งนี้ถ้าไม่ได้ใช้
งานบ่อยๆ หนังเหล่านี้จะแห้ง หากต้องการใช้อีกครั้งพวกเขาต้องเอามันมาแช่ในน้ำเพื่อให้นุ่มและอ่อนพอที่จะเป่าลมเข้าได้ โดยอาจสอดลำต้นกกเข้าไปในช่องเปิดของขาเพื่อเป็นท่อสำหรับเป่าลมให้ง่ายขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนการก่อสร้างสะพานและความพร้อมของเรือที่ดีกว่า เรือหนังวัวนี้มีความจำเป็นสำหรับการข้ามแม่น้ำภูเขาที่ไม่เอื้ออำนวยในอินเดีย แม้จะมีสภาพดึกดำบรรพ์และความหยาบ แต่ทุ่นพองลมเหล่านี้ก็ยังทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม  Moorcroft เล่าว่า ครั้งหนึ่งสินค้าและสัมภาระทั้งหมดของเขาที่ประกอบด้วยคน 300 คน ม้าและล่อ 16 ตัว และกองสินค้าประมาณ 200 maunds (หน่วยน้ำหนักที่ใช้ในอินเดียซึ่งเทียบเท่ากับประมาณ 37 กก.) ถูกขนส่งข้ามแม่น้ำ Sutlej สามารถจัดการได้ด้วยคนเรือพื้นเมือง 31 คน ในแต่ละเรือพองลมภายในหนึ่งชั่วโมงครึ่ง
 

ภาพถ่ายการข้ามแม่น้ำสินธุบนแพหนังแกะที่พองตัว 
Cr.ภาพ pazhayathu.blogspot.com/2018


แพหนังวัวพองลมที่บรรทุกขนแกะในจีน ภาพถ่าย: “ Arthur de Carle Sowerby” (1885-1954)


ภาพวาดชาย Sadlermiut ในอ่าวฮัดสัน พายเรือหนังวอลรัสพองลมหรือหนังแมวน้ำ โดย George Lyon c. 1830




(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่